ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เกมงัดข้อต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่าง “ศักดิ์สยาม” กับ “บิ๊กป๊อก” ว่าเดือดแล้ว ทอดตาไปยังศึกชิงประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มมูลค่ากว่าแสนล้านที่สู้กันสุดฤทธิ์ระหว่างสองบิ๊ก BEM – BTSC ดุเดือดยิ่งกว่า กระทั่งว่า รฟม.ที่กะจะลากประมูลต่อต้องยูเทิร์นกลับลำเลื่อนเปิดซองคุณสมบัติออกไปไม่มีกำหนดเพื่อรอฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุดตัดสินชี้ขาดเอาตามหลักเกณฑ์ที่รื้อใหม่หรือต้องกลับมายึดเกณฑ์เดิม ขณะที่บรรดาโบรกเกอร์เชียร์ซื้อหุ้นช.การช่าง (CK) ผู้ถือหุ้นใหญ่ BEM ดักทำกำไรรอลุ้นเข้าวิน
ศึกสองด้านที่ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้หนักหน่วง และเป็นจิ๊กซอว์การลงทุนครั้งสำคัญของกลุ่ม ด้วยว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่กำลังชิงดำมีมูลค่าการลงทุนนับแสนล้าน อีกทั้งเส้นทางที่สายสีส้มตัดผ่านและสถานีหัวท้าย โดยเฉพาะแลนด์มาร์กศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถือเป็นทำเลทองที่มีอนาคต
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวสำคัญ โดย BTS ลุ้นได้ต่อสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปี แลกกับการแบกภาระหนี้และจัดเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย แบบเช็กแล้วทางโล่งตลอดก็มีอันสะดุดกึก เมื่อ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชงเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แบบฝันหวานๆ ว่าคงผ่านฉลุยไม่มีปัญหา ทว่าดันมาเจอ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม ร่ายยาวถึงเหตุผลควรต้องทบทวนใหม่ กระทั่ง มท.1 ต้องตีกรรเชียงถอย
ข้อที่ยกขึ้นมาถกเหตุผลความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อประชาชน ไม้เด็ดอยู่ตรงที่ค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาท นั้นแพงไปไหม เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บค่าโดยสารสายสีน้ำเงินของ BEM ที่เก็บต่ำกว่า เรียกว่างานนี้ BTS เจอเตะสกัดโดยมีเงาของ BEM ถูกยกขึ้นมาเป็นคู่เทียบ
นอกจาก BEM จะเป็นคู่เทียบด้านราคาค่าโดยสารในสายสีเขียวว่าแพงเวอร์แล้ว BEM ยังเป็นคู่แข่งขันในศึกประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีสองกลุ่มบิ๊กเบิ้มของวงการคือ BTSC กับ BEM เป็นคู่ท้าชิง เรียกว่างานนี้ เจ้าสัวคีรี หันซ้ายก็เจอการยกเทียบราคา หันขวาก็เจอคู่แข่งขันเบอร์ต้นกระดูกตันที่กินกันไม่ลง
มาว่ากันถึงสายสีเขียวที่เป็นลูกต่อเนื่องก่อนสักเล็กน้อย คืบหน้าล่าสุดมีการออกหมัดซัดรัฐบาลต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอส จากนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกมธ. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ว่า ตามปกติแล้วเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานควรจะเปิดประมูลใหม่ตามหลักการทั่วไปตามกฎหมายปกติ คือ พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ ไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานให้โดยอาศัยอำนาจเดิมตามมาตรา 44 เพราะจะทำเกิดความไม่โปร่งใส
“หาก ครม.อนุมัติให้สัมปทานแก่บีทีเอส จริง กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ จะต้องนำเรื่องเข้ามาสู่การหารือเพื่อตรวจสอบอย่างแน่นอน เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนเสียประโยชน์ และยังเชื่อว่ากลไกต่างๆ ในสภาก็จะร่วมตรวจสอบเช่นกัน” โฆษกคณะกมธ. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวย้ำ
เทียบค่าโดยสาร BTS – MRT กม.ต่อ กม. ใครแพงกว่า?
ในประเด็นค่าโดยสารสายสีเขียวกับสายสีน้ำเงิน ที่ถูกยกขึ้นมาเปรียบเทียบว่าถูกแพงกว่ากันอย่างไรนั้น นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่ง เปรียบเทียบค่าโดยสาร BTS – MRT กม.ต่อ กม. ใครแพงกว่า? โดยระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่คมนาคมค้านการขยายสัญญาให้บีทีเอสเพราะค่าโดยสารแพง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงคมนาคม ค้านกระทรวงมหาดไทย ที่เสนอให้ขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ออกไปอีก 30 ปี จากปีที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานคือปี 2572 ถึงปี 2602
รถไฟฟ้าสายสีเขียว อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ กทม.อยู่ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย การขยายสัมปทานให้บีทีเอสออกไปอีก 30 ปีนั้น กทม.มีเงื่อนไข ดังนี้คือค่าโดยสารสูงสุดจะต้องไม่เกิน 65 บาท โดยบีทีเอสจะเก็บค่าโดยสารสูงสุดได้ไม่เกิน 65 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่ลดลงจากการเก็บตามปกติในอัตราเดิมที่มีค่าโดยสารสูงสุด 158 บาท
บีทีเอสจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาระหนี้ของ กทม.จากการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในส่วนของค่าดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าจัดหาขบวนรถเพิ่มเติม ค่าติดตั้งระบบสื่อสาร อาณัติสัญญาณ และระบบตั๋ว รวมทั้งค่าจ้างเดินรถค้างจ่าย รวมเป็นเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท และบีทีเอสจะต้องแบ่งรายได้จากค่าโดยสารให้ กทม.ตั้งแต่ปี 2572-2602 เป็นเงินกว่า 2 แสนล้านบาท
ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าโดยสารนั้น กระทรวงคมนาคม มีความเห็นว่าค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวแพงกว่าสายสีน้ำเงิน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?
ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 65 บาท ระยะทางยาวที่สุด 68.25 กิโลเมตร คิดเป็นค่าโดยสาร 0.95 บาท/กิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีราคาสูงสุด 42 บาท และระยะทางยาวที่สุด 48 กิโลเมตร คิดเป็นค่าโดยสาร 0.88 บาท/กิโลเมตร จะเห็นได้ว่าค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวแพงกว่าสายสีน้ำเงินเพียงแค่ 7 สตางค์/กิโลเมตร เท่านั้น
ที่เป็นเช่นนี้เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นการลงทุนเกือบทั้งหมดโดยบีทีเอส มี กทม.ร่วมลงทุนเป็นส่วนน้อย ทำให้บีทีเอส มีต้นทุนสูง ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นการลงทุนส่วนใหญ่โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็มร่วมลงทุนเป็นส่วนน้อย ทำให้บีอีเอ็มมีต้นทุนต่ำกว่าบีทีเอส
นอกจากนั้น บีทีเอสจะต้องแบ่งรายได้จากค่าโดยสารให้ กทม.กว่า 2 แสนล้านบาท แต่บีอีเอ็มไม่ต้องแบ่งรายได้ให้ รฟม. แม้ว่าบีทีเอสเก็บค่าโดยสารแพงกว่าบีอีเอ็ม (เพียงเล็กน้อย) แต่บีทีเอสได้ผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยกว่า กล่าวคือ บีทีเอส ได้ผลตอบแทน 9.6% ในขณะที่บีอีเอ็มได้ผลตอบแทน 9.75% เป็นเพราะบีทีเอสมีต้นทุนสูงกว่าบีอีเอ็ม เนื่องจากภาครัฐร่วมลงทุนกับบีทีเอสน้อยกว่าร่วมลงทุนกับบีอีเอ็ม
กล่าวโดยสรุป ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่ง อธิบายที่มาที่ไปให้เห็นว่า ค่าโดยสารที่ว่าสายสีเขียวแพงกว่าสายสีน้ำเงินนั้นอันที่จริงแล้วก็สูสี และมีที่มาที่ไปว่าทำไมถึงแพงกว่า (เพียงเล็กน้อย)
งัดข้อสายเขียว กระทบชิ่งศึกจริงชิงสายส้ม
ไม่ว่าจะเป็นสายเขียวหรือสายส้ม ตัวเล่นหลักฝั่งเอกชนยังเป็นบีทีเอส และ บีอีเอ็ม ขณะที่กรมราง ใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่กำกับดูแลภาพรวมของการลงทุนโครงข่ายระบบรางทั้งหมดของประเทศ เป็นผู้คุมเกมกระดานใหญ่
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แจงถึงการตั้งข้อสังเกตในการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่าทำไปตามหน้าที่ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สอบถามมา เพื่อความถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ไม่ใช่เกมการเมือง
“.... ต้องถามว่าตอนนี้ได้ทำถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือยัง ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดตามที่ได้ตั้ง 4 คำถามไป เช่น กรณีอัตราค่าโดยสาร 65 บาท เรื่องคำสั่งมาตรา 44 เป็นต้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ย้อนถามกลับ และอธิบายว่า กรมการขนส่งทางราง (ขร.) มีฐานะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็น Operator ดังนั้น กรมรางต้องทำหน้าที่ ซึ่งมีข้อมูลจากค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง การคิดค่าโดยสารมีสูตรในการคิดคำนวณ
ส่วนกรณีที่มองกันว่าเรื่องนี้เป็นเกมการเมือง อีกทั้งบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ยังมีกรณีฟ้องร้องกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หน่วยงานของกระทรวงคมนาคม ในเรื่องการปรับเงื่อนไขประมูลโครงการรถไฟฟ้าสีส้มนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ไม่ได้ขวางลำใคร และไม่เห็นจะประเด็นตรงไหน เพราะบีทีเอส ก็เข้าร่วมยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มได้
“ยืนยันว่าการทำงานร่วมกันไม่มีปัญหา ตอนนี้ไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะจะเป็นการพูดกันคนละทีโดยยังไม่มีข้อมูลในมือ ทำให้บอกไม่ได้ว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ เรื่องนี้หากทำให้ชัดเจนจะได้ไม่ต้องมาปวดหัวทีหลัง” นายศักดิ์สยาม กล่าว
BTSC ดิ้นสู้ ยกแรกมีเฮ ศาลฯสั่งคุ้มครองชั่วคราว
เกมงัดข้อสายสีเขียวสะเทือนมาถึงศึกชิงงานประมูลสายสีส้ม กลายเป็นเกมการเมืองอย่างที่ว่ากันหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปฉากก่อนหน้าที่เป็นปมปัญหาจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลโครงการใหม่ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าขั้นตอนแรกจะพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลว่าผ่านหรือไม่ ถ้าผ่านก็เข้าสู่ขั้นที่สอง เปิดซองความสามารถด้านเทคนิค ถ้าคะแนนเทคนิคผ่าน จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สาม เปิดซองราคา ดูว่าใครให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดก็ชนะประมูลไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และ รฟม. มีมติเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน หรือ RFP เสียใหม่ คือ พิจารณาซองเทคนิคและซองราคาโดยเปิดซองพร้อมกันเลยทีเดียว จุดชนวนให้ BTSC ร้องต่อศาลปกครองกลาง
นายใหญ่ของบีทีเอสซี นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้เหตุผลตอนที่ยื่นฟ้องต่อศาลฯ ว่า การเปลี่ยนหลักเกณฑ์จากเดิมจะตัดสินผู้ชนะประมูลจากข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทน 100% แต่เปลี่ยนมาเป็นการนำคะแนนเทคนิคมาเป็นตัดสินร่วมกับข้อเสนอด้านการเงินและตอบแทนในสัดส่วน 30:70 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของทีโออาร์ ทำให้บีทีเอสซีไม่ได้รับความเป็นธรรม บีทีเอสซี จึงร้องต่อศาลปกครอง ขอให้กลับมาใช้เกณฑ์เดิมเพื่อความโปร่งใส และขอให้ศาลฯ คุ้มครองชั่วคราว
ถัดมา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีระหว่าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวก คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวม 2 คน เป็นผู้ถูกฟ้อง โดย “ให้ รฟม.ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การประเมินที่แก้ไขเพิ่มเติม”
นายสุรพงษ์ อธิบายความเพิ่มเติมว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ รฟม.ใช้เกณฑ์เดิมในการประเมินการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยแยกการประเมินข้อเสนอด้านการเงินกับข้อเสนอด้านเทคนิคออกจากกัน และใช้เกณฑ์ให้คะแนนและพิจารณาผู้ชนะตามราคาที่เสนอตามที่ประกาศไว้เดิม ไม่ใช้ประกาศใหม่ที่รวมคะแนนเทคนิคในระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำตัดสินเนื่องจากต้องใช้เวลาพิจารณา
ถือเป็นชัยชนะในยกแรกของบีทีเอสซี ที่ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กลับมาใช้เกณฑ์ประมูลเดิมตามคำสั่งศาลฯ คุ้มครองชั่วคราว
ลงสนามแข่ง ขับเคี่ยว ใครใหญ่ใครอยู่?
หลังจากศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทาง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองกลาง ขณะเดียวกัน คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติให้ รฟม. เดินหน้ากระบวนการคัดเลือกเอกชนตามกำหนดเดิม คือ เปิดให้เอกชนที่ซื้อซองประมูลไปเข้ายื่นซองในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563
ในวันดังกล่าว คู่ท้าชิงเข้ายื่นซองร่วมประมูลตามคาดหมาย คือ หนึ่ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ สอง กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น โดยทั้ง 2 กลุ่ม ยื่นข้อเสนอ 4 ซอง ได้แก่ คุณสมบัติ เทคนิค การเงินและข้อเสนออื่นๆ เพิ่มเติม
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดหน้าสู้คู่ท้าชิงเต็มที่ และคาดหวังว่าจะเป็นผู้ชนะ เพราะเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญในการเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าสายอื่นๆ แต่ก็เผื่อใจไว้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นในสนามแข่งขัน
“ต้นทุนผมคือแค่แพ้ แต่ขอให้รัฐทำให้ถูกต้องตามกฎกติกา” ประธานบริหารบีทีเอสกรุ๊ป กล่าว
ขณะที่การเปิดประมูลดำเนินไปควบคู่กับกระบวนการทางคดีที่ฟ้องร้อง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งนัด บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และพวกรวม 2 คน ในฐานะผู้ถูกฟ้อง มาไต่สวนนัดแรก แต่ยังไม่ได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาว่าจะไต่สวนเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
เมื่อศาลปกครองสูงสุด ยังไม่มีคำสั่งออกมา ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงให้เลื่อนวันเปิดซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ที่กำหนดการเดิมจะเปิดซองในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ออกไปก่อนจนกว่าศาลปกครองสูงสุด จะมีคำสั่ง ถือเป็นช่วงของการต่อเวลาในศึกยกแรก
ส่วนคดีหลักที่บีทีเอสซียื่นฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขณะนี้ รฟม. อยู่ระหว่างทำคำให้การเพื่อยื่นเสนอศาลปกครองกลาง
แม้ว่าคดีในชั้นศาลจะทำให้กระบวนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเกิดอาการกึกๆ กักๆ แต่กองเชียร์ทั้งสองฝ่ายที่รักใคร่ชอบพอกันก็ส่งเสียงหนุน
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนะนำลงทุนในหุ้น ช.การช่าง หรือ CK แบบซื้อขายเก็งกำไรที่ราคาเป้าหมาย 24 บาท เก็งคว้างานโครงการรถไฟฟ้าที่ทางกลุ่ม BEM และ CK คาดหวัง คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก 1.27 แสนล้านบาท และสายสีม่วงใต้ 1 แสนล้านบาท
ฝ่ายวิจัยของกิมเอ็ง ประเมินรายได้ CK ในปี 2563 เท่ากับ 16,926 ล้านบาท ลดลง 26% และมีกำไรเท่ากับ 917 ล้านบาท ลดลง 48% ส่วนปี 2564 คาดว่าจะเริ่มมีโครงการใหม่เข้ามาทำให้รับรู้รายได้มากขึ้นที่ 25,050 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรที่ดีขึ้นเช่นกันที่ 1,712 ล้านบาท เติบโต 87%
ทั้งนี้ BEM เกิดจากการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และ รถไฟฟ้ากรุงเทพ
(BMCL) ในช่วงเดือนธันวาคม 2558 ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กลุ่ม บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
ขณะที่ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 26.70 บาท แม้ว่าระยะสั้น CK อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยกดดัน เช่น กรอบเวลาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนต่อขยายที่ยังต้องรอผลคำตัดสินของศาล ทำให้ยังไม่มีความชัดเจน แต่เชื่อว่าจะเห็นความชัดเจนในอีกประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้า.