xs
xsm
sm
md
lg

ความจริง ยุทธศาสตร์และการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

สถานการณ์การเมืองมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของโครงสร้าง วัฒนธรรม และยุทธศาสตร์ของผู้เล่นทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราเห็นพลวัตรของความเป็นจริงทางการเมืองที่ปรากฎออกมา และเห็นร่องรอยการเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงในระดับแบบแผนและระดับโครงสร้างที่อยู่ลึกลงไปอีกด้วย

ความเป็นจริงที่ปรากฏในซีกของการชุมนุมคือ มีการชุมนุมของสองกลุ่มการเมืองที่มีความคิดและความเชื่อทางการเมืองที่ตรงกันข้ามและมีร่องรอยของความเป็นปรปักษ์เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย การชุมนุมกลุ่มแรกเป็นกลุ่มราษฎร ซึ่งมีการขยายตัวของทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

กลุ่มราษฎรพัฒนามาจากกลุ่มเยาวชนปลดแอกซึ่งเริ่มต้นเสนอข้อเรียกร้อง ๓ ข้อ คือหยุดคุกคามประชาชน การยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต่อมามีกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมผสานเข้ามาและมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมคือ การปฏิรูปสถาบัน จากนั้นทั้งสองกลุ่มบูรณาการกลายเป็น คณะราษฎร ซึ่งมีปรับข้อเรียกร้องใหม่บางประเด็นกลายเป็น ๑).ให้นายกรัฐมนตรีลาออก ๒.) ร่างรัฐธรรมใหม่โดยใช้ฉบับประชาชน และ ๓) การปฏิรูปสถาบัน ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “กลุ่มราษฎร” และยกระดับเข็มมุ่งของการเคลื่อนไหวที่เน้น การปฏิรูปสถาบันเป็นหลัก และมีข้อเรียกร้องย่อยเพิ่มเติมคือให้รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำและผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม

กลุ่มราษฎรในฐานะที่เป็นผู้เล่นทางการเมืองได้ยกระดับข้อเรียกร้องและการชุมนุมที่อยู่นอกเหนือจากแบบแผนเดิมของการชุมนุมของหลายกลุ่มในอดีตในอดีต การชุมนุมทางการเมืองในอดีตมักมีเข็มมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับรัฐสภา อันได้แก่ การลาออกของนายกรัฐมนตรี และ/หรือการยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่ในการชุมนุมครั้งนี้ กลุ่มราษฎรสร้างแบบแผนใหม่ขึ้นมานั่นคือ การมุ่งปรับเปลี่ยน “การเมืองเหนือรัฐสภา” ด้วย อันได้แก่การปฏิรูปสถาบัน การกระทำของผู้ชุมนุมจึงเป็นการสร้างความเป็นจริงแบบใหม่ในโลกทางการเมืองของสังคมไทยขึ้นมา อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงความคิดและความเชื่อของคนรุ่นใหม่ที่ท้าทายวัฒนธรรมการเมืองแบบจารีตดั้งเดิมของสังคมไทย

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการคลายตัวของความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันจารีตในทั้งคมไทย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำและการแสดงของผู้เล่นหลักภายในสถาบันจารีต ที่สร้างแบบแผนการปฏิบัติใหม่ขึ้นมาหลายประการทั้งในแง่ความเป็นปัจเจกบุคคลและในแง่การใช้อำนาจที่เชื่อมโยงกับโลกการเมืองของสามัญชน แบบแผนใหม่ที่ถูกสร้างและปฏิบัติมีความแตกต่างอย่างมากจากวิถีจริยศาสตร์และหลักจริยธรรมเดิมอันเป็นแก่นเชิงจิตวิญญาณที่เป็นพลังหลักในสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่สถาบันจารีตดั้งเดิม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันจารีตที่เคยมีเสถียรภาพ ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะความแปรผัน


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพลังจารีตดำรงอยู่ในโครงสร้างสังคมไทยอย่างยาวนาน และเป็นแหล่งทรัพยากรทางวัฒนธรรมและเป็นพลังอำนาจที่มีอิทธิพลต่อแบบแผนการปฏิบัติและการกระทำของปัจเจกชนในสังคมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นแม้จะเกิดความผันแปร แต่ก็ยังมีพลังในการเหนี่ยวรั้งและต่อต้านปัจจัยจัยภายนอกที่เข้ามากระทบอยู่ไม่น้อย

ปัจเจกบุคคลและกลไกอำนาจที่ยังอยู่ภายใต้การชี้นำและถูกขับเคลื่อนโดยพลังจารีตก็ได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาปกป้องสถาบันจารีต มีการระดมทรัพยากรทั้งส่วนบุคคลและของรัฐเพื่อจัดชุมนุมปกป้องสถาบันอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทว่าปัจเจกบุคลที่เข้าร่วมแสดงพลังในการชุมนุมนั้น เมื่อวิเคราะห์จากความจริงที่ปรากฎออกมา อันได้แก่ การใส่เสื้อสีเหลืองเหมือนกันทั้งกลุ่ม และรูปแบบของการชุมนุมหลายครั้ง หลายเวลาและหลายสถานที่ ความเข้าใจถึงพลังเชิงโครงสร้างที่มีอิทธิพลต่อการออกมาชุมนุมของตัวแสดงเหล่านั้นก็เกิดขึ้น ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองบางส่วนเข้าร่วมชุมนุมด้วยการขับเคลื่อนของความเชื่อเชิงวัฒนธรรมจารีตที่ผนึกในจิตสำนึกของพวกเขาเอง แต่อีกบางส่วนอาจเกิดจากการจำยอมภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐและการเมืองที่กำหนดการกระทำของพวกเขา และอีกบางส่วนเกิดจากการแลกเปลี่ยนเชิงการตลาดที่ทำให้พวกเขาได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น

สำหรับผู้เล่นที่สำคัญอีกกลุ่มคือ รัฐบาลและกลไกอำนาจรัฐ การตัดสินใจของรัฐบาลในระยะเวลาที่ผ่านมามีความไม่แน่นอนสูง เป็นการตัดสินใจที่แสดงให้เห็นถึงพลวัตรของปฏิสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง วัฒนธรรม และปัจเจกบุคคลอย่างชัดเจน ในช่วงแรกรัฐบาลเลือกใช้ยุทธศาสตร์การปราบผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด บ่งชี้ว่าปัจจัยเชิงโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมจารีตมีน้ำหนักเหนือกว่าความเป็นเหตุผลของปัจเจกบุคคล เพราะเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีการประเมินความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ที่สร้างประโยชน์มากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด หากแต่เป็นการตัดสินใจภายใต้อิทธิพลของพลังจารีตที่กำหนดวิถีการตัดสินใจภายใต้กรอบความเชื่อและบรรทัดฐานบางอย่าง โดยมิได้มองผลลัพธ์อย่างรอบด้านนั่นเอง แต่ครั้นเมื่อมีการนำการตัดสินใจนั้นไปปฏิบัติ ผลที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายอย่างประไม่ได้แก่ผู้ตัดสินใจและพลังที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจ รัฐบาลจึงเริ่มปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการจัดการกับความขัดแย้ง โดยใช้ยุทธศาสตร์ที่กำกับด้วยความเป็นเหตุผลมากขึ้น อันได้แก่การยกเลิกภาวะฉุกเฉิน การเปิดสภาสมัยวิสามัญ และการประกาศยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทว่า ก็มิได้ใช้ความเป็นเหตุผลเสียทั้งหมด เพราะการตัดสินใจบางส่วนก็ยังถูกเหนี่ยวรั้งด้วยโครงสร้างเดิม ดังนั้นสังคมจึงยังไม่เห็นการลาออกของนายกรัฐมนตรีและการประกาศยอมรับให้มีการปฏิรูปสถาบัน

ส่วนผู้เล่นที่เป็นนักการเมืองและสมาชิกวุฒิสภา มีจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ที่หลากหลาย บางกลุ่มมีจุดยืนที่รักษาสถานภาพและอำนาจเดิม กลุ่มนี้แสดงออกโดยการประกาศสนับสนุนรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี และวิพากษ์การชุมนุมกลุ่มราษฎร บางกลุ่มมีจุดยืนแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแสดงออกโดยการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มราษฎร และบางกลุ่มมีจุดยืนประนีประนอม แสดงตัวเป็นกลางโดยนำเสนอทางออกระยะยาว และไม่แตะต้องความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น

ความจริงที่ปรากฎของบรรดาผู้เล่นในรัฐสภา แสดงให้เห็นถึงการเลือกยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบคิดและการใช้แหล่งอ้างอิงในการตัดสินใจแตกต่างกัน ผู้เล่นที่มีการตัดสินใจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโครงสร้างและวัฒนธรรมแบบเดิม ก็แสดงจุดยืนสนับสนุนการรักษาสถานภาพและอำนาจของรัฐบาลอย่างแข็งขัน ผู้เล่นที่การตัดสินใจอยู่ภายใต้ความเป็นเหตุผลและการสร้างสรรค์ก็จะแสดงจุดยืนสนับสนุนการปฏิรูป ส่วนผู้เล่นที่ยังสับสนก็จะแสดงออกด้วยจุดยืนที่ตนเองเข้าใจว่าเป็นกลาง

ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งในระดับประเทศและสากล พลังของการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ปรากกฎตัวออกมาในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติ และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคม การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นบ่งบอกให้เราตระหนักว่า ความเป็นจริงระดับลึกในด้านแบบแผนและโครงสร้างก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรทัดฐาน ค่านิยม และความเชื่อ หรือวัฒนธรรมก็ตาม กล่าวได้ว่า แบบแผนและโครงสร้างอำนาจแบบเดิมในสังคมไทยถูกท้าทายในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และการท้าทายได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่ง ในระดับปัจเจก กลุ่ม ชุมชน องค์การ และสังคมโดยรวม

สิ่งที่จะชี้ทิศทางและอนาคตของสังคมไทยว่า จะเป็นไปในทางสร้างสรรค์และร่วมกันพัฒนาโดยปวงชนทั้งมวลอย่างยั่งยืน หรือเป็นไปในทางที่ขัดแย้ง แตกแยกยาวนาน จนอาจนำไปสู่การล่มสลายของสังคม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของชนชั้นนำและผู้ครองอำนาจรัฐทั้งมวลจะใช้ความจริง กรอบคิด และยุทธศาสตร์แบบใดรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลง

หากเลือกยุทธศาสตร์คล้อยตามและปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลง ก็ยังพอเห็นแสงสว่างของสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่หากเลือกยุทธศาสตร์ เหนี่ยวรั้ง กดทับ และปราบปรามกระแสการเปลี่ยนแปลง ความมืดมิด ความแตกแยก รอยแผล และความเจ็บปวดของสังคมก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น