xs
xsm
sm
md
lg

ความชอบธรรมและความจำเป็นในการบังคับใช้มาตรา 112

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


มาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

กฎหมายนี้เรียกว่า Lèse majesté Law เป็นคำภาษาฝรั่งเศส แปลว่าการกระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ “to do wrong to majesty” ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองประมุขและพระประมุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ให้ถูกหยามเหยียดหมิ่นเกียรติหรืออาฆาตมาดร้าย เช่น เดนมาร์ค เยอรมันนี ไอซ์แลนด์ อิตาลี รัสเซีย สเปน คูเวต มาเลเซีย บรูไน เป็นต้น แม้แต่สหรัฐอเมริกาเอง หากใครไปข่มขู่ว่าจะฆ่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็คงไม่แคล้วจะต้องติดคุกดังเคยมีกรณีตัวอย่างมาแล้ว

ทำไมต้องมีมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา คำตอบคือมาตราแรกในหมวดพระมหากษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญฉบับใด ๆ ของไทยก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ได้เขียนไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

โดยข้อเท็จจริง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 นั้นคือการหมิ่นประมาทและการขู่ว่าจะฆ่าหรือทำร้ายซึ่งก็เป็นความผิดอาญาอยู่ดีหากกระทำกับคนธรรมดาสามัญ แต่ปัญหาคือพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่อยู่ในฐานะที่จะฟ้องหมิ่นประมาท หรือฟ้องอื่น ๆ กลับได้ ทำให้มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายข้อนี้ขึ้นมา

มาตรา 112 นี้ มีการบังคับใช้มานาน ทำให้คนไทยไม่กล้ากล่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในที่สาธารณะ แม้จะนินทาเจ้านายในที่ลับกันก็ตาม อย่างไรก็ดี ในอดีตก็อาจจะมีการใช้มาตรา 112 ในการเล่นงานทางการเมืองสำหรับคนที่คิดต่างก็เป็นได้ และกรณีนี้เองพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสว่าไม่โปรดให้ใช้มาตรา 112 เช่นเดียวกับ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยทรงเกรงว่าจะเป็นการใช้มาตรา 112 ในการทำร้ายคนเห็นต่างทางการเมือง เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง

สิ่งที่น่าคิดคือ ในความเป็นจริง หลังจากที่มีการประกาศโดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดให้ใช้มาตรา 112 ซึ่งผมเองก็ประหลาดใจว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะพูดเช่นนั้นทำไม การพูดเช่นนั้นตีความพระราชกระแสได้ดีครบถ้วนเพียงใดหรือไม่ และการไปประกาศเช่นนั้นจะไม่เป็นการยุยงส่งเสริมให้คนทำผิดมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้นหรือไม่

เราสามารถใช้ทฤษฎีการวางเงื่อนไขผลกรรม (Operant conditioning) ของ B.F. Skinner นักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยมชื่อดังของโลก มีแต่งหนังสืออุตมรัฐชื่อว่า Walden Two ที่พยายามสร้างโลกพระศรีอาริย์ด้วยการวางเงื่อนไขผลกรรมดังแสดงในตารางด้านล่างนี้


ใจความของทฤษฎีการวางเงื่อนไขผลกรรม แท้จริงไม่มีอะไรแตกต่างจากกฎแห่งกรรมของพระพุทธเจ้ามากนัก ต้องประกอบด้วย 1. เงื่อนไขผลกรรม (Antecedents) ทำหน้าที่ชี้แนะ (cue) ในการทำพฤติกรรมต่างๆ เช่น บรรทัดฐานในสังคม กฎหมาย 2. พฤติกรรม (Behavior) คือการกระทำของมนุษย์ทั้งดีไม่ดี เป็นที่ต้องการไม่เป็นที่ต้องการ และ 3. ผลกรรม (Consequences)

กรณีแรกเป็นการเสริมแรงทางบวก ให้รางวัลเมื่อทำพฤติกรรมที่ต้องการ ทำให้เกิดการทำพฤติกรรมนั้นบ่อยขึ้นถี่ขึ้น

กรณีที่สอง เป็นการลงโทษ เมื่อทำพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ ก็ให้โทษ กฎหมายทั้งหลายมีสภาพบังคับใช้ความรุนแรงเมื่อทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าคนตายโดยเจตนาไตร่ตรองไว้ก่อน ก็อาจจะติดคุกได้ ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อระงับความรุนแรงปรามไม่ให้ก่อความรุนแรง

กรณีที่สาม เป็นการเสริมแรงทางลบ โดยการยกเลิกสภาพบังคับหรือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาออกไปหากทำพฤติกรรมที่ดี ยกตัวอย่างเช่น การคุมประพฤติ หากปฏิบัติตนดี สุดท้ายจะได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ ไม่ต้องคุมประพฤติหรือติดกำไลอีเอ็มอีกต่อไป

กรณีที่สี่ เป็นการลบพฤติกรรมชั่วคราว โดยการไม่ให้แรงเสริมทางบวกที่เคยได้รับมาตลอด เช่น หากเด็กร้องไห้ชักดิ้นชักงอเมื่อไม่ได้ของที่อยากได้ แล้วพ่อแม่เลือกใช้วิธีเดินหนีไม่สนใจ จะเกิดการระเบิดพฤติกรรมตีอกชกหัวอย่างรุนแรง แต่ท้ายที่สุดก็จะนิ่งได้เมื่อตระหนักว่าถูกทิ้งอย่างไม่สนใจใยดี

กรณีที่ห้า เป็นการเลี้ยงลูกให้เป็นโจร พ่อแม่รังแกฉัน คือไม่ว่าจะทำดีหรือทำชั่ว ก็จะได้รับแรงเสริมทางบวกได้สิ่งที่ปรารถนาเสมอ ทำให้แยกแยะถูกผิดไม่ได้ กรณีนี้จะทำให้ไม่สามารถแยกแยะถูกผิดได้ ขาดความเกรงกลัวต่อบาปกรรม

กรณีที่หก เป็นการทำให้เรียนรู้ว่าไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เพราะไม่ว่าจะทำดีหรือทำชั่วอย่างไรก็จะถูกลงโทษ อันทำให้เกิดความรู้สึกขมขื่น ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตัวอย่างนี้คือการทดลอง learnedhelplessness ของ Seligman ที่ทำกรงสุนัขเป็นสองฝั่ง ช็อคไฟสุนัขเสมอไม่ว่าสุนัขจะเดินไปยังกรงข้างไหนก็กดไฟช็อค สุดท้ายสุนัขจะนั่งแช่ให้ไฟช็อคอยู่อย่างนั้น เครียด ไม่กินข้าวกินปลา ตรอมใจตาย

การกำหนดเงื่อนไขผลกรรมและการเรียนรู้เงื่อนไขผลกรรมแบบนี้นำมาใช้อธิบายความชอบธรรมและความจำเป็นในการบังคับใช้มาตรา 112 ได้ ดังตารางด้านล่างนี้


กรณี ก. มีการบังคับใช้ ม. 112 อย่างเข้มงวด แต่เป็นธรรม ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่ใช้ม.112 รังแกคนที่คิดต่าง เมื่อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรืออาฆาตมาดร้าย ก็ถูกลงโทษทุกครั้ง หากกระทำผิดจริง ไม่มีการปล่อยให้ทำผิดแล้วลอยนวล การบังคับใช้กฎหมายโดยการลงโทษอย่างเคร่งครัดตามความจำเป็น แต่เป็นธรรม เช่นนี้ จะทำให้เกิดหลักนิติรัฐและนิติธรรม

กรณี ข. คือการยกเลิกการบังคับใช้ ม.112 ที่เคยบังคับใช้มาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรืออาฆาตมาดร้ายใด ๆ ก็จะไม่มีการลงโทษ ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายไม่ว่ากรณีใด ๆ คือถอนการลงโทษและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาออกทั้งหมด นี่คือสภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน ทำให้เกิดการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างก้าวร้าวกว้างขวางรุนแรงที่สุด ทำให้เกิดการกล่าววาจาอาฆาตมาดร้ายสถาบันอย่างรุนแรง เพราะกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ขาดสภาพการบังคับใช้ กรณี ข นี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ในการบังคับใช้ ม. 112 ไม่เช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและเป็นภัยต่อชาติและราชบัลลังก์ได้ ดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

กรณี ค. เป็นกรณีที่ต่อเนื่องจากกรณี ข. นอกจากจะไม่มีการลงโทษแล้ว หากหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรืออาฆาตมาดร้ายแล้ว ได้รับแรงเสริมทางบวก อย่างไม่มีเงื่อนไขจากพวกเดียวกัน อันเป็นเงื่อนไขผลกรรมที่มีปัญหาเช่นเดียวกับ กรณีห้า อันเป็นการเลี้ยงลูกให้เป็นโจร พ่อแม่รังแกฉัน จะยิ่งทำให้เหิมเกริม จ้วงจาบหยาบช้าอย่างเปิดเผย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ บ้านเมืองจะไม่มีขื่อไม่มีแป ขาดทั้งนิติรัฐและนิติธรรม กรณี ค. นี้ก็ช่วยชี้ให้เห็นความจำเป็นของการบังคับใช้มาตรา 112 เช่นกัน

กรณี ง. เป็นกรณีของความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ไม่ว่ากรณีใดๆ บังคับใช้มาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม จะทำให้เกิดปัญหา สังคมจะอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ขาดความชอบธรรม เกิดการกลั่นแกล้งรังแก ไม่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพในที่สาธารณะแต่จะเต็มไปด้วยการนินทาว่าร้ายสถาบันลับหลัง

สิ่งที่น่าคิดก็คือ หนึ่ง หากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 เลยจะทำให้เกิดการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและอาฆาตมาดร้ายสถาบันอย่างใหญ่หลวงกว้างขวาง ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการบังคับใช้มาตรา 112. สอง แต่อาจจะเกิดปัญหาได้หากมีการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม เช่นใช้ในการรังแกคนที่คิดเห็นต่างหรือรังแกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเป็นต้น ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 จำเป็นที่จะต้องทำอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยให้ลอยนวล ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่นำมาเป็นเหตุผลในทางการเมืองเพื่อกำจัดผู้ที่เห็นต่าง

ขอให้พึงสังเกตว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 77 ได้บัญญัติเรื่องการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (Regulatory impact assessment: RIA) เอาไว้ดังนี้

มาตรา ๗๗ รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับมาตรา 112 นั้น เราสามารถประเมินผลกระทบของการไม่บังคับใช้กฎหมายได้อย่างชัดเจนว่ามีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการอาฆาตมาดร้ายอย่างแพร่หลายในที่สาธารณะ โดยไม่มีความผิดใดๆ ทำให้ยิ่งเกิดพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้การบังคับใช้มาตรา 112 จึงจำเป็นอย่างยิ่งแต่ต้องใช้อย่างชอบธรรมด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น