"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
แม้ว่ารัฐสภาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยฝ่ายค้านและรัฐบาลแล้วก็ตาม แต่ร่างทั้งสองมีจุดอ่อนที่สำคัญคือการไม่ยอมรับความจริงเกี่ยวกับปัญหาใจกลางของความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ขณะเดียวกันก็ลงมติไม่รับร่างแก้ไขฉบับประชาชน ซึ่งเป็นร่างฯ ที่สามารถนำแก่นของปัญหาทางการเมืองขณะนี้เข้าสู่เวทีการอภิปรายในรัฐสภาได้ ความหวังในการใช้เวทีรัฐสภาบรรเทาความขัดแย้งทางการเมืองจึงลดลงอย่างมาก
กลุ่มที่ทำให้ร่างฉบับประชาชนต้องตกไปคือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งส่วนใหญ่ใช้ยุทธวิธีการลงมติแบบงดออกเสียง และมีบางส่วนที่ลงมติคัดค้านโดยตรง เห็นได้ชัดเจนว่าแบบแผนการลงคะแนนของส.ส.รัฐบาลและส.ว. มีการวางแผนล่วงหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยภาคประชาชนนั่นเอง
ทำไมสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่จึงคว่ำร่างแก้ไขของประชาชน มีหลายเหตุผลที่อธิบายในเรื่องนี้ เหตุผลแรกคือ พวกเขาเชื่อว่ามีแต่พวกตนเองเท่านั้นที่เป็นเจ้าของประเทศและมีอภิสิทธิ์ในการใช้เวทีรัฐสภาเพื่อออกกฎหมาย ส่วนประชาชนนั้นไม่มีสิทธิใด ๆ แม้ว่ารัฐธรรมนูญรองรับสิทธิ์นี้แล้วก็ตาม ประโยคที่สะท้อนความเชื่อนี้ เช่น รับร่างแก้ไขก็เหมือนมอบเช็คเปล่า เป็นต้น
เหตุผลที่สอง พวกเขาเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเป็นร่างที่มีศักยภาพในการสร้างความเสี่ยงที่จะกระทบต่ออำนาจตำแหน่ง และผลประโยชน์ของตนเอง รวมทั้งอาจกระทบต่อรูปเคารพและความเชื่อที่ตนเองบูชา เพราะในร่างของประชาชนมีการยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร และการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามบรรทัดฐานเดิมนั่นคือ สามารถเขียนรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวด ไม่ได้จำกัดหรือห้ามไม่ให้แตะต้องหมวด ๑ และ หมวด ๒ ดังร่างของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
เหตุผลที่สาม พวกเขายอมรับชัยชนะของประชาชนไม่ได้ หากร่างรัฐธรรมฉบับประชาชนผ่านจะเป็นการเสริมสร้างอำนาจของประชาชนและทำให้ดูเสมือนว่าประชาชนชนะในเกมขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่อาจยอมรับได้ หากประชาชนชนะก็หมายความว่าพวกเขาพ่ายแพ้ ง่าย ๆ คือยอมรับความพ่ายแพ้และความรู้สึกเสียหน้าไม่ได้นั่นเอง พวกเขาจำนวนหนึ่งจึงใช้ตรรกะวิบัติในการโจมตีร่างฯของประชาชน เช่น โจมตีกลุ่มที่เสนอร่างฯว่ารับเงินจากต่างชาติ เป็นต้น ขณะที่บางส่วนโจมตีโดยใช้ปัญหาเรื่องวิธีการ บางคนก็ไปไกลถึงขั้นประเมินผลกระทบที่เกินจริงหากร่างฯนี้ประกาศใช้ ทั้ง ๆ ที่วาระนี้เป็นเรื่องการรับหลักการเท่านั้น
การตัดสินใจของรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาที่ไม่รับร่างแก้ไขของภาคประชาชนหรือมีส่วนทำให้ร่างนี้ตกไปเป็นการตัดสินที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เป็นการกระทำตัวดุจนกกระจอกเทศที่เอาหัวมุดทราย โดยไม่ยอมรับรู้ปัญหา สภาพความเป็นจริงและการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยิ่งเลวร้ายมากขึ้น การปิดกั้นและกีดกันประชาชนไม่ให้เข้าถึงและมีส่วนร่วมในการใช้เวทีรัฐสภาเพื่อหยิบยกปัญหาที่เป็นแก่นของความขัดแย้งขึ้นมาพูดคุยอภิปรายและหาทางออกร่วมกันทำให้กลุ่มราษฎรหมดทางเลือก
ผลสืบเนื่องตามมาคือ กลุ่มราษฎรยกระดับการเคลื่อนไหวและมุ่งเป้าการชุมนุมไปยังสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ ดังที่พวกเขประกาศเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายนว่า จะไปจัดชุมนุมที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ในแง่นี้จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า การตัดสินใจเลือกสถานที่ชุมนุมของกลุ่มราษฎรเป็นผลพวงมาจากร่างฯรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไม่ผ่านวาระแรกนั่นเอง เช่นนี้แล้ว ความผิดพลาดของส.ส.พรรครัฐบาลและส.ว. ย่อมเป็นสาเหตุสำคัญในการเติมเชื้อเพลิงและทำให้เปลวไฟของความขัดแย้งลุกโชนยิ่งขึ้น
แต่ดูเหมือนรัฐบาลประยุทธ์เองยังไม่สำเนียก กลับตัดสินใจแบบขาดสติ ภายใต้การยุยงของกลุ่มขวาจัดที่ผูกขาดอำนาจและความเป็นเจ้าของประเทศ ด้วยการออกแถลงการณ์ว่าจะใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดทุกมาตรา ซึ่งมีนัยคือการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ กลับมาใช้อีกหลังจากที่ได้ยุติการใช้กฎหมายนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ไม่กี่วันถัดมาบรรดาแกนนำของราษฎรก็ถูกหมายเรียกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในข้อหาว่ากระทำผิดตามมาตรา ๑๑๒
การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลจึงเป็นการราดน้ำมันเพิ่มเข้าไปในกองเพลิงและเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ผลกระทบที่มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดขึ้นตามมาคืออาจสร้างความเสียหายแก่ประเทศและสถาบันหลักของชาติได้
เมื่อใกล้ถึงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน อันเป็นวันที่กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รัฐบาลได้สร้างปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติการเมืองไทยขึ้นมา นั่นคือการนำตู้คอนเทนเนอร์จำนวนหลายตู้มาปิดกั้นถนนหลายเส้นรอบ ๆ บริเวณนั้น พร้อมลวดหนาม ราวกับเป็นกำแพงป้องกันข้าศึกยามสงคราม
ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลได้นำเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากที่แต่งตัวด้วยชุดทั่วไป ที่ไม่ใช่เครื่องแบบราชการเข้าไปอยู่หน้าบริเวณที่คาดว่าจะมีการจัดชุมนุม
นี่ก็เป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่ง เพราะโดยปกติการรับมือกับการชุมนุม รัฐบาลแทบทุกรัฐบาลในโลกนี้จะใช้ตำรวจปราบจราจลที่มีการฝึกอบรมเป็นการเฉพาะและใส่เครื่องแบบในการปฏิบัติหน้าที่
การนำเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาประจำการในพื้นที่ชุมนุม ทำให้มีการวิเคราะห์ว่ากลุ่มอำนาจรัฐเตรียมสร้างสถานการณ์และความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุม และอาศัยเงื่อนไขนั้นประกาศกฎอัยการศึกและทำรัฐประหารในที่สุด แต่เมื่อกลุ่มราษฎรเห็นการกระทำที่ผิดปกติของกลุ่มอำนาจรัฐ พวกเขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมไปเป็นบริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ หากยังชุมนุมที่เดิม
การถูกกีดกันไม่ให้ใช้เวทีรัฐสภาและการถูกเล่นงานด้วยกฎหมายอย่างเข้มข้นทำให้กลุ่มราษฎรยกระดับการตอบโต้อย่างเข้มข้นตามไปด้วย ซึ่งแสดงออกโดยการเลือกสถานที่ชุมนุมที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การปราศรัยทั้งการนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและการใช้คำพูดเชิงเสียดสี การเขียนป้ายวิจารณ์เชิงเปรียบเปรย และการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ในการวิพากษ์วิจารณ์ แนวการปฏิบัติการณ์เช่นนี้ก็ยิ่งไปสร้างความรู้สึกขุ่นเคืองใจ โกรธและเกลียดให้แก่กลุ่มชนชั้นนำและมวลชนจารีตมากขึ้นตามลำดับ
พลวัตรของความขัดแย้งสะสมหมุนวนไปสู่ความตึงเครียดยิ่งขึ้น การหาทางออกด้วยการเจรจาพูดคุยอย่างสันติหดแคบลง อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างผู้ไร้อำนาจกับผู้มากล้นด้วยอำนาจเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในพัฒนาทางประวัติศาสตร์สังคมของมนุษย์ สังคมที่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างสันติ มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ ชนชั้นนำตระหนักถึงกระแสของการเปลี่ยนแปลง ยอมปฏิรูปและปรับตัวโดยการลดอำนาจและลดผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองลงไปในระดับหนึ่งที่สังคมยอมรับ ผลลัพธ์คือชนชั้นนำและสถาบันจารีตสามารถอยู่ร่วมกับสังคมยุคใหม่ได้อย่างมั่นคง
แต่สังคมใดที่ชนชั้นนำไม่ตระหนักถึงกระแสการเปลี่ยนแปลง พวกเขามักปกป้องรักษาอำนาจและผลประโยชน์อย่างเหนียวแน่น และมักใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนที่คิดต่างจากพวกเขา การเลือกใช้ความรุนแรงในการปราบปรามอาจประสบความสำเร็จระยะหนึ่ง แต่ไม่ยืนยาวเท่าไร เพราะยิ่งเวลาผ่านไปกระแสความคิดของการเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งขยายตัว ในท้ายที่สุดแล้วชนชั้นนำและสถาบันจารีตของหลายสังคมก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้และล่มสลายไปในที่สุด
สังคมไทยก็มิได้มีธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากสังคมอื่นเท่าไรนัก ที่สำคัญคือยุคนี้การพัฒนาเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองก็ยิ่งเกิดขึ้นเร็วตามไปด้วย อย่างไรก็ตามยังมีเวลาเพียงพอที่สังคมจะเลือกแนวทางจัดความขัดแย้งที่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ หากแต่ละกลุ่มในสังคมโดยเฉพาะชนชั้นนำตระหนักถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมกับมีการดำรงสติพิจารณาผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งมีการปรับกรอบคิด คลายความยึดมั่นถือมั่นต่ออำนาจและผลประโยชน์ลงไปบ้าง สันติสุขก็จะหวนกลับคืนมาสู่สังคมในไม่ช้า
แต่หากยังยึดมั่นถือมั่นในอำนาจและผลประโยชน์อย่างเหนียวแน่น ไม่คิดปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปสิ่งใดเลย ทั้งยังยกระดับการใช้อำนาจปราบปรามผู้ไม่เห็นต่างด้วยความรุนแรงดังที่ทำอยู่ในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะทำอย่างต่อเนื่อง อนาคตอันใกล้นี้ความรุนแรงก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ สังคมแตกแยกจนยากประสานรอยร้าวจนนำไปสู่ความแตกหัก ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์ก็ให้ร่องรอยไว้แล้ว