xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการปรากฏตัวของความขัดแย้ง จากการเมืองในสภาสู่การเมืองเหนือสภา (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


กระบวนการบั่นทอนและสลายพลังอำนาจของคู่ขัดแย้งในรัฐสภาและกระบวนการขยายอำนาจของชนชั้นนำไปยังองคาพยพของการบริหารประเทศผ่านรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และกลไกราชการถูกดำเนินการอย่างเป็นระบบเพิ่มความไม่สมดุลย์ของอำนาจมากยิ่งขึ้น เมื่ออำนาจไม่สมดุลย์มากเข้า ด้วยธรรมชาติของระบบ ระบบจึงพยายามตอบโต้เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดความสมดุลย์ เพราะระบบใดก็ตามที่ไร้ดุลยภาพจะทำให้ความเปราะบาง ความไร้เสถียรภาพ และล่อแหลมต่อการล่มสลายเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว


ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเป็นต้นมา ชนชั้นนำและพลังจารีตประสบความสำเร็จในการบั่นทอนพลังของพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยใช้กลไกทางกฎหมายยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์เลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นจำนวนมาก ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีกต่อไปเป็นเวลานับสิบปี การกระทำในลักษณะที่กล่าวมาคือกระบวนการผลักไสกลุ่มที่ถูกชนชั้นนำมองว่าเป็นปรปักษ์กับพลังจารีตออกจากระบบการเมืองที่เป็นทางการนั่นเอง จึงกล่าวได้ว่าพลังจารีตได้ครอบงำระบบการเมืองและสถาบันการเมืองที่ทรงพลังอำนาจไว้ได้ทั้งหมดทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์การอิสระ ซึ่งทำให้พื้นที่อำนาจของพลังจารีตขยายทั้งขอบเขตและความเข้มข้น ขณะที่พื้นที่อำนาจของประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หดแคบและเจือจางลงไป

เมื่อพื้นที่การเมืองที่เป็นทางการมีจำกัด ประชาชนคนรุ่นใหม่จึงเลือกขยายพื้นที่ทางการเมืองที่ไม่เป็นทางการมากขึ้น เดิมทีสนามการเมืองของคนรุ่นใหม่ดำรงอยู่อย่างหนาแน่นในโลกสังคมออนไลน์ ครั้นเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ คนรุ่นใหม่ก็ได้ขยายสนามการเมืองไปสู่การชุมนุม เริ่มจากการชุมนุมในรั้วมหาวิทยาลัย และขยายตัวไปยังท้องถนน พร้อมกับเสนอข้อเรียกร้องเริ่มแตกต่อรัฐบาลโดยมุ่งไปยังศูนย์กลางอำนาจรัฐให้ยุติการคุกคามประชาชนที่เห็นต่าง การยุบสภา และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีการตอบสนองอย่างจริงจังจากรัฐบาลแต่อย่างใด

เมื่อไร้การตอบสนองจากรัฐบาลและรัฐสภา ประชาชนคนรุ่นใหม่จึงได้ยกระดับเนื้อหาของข้อเรียกร้องที่พุ่งตรงยังบุคคลและสถาบันทางการเมือง ในแง่ตัวบุคคลคือ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า นายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร เป็นตัวแทนของพลังจารีต และบริหารประเทศล้มเหลว ในแง่สถาบันการเมืองคือ การเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐธรรมฉบับนี้มีที่มาไม่ชอบธรรมและมุ่งผดุงรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มรัฐประหารและกลุ่มชนชั้นนำจารีตเป็นหลัก ขณะที่จำกัดสิทธิ เสรีภาพ และกีดกันการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

และที่สำคัญคือประเด็นการเรียกร้องได้ขยายขอบเขตไปสู่สถาบันกษัตริย์ โดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปและมีข้อเสนอจำนวน ๑๐ ข้อเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนบทบาทและอำนาจของสถาบันกษัตริย์


กล่าวได้ว่าข้อเรียกร้องนี้เป็นข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเหนือรัฐสภา และเชื่อมโยงกับพลังอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุดในโครงสร้างอำนาจของการเมืองไทย ซึ่งในอดีตไม่มีใครหรือกลุ่มพลังการเมืองใดในระบอบประชาธิปไตยของไทยกล้าหยิบยกขึ้นมานำเสนอในเวทีสาธารณะ

เมื่อประชาชนคนรุ่นใหม่ในนามคณะราษฎรเปิดฉากข้อเสนอและการปราศรัยที่ท้าทายอำนาจหลักในสังคมไทย พวกเขาก็เผชิญกับการตอบโต้ที่รุนแรงจากอำนาจรัฐและพลังจารีต แกนนำของกลุ่มถูกดำเนินคดีและจับกุมเป็นจำนวนมาก ปริมาณคดีที่พวกเขาได้รับมีมากกว่าอดีตแกนนำมวลชนในยุคเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส.หลายเท่า ทั้งที่พฤติกรรมการชุมนุมมีความเข้มข้นต่ำกว่า เช่น ไม่มีการบุกยึดสถานที่ราชการใด ๆ ไม่มีการชุมนุมแบบปักหลักค้างคืน เป็นต้น

ขณะเดียวกันพวกเขาก็ถูกพลังจารีตตีตราตั้งข้อกล่าวหา “ล้มเจ้า” อันเป็นการสร้างวาทกรรมที่เกินความจริง เพราะหากพิจารณาข้อเสนอของพวกเขาแล้ว ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่ายังอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเท่านั้น มิได้มีเนื้อหาใดที่เป็นไปตามที่กลุ่มพลังจารีตกล่าวหาแต่อย่างใด

ข้อกล่าวหา “ล้มเจ้า” เป็นวาทกรรมที่มีพลังทำลายทางการเมืองสูง สามารถกัดกร่อน บั่นทอน และสลายพลังของกลุ่มหรือพรรคการเมืองใดให้มีความชอบธรรมลดลง พลังของวาทกรรมล้มเจ้าเกิดจากสองปัจจัยหลัก

อย่างแรกคือ วัฒนธรรมร่วมสมัยของประเทศไทยที่ให้คุณค่าสูงต่อสถาบันกษัตริย์และการมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิศราชธรรมครองแผ่นดิน

อย่างที่สองคือการมีกลไกทางกฎหมายที่ลงโทษแก่ผู้ละเมิดอย่างรุนแรงและกระทำได้โดยง่าย
ดังนั้นในหลายกรณีวาทกรรมล้มเจ้าจึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ถูกบางฝ่ายหยิบมาใช้เพื่อทำลายคู่แข่งหรือผู้มีความคิดแตกต่างจากตนเอง

ยิ่งกว่านั้นกลุ่มจารีตทั้งในแวดวงการเมืองและนอกแวดวงการเมืองยังปฏิบัติการตอบโต้การเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรด้วยการรื้อฟื้นและจัดตั้งมวลชนจารีตด้วยชื่อที่หลากหลายแต่มีจุดร่วมคือการใส่เสื้อสีเหลือง กลุ่มใส่เสื้อเหลืองถูกระดมออกมาแสดงกิจกรรมหลากหลายภายใต้การสนับสนุนของกลไกรัฐ บางกิจกรรมก็แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเสริมพลังให้แก่รูปเคารพของตนเองอย่างสงบสันติ แต่บางกิจกรรมเป็นการชุมนุมเพื่อยั่วยุ กระตุ้น และพร้อมใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มราษฎรและผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง การชุมนุมลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว ล่าสุดคือ การเข้าไปรุมทำร้ายอดีตผู้นำพรรคอนาคตใหม่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และการทำร้ายกลุ่มราษฎรหน้ารัฐสภาในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

การใช้ความรุนแรงที่ฝ่ายอำนาจรัฐกระทำต่อกลุ่มราษฎรอีกประการที่มีพิจารณาแล้วไม่สมเหตุสมผลอย่างมากคือ การสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงและการใช้แก๊สน้ำตา ทั้งที่การชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่หน้ารัฐสภาเป็นไปอย่างสงบสันติ ไม่มีการบุกรุกหรือบุกยึดสถานที่ราชการดังการชุมนุมของ กปปส.ในอดีต การที่รัฐบาลและตำรวจเลือกใช้วิธีการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงทั้งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จนทำให้มีประชาชนหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงเด็กเล็กที่กำลังเลิกเรียนในบริเวณนั้น ย่อมสะท้อนว่าการปฏิบัติการของตำรวจและรัฐบาลมุ่งบรรลุเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก โดยมิได้พิจารณาความเหมาะสมและผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด นับเป็นสิ่งที่น่าละอาย และนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรแสดงความรับผิดชอบออกมา

กลับมาที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร แม้ว่าข้อเรียกร้องสองข้อจะถูกเมินเฉย แต่ข้อเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้รับการตอบสนองบางส่วน นั่นคือสามารถกดดันให้ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลยื่นญัติติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นฝ่ายรัฐบาลพยายามเล่นเกมถ่วงเวลามาโดยตลอด โดยใช้กลอุบายแห่งการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาหลายครั้งหลายครา จนในที่สุดเมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ต้องลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมเพื่อให้จัดตั้ง ส.ส.ร. ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ แต่ร่างแก้ไขมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดอำนาจ ส.ว. กลับถูกลงมติให้ตกทุกร่าง รวมทั้งร่างแก้ไขที่เสนอโดยภาคประชาชนด้วย
การที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนไม่ผ่านวาระแรก หมายถึงการปิดประตู ทำลายโอกาสในการนำข้อเรียกร้องข้อที่สามของกลุ่มราษฎรเข้าสู่กระบวนการพูดคุยอภิปรายกันเวทีรัฐสภา จึงเท่ากับเป็นการผลักไสให้กลุ่มราษฎรไม่มีทางเลือกของการต่อสู้ในระบบสภา พวกเขาจึงเพิ่มความเข้มข้นในการต่อสู้นอกสภาโดยการยกระดับเนื้อหาและรูปแบบการชุมนุมให้มีทิศทางไปสู่สถาบันการเมืองเหนือสภามากขึ้น ดังเห็นได้จากการประกาศก่อนยุติการชุมนุมในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน แกนนำชุมนุมประกาศว่า จะจัดชุมนุมครั้งต่อไปที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน


การยกระดับการชุมนุมที่ท้าทายอำนาจหลักของสังคมไทยโดยตรงเช่นนี้ย่อมส่งผลให้มวลชนจารีตและกลุ่มอำนาจรัฐเพิ่มระดับความโกรธเกรี้ยวอย่างรุนแรง และมีความเป็นไปได้สูงที่ทำให้กลุ่มอำนาจเหล่านั้นจะยกระดับความรุนแรงในการตอบโต้กลุ่มราษฎรมากยิ่งขึ้น และประมาณเที่ยงวันของวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตัวแทนพลังจารีตก็ได้ออกแถลงการณ์ว่า “รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังตับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุม”

ปฏิบัติตอบโต้กันไปมาของทั้งสองฝ่ายส่งผลให้แนวโน้มความรุนแรงของสังคมไทยในระยะต่อไปจะขยายตัวทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ความขัดแย้งจะเคลื่อนตัวออกจากการเมืองในรัฐสภาไปสู่การเมืองนอกสภามากขึ้น การประนีประนอมอันเป็นลักษณะสำคัญของสังคมไทยกำลังถูกละเลยจากกลุ่มพลังหลักทางการเมือง ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น