ป้อมพระสุเมรุ
ผ่านพ้นศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วอย่างดุเดือดเลือดพล่าน หมุดหมายต่อไปที่สปอตไลท์การเมืองต้องสาดส่องคงไม่พ้น คิวที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังคดี “อยู่บ้านหลวง” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยได้นัดแถลงด้วยวาจาในวันพุธที่ 2 ธ.ค. เวลา 15.00 น.
เช็กอาการ “ลุงตู่” ตอนนี้บอกเลย “ลูกผี-ลูกคน” กองแช่งก็ว่า “ร่วง” กองเชียร์ก็ว่า “รอด” แถมด้วย “กองแช่งบางส่วน” ที่ออกแนวประชด “รอดแน่นอน”
ท้าวความกันนิด เรื่องนี้เป็นลูกต่อเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงต้นปี 2563 ที่ “เฮียเสริฐ” ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย และเลขาธิการพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน ได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า การพักอาศัยในบ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต ของ “นายกฯตู่” ที่อาศัยมาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 53 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่เสียค่าเช่าให้กับทางราชการทหาร ทั้งที่เกษียณอายุราชการมาตั้งแต่ 30 ก.ย.57
อาจเข้าข่ายมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และกระทำการอันเป็นการต้องห้าม คือ รับเงินหรือ “ประโยชน์ใดๆ” จากหน่วยราชการ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆในธุรกิจการงานปกติหรือไม่
อภิปรายจบ ก็ตามสเตป เข้าชื่อยื่นร้องให้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่
โดย “นายกฯตู่” ได้มีหนังสือชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.63 โดยสาระสำคัญระบุว่า ในความเป็นจริงมีที่อยู่อาศัยถาวรและภูมิลำเนาปรากฏตามทะเบียนบ้านอยู่ที่บ้านเลขที่ 1 ซอยร่วมมิตร ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. หากแต่ด้วย “สถานการณ์ที่ไม่สู้จะสงบ” ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ในฐานะที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสบเรียบร้อยในขณะนั้น จึงจำเป็นต้องเข้าใช้บ้านพักรับรองของกองทัพบก ภายในกรมทหาราบที่ 1 รักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต เป็นที่พักและเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสะดวก และรวดเร็วในการสั่งและปฏิบัติราชการ
นั่นคือเหตุผลที่ “บิ๊กตู่” ชี้แจงถึงมูลเหตุการณ์ย้ายเคหสถานเข้าไปพำนักใน “บ้านพักเลขที่ 253/54” ภายในกรมทหาราบที่ 1 รักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต อย่างไรก็ดีการพักอาศัยในช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ต่อเนื่องไปจนถึงเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเกษียณราชการ รวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระแรกระหว่างวันที่ 22 พ.ค.57 – 23 ส.ค.63 นั้น หาใช่เป็นประเด็นในการถูกร้องครั้งนี้
ห้วงเวลาหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งในวาระที่ 2 เป็น “นายกฯจากการเลือกตั้ง” ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.62 เป็นต้นมาต่างหากที่เป็นประเด็น เนื่องเพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนด “ข้อห้าม” ไว้ว่า “รัฐมนตรีต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ”
ซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา 184 (3) ในส่วนของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของ ส.ส.และ ส.ว. ที่ให้ใช่บังคับแก่ “รัฐมนตรี” โดยอนุโลม
ตรงนี้ “บิ๊กตู่” ชี้แจงว่า ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ และมีคุณสมบัติตามแบบธรรมเนียมที่กองทัพบกเคยปฏิบัติต่อ “อดีตผู้บังคับบัญชา” และเป็นไปตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548 โดยคำนึงถึงสถานการณ์ สถานะของความเป็น “นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม” ในสมัยรัฐบาลต่อมาและความจำเป็นอื่นๆ ประกอบกัน จึงพิจารณาให้สิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองดังกล่าวต่อไปภายหลังเกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2557 เช่นเดียวกับกรณีของผู้เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นตามควรแก่สถานภาพ และสถานการณ์ โดยไม่เลือกปฏิบัติเพียงแต่บุคคลอื่น
ในส่วนประเด็นการตีความ “บ้านพักอาศัย” กับ “บ้านพักรับรอง” นั้น ในหนังสือชี้แจงก็ได้อธิบายว่ามีความแตกต่างกัน เนื่องจากในขั้นตอนไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งประเด็นตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีของ “นายกฯประยุทธ์” สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตั้งแต่ การตั้งคำถามว่า “บ้านพักเลขที่ 253/54” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และครอบครัว อาศัยอยู่นั้นเป็นบ้านพักประเภทใด
หนึ่งคือ “บ้านพักอาศัย” ซึ่งเป็น “สวัสดิการ” ของผู้ที่อยู่ในราชการ หรือสอง “บ้านพักรับรอง” ที่ “อดีตผู้บังคับบัญชา” สามารถขอใช้ประโยชน์ได้ แม้จะเกษียณไปแล้วก็ตาม
รวมไปถึงสาเหตุที่ไม่เข้าพักอาศัยที่ “บ้านพิษณุโลก” อันเป็นบ้านพักรับรองของนายกรัฐมนตรีว่า “เมื่อข้าพเจ้าเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ.2557 นั้น บ้านพิษณุโลกดังกล่าวทรุดโทรมลงตามกาลเวลาเพราะถูกใช้เป็นที่ทำงานของบางหน่วยราชการแทนที่จะเป็นที่พักอาศัยตามวัตถุประสงค์เดิม และยังได้รับผลกระทบจากการชุมนุมสาธารณะระหว่าง ปี 2551-2557 จนได้รับความเสียหายต้องซ่อมแซมอย่างใหญ่ ตลอดจนฝ่ายรักษาความปลอดภัยของกองทัพบก ตำรวจและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปตรวจสอบแล้วเกรงว่า อาจไม่สะดวกต่อการสัญจร และไม่ปลอดภัยสำหรับสถานการณีในขณะนั้น เพพระอยู่ในรัศมีที่หากมีการชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และปิดถนนพิษณุโลกดังในอดีตแล้ว ผู้อยู่อาศัยในสถานที่นั้นอาจถูกกระทบได้ กองทัพบกจึงเสนอว่าควรใช้บ้านพักรับรองกองทัพบกในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด ยากที่ใครจะเข้าปิดล้อมหรือจู่โจมได้ ทั้งยังมีกฎเกณฑ์การข้าออก มีระบบรักษาความปลอดภัยและไม่ก่อความเดือดร้อนรบกวนเพื่อบ้านในละแวกนั้น การเข้าอยู่อาศัยและใช้บ้านพักในกรทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์เป็นบ้านพักรับรอง จึงเป็นไปโดยการอนุญาตและเป็นไปตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548...”
ก่อนจะสรุปในช่วงท้ายว่า “ข้าพเจ้ามิได้กระทำการที่ถือเป็นการขัดกันแห่ผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 184(3) เพราะการที่ข้าพเจ้ารับประโยชนใด ๆ จกหน่วยราชการเป็นไปตามที่หน่วยราชการคือกองทัพบกได้ปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ที่มีสถานภาพและคุณสมบัติเดียวกันในธุรกิจการงานปกติพระระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548 ได้กำหนดขึ้นตั้งแต่ข้าพจ้ายังมิได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และหลายปีก่อนที่ข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้ประโยชน์เช่นเดียวกันนี้แก่อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติ”
พร้อมยังระบุด้วยว่า “ระเบียบกองทัพบกฯ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 184(3) และคุ้มครองให้สิทธิไปถึงครอบครัว และบริวารของข้าพเจ้าตามมาตรา 84 วรรคสามด้วย จึงไม่เข้ากรณีข้อห้ามแต่ประการใด”
และเมื่อวันที่ 26 ต.ค.63 ที่ผ่านมา “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ในฐานะ ก็ได้มีคำชี้แจงเพิ่มเติมไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยย้ำว่า บ้านพักของ “นายกฯประยุทธ์” ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต แต่เป็นพื้นที่ในความครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ในราชการของกองทัพบก
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงกรณี “ค่าน้ำ-ค่าไฟ” ด้วยว่า “บ้านพักรับรองกองทัพบก หมายเลข 253/54 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยอยู่ ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548 ข้อ 11 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ให้กองทัพบกพิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็นและเหมาะสม...”
ทั้งนี้ คำชี้แจงของ “บิ๊กบี้” ถือเป็น “พยานปากสุดท้าย” ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะระบุว่า ไต่สวนเพียงพอแล้ว และนัดแถลงผลในวันที่ 2 ธ.ค.นี้
ต้องติดตามว่าผลจะออกมาอย่างไร โดยที่ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญคือ “กฎหมายสูงสุดของประเทศ” ที่คงไม่มี “ระเบียบใดๆ” มาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญได้
ขณะเดียวกันก็ยังมี “จุดสลบ” ที่ “บิ๊กตู่” และกุนซืออาจหลงลืมไป คือ การขออนุญาตเข้าพักอาศัยในฐานะ “นายกฯ จากการเลือกตั้ง” แต่การอยู่อาศัยนั้นถูกมองว่า “อยู่โยง” โดยไม่ได้ขออนุญาตตาม “สถานะ” ที่เปลี่ยนไป
แน่นอนถึงวันนี้คงไม่มีใครรู้ว่าผลการวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร คงมีเพียง “ตุลาการศาล” เท่านั้นที่ล่วงรู้แนวการวินิจฉัยในวันชี้ชะตา 2 ธ.ค.นี้
ประมวลตามข้อกล่าวหา และคำชี้แจง ก็ต้องบอกว่า ออกหน้าไหนจะ “รอด-ร่วง” เป็นไปได้หมด
หรืออาจจะติด “โรคเลื่อน” ให้ได้หายใจหายคอกันอีกซักพักก็เป็นไปได้เหมือนกัน.