xs
xsm
sm
md
lg

“อนุชา” ย้ำ “นายกฯห้ามลาออก” สวด “ผู้นำจิตวิญญาณ” ยุแยงม็อบ เหน็บอยากเป็นนายกฯรอเลือกตั้งครั้งหน้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุชา นาคาศัย
"อนุชา" รมต.สำนักนายกฯ สับฝ่ายค้านเคติญัตติ 165 ทั้งที่ รบ.จริงใจ ย้ำ “นายกฯห้ามลาออก” ตามข้อเรียกร้องม็อบ ตะเพิด “ผู้นำจิตวิญญาณ” อยากเป็นนายกฯรอเลือกตั้งเข้ามา อย่าทำลาย ปชต.อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซัดม็อบชู “ปฏิรูปสถาบันฯ” เหมือนเท่ แต่กลับไม่พูดถึงพฤติกรรมมิบังควรที่แสดงต่อ “ขบวนเสด็จฯ”

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.63 ที่รัฐสภา ในช่วงท้ายของการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอนั้น นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นอภิปรายช่วงหนึ่งว่า ขอชื่นชมสมาชิกรัฐสภาที่ได้ร่วมกันพูดคุยเพื่อหาทางออกของวิกฤตของประเทศ จนนำไปสู่การเปิดการอภิปรายทั่วไปในวันนี้ ซึ่งตนเองถือว่าเป็นแสงสว่างรำไร ที่จะเห็นสภาที่ทุกคนอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนในการที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชน ซึ่งไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรก็แล้วสภาแห่งนี้ควรเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน และในขณะที่เห็นว่าสถานการณ์เริ่มจะเลวร้าย สถานการณ์เริ่มจะควบคุมไม่อยู่ นายกฯ และรัฐบาลได้เห็นด้วยกับแนวคิดของสมาชิกรัฐสภา จึงขอเปิดสมัยวิสามัญเปิดการอภิปรายตามมาตรา 165 ครั้งนี้

“แต่หลังจากที่มีการเสนอญัตติ ผมเองผิดหวังที่พรรคร่วมฝ่ายค้านระบุว่าญัตติที่รัฐบาลเสนอมานั้นไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และจะให้ร้ายต่อชุมนุมโดยผู้ชุมนุมไม่มีทางตอบโต้ ซึ่งคำพูดนี้ฟังดูเหมือนจะดี ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ยืนยันได้ว่าในประชุม ครม. นายกฯมีเจตนาบริสุทธิ์อย่างยิ่งที่ต้องการที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศผ่านทางรัฐสภา และมีความจริงใจและเจตนาอย่างแน่วแน่การเสนอญัตติ” นายอนุชา ระบุ

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในญัตติยังมีการพูดถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และตนเองเชื่อว่าวุฒิภาวะของสมาชิกรัฐสภานั้น ย่อมเล็งเห็นได้ว่าเราสามารถที่จะอภิปรายได้ในหลายรูปแบบ ในทางสร้างสรรค์ที่จะแก้ปัญหาด้วยเจตนาและความจริงใจจะแก้ปัญหาของประเทศจริง รวมถึงการอภิปรายในวันนี้ทำให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาเกือบทั้งหมด ไม่มีกล่าวร้ายผู้ชุมนุมโดยไม่จำเป็นแม้แต่น้อย แต่ตรงกันข้ามพรรคร่วมฝ่ายค้านกลับมีแต่กล่าวโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งโดยที่ไม่คิดถึงหนทางแก้ไขที่เป็นไปได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเราในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้เล็งเห็นถึงความรุนแรง เล็งเห็นถึงความแตกแยกของสังคมทางความคิดในระบบประชาธิปไตย แต่ฝ่ายค้านกลับเมินเฉยว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นข้อเรียกร้องธรรมดา เป็นข้อเรียกร้องที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหากคิดเช่นนั้นถือว่ามีจิตใจที่คับแคบกับระบอบประชาธิปไตยเกินไป

“แม้นายกฯจะบริหารราชการแผ่นดินมากี่ปี แต่มาตามระบอบประชาธิปไตยและได้รับเลือกเข้ามาโดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ ทั้งนี้แม้หลายฝ่ายจะไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่นายกฯได้แสดงเจตนาว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐสภาต้องการ ซึ่งถือว่านี่คือระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมาพูดคุยกันในรัฐสภา” นายอนุชา กล่าว

นายอนุชายังระบุด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนที่จะยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามที่หัวหน้าพรรคได้กล่าวไว้ว่าต้องการทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี รวมถึงมีจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียกร้อง

"คำว่าประชาธิปไตยผมคงไม่พูดถึงว่าใครคิดอย่างไร และไม่อาจสั่งสอนหรือบอกกับทุกคนที่มีวุฒิภาวะ แต่มีสิ่งหนึ่งที่หนีไม่ได้จากการเป็นประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งแล้วต้องอยู่ครบให้ 4 ปีตามรัฐธรรมนูญ แต่หากท่านคิดว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและมองว่า ตนเองมีความสามารถที่จะนำพาประเทศเดินหน้าไปได้ อีก 4 ปีขอให้ท่านมาเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่มาใช้วิธีอย่างนี้" นายอนุชา ระบุ

นายอนุชาระบุว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อให้คนออกมาเรียกร้องแล้วบอกว่าต้องทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยเห็นต่างได้แต่ต้องเคารพความเห็นต่างแต่ ไม่ใช่ความเห็นต่างนั้นจะนำไปสู่ความแตกแยก เพราะยังมีสังคมอีกส่วนที่เห็นต่าง

ส่วนข้อที่เรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ให้นายกฯลาออก นายอนุชายืนยันและบอกกับนายกฯว่าห้ามลาออก เพราะหากนายกฯลาออกเท่ากับว่าเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังเห็นว่านายกฯไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย หรือผิดรัฐธรรมนูญ และบริหารบ้านเมืองผิดพลาด

“ขณะที่ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูประบบพระมหากษัตริย์ พูดเหมือนดี พูดเหมือนเท่ แต่สิ่งที่ผู้ชุมนุมไปปิดขบวนเสด็จ และแสดงอาการที่ไม่บังควรนั้นถามกลับว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้วหรือไม่” นายอนุชา กล่าว

นายอนุชายังเชื่อว่า ทุกคนในสภาฯรักประเทศนี้ ยืนหยัดที่จะดูแลและปกป้องประเทศ ยืนหยัดที่จะดูแลและปกป้องประชาชน ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงกับลูกหลานที่กำลังทำตามความคิดหรือไม่รู้ว่าทำตามความคิดของใคร แต่สมาชิกรัฐสภาต้องไม่ลืมว่ามีความคิดเห็นแตกแยกและในแผ่นดินอยู่และหากไม่ช่วยกันระงับเพราะเล็งเห็นอะไรบางอย่างอยู่ภายภาคหน้าคนเหล่านั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

"หากพวกท่านเห็นว่าประชาธิปไตยควรที่จะมีทางออก ต้องเจรจาในความเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่บังคับหรือขู่เข็ญว่าต้องทำอย่างไร เพราะการบังคับไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย นี่คือสังคมไทย ตนเองต้องการเห็นการเจรจาหาข้อยุติโดยสันติวิธี ช่วยกันหาทางแก้ไข และในสิ่งที่สังคมต้องการตัวช่วยให้ประชาชนมีความเบาใจว่าลูกหลานของจะปลอดภัย ให้ประชาชนมีความอุ่นใจว่าทุกคนในสังคมหันหน้าคุย และสิ่งที่อยากฝากสมาชิกรัฐสภาฯทุกคนก็คือพวกเราร่วมใจกันที่จะดูแลปกป้องแผ่นดินของเรา ดูแลปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูแลและปกป้องประชาชนไม่ว่าเค้าจะเห็นด้วย หรือเห็นต่าง" นายอนุชา ระบุ.


กำลังโหลดความคิดเห็น