"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
หลายคนอาจไม่คาดมาก่อนว่าความขัดแย้งในระดับรากฐานความเชื่อที่ลึกที่สุดของสังคมไทยจะปรากฏตัวขึ้นเร็วขนาดนี้ เรื่องที่นอกเหนือความคาดหมายนี้เกิดจากปฏิกิริยาของหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่ากรอบความคิดและยุทธศาสตร์ที่ชนชั้นนำใช้ในการบริหารประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ใช้เพื่อบั่นทอนการเติบโตของกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นปรปักษ์เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่ง ที่ทำให้ความขัดแย้งขยายตัวและลุกลามจากการเมืองในระบอบรัฐสภาไปสู่การเมืองเหนือระบอบรัฐสภา
การปรากฏตัวของความขัดแย้งรอบใหม่นี้มีจุดเริ่มต้นจากการรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ คณะรัฐประหารในฐานะที่เป็นตัวแทนชนชั้นนำได้ทำลายอำนาจอธิปไตยของประชาชนและสถาปนาอำนาจอธิปไตยของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนขึ้นมาแทน เผด็จการทหารภายใต้การนำของนายพลประยุทธ์ จันโอชา และนายพลประวิตร วงศ์สุวรรณได้ดำเนินกระชับและรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้นเข้าสู่เครือข่ายอำนาจของตนเอง อันประกอบด้วยกลุ่มนายพล ข้าราชการระดับสูง นักการเมือง และกลุ่มนายทุนขนาดยักษ์ ขณะเดียวกันก็กีดกันและทำลายการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นระบบ และยังมีการสร้างมายาภาพของการปฏิรูปและการปรองดองซึ่งซ่อนไว้ด้วยยุทธศาสตร์การแบ่งแยกและปกครองและวางแผนสืบทอดอำนาจ
ยุทธศาสตร์รวมศูนย์อำนาจถูกนำไปปฏิบัติโดยการส่งบรรดาพวกพ้องที่เป็นนายพลและข้าราชการพลเรือนเข้าไปดำรงตำแหน่งในสภานิติบัญญัติ องค์การอิสระ กรรมการรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานราชการต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มีการขยายบทบาทของทหารในการบริหารประเทศโดยใช้กลไกกองอำนายการรักความสงบภายในราชอาณาจักร (กอรมน.) ลงไปสู่ระดับจังหวัด อีกทั้งมีการแต่งตั้งนายทุนนักธุรกิจผูดขาดเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติอีกนับไม่ถ้วน รวมทั้งการแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างยาวนาน
ผลผลิตที่เกิดขึ้นคือการผลิตระเบียบ นโยบาย และกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะหลักคือ ๑) ริดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น พ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะ ๒) เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนต่างชาติ เช่น พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ๓) สร้างปัญหาแก่ประชาชนที่ยากจน เพราะการเลือกปฏิบัติ เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่หยิบยกมานี้เป็นผลผลิตเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการของคณะรัฐประหารเท่านั้น ยังมีระเบียบและกฎหมายอีกจำนวนมากในลักษณะเดียวกันซึ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นการบ่มเพาะและสะสมความตึงเครียดให้แก่สังคม
ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาคือ เสรีภาพของประชาชนถูกกดทับและริดรอนอย่างกว้างขวาง การคุกคามและทำร้ายประชาชนที่เห็นต่างเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย การบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ การทุจริตภายในหน่วยงานราชการขยายตัวมากขึ้นในทุกระดับ ความรุนแรงภายในกองทัพปะทุออกมาจนเกิดการสังหารหมู่ที่จังหวัดนครราชสีมา การตกต่ำทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมขยายตัวอย่างไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย คนจำนวนมากที่พอมีพอกินก็ไหลลงไปสู่ภาวะความยากจน เต็มไปด้วยหนี้สิน ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น และผู้คนจำนวนมากมองไม่เห็นอนาคตของตนเองภายใต้บริบทการบริหารประเทศของคณะรัฐประหาร และแล้วเมล็ดพันธุ์แห่งความคับแค้นก็ได้เติบโตขึ้นมา
ยุทธศาสตร์แบ่งแยกและปกครองเพื่อสืบทอดอำนาจได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างแยบยล ผ่านมายาภาพของการชูธงปฏิรูป การปรองดอง และการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้คนจำนวนหนึ่งถูกกลเกมของคณะรัฐประหารดึงเข้าไปสู่การเป็นสมาชิกของสภาไม้ประดับห่งชาติ ๒ คณะ อันได้แก่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภาปฏิรูปทั้งสองสภาถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตอบแทนทางการเมืองแก่บรรดาผู้เป็นแนวร่วมของคณะรัฐประหาร และเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างภาพต่อสังคมว่าคณะรัฐประหารได้กระทำการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมในการปฏิรูปประเทศแล้ว ทั้งสองสภาทำงานและผลิตเอกสารออกมาเป็นจำนวนมาก แต่บรรดาแกนนำคณะรัฐประหารมิได้สนใจไยดีกับข้อเสนอต่าง ๆของสภาทั้งสองแม้แต่น้อย ข้อเสนอเกือบทั้งหมดจึงไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติแต่อย่างใด เมื่อความจริงปรากฎ มายาภาพก็เลือนหาย และความไม่เชื่อถือไว้วางใจก็ขยายตัว
ส่วนการปรองดองก็ประสบชะตากรรมไม่แตกต่างกัน คณะรัฐประหารได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันของบรรดาแกนนำกลุ่มที่ขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้งทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ทว่า ไม่มีการนำผลการประชุมไปดำเนินการใด ๆ ทั้งทางนโยบายและทางกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับดำเนินคดีกลุ่มคนเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองของพธม. และ นปช. หลายคนถูกตัดสินจำคุก ขณะที่ยังไม่มีแกนนำของ กปปส. คนใดถูกตัดสินให้จำคุกและหลายคนกลับได้รับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลของนายพลประยุทธ์อีกด้วย
เมล็ดพันธุ์ของความขัดแย้งถูกเร่งให้เติบโตขึ้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีเนื้อหาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและไม่มีกลไกสืบทอดอำนาจแก่ คสช. ถูกคว่ำกลางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และหลังจากนั้นคณะกรรมร่างชุดใหม่ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์และคณะยกร่างขึ้นมา ซึ่งมีเนื้อหาสาระของการสืบทอดอำนาจและเอื้อประโยชน์ต่อคณะรัฐประหารและเครือข่ายของพวกเขาอย่างชัดเจน จนบางคนที่อยู่ในเครือข่ายของคณะรัฐประหารถึงกับระบุว่ารัฐธรรมฉบับนี้ร่างขึ้นมาเพื่อพวกเขาเป็นการเฉพาะ เช่น เรื่องระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม การแต่งตั้งบุคคลในการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ บทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจ คสช.เลือกบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา และการให้อำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวาระที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ก็ได้มีกลุ่มการเมืองหน้าใหม่ในนาม พรรคอนาคตใหม่ ปรากฏตัวในสนามการแข่งขัน พรรคอนาคตใหม่จัดตั้งโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะ พรรคนี้กำหนดนโยบายที่ท้าทายจารีตดั้งเดิมของสังคมไทยหลายประการ เช่น นโยบายปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การกำจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ การสร้างความยั่งยืนแก่สิ่งแวดล้อม การโอบรับความหลากหลาย เคารพความแตกต่าง และการสร้างความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
กรอบคิดเชิงนโยบายของพรรคการเมืองนี้เป็นการผสมผสานระหว่างอุดมการณ์เสรีนิยมสมัยใหม่ (modern liberalism) รัฐสวัสดิการ นิเวศนิยม และพหุวัฒนธรรมนิยม กรอบคิดและอุดมการณ์เช่นนี้ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับอุดมการณ์ของชนชั้นนำที่ครองอำนาจอยู่ในสังคมไทย เพราะบรรดาชนชั้นนำยึดมั่นในอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบจารีตและอำนาจนิยมเป็นหลักที่ต้องการดำรงรักษาความแตกต่างระหว่างสถานภาพและอำนาจตามลำดับชั้นในสังคม การใช้นโยบายประชานิยมเพื่อรักษาคะแนนเสียง การเน้นและให้ความสำคัญแก่ความมั่นคงของสถาบันจารีตเหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวง
การปรากฏตัวของพรรคอนาคตใหม่ที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่และชุดของอุดมการณ์ใหม่ที่ท้าทายทำให้ชุดความคิดและความเชื่อดั้งเดิมอันเป็นสรณะของชนชั้นนำต้องสั่นคลอน พรรคอนาคตใหม่จึงถูกมองจากบรรดากลุ่มชนชั้นนำจารีตว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอำนาจและผลประโยชน์ของตนเอง ภายใต้ความคิดเช่นนั้น กลุ่มชนชั้นนำจึงร่วมกันสมคบคิดกว้างเพื่อสกัด บั่นทอนและทำลายพรรคอนาคตอย่างเป็นระบบทั้งทางเปิดเผยและทางลับ โดยอาศัยกลไกรัฐที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ กลไกองค์การอิสระ สื่อมวลชนและนักร้องเรียนทางการเมือง
กลไกทั้งหมดถูกขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องทั้งก่อนการเลือกตั้งและระหว่างการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง หรือได้รับเพียงจำนวนน้อย และหลังการเลือกตั้งเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่ และทำลายโอกาสทางการเมืองของแกนนำหลักของพรรค
เครือข่ายชนชั้นนำประสบความล้มเหลวในการสกัดกั้นการปรากฏขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นว่า สมาชิกของพรรคการเมืองนี้ได้รับเลือกเข้าไปมากเป็นพรรคลำดับสาม ด้วยจำนวน ส.ส. ๘๐ กว่าคน แต่ชนชั้นนำประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นมิให้นายธนาธร เข้าไปทำหน้าที่ในสภา และต่อมาก็ประสบความสำเร็จในการยุบพรรคอนาคตใหม่และขจัดแกนนำอันเป็นกรรมการบริหารพรรคออกจาการเมืองระดับชาติได้ กระนั้นก็ตามกลุ่มชนชั้นนำก็ไม่อาจถอนรากถอนโคนได้ทั้งหมด เพราะยังมีสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ที่เหลืออยู่กว่าห้าสิบคนทำหน้าที่ในรัฐสภาภายใต้ชื่อพรรคก้าวไกล
พรรคอนาคตใหม่ปรากฏตัวขึ้นในเวทีรัฐสภาด้วยแรงสนับสนุนของกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นหลัก และอีกส่วนมาจากกลุ่มคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ที่เบื่อหน่ายกับระบอบอำนาจนิยมรวมศูนย์ของคณะรัฐประหาร เมื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรพวกเขาได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้แก่สภา ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างมีคุณภาพด้วยความกล้าในการนำเสนอประเด็นที่เป็นปัญหา เสนอญัตติที่ท้าทายโครงสร้างอำนาจ ลงมติภายใต้จุดยืนที่มั่นคง และอภิปรายด้วยการใช้ข้อมูลข่าวสารที่อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและมีการนำเสนอที่น่าสนใจ
การทำหน้าที่ในลักษณะดังกล่าวทำให้พวกเขาสามารถรักษาและขยายความนิยมเพิ่มขึ้นไม่น้อยทีเดียว อีกทั้งการปฏิบัติงานในสภามีความสอดคล้องกับสิ่งที่นำเสนอระหว่างการหาเสียง ทำให้พรรคกลายเป็นตัวแทนแห่งความคิดและความหวังของเยาวชนคนหนุ่มสาว การยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นเสมือนทำลายตัวแทนและความหวังของคนจำนวนมาก และเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในโลกออนไลน์ขยายตัวลงไปสู่โลกท้องถนน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การทำให้ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามและขยายตัวจากการเมืองภายในระบอบรัฐสภาไปสู่การเมืองเหนือสภาอีกด้วย
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)