xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตาคดีพักบ้านหลวง บันไดลง“ประยุทธ์” ประตูหนีไฟการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป้อมพระสุเมรุ

ลุ้นระทึกกันอีกรอบ

ตามคิวที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังคดี “อยู่บ้านหลวง”  ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

โดยได้นัดแถลงด้วยวาจาในวันพุธที่ 2 ธ.ค. เวลา 15.00น.

จากกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่

เป็นผลพวงมาจากเมื่อครั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงต้นปี 2563 ที่  “เฮียเสริฐ” ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย และเลขาธิการพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน ได้อภิปรายไว้

ก่อนที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน นำโดย  “เฮียพงษ์” สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ขณะนั้น) จะยื่นร้องประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย


 สาระสำคัญมีว่า “นายกฯ ประยุทธ์” ได้ใช้บ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นบ้านพักของทางราชการทหาร เป็นที่พักอาศัยของตนเองและครอบครัว ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 53 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่เสียค่าเช่าให้กับทางราชการทหาร ทั้งที่เกษียณอายุราชการมาตั้งแต่ 30 ก.ย.57 

 อาจเข้าข่ายเป็นการรับประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 184(3) และเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นำมาใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170(4) ประกอบมาตรา 160(5) 

ทั้งนี้ หลังจาก ศาลรัฐธรรมนูญ รับไต่สวนแล้ว เห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดอ่านวินิจฉัยในวันที่ 2 ธ.ค.63 นี้

เป็นอีกครั้งที่ “บิ๊กตู่” ต้องขึ้นเขียงศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็เคยถูกยื่นคำร้องพิจารณาคุณสมบัติว่า มี “ลักษณะต้องห้าม” ในการดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หรือไม่ เนื่องจากเป็น “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่ถือเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ซึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ที่ระบุว่ารัฐมนตรีจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งในมาตรา 98 (15) เขียนไว้ว่า ต้องไม่เป็น “พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” มาแล้ว

แต่ครั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า “บิ๊กตู่” ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ถือว่าเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"

โดยในกรณีอยู่บ้านหลวงนั้น ทั้งตัว “ประยุทธ์” และคนในรัฐบาล รวมไปถึงกองทัพบกเจ้าของพื้นที่ ก็ได้อธิบายถึง “ความจำเป็น” ในการ “รักษาความปลอดภัย” ที่ “ประยุทธ์” และครอบครัว” ยังต้องอาศัยอยู่ในบ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต

ขณะเดียวกันก็ยกเอา “ระเบียบกองทัพบกว่าด้วย การเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองของกองทัพบก พ.ศ.2548” ที่ลงนามโดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น ชี้แจงต่อศาลรับธรรมนูญ

ก่อนที่  “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์  จะพ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ. ได้ทำหนังสือลงวันที่ 28 ก.ย.63 ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

สาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า “กองทัพบก ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลอดีตผู้บังคับบัญชาที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น องคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา จึงได้จัดให้มีบ้านพักรับรองในพื้นที่ของกองทัพบกเพื่อดูแลรักษาความปกอดภัยและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในยามปกติ และในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่ต้องการความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา และเพื่อให้สามารถดำรงสถานะทางสังคมได้อย่างสมเกียรติ และมีศักดิ์ศรี

โดยได้ออกเป็นระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง พ.ศ.2548 สรุปสาระสำคัญ คือ ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยจะต้องเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก หรืออดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งยังคงทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และกองทัพบก และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว โดยร้องขอต่อกองทัพบกให้สนับสนุนบ้านพัก การรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกต่างๆ

อนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศ เละเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชนให้กับประเทศชาติและกองทัพบก หากพักอยู่นอกเขตทหาร จะทำในเกิดความยากลำบากในการรักษาความปลอดภัย จึงอนุมัติให้เข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองของกองทัพบก รวมถึงให้การรักษาความปลอดภัย และการสนับสนุนอื่นๆ ในฐานะบุคคลสำคัญของประเทศ”

และท้ายหนังสือยังชี้แจงอีกว่า บ้านพักรับรองกองทัพบกที่ “ประยุทธ์” พักอาศัยอยู่นั้นไม่ได้อยู่ในเขตกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ แต่เป็นพื้นที่ในครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ในราชการของกองทัพบก ด้วย

รายงานแจ้งอีกว่า หลังเข้ารับตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนใหม่  “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้  ก็ได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังศาลรับธรรมนูญอีกหนึ่งฉบับ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานสุดท้าย ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณายุติการไต่สวน และนัดฟังคำวินิจฉัยดังกล่าว

ทั้งนี้มีรายงานว่า เดิมบ้านพักของ “บิ๊กตู่” ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ.นั้น เป็น “บ้านพักสวัสดิการ” สำหรับนายทหารในกองทัพบก แต่เมื่อปี 2555 กองทัพบกได้ทำเรื่องเปลี่ยน สถานภาพ จากบ้านพักสวัสดิการ ทบ. เป็น “บ้านรับรอง” ที่จะสามารถให้บุคคลที่เคยทำประโยชน์ให้กองทัพบก และประเทศชาติพำนักได้ไว้แล้ว

ซึ่งผู้ลงนามแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็คือ “ประยุทธ์” เอง

ว่ากันว่า มีหลายประเด็นที่ศาลรับธรรมนูญต้องวินิจฉัยอย่างหนัก โดยเฉพาะประเด็นที่ระเบียบกองทัพบก ที่ขัดแย้งกับรับธรรมนูญ ที่เป็น “กฎหมายสูงสุด” ของประเทศ

หากตีความตามระเบียบกองทัพบกก็อาจสรุปได้ว่า “ประยุทธ์” สามารถพักบ้านหลวงได้ในฐานะอดีตผู้บังคับบัญชา แต่หากตีความตามรับธรรมนูญแล้ว “ประยุทธ์” ซึ่งสวมหมวกนายกฯ อยู่อีกใบ จะไม่สามารถเข้าพักบ้านหลวงได้ เพราะถือเป็น “ประโยชน์อื่น”

รวมทั้งประเด็นการแก้ไขระเบียบจาก “บ้านพักสวัสดิการ” เป็น “บ้านพักรับรอง” เมื่อปี 2555 นั้น “ฟังขึ้น” หรือไม่

มีการเทียบเคียงชะตากรรมของ “ลุงตู่-ประยุทธ์” กับ  “ลุงหมัก” สมัคร สุนทรเวช  อดีตนายกฯผู้ล่วงลับ ว่าเป็นกรณีที่คล้ายคลึงกันในเรื่องการรับ “ประโยชน์อื่น”

โดยการพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ของ “สมัคร” อันเนื่องจากเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป”  ในระหว่างดำรงตำแหน่ง และมีหลักฐานปรากฏว่า “ลุงหมัก” ได้ “ค่าตอบแทน” จากเอกชน จึงถูกตีความเป็น “ลูกจ้าง” เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ซึ่งบัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างของบุคคลใด เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบ ป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ จึงวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

จากนั้น มีความพยายามผลักดัน “ลุงหมัก” เข้ารับตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง แต่ก็เกิดรายการ “หักหลัง” กันกลางสภาฯ เมื่อ “นายใหญ่” ชิงจังหวะเปลี่ยนตัวนายกฯมาเป็น  “เขยชินวัตร” สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าทำเนียบรัฐบาลในฐานะนายกรัฐมนตรี

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยุบ “พรรคพลังประชาชน” ในวันที่ 2 ธ.ค.2551 ส่งผลให้ “สมชาย” ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ ไปโดยปริยาย

12 ปีผ่านไป วันที่ 2 ธ.ค. เวียนมาบรรจบอย่างบังเอิญ


 วันเดียวกันเปลี่ยนปี พ.ศ.อาจเป็นวันเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ทางการเมืองอีกครั้งก็เป็นได้ เพราะตอนนี้ก็มีการคะเนกันหนาหูว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ อาจจะเป็น “บันไดลง” ให้กับ “ประยุทธ์” 


 อีกทั้งยังเป็น “ประตูหนีไฟ” คลี่คลายวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบันด้วย 


กำลังโหลดความคิดเห็น