xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รู้หรือยัง “เหล้า-เบียร์” เครื่องดื่มต้องห้าม(ขายออนไลน์)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มาตรการควบคุมการจำหน่าย  “เหล้า-เบียร์ ”  มีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ห้ามโฆษณา ห้ามขายวันพระใหญ่ และให้ปิดขายเป็นช่วงเวลา และมาตรการล่าสุดที่กำหนดบังคับใช้ก็คือ  “ห้ามขายออนไลน์”  โดยได้ฤกษ์ดีเดย์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

แน่นอน มาตรการต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดี เนื่องเพราะมีสถิติชัดเจนว่า ในแต่ละมี “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” คือต้นเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนไทย รวมทั้งเป็นบ่อเกิดความรุนแรงสารพัดสารพัด

ทว่า สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ แม้มีกฎหมายข้อห้ามต่างๆ นานา แต่ทุกๆ ปี  “ภาษีบาป”  จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โกยเม็ดเงินเข้าคลังสะพัดนับหมื่นล้าน
ข้อมูลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในปีประมาณ 2563 (ต.ค.2562 - ก.ย.2563) ภาษีสุราจัดเก็บได้ 6.12 หมื่นล้านบาทต่ำกว่าเป้า 300 ล้านบาท ภาษีเบียร์จัดเก็บได้ 8 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 6 พันล้านบาท ขณะที่รายได้ของกรมสรรพสามิตในปีประมาณ 2562 (ต.ค.2561 - ก.ย.2562) ภาษีสุราจัดเก็บจัดเก็บได้ 6.2 หมื่นล้านบาท ภาษีเบียร์จัดเก็บจัดเก็บได้ 7.9 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี แม้รายได้ของกรมสรรพสามิตจากภาษีบาปจำพวกเหล้าเบียร์ลดลงก็เล็กน้อย ซึ่งน่าจะมาจากผลกระทบการสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มากกว่าความศักดิ์สิทธิ์ของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

สำหรับกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการจำหน่ายเหล้าเบียร์ในเมืองไทย ไล่เรียงตั้งแต่ ข้อห้ามขายเหล้าเบียร์วันสำคัญทางศาสนาพุทธ เกิดแคมเปญรณรงค์  “งดเหล้าเข้าพรรษา”  ขับเคลื่อนโดยหน่วยงานภาครัฐเป้าหมายหลักเพื่อลดสถิติการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย เสริมสร้างสุขภาพที่ดี และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ

ขณะเดียวกัน มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ถ้าหากฝ่าฝืน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประเด็นห้ามขายเหล้าเบียร์วันพระใหญ่ พิจารณาแล้วสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 67 ระบุว่า รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนละเว้นการบริโภคแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ มองได้ว่าเป็นสร้างเสริมศีลธรรมอันดีของประชาชน สนับสนุนการอุปถัมภ์พุทธศาสนาให้สมกับเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ

อย่างไรก็ตาม ที่เป็นประเด็นวิพากษ์เรียกร้องให้รัฐทบทวนคือ เรื่องการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเวทีเสวนาวิเคราะห์ปัญหา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ห้วข้อ “เศรษฐกิจ-โควิด กับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดยสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) หนึ่งในกระทู้ร้อนที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาคือ ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายมาตรา 32 เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

ทั้งนี้ มาตรา 32 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” โดยไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าการกระทำใดเป็นการชักจูงโดยตรงหรือโดยอ้อม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ระบุว่า มาตรา 32 มีความล้าสมัยเนื่องจากถูกบังคับใช้มากว่า 12 ปี ตั้งแต่ปี 2551 ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ โดยอาศัยการตีความและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องค่าปรับที่กำหนดไว้สูงอย่างไม่สมเหตุสมผลตั้งแต่ 50,000 - 500,000 บาท รวมถึงเรื่องสินบนรางวัลที่เจ้าหน้าที่และผู้แจ้งเบาะแส จะได้ส่วนแบ่งพร้อมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานถึงร้อยละ 80 ของค่าปรับ ในขณะที่จะมีเงินเข้ากระทรวงการคลังเพียงร้อยละ 20 ของค่าปรับเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ล่าสุด 7 ธ.ค. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 เนื่องจากในปัจจุบันมีวิวัฒนาการของการใช้เทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการและร้านค้าบางส่วนใช้ช่องทางในการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ทำให้ยากต่อการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องวันเวลาสถานที่และบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่ายและลดผลกระทบอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงมีความจำเป็นในการออกประกาศเพื่อกำหนดเป็นมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา30(6) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551นายกรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงหรือเป็นการดำเนินการใด ๆ ในลักษณะการเชิญชวนให้ซื้อ การเสนอขายหรือขายสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภคโดยตรงด้วยการตลาดหรือบริการการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ขายและผู้บริโภคซื้อขายได้โดยไม่ต้องพบกัน

ข้อ 2 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีการซื้อขายและการชำระราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์โดยเฉพาะรายย่อย ด้านสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เรียกร้องขอให้ยกเลิกกฎหมายห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่งประกาศไป มองว่าการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย กระทบรุนแรงอาจถึงขั้นต้องปิดตัวเพราะไม่มีช่องทางในการทำธุรกิจ และการแข่งขันในตลาดทำให้เกิดการผูกขาด ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล และส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

เช่นเดียวกับสมาคมคราฟต์เบียร์แห่งประเทศไทยที่ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ ประกาศฉบับดังกล่าว โดยอ้างว่าสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจรายย่อยเป็นจํานวนมาก ยกตัวอย่างคราฟต์เบียร์เป็นสินค้าที่มีช่องทางจัดจําหน่ายจํากัด การห้ามซื้อขายทางออนไลน์ จึงเป็นเหมือนการตัดเส้นเลือดใหญ่ เป็นการกีดกันทางการค้าเป็นการทําลายธุรกิจขนาดเล็ก เป็นการทําร้ายประชาชนที่ประกอบอาชีพสุจริตโดยเอาการอ้างศีลธรรมมาบังหน้า พร้อมทั้งรวมตัวฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อฟ้องเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผลบังคับเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โต้โผขับเคลื่อนประกาศดังกล่าว แถลงเจตนารมณ์เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ สร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดำเนินบนพื้นฐานลดผลกระทบจากโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนน ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ปัญหาการทะเลาะวิวาท อาชญากรรม สุขภาพ ครอบครัว ความพิการ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ควบคุมการเข้าถึงของประชาชนรวมถึงเด็กและเยาวชน

โดยเจตนาไม่ได้เป็นการกีดกัน อี-คอมเมิร์ช (E-Commerce) หรือกีดกันผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์ ไม่มีเจตนาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพียงแต่ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ต้องควบคุมมากกว่าสินค้าธรรมดา

อ้างอิงสถิติในการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ผ่านสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ฝ่ายสนับสนุนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มองว่าการมีมาตรการการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สามารถช่วยควบคุมการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนผ่านสื่อออนไลน์ มีประสิทธิผลในการลดการบริโภคเพราะทำให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น