xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” เผยสมาชิกสภามีสิทธิยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะส่งให้ศาลหรือไม่ต้องให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชวน” ระบุสมาชิกสภามีสิทธิยื่นศาล รธน.ตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะส่งให้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา เผยคุย “สุรยุทธ์” แล้วปัดไม่ให้ความเห็นเรื่องการเมือง ส่วนตัวโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ ให้เอาเท่าที่ได้

วันนี้ (10 พ.ย.) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณี ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับว่า ได้รับเรื่องที่ยื่นมาแล้ว โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาอยู่ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายจะเป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ การยื่นสามารถทำได้ ส่วนกระบวนการว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าจะส่งได้ทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับรายละเอียดแต่ละเรื่อง มีทั้งกรณีที่ส่งและไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นส่งผลต่อกระบวนการพิจารณาในวันที่ 17 ถึง 18 พ.ย.นี้

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ นายชวนกล่าวว่า วันนี้จะดูเรื่องระเบียบวาระ เนื่องจากวันที่ 12 เป็นวันสุดท้าย ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชื่อคัดค้านการเสนอร่าง ซึ่งจากจำนวนกว่าแสนคน มีร้องค้านประมาณ 400 กว่าคน

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ นายชวนกล่าวว่า ได้คุยกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ทางโทรศัพท์ ซึ่งได้ให้ความเห็นในฐานะองคมนตรีว่า ไม่สามารถให้ความเห็นทางการเมืองได้ แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ก็ขอให้ทุกฝ่ายให้แก่ส่วนรวม

นายชวนกล่าวว่า ขอประชาชนอย่าเป็นกังวล งานที่รับมาก็ต้องทำ ส่วนความเห็นที่ขัดแย้งไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องธรรมดา หากไม่มีคงเป็นเรื่องไม่ปกติ ซึ่งกรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐบางคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ จนทำให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ต้องออกมาขอโทษนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีอะไรไปโกรธใคร แต่เมื่อมีการพาดพิงถึงบุคคลภายนอกก็จำเป็นต้องปกป้อง ไม่เช่นนั้นอาจจะไปทาบทามบุคคลใดก็จะลำบาก ซึ่งผู้ใหญ่อดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนให้ความเห็นที่ดี เมื่อเช้านี้ได้พูดคุยกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ให้ความเห็นว่า อะไรที่เป็นประโยชน์ก็ยินดีอย่างยิ่ง และจะให้ความร่วมมือในการคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง

ส่วนโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์ นายชวนกล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าจะส่งโครงสร้างมาที่สภาผู้แทนราษฎรภายในวันนี้ ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมามีความพยายามทำให้โครงสร้างรูปแบบที่ 1 คือ การหารือฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่าย เกิดขึ้นไม่ได้ หากต้องการจะทำให้ครบทุกฝ่ายก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าได้เท่าไหร่เอาเท่านั้นไปก่อน และคณะที่ได้มาก็ทำงานไป ส่วนโครงสร้างรูปแบบที่ 2 ก็จะเป็นโครงสร้างที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์รอบรู้ เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวข้างหน้าต่อไป และขอให้อดทน ค่อยๆ เจรจาให้ทุกฝ่ายมาร่วมงานกัน

ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ นายชวนกล่าวว่า ปกติจะมีการบรรจุระเบียบวาระตามลำดับที่กฎหมายเข้ามา ซึ่งวันพรุ่งนี้จะประชุมคณะกรรมการประสานงานของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หารือกันถึงการบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาวันที่ 17 ถึง 18 พฤศจิกายนนี้ โดยทราบว่าฝ่ายค้านก็จะส่งร่างกฎหมายเข้ามาประกบเช่นเดียวกัน หากมีเนื้อหาในลักษณะเดียวกันก็สามารถพิจารณาพร้อมกันได้


กำลังโหลดความคิดเห็น