xs
xsm
sm
md
lg

‘นักวิชาการ-คำนูณ’ ชี้ไม่มี ‘รัฐประหาร’ บทเรียน 15 ปี ได้ไม่คุ้มเสีย!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการเชื่อนาทีนี้ไม่มีรัฐประหาร เพราะจะเข้าทางคณะราษฎร “ผศ.วันวิชิต” เชื่อ ผบ.ทบ.คนใหม่ ไม่เอาตัวเองไปผูกกับการเมือง ด้วยเห็นบทเรียนจาก “บิ๊กตู่” อีกทั้งการยึดอำนาจจะเปิดช่องให้สหรัฐฯ รุกคืบไทย ด้าน “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” ชี้ เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ กระทบความมั่นใจในการลงทุน ขณะที่ “คำนูณ” ระบุการเมือง 15 ปี ชี้ชัดรัฐประหารไม่ช่วยแก้ปัญหา

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันทีเมื่อ นายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร เลขาธิการเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อเรียกร้องให้มีการใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยให้กองทัพและฝ่ายการเมืองดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อหยุดการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร เปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน ขณะที่ก่อนหน้านี้ เขาได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้มีการ “รัฐประหาร”

ซึ่งหากไล่เรียงที่มาที่ไปของนายกฤตย์ จะพบว่านอกจากเขาจะเป็นนักเขียนที่มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีนแล้ว เขายังเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันเป็นอย่างมาก โดยเมื่อปี 2557 เขาคือผู้นำกลุ่มเฟซบุ๊กเชียงใหม่ ซึ่งเข้าแจ้งความต่อตำรวจดำเนินคดีหญิงสาวที่โพสต์ความเห็นหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และในการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ก็เพื่อให้รัฐใช้อำนาจพิเศษหยุดการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรที่มีพฤติกรรมก้าวล่วงสถาบันหนักขึ้นทุกที

ส่วนว่าการรัฐประหารจะเป็นไปได้หรือไม่คงต้องไปพินิจพิเคราะห์ท่าทีของผู้นำทหารบกคนใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีโอกาสในการทำรัฐประหารมากที่สุด โดย “บิ๊กบี๊” พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยืนยันตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2563 ที่ผ่านมาว่า

"โอกาสของการทำ (รัฐประหาร) เป็นศูนย์หมด แต่ว่าอยู่บนพื้นฐานที่อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง และกระทบต่อความเดือดร้อน" ผู้บัญชาการทหารบก กล่าว

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำสถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ซึ่งหลายฝ่ายตีความว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นเด็ดขาด ตราบใดที่การชุมนุมยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ไม่มีความรุนแรงจนเสียเลือดเสียเนื้อ ส่วนว่าโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารจะมีมากน้อยเพียงใดนั้นคงต้องฟังความเห็นจากบรรดานักวิชาการและผู้ที่คร่ำหวอดทางการเมือง

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำสถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ผบ.ทบ. คนใหม่จะไม่ทำรัฐประหาร เพราะไม่ต้องการเอาตัวเองไปผูกกับการเมือง เนื่องจากได้เห็นบทเรียนที่เกิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ มาแล้วว่าได้ไม่คุ้มเสีย และการนำกองทัพไปผูกกับการเมืองยังทำให้กองทัพเสื่อมเสีย อีกทั้งในการรัฐประหารทุกครั้ง ผบ.ทบ.ต้องวางขุมกำลังและการข่าวของตัวเองให้แน่นเสียก่อน ต้องมีกำลังพลที่เชื่อใจได้จริงๆ ทุกคนต้องสามารถเก็บความลับได้ การข่าวต้องไม่รั่วไหล เพราะการเมืองในปัจจุบันไอโอของแต่ละฝ่ายต่างก็แทรกซึมเข้าไปในฝ่ายตรงข้ามทั้งนั้น แต่ขณะนี้ ผบ.ทบ.เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ยังไม่รู้ใครเป็นใคร ต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะอำนาจและบารมีก่อน

“เชื่อว่ามีคนอยากให้ทำรัฐประหารเพื่อยุติปัญหา แต่ลืมไปว่าอีกฝ่ายก็รอจังหวะที่นำประเด็นเรื่องรัฐประหารไปปลุกระดมมวลชน ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นประเทศไทยจะกลายเป็นแดนมิคสัญญีเพราะนาทีนี้ผู้ชุมกลุ่มคณะราษฎรไม่ได้เกรงกลัวทหาร และพร้อมจะออกมาต่อต้านรัฐประหาร จริงๆ กลุ่มคณะราษฎรเองก็อยากให้มีการรัฐประหารเพื่อตอกย้ำว่าสิ่งที่ตัวเองพูดเป็นเรื่องจริงจะได้เรียกแขกให้ทุกฝ่ายออกมา ดังนั้น ถ้ารัฐประหารก็เข้าทางคณะราษฎร ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลและกองทัพก็รู้ในจุดนี้ จึงพยายามดูแลไม่ให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงอันจะเป็นชนวนที่นำไปสู่การรัฐประหาร” ผศ.วันวิชิต ระบุ

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง
ด้าน รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า แม้จะมีการชุมนุมและความขัดแย้งที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อประเทศอย่างมาก แต่ขณะนี้ยังไม่มีเหตผลเพียงพอที่จะทำรัฐประหาร ซึ่งในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
ทั้งในยุโรป และอเมริกา ก็เกิดการชุมนุมแบบนี้เหมือนกัน เนื่องจากกระแสโซเชียลทำให้เกิดความขัดแย้งและขยายวงไปทั่ว แต่การรัฐประหารของไทย ณ เวลานี้โอกาสที่จะสำเร็จเป็นไปได้ยาก

ที่สำคัญรัฐประหารสำเร็จแล้วผู้ทำรัฐประหารจะบริหารประเทศต่อไปอย่างไร เพราะ 1) ขณะนี้เศรษฐกิจแย่เนื่องจากพิษโควิด 2) กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นก็อีก 3-4 ปี 3) โลกเปลี่ยนแปลงไวมาก เทคโนโลยีทำให้จำนวนคนตกงานเพิ่มสูงขึ้น และ 4) การรัฐประหารจะทำให้ไทยถูกแช่แข็งจากนานาประเทศ ซึ่งผู้ที่จะทำรัฐประหารก็รู้ว่าเขาต้องรับภาระในการบริหารประเทศภายใต้ปัจจัยเหล่านี้

“รัฐบาลและกองทัพก็รู้ว่าขณะนี้สถานการณ์ยังไม่สุกงอมถึงขั้นที่ต้องทำรัฐประหาร ซึ่งหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นจริงประเทศไทยจะเจอปัญหาหลายอย่าง เช่น ความไม่มั่นใจในการลงทุน หรืออย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งนายโจ ไบเดน เพิ่งจะชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดี นโยบายของไบเดนจะเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน ต่อต้านอำนาจนิยม ดังนั้นหากเกิดรัฐประหารและมีการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมจะเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ นำมาใช้ในการเล่นงานประเทศไทย” รศ.ดร.สมชาย ระบุ

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะทำรัฐประหารในตอนนี้ และไม่ควรทำ เนื่องจาก 1) รัฐประหารเป็นการกระทำที่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐประหารไม่สำเร็จก็กลายเป็นกบฏ ซึ่งการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมามีความผิดแต่มีการนิรโทษกรรม 2) การรัฐประหารทำให้สถานการณ์ของประเทศเลวร้ายยิ่งขึ้น

“รัฐประหารทุกครั้งไม่มีใครบอกล่วงหน้าหรอกว่าจะทำรัฐประหาร หากสถานการณ์สุกงอมก็อาจเกิดรัฐประหารได้ แต่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง ซึ่งน่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการรัฐประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาของประเทศ หลังจากรัฐประหารก็ทำกันแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เกิดปัญหาเดิมๆ ประเทศไทยถึงมีการรัฐประหารมาตลอด” นายคำนูณ กล่าว

ทั้งนี้ ผศ.วันวิชิต ชี้ว่า ไม่เชื่อว่าการรัฐประหารจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหา แต่กลับเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม ซึ่งผู้ที่เสนอแนวทางนี้อาจจะชินกับการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ หรือรับใบมอบอำนาจมาจากใครหรือเปล่า? คนที่ออกหมายเชิญให้ทำการรัฐประหารแสดงว่าไม่มีความเข้าใจในกระบวนการแก้ปัญหาทางการเมืองของโลกซึ่งนับวันแต่จะชูประเด็นเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงใดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะไม่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งสหรัฐฯ ก็จะอาศัยจังหวะนี้รุกคืบเข้ามาเพื่อขยายอำนาจ ขณะเดียวกัน การรัฐประหารกลับไปสนับสนุนให้สิ่งที่คณะราษฎรคิดและนำเสนอชัดเจนมากขึ้น

พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
ตอนนี้การจะคลี่คลายวิกฤตการเมืองได้มีอยู่ 3 ช่องทางคือ 1.รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจด้วยการเร่งแก้รัฐธรรมนูญโดยนำฉบับของ ilow มาร่วมพิจารณา 2.พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้ ผู้นำจากพรรคการเมืองอื่นขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
เพื่อคลี่คลายปัญหาและลดอุณภูมิทางการเมือง ซึ่งหากผู้ที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ มาจากพรรคที่ทุกฝ่ายพอรับได้ เช่น พรรคภูมิใจไทย ก็น่าจะพอพูดคุยกันได้

“ผมมองว่าปัญหาการเมืองต้องยุติด้วยการเมือง กองทัพไม่ควรเข้ามายุ่ง การรัฐประหารจะไปซ้ำเติมวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ตอนนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไม่นำประเด็นเรื่องสถาบันมาปกป้องตัวเองมากเกินไปเพราะจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง ท่านต้องเสียสละ ถ้าท่านไม่ลาออก ไม่รีบแก้รัธรรมนูญ สถาบันก็จะถูกโจมตีมากขึ้นเรื่อยๆ” ผศ.วันวิชิต ระบุ

ประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายวิตกในขณะนี้คือการชุมนุมของ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคณะราษฎร และกลุ่มที่ปกป้องสถาบัน ซึ่งมีความเห็นต่างกันอย่างชัดเจนและความสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งนายคำนูณ ชี้ว่า แนวทางที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงได้คือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันโดยยึดแนวทาง “1 ต้อง 2 ปฏิเสธ 3 ไม่”

1 ต้อง คือ ต้องใช้กระบวนการรัฐสภาในการแก้ปัญหา

2 ปฏิเสธ คือ หนึ่ง-ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบจากทุกฝ่าย สอง-ปฏิเสธแนวทางสุดขั้วของทั้ง 2 ฝ่าย

3 ไม่ คือ หนึ่ง-ไม่เหมารวมว่าคนที่เห็นต่างเป็นศัตรู สอง-ไม่ไล่คนเห็นต่างไปสุดขอบ สาม-ไม่กดดันให้คนอื่นคิดเหมือนเรา

ส่วนว่าสุดท้ายแล้ววิกฤตการเมืองของประเทศจะจบลงอย่างไร? การชุมนุมจะเกิดความรุนแรงจนนำไปสู่การรัฐประหารหรือไม่? ก็คงอยู่ที่คนไทยทุกคน ทุกฝ่ายว่าจะเปิดใจยอมรับความเห็นต่าง รับฟังเหตุผล เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงหรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น