xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ลุงตู่ อยู่หรือไป!? ลือกระหึ่ม มติ 5:3

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 9 พศจิกายน 2563 ตอน ลุงตู่ อยู่หรือไป!? ลือกระหึ่ม มติ 5:3



การเดินหน้าแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ปะทุรุนแรงขึ้นทุกวันในเวลานี้ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายผู้ชุมนุม คณะราษฎร 63 ที่ยื่นข้อเรียกร้องสามข้อ คือ ให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก , แก้รัฐธรรมนูญ โดยตั้ง ส.ส.ร. และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

แม้ว่า ทางฝ่ายการเมืองมีความพยายามแก้ปัญหา แต่ยังไม่มีเค้าจะเจอทางจบได้อย่างไร ขณะเดียวกัน ม็อบสามนิ้วยังไม่ฝ่อ ยังคงรุกคืบไม่หยุด

ดังที่เห็นได้จากการชุมนุมใหญ่เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อตั้งขบวนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเดินทางมายื่นราษฎรสาส์น ที่พระบรมมหาราชวัง ม็อบยังมีมวลชนเข้าร่วมจำนวนไม่น้อย และคงท่าทีที่แข็งกร้าว

ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็ไม่มีท่าทีจะอ่อนข้อ ปัดรับข้อเสนอทั้งสามข้อของม็อบ และแม้แต่การเปิดห้องเจรจาพูดคุยประนีประนอม โดยให้มีคณะกรรมการสมานฉันท์ เวทีระดับชาติที่รัฐสภาผ่านมติให้เป็นองค์กรคนกลาง เข้ามาประนีประนอมปัญหา ก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก เนื่องจากปัญหาขัดขา ปีนเกลียวกันเอง ของฝ่ายรัฐบาลด้วยกัน

ปัญหาแทรกสอดอย่างคาดไม่ถึง ที่ทำให้การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์สะดุด เป็นเสียงจาก ส.ส.ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐสองสามคนออกมาเคลื่อนไหวกวนน้ำให้ขุ่น มีการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อ ให้ความเห็นขัดขวางก้าวก่ายการทำงานของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพทำเรื่องสมานฉันท์ อย่างไร้ความเกรงใจ และไม่ไว้หน้า

จึงมองได้ว่า เวทีสมานฉันท์ที่ฝ่ายรัฐบาลโยนมาให้ภาระของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมาจากข้อสรุปที่ได้จากการประชุมสภาสมัยวิสามัญเมื่อปลายเดือนตุลาคม เริ่มส่อเค้าว่าจะแท้งก่อนได้เกิด อย่างค่อนข้างแน่

คลื่นป่วนที่ส่งจากฝ่ายรัฐบาล เริ่มหลังจากที่นายชวนมีความคิดจะเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีมานั่งเป็นกรรมการในคณะสมานฉันท์ ซึ่ง ส.ส.เบอร์ใหญ่ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คือนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นคนแรกที่ออกมาส่งเสียงท้วงติง

ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่าขณะนี้การชุมนุมของคณะราษฎรไปไกลเกินกว่า การมีคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว

ส.ส.ไพบูลย์ย้ำว่า การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ไม่สามารถหาทางออกได้ เพราะดูจากหน้าตาอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประธานรัฐสภาจะเทียบเชิญเข้าร่วมเป็นกรรมการ นั้น แต่ละคนมีความฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว จึงตั้งข้อสังเกตว่า จะให้คณะกรรมการนี้ เป็นเครื่องมือบีบให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือไม่

ไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังฝากไว้อีกว่า การปฏิรูปสถาบัน และแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 หมวด 2 ตามข้อเรียกร้อง หากมีการรับข้อเรียกร้องมาทำตาม ตนจะดำเนินการฟ้องคณะกรรมการทั้งหมด

แค่ไพบูลย์คนเดียว ก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐไม่เอาด้วยกับแนวทางการมีคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่เป็นสารตั้งต้นมาจากการเสนอต่อการประชุมรัฐสภา ของหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

แต่พลังประชารัฐคงกลัวนายชวนจะฟังไม่ชัดหรืออย่างไร จึงปล่อย นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.จอมเกรียนสภายุคนี้ ออกมาขย่มแรงๆ อีกระลอก โดยสิระตอกย้ำและค้านที่นายชวน จะเชิญ สี่อดีตนายกรัฐมนตรีมาเป็นกรรมการ พร้อมกับส่งเสียงถามไปถึงนายชวน

ว่าใช้อำนาจอะไรเพียงคนเดียวในการตั้งคณะกรรมการปรองดองฯ ทั้งที่มีสภา เหตุใดจึงไม่ขอความเห็นจากสภาว่าจะออกแบบ คณะกรรมการชุดนี้ อย่างไร

และว่า บุคคลที่นายชวนเตรียมเชิญเข้ามา ล้าสมัย เก่าแก่ หมดสภาพที่จะมาทำงานในจุดนี้ จึงไม่เห็นด้วย ไม่เหมาะสม ที่จะเป็นกรรมการปรองดอง นายสิระประชดแรงๆว่า แต่ถ้าเอาไปดองเค็มใส่เกลือ จะเหมาะกว่า

สำหรับ สี่อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีนาย อานันท์ ปันยารชุน , พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ , นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งนายไพบูลย์พูดดักทางไว้แล้วว่า อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสี่จะมาเป็นเครื่องมือบีบพลเอกประยุทธ์ ออกตามข้อเรียกร้องของม็อบ

หากพิจารณาแนวคิดและสังกัดเดิมทางการเมืองของสี่อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีแนวโน้มเป็นจริงอย่างที่ไพบูลย์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ โดยเฉพาะอานันท์, สมชาย หรืออภิสิทธิ์ ฟันธงได้ว่า ไม่เอาพลเอก ประยุทธ์แน่ ส่วนบิ๊กจิ๋ว พลเอก ชวลิตก็มีชุดความคิดที่ต้องการให้มี รัฐบาลแห่งชาติ มานาน

เพียงแต่ก่อนหน้านี้ ที่บิ๊กจิ๋วหยุดพูดไป ก็เพราะหลานรัก พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ คอยขอร้อง กระตุกไว้ ซึ่งวันนี้พลเอกอภิรัชต์ พ้นหน้าที่เสาค้ำรัฐบาลไปแล้ว บิ๊กจิ๋วคงจะกลับมาเสนอแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติอีกแน่ ก็จะเป็นอีกเสียงหนึ่งที่ไม่เป็นบวกต่อเก้าอี้พลเอก ประยุทธ์ เช่นกัน

มองกันตรงนี้แล้ว โอกาสที่จะมีกรรมการสมานฉันท์ ขึ้นมา คลี่คลายปัญหาม็อบสามนิ้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะนอกจากพรรคพลังประชารัฐขวางแล้ว ฝ่ายม็อบสามนิ้วก็ไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้ค่าเลยแม้แต่น้อย

ความเคลื่อนไหวในจังหวะนี้ ยังมีปมสำคัญที่เป็นเผือกร้อนทางการเมือง ที่จะเร้าให้จากสถานการณ์ร้อนขึ้น คือเรื่องที่สภาจะเอาอย่างไรในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะรับร่างทั้งหกร่าง หรือไม่รับที่เสนอเข้าสภาไปแล้ว ในวาระแรกหรือไม่ รวมทั้งร่างฉบับไอลอว์ ที่จ่อเข้าบรรจุเป็นญัตติ จะได้เดินต่อหรือไม่

ในวันที่ 17 พ. ย. นี้ สภาจะมีการประชุมญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คาดว่าจะลงมติกันได้ แต่จะผ่านด่านสมาชิกวุฒิสภาที่ต้องมี84 เสียงลงมติเห็นด้วยในกรณีรับร่าง หรือไม่ ทางการข่าวบอกว่า เสียง ส.ว.คงจะพอ 84 เสียงที่จะให้เห็นชอบให้รับหลักการ

แต่ ส.ว.ยังมีความกังวล ในเรื่องทำผิดรัฐธรรมนูญที่หากมีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการตั้ง ส.ส.ร.ทำได้หรือไม่ เนื่องจาก ส.ว.กลุ่มนี้เห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่เปิดให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็จะมีการเสนอญัตติด่วนเข้าสภาฯเพื่อขอให้สภาพิจารณาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในประเด็นอำนาจสภา กับการแก้รัฐธรรมนูญมีแค่ไหน

ถ้าสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นการคลายความกังวล ส.ว.ที่กลัวจะทำผิดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ สภาก็จะพิจารณาคู่ขนานไปกับศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยประเด็นอำนาจของสภาจะมีอยู่แค่ไหน แก้ไขเพิ่มเติมได้ หรือว่าแก้รัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ

ปัญหาการเมืองทุกเรื่องใหญ่ กำลังพุ่งไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ขึ้นอยู่ว่าคำตัดสินชี้ขาดที่ออกมา สังคมจะยอมรับหรือไม่ รวมทั้งเรื่องร้อนๆที่พลเอก ประยุทธ์ ถูกร้องกรณีอยู่บ้านหลวง ที่ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 2 ธันวาคม

ตอนนี้มีข่าวลือ ออกมาให้เสียวกันแล้ว ว่าลุงตู่จะไปกับอยู่ จะอยู่หรือไป มติอยู่ที่ 5 ต่อ 3


กำลังโหลดความคิดเห็น