xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางการต่อสู้และความขัดแย้งของกลุ่มพลังทางการเมืองในสังคมไทย (๑)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


การเมืองไทยร่วมสมัยยังหาจุดสมดุลของอำนาจระหว่างพลังทางสังคมไม่เจอ แม้ว่าบางยุคสมัยดูเหมือนว่าได้ข้อสรุปที่ลงตัวแล้วก็ตาม แต่ภาวะดุลยภาพนั้นกลับเป็นเพียงมายาและมีความเปราะบาง ดำรงอยู่ได้เพียงช่วงระยะสั้น ๆ เมื่อเผชิญกับแรงกดดันที่เกิดขึ้น รอยร้าวของความขัดแย้งก็ปรากฏ และในที่สุดก็แตกสลาย จากนั้นมีการพยายามสร้างและจัดวางตำแหน่งทางอำนาจเพื่อสร้างดุลยภาพใหม่ แต่มิอาจหลีกเลี่ยงและหลุดพ้นจากวงจรเดิมได้

อาการความไร้เสถียรภาพของโครงสร้างอำนาจการเมืองไทยที่อยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ปรากฏมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ ๒๔๗๐ กระแสพลังความคิดของประชาธิปไตยก่อตัวเป็นพลังเชิงรูปธรรมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองในปี ๒๔๗๕ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกล้มล้างและแทนที่ด้วยระบอบประชาธิปไตยด้วยคณะราษฎร ซึ่งมีแกนนำที่ประกอบด้วยข้าราชการและทหารที่มีพื้นฐานจากสามัญชน อันเกิดจากการจัดตั้งของระบบราชการสมัยใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาสมัยรัชกาลที่ ๕

ทางเลือกของกลุ่มคณะราษฎรในเวลานั้นมีสองทางเลือกหลักคือ การสร้างระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือการสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐที่มีสามัญชนเป็นประมุข  หลังจากที่มีการต่อสู้ทางความคิดภายในกลุ่มคณะราษฎร ในที่สุดฝ่ายสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขประสบชัยชนะ แต่เส้นทางของการพัฒนาประชาธิปไตยหาได้มีความราบรื่นแต่ประการใด ตรงกันข้ามการต่อสู้และช่วงชิงอำนาจระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายกษัตริย์นิยมดำเนินไปอย่างเข้มข้น และนำไปสู่สงครามกลางเมืองในปีถัดมานั่นคือสงครามระหว่างคณะราษฎรกับคณะเจ้าในนาม “คณะกู้บ้านเมือง” ภายใต้การนำของ พระองค์เจ้าบวรเดช สงครามครั้งนั้นทำให้มีการสูญเสียชีวิตของบรรดาผู้เข้าร่วมรบเป็นจำนวนมาก และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของคณะกู้บ้านเมือง ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่ากบฏบวรเดช

ชัยชนะของของคณะราษฎรในสงครามกลางเมืองทำให้อำนาจของฝ่ายกษัตริย์นิยมถดถอยลงเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดมายาภาพขึ้นว่าเส้นทางการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยของไทยมีความราบรื่นยิ่งขึ้นอำนาจของคณะราษฎรและระบอบราชการที่มีฐานจากสามัญชนขยายตัว ขณะเดียวกันเวทีอำนาจของประชาชนถูกสถาปนาขึ้นมาในนามระบอบรัฐสภา ส่วนบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาถูกกำหนดให้อยู่เหนือการเมือง

แต่กระนั้นบทบาททางการเมืองของบรรดาเชื้อพระวงศ์ในระดับรองลงมาและอดีตขุนนางที่มีความคิดกษัตริย์นิยมมิได้ถูกจำกัดมากนัก ยังคงมีพื้นที่ในระบอบรัฐสภาอยู่ไม่น้อย และเส้นทางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาหาได้ราบรื่นแต่ประการใด เพราะความท้าทายใหม่ที่ทรงพลังได้ก่อตัวขึ้นมานั่นคือกองทัพและระบบราชการ

ระบอบราชการโดยเฉพาะกองทัพที่เป็นองค์ประกอบและพลังสำคัญของคณะราษฎรในยุคแรกได้พัฒนาความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้สูงว่าเหตุผลหลักประการหนึ่งคือแกนนำคณะราษฎรต้องการใช้ระบบราชการสมัยใหม่เป็นฐานในการสร้างความมั่นคงทางอำนาจของกลุ่มตนเอง จึงสนับสนุนการขยายตัวและพัฒนาหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกองทัพ และในที่สุดทำให้กองทัพกลายเป็นองค์กรนำที่ทรงพลังอำนาจเหนือหน่วยราชการทั้งมวล
การเมืองไทยร่วมสมัยยังหาจุดสมดุลของอำนาจระหว่างพลังทางสังคมไม่เจอ แม้ว่าบางยุคสมัยดูเหมือนว่าได้ข้อสรุปที่ลงตัวแล้วก็ตาม

ขณะที่ระบอบรัฐสภาและประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมกลับมีการพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าระบบราชการ เหตุผลสำคัญสองประการคือ ประการแรกพรรคการเมืองในฐานะที่เป็นกลไกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยถูกกดทับเอาไว้สิบกว่าปี มิได้มีการอนุญาตให้จัดตั้งอย่างเป็นทางการจนกระทั่งอนุญาตให้จัดตั้งได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ นั่นอาจเป็นเพราะคณะราษฎรเกรงว่าจะทำให้กลุ่มนิยมกษัตริย์สามารถรวบรวมพลังและจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาท้าทายอำนาจตนเองในช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ประการที่สองเกิดสงครามโลก ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องการรวมศูนย์อำนาจเพื่อรับมือกับสงคราม การส่งเสริมประชาธิปไตยและการขยายอำนาจแก่ประชาชนจึงถูกเลื่อนออกไป การเลือกตั้งถูกระงับและมีการต่ออายุสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเมืองไทยร่วมสมัยยังหาจุดสมดุลของอำนาจระหว่างพลังทางสังคมไม่เจอ แม้ว่าบางยุคสมัยดูเหมือนว่าได้ข้อสรุปที่ลงตัวแล้วก็ตาม

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพอยู่ในสภาพที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของคณะราษฎรมากขึ้น และเตรียมการยึดอำนาจ ซึ่งประสบความสำเร็จในปี ๒๔๙๐ หลังจากนั้นกองทัพได้ขยายอิทธิพลในระบอบรัฐสภายิ่งขึ้น และได้ทำลายระบอบรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จในปี ๒๕๐๑ ระบอบเผด็จการทหารได้ถูกสถาปนาขึ้นมาและอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานร่วม ๑๕ ปี ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการต่อสู้กับสหภาพโซเวียตรัสเซียและประเทศจีน

ในระหว่างที่ประเทศอยู่ภายใต้การครอบงำของเผด็จการทหาร เวทีการต่อสู้ทางการเมืองได้เคลื่อนย้ายจากเวทีรัฐสภาไปสู่เวทีการเมืองทางสังคม นั่นคือการเกิดขึ้นและการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของของพรรคคอมนิสต์แห่งประเทศไทย สมรภูมิรบกระจายไปยังทั่วทุกปริมณฑลของสังคมโดยเฉพาะในเขตชนบท หลายพื้นที่กลายเป็นเขตปลอดอำนาจรัฐ ส่วนในเขตเมืองหน่ออ่อนของพลังประชาธิปไตยเริ่มเกิดขึ้นอีกครั้งอันเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในช่วงระบอบเผด็จการทหาร และในที่สุดพลังประชาธิไตยได้ท้าทายอำนาจและสั่นคลอนระบอบเผด็จการทหาร จนทำให้ระบอบเผด็จการทหารล่มสลายลงไปชั่วคราวในปี ๒๕๑๖

ขณะเดียวกันในระหว่างการครองอำนาจของเผด็จการทหาร อำนาจของฝ่ายจารีตนิยมก็ได้ภูกรื้อฟื้นและเริ่มมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายจารีตนิยมและฝ่ายทหารมีสองลักษณะคือทั้งร่วมมือและแข่งขัน อย่างไรก็ตามแกนนำของเผด็จการทหารยุคนั้นพยายามขยายอำนาจของครอบครัวตนเองให้อยู่เหนือทุกฝ่ายในสังคม แกนนำเผด็จการทหารจึงกลายเป็นศัตรูร่วมของทุกฝ่าย แม้แต่ภายในฝ่ายกองทัพเองก็เช่นเดียวกัน ครั้นเมื่อความขัดแย้งระหว่างแกนนำของเผด็จการทหารกับพลังนิสิตนักศึกษาประชาชนพัฒนาการแตกหักจนเกิดความรุนแรง พลังสังคมทุกฝ่ายจึงกลายเป็นพันธมิตรชั่วคราวโค่นล้มเผด็จการทหารลงไป แต่เนื่องจากการมีอุดมการณ์แตกกต่างกันมาก ในที่สุดฝ่ายพลังจารีต และกองทัพก็แยกทางกับพลังประชาธิปไตย และร่วมมือกันเปิดฉากสังหารหมู่กลางเมืองและทำลายพลังฝ่ายประชาธิไตยในปี ๒๕๑๙

โครงสร้างอำนาจทางการเมืองเคลื่อนไปสู่กลุ่มอำนาจนิยมจารีตขวาจัดสุดขั้ว และกลุ่มซ้ายจัดระหว่างปี ๒๕๒๐และช่วงต้นของปี ๒๕๒๑ และความขัดแย้งทางการเมืองมีความเข้มข้นและรุนแรงมีการสูญเสียชีวิตมาก เวทีความขัดแย้งมิได้อยู่ในเมืองและระบอบรัฐสภาอีกต่อไป แต่เป็นเวทีการต่อสู้ในชนบทระหว่างรัฐจารีตกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทว่าภายใต้ความขัดแย้งอย่างรุนแรง ภายในกองทัพกลับเกิดกลุ่มทหารประชาธิไตยขึ้นมา และมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความขัดแย้งในภายหลัง

ในที่สุดรัฐอำนาจนิยมจารีตก็ตระหนักว่าการแบ่งขั้วและการใช้ความรุนแรงสร้างความเสียหายโดยรวมแก่ประเทศอย่างมิอาจประมาณได้ ทางออกในเชิงประนีประนอมก็เกิดขึ้น ด้านหนึ่งในเขตเมืองมีการรื้อฟื้นระบอบรัฐสภาขึ้นมา โดยให้มีตัวแทนจากการเลือกตั้งประชาชนเข้ามามีส่วนในการใช้อำนาจ ขณะเดียวกันกลุ่มจารีตและกองทัพก็ได้ยื่นมือโดยตรงเข้าไปแบ่งปันอำนาจผ่านการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกที่มีอำนาจเลือกผู้บริหารประเทศ ส่วนพลังของพรรคคอมมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็เริ่มอ่อนตัวลงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งของประเทศคอมมิวนิสต์ในระดับสากลและนโยบายของรัฐจารีต และกองทัพภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทหารประชาธิไตยมีแนวโน้มประนีประนอมเพื่อบรรเทาความรุนแรงของความขัดแย้งทางสังคม ภาวะดุลยภาพใหม่นี้รู้จักกันในนามระบอบประชาธิไตยครึ่งใบซึ่งดำรงอยู่ได้ร่วม ๘ ปี

เมื่อบรรลุภาวะอิ่มตัวของอำนาจ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตผู้นำกองทัพที่ครองอำนาจในรัฐบาลก็ประกาศวางมือทางการเมืองในปี ๒๕๓๑ และเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลเอง ดุลอำนาจระหว่างปี ๒๕๓๑ ถึง ๒๕๓๔ จึงเคลื่อนตัวไปสู่มือของกลุ่มทุนที่มีพรรคการเมืองและมีฐานเสียงจากชนบท ขณะเดียวกันพลังประชาธิปไตยของภาคประชาชนซึ่งถูกทำลายลงไปในปี ๒๕๑๙ ก็ได้ก่อตัวและพัฒนาขึ้นมาใหม่ จนมีพลังชี้นำความคิดของสังคมได้ในบางส่วน ด้านกองทัพนั้นกลุ่มผู้นำกองทัพรุ่นหลังที่นำโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร มิได้คิดวางอำนาจดังอดีตผู้นำของพวกเขาหากแต่ยังคงต้องการมีบทบาทนำทางการเมืองต่อไป และรอคอยโอกาสที่จะหวนคืนอำนาจอีกครั้ง ส่วนอำนาจของสถาบันกษัตริย์ได้ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดของการมีอำนาจนำในสังคมไทยและมีลักษณะกึ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการยอมรับและเคารพจากทุกฝ่าย
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)




กำลังโหลดความคิดเห็น