หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
คนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนวันนี้น่าจะอยู่ในช่วงที่ฮึกเหิม พวกเขาคงเชื่อว่า ตอนนี้พวกเขากำลังเป็นแกนนำคนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่อุดมการณ์ที่พวกเขาคาดหวัง พลังของคนที่ออกมาร่วมทำให้พวกเขาคงเชื่อว่า ความสำเร็จและชัยชนะกำลังจะอยู่ใกล้แค่เอื้อม
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมองย้อนไปเพื่อหาปฐมเหตุของปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในขณะนี้ต้องยอมรับว่า เริ่มต้นจากการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจของคสช. โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์และคณะ แล้วทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง โดยใช้แต้มต่อจาก ส.ว.250คนที่ตั้งเองมากับมือเป็นฐานขึ้นสู่อำนาจ
วันนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวของพล.อ.ประยุทธ์เองก็สาเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้
ผมเองเป็นคนที่คัดค้านและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา และชี้ให้เห็นตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า การเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้จะนำความขัดแย้งมาสู่สังคมไทยไม่รู้จบ และสุดท้ายความวุ่นวายในสังคมไทยก็หวนกลับมาอย่างที่คาดหมาย
แม้ว่าพรรคขั้วตรงข้ามจะลงสมัครรับเลือกตั้งในเกมที่ไม่อาจสู้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า นวัตกรรมจากรัฐธรรมนูญแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวและการยุบ พรรคไทยรักษาชาติ ก็ส่งผลดีให้กับ พรรคอนาคตใหม่ ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เก็บเกี่ยวประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไป จากการเลือกตั้งครั้งแรกแล้วได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส.จำนวนมาก พิสูจน์ให้เห็นว่าธนาธรสามารถสร้างกระแสผ่านสื่อสมัยใหม่ครองใจคนรุ่นใหม่ได้ และทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นความคาดหวังของคนรุ่นใหม่
การได้ ส.ส.เข้ามาจำนวนมากจากการเลือกตั้งครั้งแรก ทำให้ธนาธรยิ่งมีความฝันที่บรรเจิด เขาไม่ได้ต้องการเป็นนักการเมือง แบบที่นักการเมืองที่ผ่านมาเป็นกัน แต่เขามีเป้าหมายที่จะรื้อฟื้นรูปแบบและระบอบการปกครองด้วยถ้าเราอ่านความคิดของเขาผ่านการสัมภาษณ์และการแสดงออกในหลายกรรมหลายวาระ รวมถึงความคิดของ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคของเขาที่วิพากษ์วิจารณ์บทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เชื่อมโยงกับการปฏิวัติฝรั่งเศสมาอย่างยาวนาน
แต่แล้วความฝันของเขาก็ดับวูบเมื่อเขาทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในการถือครองหุ้นสื่อและให้พรรคกู้ยืมเงินวงเงินเกิน 10 ล้านบาท ถูกยุบพรรคตัดสิทธิ์ทางการเมือง และกำลังจะมีโทษทางอาญาติดตามมา
และแม้ความฝันของธนาธรจะดับลง แต่ไฟแห่งความคั่งแค้นในตัวของเขาก็ยิ่งลุกโชน
ธนาธรมีความสัมพันธ์กับนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่มีความชิงชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือธงชัย วินิจจะกูล ในฐานะที่เขาเป็นนายทุนนิตยสารฟ้าเดียวกันที่เป็นเวทีความคิดสำคัญของฝ่ายต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และนักวิชาการอีกจำนวนมากที่ปลูกฝังความคิดเชิงลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ และมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย
ธนาธรเป็นคนมีเงินและเขารู้แล้วว่าเขามีคนรุ่นใหม่จำนวนมากหนุนหลัง และคนรุ่นใหม่พวกนี้โกรธแค้นที่พรรคของเขาถูกยุบ และด้วยความคิดต่อต้านสถาบันของคนรุ่นใหม่ที่ถูกปลูกฝังมาจากความคิดของปิยบุตรและสมศักดิ์และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่เขาจะโยงเอาความโกรธแค้นทางการเมืองมาเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ว่ามีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังการเมืองที่ต้องการกำจัดเขา แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นการชุมนุมของคนหนุ่มสาว
ความโกรธแค้นของคนหนุ่มสาวที่ตัวแทนของพวกเขาถูกทำลายบวกกับการปลูกฝังความคิดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ของสมศักดิ์ เจียมทำให้การชุมนุมของคนหนุ่มสาวกลายเป็นพลังของความโกรธแค้นที่เกรี้ยวกราด
พวกเขาออกมาชุมนุมด้วยข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ การให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ว่าจะมาจากคนชักใยอยู่เบื้องหลัง หรือการแสดงออกผ่านข้อเรียกร้องต่างๆ ของม็อบจะมาจากความคิดของคนหนุ่มสาวเองก็ตาม หากเราพิจารณาข้อเรียกร้องแล้วจะเห็นว่าพวกเขาไม่ได้ใช้ความคิดว่าข้อเสนอที่ยื่นออกมาต่อสังคมนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้แค่ไหน
และทำให้เห็นว่า เป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขานั้นอยู่ที่การสั่นคลอนสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง
ข้อเสนอให้นายกฯ ประยุทธ์ลาออกนั้นมันเป็นไปได้ แต่ผลลัพธ์คือ ต้องเลือกนายกฯใหม่ ขั้นแรกจะเลือกจากตัวเลือก 5 คน คือ อภิสิทธิ์-อนุทิน-สุดารัตน์-ชัชชาติ-ชัยเกษม โดยคนได้รับเลือกต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ผมจำตัวเลขสมาชิกรัฐสภาตอนนี้ไม่ได้ เข้าใจว่าประมาณ 730+ กึ่งหนึ่งก็น่าจะต้องได้เสียงประมาณ 360+
เห็นได้เลยว่า ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลแพกกันแน่น ก็ยากที่จะเปลี่ยนฟากได้ ดังนั้นอยู่ที่ฝั่งรัฐบาลจะตกลงว่า เป็นใครอภิสิทธิ์หรืออนุทิน ออกประตูนี้ก็เชื่อว่าม็อบไม่น่าจะยอมรับได้
กรณีนี้เห็นได้ว่า เมื่อส.ว.ยังมีสิทธิ์โหวตตามรัฐธรรมนูญ โอกาสพลิกขั้วก็ไม่มี แต่ถ้าไม่ให้ส.ว.โหวตงดออกเสียงทั้งหมด ยังไงก็ต้องการเสียง 360+ ก็จะถึงทางตันเพราะไปไม่ถึงทั้ง2ฟาก มีทางเดียวคือมีพรรคการเมืองเปลี่ยนฝั่งมาอีกขั้ว ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก
ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ มีทางออกให้เลือกคือ แก้เป็นประเด็นเฉพาะการตัดอำนาจ ส.ว. หรือจะแก้เรื่องบัตรสองใบเพื่อแก้ปัญหาการนับคะแนนด้วย แล้วยุบสภาเลือกตั้งกันใหม่ ทางนี้ก็เร็วขึ้น หรือแก้ทั้งฉบับตามร่างที่ยื่นไปทั้งของรัฐบาล ของฝ่ายค้าน และของไอลอว์ อันนี้ต้องใช้เวลา แต่ก็พอเร่งรัดได้ ทางนี้ถ้าไม่เลือกใหม่เพราะประยุทธ์ออก ก็ต้องทนอยู่กับรัฐบาลประยุทธ์ไปก่อน ม็อบจะยอมรับไหม
ดังนั้นข้อเรียกร้องของม็อบจึงเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ได้ศึกษาเงื่อนปมข้อกฎหมายว่าเป็นไปได้แค่ไหน หรือทำให้เห็นว่าจริงแล้ว ข้อเรียกร้องทางการเมืองนั้นเป็นเพียงเหตุที่อ้างความชอบธรรมออกมาชุมนุมบนท้องถนนเท่านั้น แต่เป้าหมายที่แท้จริงก็คือ ข้อที่ 3 เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง
สำหรับสังคมไทยแล้วข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะสถาบันเป็นที่เคารพและศรัทธาของคนไทยจำนวนมาก แม้ผู้ชุมนุมจะออกมาไม่น้อย และแสดงออกชัดเจนว่าไม่เคารพศรัทธาสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไปแล้ว ก็ไม่อาจบอกได้ว่านี่เป็นคนส่วนใหญ่
และแม้พวกเขาจะอ้างว่า ต้องการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความยั่งยืนภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เราก็เห็นได้ชัดว่าในการชุมนุมของพวกเขานั้นเต็มไปด้วยการหมิ่นแคลนจาบจ้วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความหยาบคายเกินที่คนที่เขารักและศรัทธาสถาบันพระมหากษัตริย์จะยอมรับได้ และหมิ่นเหม่มากที่คนอีกฝั่งจะลุกฮือออกมาปกป้องความศรัทธาจนกลายเป็นความรุนแรง
พวกเขานำเอาพระมหากษัตริย์มาล้อเลียนขบขันแบบไม่ได้ให้ความเคารพบนเวทีการชุมนุมและในที่ชุมนุมกันอย่างสนุกสนาน และไม่ได้คำนึงว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการดูหมิ่นต่อความศรัทธาของคนไทยอีกจำนวนมากและน่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ด้วยซ้ำ
ถามว่าทางออกนี้เราควรจะทำอย่างไร บางคนเสนอแนะว่า ทำประชามติไปเลย ถามว่า การรณรงค์ทั้งสองฝ่ายจะนำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงไหม คิดว่าสุ่มเสี่ยงมาก แล้วจริงๆ หัวข้อแบบนี้ก็ไม่น่าจะอยู่ในเงื่อนไขของการทำประชามติได้ เพราะเป็นการล่วงละเมิดขัดรัฐธรรมนูญ จะไปสู่ข้อเรียกร้องย่อยว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาแล้วตั้งแต่ 2475
และว่าไปแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะของสังคมมาตั้งแต่ในอดีต จะเห็นได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดมา นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แล้วที่มีความคิดเรื่องรูปแบบการบริหารประเทศแบบตะวันตก ความคิดเรื่องการพระราชทานรัฐธรรมนูญ แม้ด้วยทรงเห็นถึงความไม่พร้อมแต่ก็มีเจตจำนงอันแน่วแน่ว่าจะมีการพระราชทานในรัชกาลถัดมา แต่ด้วยความไม่พร้อมจากปัญหาต่างๆจนลุล่วงมาถึงรัชกาลที่ 7 แม้รัฐธรรมนูญที่ในหลวงรัชกาลที่7เตรียมมอบให้ก่อนที่คณะราษฎรจะชิงสุกก่อนห่ามจะไม่เป็นประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์ แต่ก็ร่างขึ้นมาตามเงื่อนไขของสังคมไทยในขณะนั้นนั่นเอง
และหลังคณะราษฎรยึดอำนาจแล้วเราก็ได้เห็นถึงการช่วงชิงอำนาจกันเองจากผลประโยชน์ทางการเมืองในหมู่คณะราษฎร กลายเป็นพัฒนาการของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่เริ่มขึ้นและตกทอดมาถึงปัจจุบัน เลือกตั้ง นักการเมืองทุจริต แย่งชิงอำนาจ รัฐประหาร แก้รัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วเลือกตั้งกันไม่จบสิ้น
ในขณะที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระเยาว์ค่อยๆ เติบโตขึ้นและเดินออกจากประตูวังลงไปหาพสกนิกรของพระองค์ในทุกแว่นแคว้นแผ่นดินไทย และนำเอาความคิดข้อมูลต่างๆที่ได้รับมาต่อยอดเป็นโครงการต่างๆที่ทรงเชื่อว่าจะนำความยั่งยืนมาสู่สังคมไทยมาสู่ประชาชนและประเทศชาติ อย่างไม่มีนักการเมืองสามารถทำได้แม้แต่คนเดียว และเมื่อมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองในหลวงก็ทรงเป็นคนกลางที่เข้ามาดับวิกฤตทางการเมืองแทบทุกครั้ง
ลองหลับตานึกภาพดูว่า ถ้าประเทศของเราเปลี่ยนมาเป็นระบอบประธานาธิบดีแบบที่ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งออกมาเรียกร้องระบอบสาธารณรัฐ เรามีนักการเมืองเป็นประมุขของประเทศกับมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศนั้นจะแตกต่างกันอย่างไร และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองประเทศของเราจะเป็นอย่างไร
อาจมีคนบอกว่าในหลวงองค์ปัจจุบันไม่ค่อยจะเสด็จเยี่ยมพสกนิกรเหมือนกับพระบิดา ส่วนตัวผมคิดว่าทั้งสองรัชกาลมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงครองราชย์ในช่วงที่มีพระชนมายุมากแล้ว และถ้าเรามองย้อนกลับไปในขณะที่ยังทรงพระเยาว์เราก็จะเห็นภาพในหลวงทรงเสด็จไปตามที่ต่างๆ ร่วมกับพระราชบิดานับครั้งไม่ถ้วน
แน่นอนสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต้องปรับตัวไปตามสภาวะของสังคมตามยุคสมัย และในปัจจุบันเราก็เห็นการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ตามพลวัติสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป
วันนี้คนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมเชื่อว่า พวกเขาจะเป็นคนกำหนดประเทศที่พวกเขาจะเติบโตในวันข้างหน้า พวกเขาต้องการชีวิตที่ดี งานที่ดี ซึ่งต้องถามพวกเขาว่าแท้จริงแล้วหากจะฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้น สิ่งที่ควรจะปฏิรูปคือ นักการเมืองหรือสถาบันพระมหากษัตริย์กันแน่