หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรณ
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 ภาคประชาชนนำโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือiLaw (ไอลอว์) และเครือข่ายเช่นคณะประชาชนปลดแอกและกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า นัดเดินขบวนนำ 100,732 รายชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ จากMRT สถานีเตาปูนไปยื่นที่รัฐสภา พวกเขาเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าฉบับประชาชน
แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าคน 1 แสนกว่าคนที่ลงชื่อนั้นมีสักกี่คนที่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์นอกจากเขาขอให้ลงชื่อก็แห่ลงชื่อตามๆ กันไป เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
ผมพยายามอ่านร่างของไอลอว์ว่าจะมีนวัตกรรมอะไรที่ก้าวหน้าหรือไม่ แต่เห็นได้ชัดว่า ไอลอว์พยายามที่จะโยงให้ คสช.เป็นศูนย์กลางของปัญหาฝ่ายเดียว หรือโทษที่รัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้พูดถึงวิกฤตการณ์ทางการเมืองจนถึงการใช้อำนาจที่ฉ้อฉลของรัฐบาลก่อนหน้านี้จนนำมาสู่การรัฐประหาร
ไอลอว์อ้างในหลักการและเหตุผลของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เพื่อรื้อถอนอำนาจของ คสช. และสร้างโอกาสกลับสู่ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นกติกาที่มีไว้เพื่อรักษาอำนาจของคนกลุ่มเดียว ทำให้เกิดเศรษฐกิจผูกขาดเกิดความเสื่อมล้ำ กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงจนเกิดวิกฤตศรัทธา ฯลฯ
ก่อนจะลงไปในเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น คงต้องออกตัวอีกครั้งว่า ผมเองก็ไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ตอนทำประชามติ เพราะเห็นว่า การเขียนให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.จำนวน 250 คนสามารถโหวตเลือกนากยกรัฐมนตรีได้นั้น จะทำให้เกิดวิกฤตไม่จบสิ้น และวันนี้ผลของวิกฤตก็สะท้อนออกมาแล้ว
ผมจึงไม่ได้ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์เพราะชื่นชอบในรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นเอง
แน่นอนว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์นั้นให้ตัดอำนาจของ ส.ว.ตามมาตรา 272ออกไป ซึ่งผมเห็นด้วยในส่วนนี้ เพราะการมีมาตรานี้นั้นก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้งซึ่งสะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่250 ส.ว. เทคะแนนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐที่แต่งตั้งตัวเองมาแบบไม่ขาดสักเสียงเดียว
และประเด็น ส.ว.เป็นปัญหาที่นำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองและการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้
แต่นอกจากมาตรานี้แล้วเราลองไปชำแหละร่างของไอลอว์ว่ามีอะไรบ้าง หลักๆของร่างนี้คือให้ตัดเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีออกไป และยกเลิกหมวดการปฏิรูปประเทศออกไปทั้งหมด และให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระก่อนวันที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง
เรียกง่ายๆ ว่าล้างบางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดโดยกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องพร้อมกับให้มีการสรรหาใหม่ยกชุด
ในกรณีนี้ คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างของไอลอว์จะมีผลต่อกระบวนการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคดีทุจริตประพฤติมิชอบอื่นๆแน่นอนเพราะการไปกำหนดให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เป็นฐานกำหนดความผิดโดยตรงมีอันสิ้นผลไปหรือพูดง่ายๆ ว่ายกเลิกนั้นจะมีผลเสมือนเป็นการนิรโทษกรรมคดีทุจริตในทางปฏิบัติตามหลักกฎหมายอาญาที่ว่ากฎหมายมีผลย้อนหลังได้หากเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดตามที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับวางบรรทัดฐานไว้
ผู้ใดต้องโทษจำคุกตาม พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตอยู่ก็จะยื่นคำร้องให้ศาลออกหมายปล่อยตัวผู้ใดอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีก็จะใช้เป็นข้อต่อสู้เพิ่มขึ้นส่วนผู้ที่หนีคดีอยู่ก็เป็นการเพิ่มน้ำหนักในการหาทางกลับบ้านได้เท่ๆเช่นกัน
ผลข้างเคียงที่เป็นเสมือนการนิรโทษคดีทุจริตต่อบุคคลที่ได้รับผลดีนี้จะคงอยู่ตลอดไปต่อให้ในอนาคตมีการตรา พ.ร.ป.กำหนดฐานความผิดเดิมขึ้นมาใหม่ก็จะไปเข้าหลักกฎหมายอาญาทั่วไปอีกด้านหนึ่งที่ว่ากฎหมายที่ออกมาใหม่หากเป็นโทษกับบุคคลไม่สามารถใช้บังคับย้อนหลังได้
คำนูณชี้ด้วยว่าหากร่างของไอลอว์นี้มีผลใช้บังคับเมื่อใด ส.ว.ชุดปัจจุบันจะพ้นตำแหน่งทันที พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริตและ พ.ร.ป.ฉบับอื่นถูกบัญญัติให้เป็นอันสิ้นผลไปกรรมการ ป.ป.ช.และกรรมการองค์กรอิสระทุกองค์กรรวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันพ้นตำแหน่งทันทีแม้จะให้อยู่รักษาการต่อไปก่อนแต่กฎหมายให้อำนาจสิ้นผลไปแล้วซึ่งกว่าจะได้ ส.ว.ชุดใหม่จากการเลือกตั้งต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย60 วันต่อด้วยเริ่มกระบวนสรรหากรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามแนวทางรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งต้องให้ ส.ว.ตัดสินใจเลือกในขั้นสุดท้ายต้องบวกเวลาเข้าไปอย่างเร็วที่สุดอีก 30 วันมิหนำซ้ำยังต้องยกร่าง พ.ร.ป.ที่ถูกยกเลิกไปขึ้นมาใหม่ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 90 วัน
นั่นหมายความว่า ประเทศจะตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศไม่มีกฎหมายและกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างน้อย 5 - 6 เดือน !
จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ที่ประชาชนเข้าชื่อกันกว่าแสนคนนั้นมีเหตุผลที่แท้จริงคืออะไรและมีเป้าหมายอะไรที่ซ่อนเร้นเอาไว้บ้าง จะพาใครกลับบ้านอย่างเท่ๆ หรือไม่
นอกจากให้แก้ไขการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นๆใหม่ยังให้ตัดการที่พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 คนไป และนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และหากแก้ไขสำเร็จถ้ายังไม่ยุบสภาจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติทันที และต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อส.ส.เท่านั้น
ร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ยังแก้ไขมาตรา 256 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตัดอำนาจที่ต้องใช้เสียง ส.ว.1ใน3ในวาระ 1และ 3 แต่ให้ใช้เสียง 1 ใน 5 ของส.ส.หรือของทั้งสองสภาแทน แล้วยกเลิกมาตรา 269 ที่ให้อำนาจ คสช.แต่งตั้ง ส.ว.เพื่อให้ ส.ว.พ้นจากตำแหน่งไป แล้วไปสู่การเลือกตั้งของประชาชนจำนวน 200 คน
เป้าหมายสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์อีกอย่างก็คือ การยกเลิกประกาศคำสั่งของ คสช.ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ระบุว่าให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป
ที่สำคัญคือยกเลิก วรรค 2 ของมาตรา 279 ที่ว่า บรรดาการใดๆที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช๒๕๕๗แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่๒) พุทธศักราช ๒๕๕๙ว่ าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายรวมทั้งการกระทําที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวให้ถือว่าการนั้นและการกระทํานั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย
นั่นหมายความว่าเมื่อไม่มีกฎหมายคุ้มครองการกระทำของ คสช.ก็น่าจะมีกระบวนการเอาผิดการกระทำของ คสช.ตามมา รวมถึงการกระทำผิดที่กองทัพทำรัฐประหารรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็จะถูกดำเนินคดีในศาลด้วยส่วนศาลจะเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้นผิดหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่า เมื่อได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้ว แม้จะยกเลิกมาตราดังกล่าวก็ไม่น่าจะเอาผิดย้อนหลังได้
กรณีนี้น่าจะเป็นข้อถกเถียงทางกฎหมายกันในอนาคตและอาจนำประเทศไปสู่วิกฤตทางการเมืองอีกครั้งถ้ากองทัพเห็นว่าถูกฝ่ายการเมืองบีบคั้น
ที่น่าสนใจคือร่างของไอลอว์ไม่แก้เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียวที่นำมาสู่การนับคะแนนที่พิสดารของ กกต. ทั้งนี้เพราะพรรคอนาคตใหม่เดิมเคยได้ประโยชน์จากระบบนี้เพราะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมากใช่หรือไม่
และที่ประหลาดก็คือ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งให้เลือก สสร. 200 คนจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้นมีลักษณะเปิดกว้างมาก คือ ไม่ห้ามบุคคลที่ติดยาเสพติดให้โทษ ไม่ห้ามบุคคลล้มละลายหรือล้มละลายทุจริต ไม่ห้ามเจ้าของสื่อ(อันนี้เห็นด้วย) แม้แต่พระหรือนักบวชก็สามารถสมัครสสร.ได้
หรือแม้แต่คนวิกลจริตจิตฟั่นเฟือนก็สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสสร.ได้นอกจากนั้นยังไม่กำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสสร. โดยกำหนดแค่ว่ามีสัญชาติไทย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านประเทศไทยก็สมัครได้ ดังนั้นแม้แต่เด็กประถมก็สามารถสมัครเป็นสสร.ได้เช่นเดียวกัน
ทั้งที่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งและทำนิติกรรมในทางกฎหมายได้ด้วยซ้ำไป เช่นเดียวกับคนสติฟั่นเฟือนที่ไม่สามารถทำนิติกรรมได้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์เปิดทางให้เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญได้
พยายามเข้าใจว่าเจตจำนงการร่างให้มีคุณสมบัติเช่นนี้ อาจต้องการแสดงให้เห็นว่า เรามีความเป็นประชาธิปไตยอย่างสูงสุดถ้าประชาชนออกเสียงเลือกคนแบบไหนหรือใครแล้วไม่ว่าจะมีคุณสมบัติเช่นไรก็สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้เช่นกัน ยังรวมถึงเปิดโอกาสให้กระทั่งคนที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก ก็สามารถสมัครเป็น สสร.ได้
และที่สำคัญที่สุดที่น่าจะเป็นเป้าหมายของกลุ่มไอลอว์ก็คือ การให้คนที่ถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งสามารถสมัครเป็น สสร.ได้ด้วย นั่นหมายความว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยะบุตร แสงกนกกุล หรือคนอื่นๆ ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองทุกคนก็สามารถสมัครเป็น สสร.เพื่อเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญได้
ตรงจุดนี้น่าจะบอกเจตนาของไอลอว์ได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญไอลอว์นั้นร่างขึ้นมาเพื่อใครและเป้าหมายใด
เราต้องไม่ลืมว่าไอลอว์ยังยอมรับว่า เงินทุนที่ใช้ในการดำเนินการนั้นมาจากองค์กรต่างประเทศทั้งหมด เช่น 1. Open Society Foundation (OSF)2. Heinrich Böll Stiftung (HBF)3. National Endowment for Democracy (NED)4. Fund for Global Human Rights (FGHR)5. American Jewish World Service (AJWS)6. ได้รับเงินสนับสนุนเป็นรายครั้งจากบริษัทGoogle และผู้สนับสนุนอิสระ
ไอลอว์จึงเป็นองค์กรต่างชาติที่มีคนไทยเป็นผู้บริหารเท่านั้นเอง และแน่นอนว่า การรับเงินทุนจากองค์กรใดนั้นก็ต้องปฏิบัติให้ตรงกับเงื่อนไขขององค์กรที่ให้เงินทุนด้วย นั่นหมายความว่าต้องตอบสนองความต้องการที่เป็นประโยชน์กับองค์กรต่างชาติเหล่านั้นนั่นเอง
เห็นได้ชัดเจนเลยว่า เจตนาของไอลอว์นั้น ไม่ใช่เพื่อจะหาทางออกให้กับประเทศ และถ้าร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ผ่านสภาออกมาได้จะนำประเทศไปสู่วิกฤตยิ่งกว่าเดิม
เพราะอาจจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่จะร่างโดยคนบ้าคนติดยาและธนาธรกับพวกนั่นเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan