แกนนำราษฎร โร่เคลียร์ไม่เกี่ยวเยาวชนปลดแอก หลังบอกคอมมิวนิสต์ไม่ใช่เผด็จการ อ้างยังสู้เพื่อประชาธิปไตย ชี้ การเสนออุดมการณ์ไม่ผิด แต่ต้องให้สอดคล้องเจตจำนงมวลชน ย้ำคงพุ่งเป้าที่สถาบัน เหิมเกริมถามจะยอมปฏิรูป หรือจะถูกประชาชนปฏิวัติ
วันนี้ (15 ธ.ค.) นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ แพนกวิน แกนนำราษฎร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงการแสดงจุดยืนของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่ได้ระบุถึงการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่การปกครองแบบเผด็จการ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนในเรื่องของประชาธิปไตย โดยนายพริษฐ์ปฏิเสธว่า ตนเองไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว พร้อมทั้งชี้แจงประเด็นดังกล่าว ว่า พี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทุกท่าน ผมขอชี้แจงกับทุกท่านว่าผมเป็นสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) และจุดยืนที่ปรากฏในเพจเยาวชนปลดแอกนั้น เป็นแนวทางของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเอง ไม่ใช่แนวทางของผม ไม่ใช่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และที่สำคัญ ไม่ใช่มติของราษฎร ผมยังคงยึดมั่นในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่มีเผด็จการ หรือศักดินาแทรกแซงครอบงำ เพื่อประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม และเพื่อประชาธิปไตยที่มีรัฐสวัสดิการโอบอุ้มชีวิตของทุกคน
การเสนออุดมการณ์ไม่ว่าจะแนวคิดใดมิใช่เรื่องผิดบาป ถือเป็นเสรีภาพของผู้เสนอ แต่ในเชิงการเคลื่อนไหวต่อสู้นั้น จะต้องประเมินให้ดีว่าแนวคิดที่จะเสนอนั้นสอดคล้องกับเจตจำนงของมวลชนหรือไม่ ในขณะที่เราตัดสินใจจะพังเพดานในเวทีธรรมศาสตร์ในวันที่ 10 สิงหาคมนั้น เราได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์อย่างถี่ถ้วนแล้วว่าปัญหาของสถาบันกษัตริย์ คือ สิ่งที่อยู่ในใจของพี่น้องที่ร่วมต่อสู้ ดังจะเห็นว่านับแต่การชุมนุมครั้งแรก เราเห็นป้ายกล่าวถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ปรากฏอยู่ทุกแห่งหนในการชุมนุม เราจึงลุกขึ้นพูดเพื่อประกาศเจตจำนงของมวลชน เพราะถึงที่สุด การต่อสู้จะสำเร็จได้มิใช่ด้วยเจตจำนงของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะสำเร็จด้วยเจตจำนงร่วมของพี่น้องทุกท่าน
ในประเด็นเรื่องสามข้อหรือข้อเดียวนั้น เรายังยึดมั่นในข้อเสนอสามข้อซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูป แต่ตามธรรมชาติแล้ว การปฏิรูปจะเกิดขึ้นก็เมื่อชนชั้นนำยอมปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน หากชนชั้นนำไม่ยอมปรับตัวก็จะไม่เกิดการปฏิรูป และเมื่อไม่เกิดการปฏิรูปก็จะเกิดการปฏิวัติ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ทั่วโลก ดังนั้น ขณะนี้ ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นรถยนต์ ก็เหมือนอยู่ที่สามแยก ทางหนึ่งเลี้ยวไปหาการปฏิรูป ทางหนึ่งเลี้ยวไปหาการปฏิวัติ ประชาราษฎรได้ขับรถมาถึงหน้าสามแยกแล้ว แต่จะเลี้ยวไปทางไหนนั้น สถาบันกษัตริย์ และองคาพยพศักดินา จะเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าเลือกปรับปรุงตัวรถก็เลี้ยวเข้าถนนปฏิรูปสามข้อ แต่ถ้ายังดื้อด้าน รถก็เลี้ยวเข้าทางปฏิวัติข้อเดียวก็เท่านั้น