xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดบทเรียน “แรงงานแพลตฟอร์ม” ชำแหละปม “Grab” เอาเปรียบ “ไรเดอร์” “ฟู้ด - ไบค์ - คาร์” ระทมทั่วหน้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เสียงบ่นก่นด่าดังขรมสำหรับกรณี  “Grab Thailand” เอารัดเอาเปรียบกดขี่พาร์ทเนอร์คนขับ  Grab Food, Grab Bike, Grab Car จุดชนวนร้อนถกประเด็น “แรงงานแพลตฟอร์ม”  ปัญหาใต้พรมที่รอวันสะสาง โดยการคุ้มครอง  “แรงงานอิสระ” ถือเป็น การบ้านข้อใหญ่ของรัฐโดยกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่มี “เสี่ยเฮ้ง-สุชาติ ชมกลิ่น” และ “มาดามแหม่ม-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” นั่งบริหาร ตีโจทย์ให้แตกแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด

สำหรับแพลมฟอร์ม Grab แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่ให้บริการเรียกรถ ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ สำหรับรับส่งผู้โดยสาร สั่งอาหาร รวมทั้งส่งพัสดุ เรียกว่ารูปแบบการให้บริการเป็นที่คุ้นชินกันดีในเมืองไทย อำนวยความสะดวกสบายตอบโจทย์ลูกค้าเป็นอย่างดี

ฉากหน้าสวยหรูจูงใจผู้สนใจหารายได้เสริม มาร่วมขับ Grab ชักชวนมาเป็น “พาร์ทเนอร์” ย้ำว่า  “พาร์ทเนอร์” ไม่ใช่  “ลูกจ้าง”  กล่าวคือใครใคร่ขับสร้างรายได้เมื่อใดก็ขับได้เมื่อนั้น ทว่า ฉากหลังเต็มไปด้วยปัญหา โดยเฉพาะประเด็นการเอารัดเอาเปรียบพาร์ทเนอร์คนขับ หรือที่เรียกว่า “ไรเดอร์” ตั้งแต่ Grab Food บริการรับส่งอาหาร Grab Bike บริการมอเตอร์ไซค์รับส่งผู้โดยสาร และ Grab car บริการรถยนต์ส่วนบุคคลรับส่งผู้โดยสาร
 
เงี่ยหูฟังเสียงก่นด่าก็พอจะสรุปความได้ว่า Grab เกิดปัญหาทำธุรกิจมุ่งแน้นแสวงหาผลกำไร ขาดความสมดุลในเรื่องหลักคุณธรรมและมนุษย์ธรรม ไม่แยแสคุณภาพชีวิตบรรดาพาร์ทเนอร์ Grab ออกกฎข้อบังคับต่างๆ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ อีกทั้งระบบไม่เสถียรส่งผลกระทบต่อผู้ขับขี่ ประเมินได้จากการรวมตัวเรียกร้องของไรเดอร์ชาวไทยที่ตบเท้ากันอย่างเนื่อง เพราะความรู้สึกไม่เป็นธรรม ถูกกดขี่รังแก โดนเอารัดเอาเปรียบ แต่พวกเขาจำต้องอยู่ในสถานะสยบยอม เพราะยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้แล้ว

ขณะที่ ท่าทีของ Grab Thailand ไม่แสดงความจริงใจต่องการแก้ปัญหาใดๆ เพียงแค่ไม่เพิกเฉยเพราะแรงกดดันจากสังคม หรือแค่ชี้แจ้งแถลงไขชนิดที่แถจนสีข้างถลอก ทำให้บรรดาไรเดอร์ต้องออกมาเรียกร้องประกาศจุดยืนครั้งแล้วครั้งเล่า

ก่อนหน้านี้  “กลุ่มไรเดอร์ Grab”  ได้เดินทางไปพบที่ปรึกษารัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน และตัวแทนจากกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องสิทธิ์สวัสดิการการทำงานผ่านระบบแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจุบันยังไม่มีการดูแลและการคุ้มครองที่เป็นธรรม โดยเฉพาะทางด้านกฎหมาย

ล่าสุด “กลุ่มไรเดอร์ Grab” ได้ยกทัพไปทำเนียบรัฐบาลเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อ กมธ.แรงงานฯ วอนนายกรัฐมนตรีร้องขอภาครัฐช่วยเป็นตัวกลางแก้ปัญหา โดยมี  แรมโบ้อีสาน – นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และ  นายสุเทพ อู่อ้น ประธาน กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับหนังสือแทนนายกฯ

มาดามแหม่ม - นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงานฯ | เสี่ยเฮ้ง - สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานฯ
ด้วยปัญหาที่ลุกลามบานปลายไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขของบริษัทแพลตฟอร์มข้ามชาติ ทำให้คนขับ Grab ออกมาเรียกร้องโดยอาศัยรัฐเป็นตัวกลางเจรจากับบริษัทเอกชนรายใหญ่ ให้พิจารณาข้อเรียกร้องสร้างกลไกทางธุรกิจที่สมดุลไม่มุ่งแต่ผลกำไรกดขี่พาร์ทเนอร์คนขับ Grab ทุกประเภท

 นายพรเทพ ชัชวาลอมรกุล  ตัวแทนจากกลุ่มไรเดอร์ Grab สะท้อนปัญหาใหญ่ที่ไรเดอร์ Grab Food รวมตัวเรียกร้อง มีทั้งเรื่องการเอารัดเอาเปรียบในการทำงานผ่านการเป็นพาร์ทเนอร์ การลดค่าวิ่งต่อรอบของไรเดอร์ ซึ่งทำให้ไรเดอร์จำเป็นต้องทำงานหนักเป็นเวลายาวนานเพื่อให้ได้รายได้เพียงพอ กระทบปัญหาด้านสุขภาพอ่อนเพลียพักผ่อนไม่เพียงพอ บางรายโหมงานหนักจนเกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อีกทั้งภาระต้นทุนอีกหลายด้าน อาทิ ค่าสึกหรอของรถ ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายประจำวัน และอื่นๆ โดยที่บริษัทไม่ช่วยเหลือทางด้านการเงินใดๆ

จุดแตกหักที่ไรเดอร์ออกมาประท้วง ทวีความรุนแรงตั้งแต่ ส.ค. 2563 เนื่องจาก Grab Thailand ไม่มีสวัสดิการไม่มีประกันอุบัติเหตุ หรือมีประกันอุบัติเหตุก็คุ้มครองแค่ช่วงมีออร์เดอร์เท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขณะที่ไรเดอร์ที่ต้องทำงานกันหนักมากขึ้นมีโอกาสประสบอุบัติเหตุมากขึ้น เป็นการแสดงออกว่าบริษัทขาดความจริงใจในการแสดงความรับผิดชอบต่อพาร์ทเนอร์คนขับ ตลอดจนกรณีจ่ายเงินชดเชยจากอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ต้องใช้เวลายาวนานในการดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่อระบบไม่เป็นธรรม เช่นกรณีการปิดระบบไรเดอร์ ไม่เปิดโอกาสให้ไรเดอร์ได้อุทธรณ์ ยกตัวอย่างกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุสุดวิสัยจนทำให้ไม่สามารถไปส่งอาหารได้ทันเวลาตามออเดอร์ ไรเดอร์ถูกลูกค้า complaint เป็นเหตุให้ไรเดอร์ถูกปิดระบบ สูญเสียรายได้ โดย Grab ไม่มีระบบสืบสวนสอบสวนหรือฟังเหตุผลจากทางฝั่งไรเดอร์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การรวมตัวชุมนุมของไรเดอร์ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 หน้าตึกธนภูมิ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ Grab Thailand ยื่นข้อเสนอ 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย

 1. ค่าตอบแทน ทุกคนต้องได้รับภาษีเงินได้ 3% คืนเมื่อสิ้นปีตามกฎหมาย, ต้องได้ค่าเคลมอาหารคืนภายใน 24 ชั่วโมง และค่าตอบแทนในต่างจังหวัดต้องเท่ากับหรือใกล้เคียงกับค่าตอบแทนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

2. กติกาการทำงาน รอลูกค้าไม่เกิน 5 นาที, หากลูกค้ายกเลิกออร์เดอร์กลางคันต้องได้รับค่าเสียเวลา 20 บาท (ไม่รวมค่ารออีก 20 บาทต่อ 5 นาที), กรณีงานที่มีมากกว่า 1 คำสั่งซื้อ ต้องเป็นออร์เดอร์จากร้านเดียวกันเท่านั้น, ปรับปรุง GPS ให้ตรงกับตำแหน่งจริง และหากยกเลิกงาน การซ่อมงาน หรือทำงานชดเชย ต้องไม่เอาเปรียบไรเดอร์

และ 3. ช่องทางรับฟังปัญหา Call Center 24 ชั่วโมง, ลดเวลาการรอสาย Call Center, หากถูกแบนโดยไม่เป็นธรรม ไรเดอร์ต้องร้องเรียนได้ทันที และบริษัทต้องช่วยเหลือทันทีหากเกิดอุบัติเหตุ (เจ็บ-ตาย) โดยไม่ต้องรอมติจากบริษัทแม่ที่สิงคโปร์ 


ขณะที่ Grab Thailand ออกแถลงการณ์สรุปความได้ว่ายังคงเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต ตระหนักดีว่าการให้บริการแพลตฟอร์มถือเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้อย่างลงตัว

 นายณัฐวัฒน์ จีรทัศน์ธำรง  คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ากระทรวงแรงงานได้รับทราบปัญหาของแรงงานแพลตฟอร์มซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหม่ โดยปัญหานี้เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายรูปแบบงานของไรเดอร์ Grab เป็นแรงงานอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ทำงานกับแพลตฟอร์มไม่มีสัญญาจ้าง เป็นบริษัทต่างชาติ เกิดข้อจำกัดที่รัฐจะเข้าไปดูแลเช่นกัน อย่างรไรก็ดี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะประสานไปยังบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม Grab ดูแลประเด็นแรงงานแพลตฟอร์ม ผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาแรงงานนอกระบบ ซึ่งคาดว่าจะช่วยดูแลการจ้างงานแบบนี้ได้

 ดร. เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ตั้งข้อสังเกตุว่ากระทรวงแรงงานตีความอาชีพไรเดอร์ว่าเป็น “แรงงานอิสระ” หรือ “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งส่งผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการของไรเดอร์ที่นายจ้างควรต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ปัจจุบันไรเดอร์ต้องจ่ายเงินค่าประกันสังคมในมาตรา 40 เอง เพราะถือว่าไรเดอร์ตอนนี้เป็นนายจ้างตัวเอง ขณะที่ในความเป็นจริงไรเดอร์เหล่านี้มีนายจ้างชัดเจน

 ปัญหาคือภาครัฐเองยังมีปัญหาขาดเข้าความเข้าใจงานในยุคใหม่ ซึ่งทำให้กฎหมายเก่ามีปัญหา ไม่สามารถนำมาใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์กับแพลตฟอร์มได้ ดังนั้น ต้องคลอดกฎหมายใหม่มารองรับแรงงานแพลตฟอร์มโดยเร่งด่วน 


เบื้องต้นรัฐอาจต้องพยายามใช้กฎหมายเท่าที่มี เทียบเคียง ดูปัญหาในแต่ละเรื่อง เข้ามาตรวจสอบ Grab ในประเด็นต่างๆ ที่อาจจะละเมิดกฎหมายที่มีอยู่ และใช้อำนาจทางกฎหมายควบคุมไม่ให้บริษัทเปลี่ยนกฎระเบียบข้อบังคับตามใจชอบ เพราะไม่มีกรอบที่รัฐจะเข้ามาควบคุมเลย เปิดช่องให้บริษัทแพลตฟอร์มสามารถเอาเปรียบแรงงานอย่างอิสระ ข้อสำคัญรัฐต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการจัดการกฎหมายและสวัสดิภาพของแรงงานยุคใหม่

สำหรับธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในเมืองไทย นอกจาก Grab ที่ให้บริการรถสาธารณะและรับส่งอาหาร ยังมี Line Man, Foodpanda และ Lalamove รวมทั้ง Airbnb, Agoda, Booking, Traveloca, Traveligo ฯลฯ ที่ให้บริการที่พักอาศัยชั่วคราว และ BeNeat, Ayasan, Seekster ที่ให้บริการลูกจ้างทำความสะอาดบ้านและสำนักงาน

เหล่านี้เรียกว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform economy) ลักษณะสำคัญคือการจับคู่ความต้องการของผู้เสนอกับผู้ซื้อสินค้าหรือบริการผ่านกลไกดิจิทัลอย่างแพลตฟอร์มและสมาร์ทโฟน

ข้อดีคือแพลตฟอร์มจะเปิดโอกาสให้แรงงานผู้สนใจเข้าร่วมในการให้บริการโดยไม่จำกัดหากมีคุณสมบัติตามที่กำหนด สามารถทำงานได้หลายแห่งหลายประเภท ขณะเดียวกัน เกิดข้อเสียขึ้นเพราะไม่มีมาตรฐานแรงงานหรือการคุ้มครองแรงงาน เกิดการเอาเปรียบแรงงานผู้ให้บริการ ไม่มีความก้าวหน้าในอาชีพ การลดลงของรายได้ในระยะยาว อย่างกรณีของ Grab Car รายได้จะดีตอนเข้าร่วมบริการแรกๆ เท่านั้น แพลตฟอร์มสร้างกลไกล่อใจ มุ่งดึงดูดคนขับหน้าใหม่

แน่นอนว่า คนขับ Grab Car ประสบปัญหาถูกบริษัทเอารัดเอาเปรียบเช่นเดียวกับ Grab food และ Grab Bike ผลตอบแทน Grab Car จะถูกแพลตฟอร์มหัก 25 % หรือ 1 ใน 4 ของรายได้ ในขณะที่พาร์ทเนอร์คนขับต้องแบกรับภาระค่าเสื่อมรถ ค่าน้ำมัน ค่าเสื่อมสุขภาพ จิปาถะ

Grab Car ถ้าจะให้รายได้ดีต้องขับวันละไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง มีข้อมูลเปิดเผยว่า 30 % ของผู้ให้บริการ Grab Car ทำงานมากกว่า วันละ 8 ชั่วโมง นอกจากนี้ คนขับ Grab Car ซึ่งใช้รถส่วนตัวและใบขับขี่ธรรมดาซึ่งนับว่าผิดกฎหมายใช้รถผิดประเภท โดนจับปรับ ประกันภัยรถยนต์ไม่ให้การคุ้มครอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แรงงานที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม รัฐตีความว่าไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม จัดเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือหุ้นส่วน (partner) อย่างไม่เป็นทางการของแพลตฟอร์ม หรือทางกฎหมายหมายถึงผู้รับจ้างทำของ (contractor) ซึ่งจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และได้รับค่าตอบแทนตามชิ้นงาน ในขณะที่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

 หมายความว่าแรงงานแพลตฟอร์มไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคมตามมาตรา 33 (ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายหรือ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตรและชราภาพ การว่างงาน) ขาดการดูแลจากกองทุนทดแทน (ความเจ็บป่วยและอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงาน) สิทธิประโยชน์วันลา วันหยุดโดยได้รับค่าจ้าง การชดเชยการเลิกจ้าง การดูแลสภาพการทำงาน เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองร่วม 

การชุมนุมกลุ่มคนขับ Grab ประเทศไทย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากแพลตฟอร์ม Grab เพราะโดนเอารัดเอาเปรียบในประเด็นต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของแรงงานเศรษฐกิจแพลตฟอร์มต่อในปัญหาด้านมาตรฐานแรงงานและการคุ้มครองแรงงาน เป็นโจทย์ข้อใหญ่ภาครัฐโดยกระทรวงแรงงานฯ ต้องปรับแก้ให้เท่าทันยุคสมัย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทย

 ก็ไม่รู้ว่า 2 รัฐมนตรีอย่าง “เสี่ยเฮ้งและมาดามแหม่ม” จะ “เบิกเนตร” เข้ามาจัดการช่องว่างช่องโหว่ที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วทันใจเพียงใด 


กำลังโหลดความคิดเห็น