xs
xsm
sm
md
lg

2 ธันวาฯ ตัดสินชะตากรรม ‘ลุงตู่’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"โสภณ องค์การณ์"


ถ้าไม่มีเหตุต้องเลื่อนการพิจารณาคดีออกไป วันที่ 2 ธันวาคมแล้วซินะที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยสำคัญว่าผู้นำรัฐบาล คือลุงตู่ มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอย่างไรหรือไม่ กรณีที่ได้อยู่บ้านหลวง ตามคำร้องของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ถือว่าเป็นวาระสำคัญ เพราะการที่ลุงตู่จะอยู่หรือจะไป ก็จะเป็นการกำหนดทิศทางการเมืองและเส้นทางสำหรับอนาคตของประเทศ ท่ามกลางวิกฤตสารพัดทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งความขัดแย้งซึ่งเสี่ยงกับการขยายไปสู่ความรุนแรง

เรื่องการอยู่บ้านหลวงมีทั้งประเด็นข้อเท็จจริง กฎหมาย และกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกองทัพบก ซึ่งได้มีคำอธิบายชี้แจงประเด็นต่างๆ ไว้แล้ว แต่จะเป็นความเกี่ยวโยงอย่างไรกับกฎหมายต่างๆ เรื่องผลประโยชน์หรือไม่ ต้องว่ากัน

และคนที่จะว่ากันได้ก็ควรจะรู้ทั้งกฎหมายต่างๆ ด้านผลประโยชน์ทับซ้อน ระเบียบของกองทัพและประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกัน จึงมีความเห็นด้านข้อเท็จจริงและกฎหมาย วันนี้มีความเห็นของผู้รู้กฎหมาย ระเบียบของกองทัพมาว่ากันชัดๆ

ไม่ได้ว่าใครถูกหรือผิดอย่างไร เพราะยังต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลผูกพันทุกองค์กร ตามบทบัญญัติของกฎหมาย

เริ่มจากความเห็นของนายพลจากกองทัพบก เป็นผู้รู้เรื่องระเบียบและมุมมองด้านกฎหมาย ว่าไว้อย่างนี้ครับ

“ชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์ ได้กลายเป็นประเด็นสนใจกันอย่างกว้างขวาง สำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้

โดยเป็นคำร้องกรณีที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังพักอาศัยอยู่บ้านพักทหาร หรือบ้านหลวง ทั้งที่ไม่มีสิทธิพักอาศัยเพราะเกษียณอายุราชการไปแล้ว

แม้กองทัพบกมีระเบียบให้อดีตพลเอกที่มีคุณูปการต่อกองทัพ ได้อาศัยอยู่

บ้านหลวงพร้อมค่าน้ำค่าไฟหลังเกษียณได้ แต่นั่นคือกรณี พลเอกท่านอื่นๆ

แต่กรณี นายกฯ ลุงตู่ มีความแตกต่าง เพราะนายกฯ ลุงตู่ มีสถานภาพเป็นนายกรัฐมนตรีควบไปด้วย เป็นนักการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญได้ห้ามไว้ชัดเจนว่า ไม่สามารถรับผลประโยชน์อื่นใดจากหน่วยราชการ

กฎหมาย ป.ป.ช. ก็ระบุชัดเจนว่า จะรับผลประโยชน์มูลค่าเกิน 3,000 บาท มิได้ อีกทั้งยังขัดรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขัดกันทางผลประโยชน์ หรือผลประโยชน์ทับซ้อน


สรุปว่ากองทัพบกให้อาจจะไม่ผิด แต่คนรับ ที่เป็นรัฐมนตรีนั้น ผิดแน่นอน จึงมีการเบี่ยงประเด็น ไปว่า ระเบียบของกองทัพบกให้ได้ ยกเป็นข้อต่อสู้ “คนให้อาจให้ได้ แต่คนรับ รับไม่ได้” อย่าหลงประเด็น!

ยกตัวอย่าง ถ้ามีคนเอาของขวัญไปให้ นายกฯ มีราคา 10,000 บาท นายกฯ รับไว้ คนให้ไม่ผิด แต่คนรับคือนายกฯ ผิดกฎหมาย ป.ป.ช. เพราะรับของมูลค่าเกิน 3,000 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด

เจตนารมณ์ของกฎหมายคือ ควบคุมคนรับผลประโยชน์ คือ รัฐมนตรี เนื่องจากถูกจับตาว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวจะมีส่วนปลดล็อกทางการเมืองที่อยู่ในช่วงวิกฤตขณะนี้หรือไม่

เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นปี 2551 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ขาดคุณสมบัติ เมื่อรับจ้างทำรายการชิมไปบ่นไป

ต่อมามีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน เป็นเหตุให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นสภาพนายกฯ มีอีกครั้งในปี 2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลง เพราะสั่งย้ายข้าราชการพลเรือน

มีนายกฯ 3 คน ที่ต้องตกเก้าอี้ไป เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ!

ลุงตู่จะเป็นคนที่ 4 หรือจะเป็นผู้ไม่มีความผิดใดๆ เหมือนที่องค์กรอิสระต่างๆ ได้เคยวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยวินิจฉัยว่าลุงตู่ไม่ขาดคุณสมบัตินายกฯ เพราะการเป็นหัวหน้าคสช. ไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

คดีนี้ขึ้นกับพยานหลักฐานข้อเท็จจริง หากนายกฯ ลุงตู่จะขาดคุณ สมบัติ ก็ต้องเป็นเพราะเกิดความผิดจริง ไม่ใช่ให้สภาพการณ์ทางการเมืองมีส่วนในการตัดสินเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญยังคงไว้ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม

ส่วนตัวนายกฯ ลุงตู่ เองก็ต้องเรียกร้องให้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่าตัวเองเป็นปัญหาในระบอบประชาธิปไตย เป็นปัญหาของบ้านเมืองหรือไม่ แทนการพูดว่าตัวเองไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ไม่เคยทำอะไรผิด …”

อยู่ที่ความกล้าหาญทางการเมือง และจริยธรรม ประกอบความเป็นผู้นำ!

คำอธิบายเรื่องบ้านพักของราชการ...โดยนายพลเอกนอกราชการ

“บ้านพักของราชการมี 2 ประเภท บ้านพักข้าราชการเพื่อเป็นสวัสดิการและบ้านรับรอง บ้านพักข้าราชการอยู่ได้เฉพาะข้าราชการประจำการเท่านั้น การผ่อนผันจะให้เฉพาะการย้ายจากสังกัด ผ่อนผันให้ 6 เดือนในกรณีที่บุตรกำลังศึกษา

ส่วนเกษียณอายุไม่มีหลักเกณฑ์ผ่อนผัน เพราะรู้ตัวล่วงหน้าแล้ว เหตุที่ต้องออก เพื่อให้ผู้รับตำแหน่งแทนเข้าพักอาศัย ส่วนบ้านรับรองจะจัดให้พักสำหรับผู้มาราชการเป็นการชั่วคราว

ส่วนการรับประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ราชการมีหลักมี่กำหนดเป็นสากล คือ (1) ถามตัวเองว่าถ้าไม่อยู่ในตำแหน่งนี้ เขาจะให้หรือไม่ ถ้าตอบได้ว่า “ไม่ให้” ก็รับไม่ได้

(2) การรับประโยชน์ที่ทำให้มีบุญคุณอันเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจดุลยพินิจอันเที่ยงธรรมแล้ว รับไม่ได้”

คำพิพากษาครั้งนี้จะเป็นครั้งสำคัญที่จะวางหลักการขัดกันของผลประโยชน์ฯให้กับระบบราชการไทยต่อไป นับว่าเป็นโอกาสดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้หลักนิติธรรมเกิดการเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ควรจะเป็นแก่สังคมไทยต่อไป”


รอดูวันนั้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับนายกฯ ลุงตู่ และระดับความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น