วันนี้เริ่มมีกระแสกดดันจากกลุ่มที่อ้างตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย หรือพูดกันตรงๆ ก็คือ กลุ่มที่สนับสนุนม็อบ 3 นิ้ว เรียกร้องให้เลิกมาตรา 112 มีการไปร้องยังหน่วยงานสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเพื่อให้ช่วยกดดันรัฐบาลไทย
ทั้งนี้เพราะแกนนำผู้ชุมนุมหลายคนเริ่้มถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากที่มีการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กันอย่างสนุกสนานในที่ชุมนุม เพราะก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่า ในหลวงทรงมีพระราชประสงค์ไม่ให้บังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาก็ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว
ถ้าพิจารณากันในหลักที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง พระราชประสงค์ดังกล่าวก็ต้องถือว่าไม่อาจมีผลที่สามารถยึดถือเป็นบรรทัดฐานได้ นั่นหมายความว่า การบังคับใช้กฎหมายก็ควรจะดำเนินต่อไปตราบที่กฎหมายยังอยู่
แต่ที่ตลกก็คือ การเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 นั้นมีข้ออ้างคือ รัฐนำกฎหมายมาตรานี้มาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ความจริงเป็นตรรกะที่บิดเบี้ยว เพราะที่รัฐบังคับใช้มาตรา 112 เพิ่มมากขึ้นก็เพราะมีผู้กระทำความผิดเข้าข่ายมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
เพราะโดยหลักแล้วไม่มีกฎหมายไหนมาลงโทษประชาชนถ้าไม่กระทำผิดได้ จะเกิดเป็นความผิดได้เมื่อการกระทำมันไปเข้ากับข้อกฎหมาย หรือข้อกฎหมายไปเข้ากับการกระทำความผิดนั่นเอง
และถ้าเราติดตามการชุมนุมของม็อบราษฎร เราจะได้ยินการปราศรัยโจมตีพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหยาบคาย รวมไปถึงการเขียนข้อความต่างๆ มาแสดงจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เท่านั้น แม้กับบุคคลธรรมดาการกล่าวหาเช่นนั้นยังเข้าข่ายความผิดเลย จนเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีต้องออกมาแถลงการณ์ว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราอย่างเคร่งครัดรวมถึงมาตรา 112 ด้วยนั่นเอง
มาตรา 112 บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”
และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
ในความเห็นส่วนตัวนั้น ผมคิดว่า หากเราจะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ย่อมจะสามารถกระทำได้ ถ้าหากการวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่ใช่การใส่ร้ายหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เสียหาย หรือไปลบหลู่ให้เสียพระเกียรติดังที่เกิดขึ้นในที่ชุมนุมในปัจจุบัน เพราะในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตรงมีพระราชดำรัสว่า สามารถวิจารณ์ได้ ดังตอนหนึ่งว่า
“แต่แท้จริง ที่พูด ที่ออกข่าว ให้สัมภาษณ์บอกว่าอย่าไปวิจารณ์เดอะคิง ต้องบอกว่า อย่าไปวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะว่าไม่ควร ในรัฐธรรมนูญก็มีอยู่ว่าละเมิดมิได้ นักกฎหมายก็พยักหน้าอีกแล้วว่าถูกต้อง ว่าไม่ควรจะวิจารณ์ วิจารณ์ไม่ได้ ละเมิดไม่ได้ แต่ว่าถ้าพูดว่าพระเจ้าอยู่หัวทำถูก พูดถูก ไม่ใช่ละเมิด เป็นการถ้าพูดภาษาอังกฤษก็ approve พระเจ้าอยู่หัว เห็นชอบด้วย”
“แต่ไม่เคยมีใครมาบอกเห็นชอบว่า พระเจ้าอยู่หัวพูดดี พูดถูก แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัว ถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์ เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์ แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร...”
แต่ถ้าถามว่า หากเราฟังการปราศรัยและการโจมตีพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมแล้วจะพบว่าเราไม่สามารถตีความได้ว่านั่นเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้เลย เพราะเต็มไปด้วยการดูหมิ่นดูแคลน กระทั่งกล่าวหาว่าทรงไปเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตและสูญหายของใครบางคน ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายชัดเจน
อย่างไรก็ตามมีคำพิพากษาฎีกา ระบุว่า จำเลยกล่าวถ้อยคำอันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในที่ประชุมสาธารณะอันเป็นความผิดตามมาตรา 112 นั้น จำเลยจะยกมาตรา 329 มาแก้ตัวให้พ้นผิดไม่ได้ (ฎีกาที่ 51/2503)
แต่หากจะว่าไปแล้วในปัจจุบันข้อกล่าวหาที่ว่ามาตรา 112 ถูกตีความและนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับการกระทำหลายรูปแบบอย่างไม่มีขอบเขต ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการกระทำแบบใดจะผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป
เพราะมีหลายคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง เช่น เมื่อ ปี 2558 ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องน.ส.นพวรรณ ตั้งอุดมสุข หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 5 ปี หลังจาก น.ส.นพวรรณ ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551 น.ส.นพวรรณ ได้พิมพ์ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูง แล้วนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ศาลจังหวัดเชียงราย ได้พิพากษายกฟ้องคดีนายสราวุทธิ์ ช่างตัดแว่นอายุ 35 ปี จำเลยในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากต่อสู้คดีมานานกว่าสามปี เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ยังมีข้อสงสัย จึงยกประโยชน์ให้จำเลย
นอกจากนั้นศาลอุทธรณ์ยังพิพากษายกฟ้องนายวันกษัตริย์ พรหมทอง หรืออดีตพระวันกษัตริย์ วชิรญาโณ อายุ 31 ปี ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยจำเลยได้กล่าวแอบอ้างกับพระวิเชียร กิตติสาโร ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานตั้งชื่อให้จำเลยว่า “วันกษัตริย์” โดยพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยเพียงฐานความผิดฉ้อโกงประชาชนเท่านั้น
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า การถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้น กระบวนการพิจารณาคดีส่วนใหญ่ผู้ต้องหาไม่ได้ประกันตัว และศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวขึ้นอย่างกว้างขวางนั้น เราทราบกันอยู่แล้วในปัจจุบันว่า แกนนำม็อบที่โดนคดีมาตรา 112 นั้น ล้วนแล้วแต่ได้รับการปล่อยตัวไปเมื่อตำรวจเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาแล้วทั้งสิ้น ข้อกล่าวหานี้จึงไม่เป็นความจริงอีกต่อไป
แต่ถ้าจะพิจารณาว่า โทษของความผิดตามมาตรา 112 นั้นสูงเกินไปหรือไม่ โดยส่วนตัวผมเองก็เห็นว่า อัตราโทษทั้งขั้นสูงและขั้นต่ำสูงจนเกินไป และเห็นด้วยว่าควรจะปรับอัตราโทษขั้นสูงและขั้นต่ำลงมา และเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตให้เกิดความชัดเจน ดังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีความเห็นว่าสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ หากไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย
ส่วนที่มีความเห็นว่าคดีหมิ่นประมาทควรเป็นคดีทางแพ่งมากกว่าทางอาญานั้นโดยส่วนตัวผมเห็นด้วยในการพิจารณาความผิดหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปตามมาตรา 326 นั้นควรจะเป็นคดีแพ่งมากกว่าคดีอาญา เพราะการหมิ่นประมาทต่อกันเป็นความเสียหายส่วนบุคคลไม่ได้กระทบต่อรัฐหรือบุคคลอื่น
แต่ความผิดตามมาตรา 112 นั้นเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มีขึ้นเพื่อปกป้องประมุขของรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีและสอดคล้องกับการปกป้องประมุขของรัฐทั่วโลก และการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อามาตมาดร้ายประมุขของรัฐย่อมจะส่งผลกระทบต่อรัฐด้วย จึงควรจะเป็นคดีอาญาต่อไป
ดังนั้น เรื่องเรียกร้องให้เลิกมาตรา 112 สรุปแล้วเป็นเรื่องของคนกระทำผิด แล้วโทษว่ากฎหมายผิดนั่นเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan