ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เมื่อวันก่อน ท่านผู้พิพากษาอาวุโสที่เกษียณอายุราชการจากศาลแล้วท่านหนึ่ง อายุอานามราวเจ็ดสิบกว่าปี ได้ส่งร่างหนังสือถวายฎีการ้องเรียนว่าตุลาการไทยในขณะนี้บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มาให้ผมอ่านทางไลน์
ผมก็ตกใจพอสมควร แต่เห็นว่าสิ่งที่ท่านเขียนมีเหตุมีผล แต่ก็แปลกใจระคนกับความไม่แน่ใจว่าทำไมท่านจึงส่งร่างฎีกาที่ท่านประสงค์จะถวายพระเจ้าอยู่หัวให้ผมอ่าน ผมถามท่านไปในไลน์ ท่านเลยโทรศัพท์กลับมาหาผมเพราะรู้จักกันมาเนิ่นนาน ผมเองก็มีความเคารพในตัวท่านอาจารย์ท่านนี้ ท่านได้ตอบกลับมาว่า
ผมส่งให้อาจารย์อานนท์อ่าน เพราะผมมีความเห็นพ้องกับที่อาจารย์ไปพูดที่กลุ่มไทยภักดีกับสถาบันทิศทางไทยจัดร่วมกันในกรณีมาตรา 112 เมื่อหลายวันก่อน โดยเฉพาะที่อาจารย์พูดว่า
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงอยู่เหนือกฎหมาย ทรงอยู่ใต้กฎหมาย หากไปตีความพระราชกระแสและพระราชดำรัสหลายครั้งหลายคราว่าในหลวงทั้งสองรัชกาล ทรงโปรดให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 จะกลายเป็นการทำให้พระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์ทรงอยู่เหนือกฎหมายไปในทันที ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ล้นเกล้าทั้งสองรัชกาลจะทรงมีพระราชประสงค์ให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ไปเสียเฉยๆ
ตามหลักการแล้ว ในหลวงทั้งสองรัชกาลทรงไม่โปรดให้มีการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างที่ไม่เป็นธรรมหรือมีการกลั่นแกล้งเพื่อขจัดคนที่เห็นต่างทางการเมืองที่ไม่ได้กระทำผิดอย่างแท้จริง แต่คนที่กระทำความผิดจริงก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม เพื่อรักษาหลักนิติรัฐ
ท่านอาจารย์ท่านนี้ยังได้อธิบายให้ผมฟังต่อไปอีกว่า ผมเห็นตุลาการเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่เหยาะแหยะ หละหลวม บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สบายใจ ๆ โดยเฉพาะที่เมื่อตำรวจจับกุมตัวมา อัยการสั่งฟ้อง มีความผิดชัดเจน แต่ก็ปล่อยตัวให้ประกันตัวออกมา โดยที่ออกมากระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยคนเดิม ทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ผมหงุดหงิดหัวใจมาก
ในฐานะที่ผมเกษียณแล้วและเป็นอดีตข้าราชการตุลาการ หรือเป็นผู้พิพากษาอาวุโสมาก่อน ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าแต่งตั้ง ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ ได้มีโอกาสอันเป็นมงคลสูงสุดในชีวิตในการปฏิบัติงานในพระปรมาภิไธย ทำให้ผมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง และไม่พอใจกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่/บกพร่องในหน้าที่ของตุลาการรุ่นหลังเป็นอย่างยิ่ง
ท่านอาจารย์เล่าให้ผมฟังว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 191 ได้บัญญัติว่า
ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายทุกประการ”
เช่นเดียวกันกับที่ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 16 ได้บัญญัติว่า
เมื่อ ก.ต. ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการตุลาการให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาประจำศาล ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษานั้นต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 62 ยังได้บัญญัติไว้ว่า
ข้าราชการตุลาการต้องถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการและจริยธรรมข้าราชการตุลาการตามที่ ก.ต. กำหนด
โดยที่ ประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่อง จริยธรรมของข้าราชการตุลาการ พ.ศ.2552 ข้อ 33 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า
ผู้พิพากษาจักต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขแห่งรัฐ
โดยเหตุที่กฎหมายและจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ นับตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ข้าราชการตุลาการ และประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ต่างบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ตุลาการมีหน้าที่รักษาสนับสนุน การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่กลับมีตุลาการบางส่วนและบางคน มองไม่เห็นหน้าที่ตนเอง ไม่ได้ตระหนักในหน้าที่ของตนเอง ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือเมื่อได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ว่าจักรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายทุกประการ
แล้วเหตุใดจึงไม่รักษากฎหมายให้เคร่งครัดให้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่จับปล่อย ๆ เช่นนี้ ให้มาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เป็นภัยความมั่นคง เป็นภัยต่อชาติและราชบัลลังก์ และเป็นภัยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่มีความคิดต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐหรือระบอบคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน
สำหรับการให้ประกันตัวหรือการปล่อยชั่วคราวนั้นโดยหลักต้องคุ้มครองผู้ต้องหาหรือจำเลยที่บริสุทธิ์ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง และต้องเป็นการปกป้องคุ้มครองผู้เสียหายหรือสังคมให้มีความปกติสุขไม่ให้ผู้ต้องหาไปกระทำความผิดในลักษณะเดิมอีก ข้อนี้สำคัญ และผมเชื่อว่าอาจารย์เข้าใจประเด็นนี้ดีโดยหลักสุจริตและหลักวิญญูชน แม้จะไม่ศึกษากฎหมายมามากนักก็ตาม แต่ท่านเชื่อว่าผมเข้าใจ
ท่านอดีตผู้พิพากษาท่านนี้ได้อธิบายให้ผมฟังต่อว่า
สำหรับกรณีตามข่าวที่ผู้พิพากษาให้ประกันตัวกับผู้ต้องหาซึ่งกระทำความผิดซึ่งหน้าและเป็นการกระทำที่ดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ถือว่าไม่เป็นการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งถือเป็นผู้เสียหายและไม่คุ้มครองสังคมให้สงบสุขดังนั้นการกระทำของผู้พิพากษาจึงน่าจะเป็นการไม่ปฏิบัติต่อคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 191
เมื่อศาลทราบว่าปล่อยออกมาแล้วไปกระทำความผิดซ้ำในข้อหาลักษณะเดียวกันอีกกรณีเช่นนี้ก็น่าที่จะเพิกถอนประกันซึ่งสามารถทำได้ด้วยตนเอง
การที่ศาลรู้เห็นการกระทำความผิดของผู้ต้องหาแล้วไม่เพิกถอนคำสั่งประกันอาจจะมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ก็ได้
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงคิดถวายฎีการ้องเรียนว่า ตุลาการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ผมได้ฟังที่ท่านอาจารย์อดีตผู้พิพากษาที่เกษียณอายุราชการแล้วก็เกิดความเข้าใจ และถามท่านว่าผมขอถ่ายทอดความรู้เรื่องนี้ให้ประชาชนและบรรดาผู้พิพากษาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยได้รับทราบได้หรือไม่ จะได้ปรับตัวกลับใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการรักษากฎหมาย ท่านอาจารย์ยินดีให้ผมทำหน้าที่ถ่ายทอด แต่ท่านไม่ประสงค์ให้ผมนำร่างต้นฉบับฎีกาที่ท่านจะไปถวายมาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ท่านให้ผมเขียนในเชิงเล่าให้สาธารณชนได้รับทราบดังนี้
โดยส่วนตัวผมสนับสนุนการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม ดังที่เคยได้พูดและเขียนในที่ต่าง ๆ มามากมายแล้ว ดังนี้
• 'ดร.อานนท์'เผย 13 ข้อ ทำไมต้องบังคับใช้ม.112 อย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม https://mgronline.com/uptodate/detail/9630000127065
• ความชอบธรรมและความจำเป็นในการบังคับใช้มาตรา 112 https://mgronline.com/daily/detail/9630000126524
• ทำไมต้องบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม?
https://mgronline.com/daily/detail/9630000127088
และ • เสวนาสนับสนุนมาตรา112 1 สิทธิ์ 1 เสียง
https://www.youtube.com/watch?v=uUnPPWVMRCQ