xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



โลกในโซเชียลมีเดียที่คนรุ่นใหม่ฝังตัวอยู่ในทวิตภพ ถ้ำแห่งเสียงสะท้อนในเพจรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ตลาดหลวงของปวิน และการถูกเลือกป้อนข้อมูลที่เราสนใจด้วยอัลกอริทึ่มของ AI ยิ่งเสริมความลำเอียงในการเลือกรับข้อมูล (confirmation bias) ที่มีในตัวของเราอยู่แล้ว โดยเลือกรับข้อมูลที่จะมายืนยันความเชื่อเดิมของเราเองเท่านั้น แล้วกรองข้อมูลใหม่ๆ ที่ขัดแย้งกับมุมมองหรือความเชื่อของเราทิ้งไปนั่นเอง

การปิดประตูรับความคิดที่นอกเหนือจากความเชื่อ ยิ่งทำให้เรามีอคติ มีความลำเอียง กระทั่งเกิดความผิดพลาดในกระบวนการคิด (Cognitive Error) ส่งผลต่อการรับรู้ การแยกแยะ และการตัดสินใจในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ผิดพลาดเพราะมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนโดยไม่รู้ตัว เพราะเชื่อในข้อมูลที่ตัวเองรับมาเท่านั้น

ความเชื่อเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ของคนรุ่นใหม่นั้น รับชุดความคิดมาจากปวิน และสมศักดิ์ เจียม ที่ทำให้เห็นว่า สถาบันมีข้อผิดพลาดต่างๆ นานา แล้วคนรุ่นใหม่ก็เสพไปโดยไม่ได้รับข้อมูลอีกด้านมาชั่งน้ำหนักเพื่อประมวลด้วยเหตุผลและมองอีกด้านของเหรียญ แน่นอนสิ่งที่รับมาบางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อรับเรื่องไม่จริงปนมาก็เชื่อว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นความจริงไปหมด

โดยธรรมชาติการป้อนข้อมูลทั้งจริงหรือเท็จผสมกันไปนั้น ทำให้ยากที่จะวิเคราะห์ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จ การปิดประตูรับข้อมูลอีกด้าน เพื่อมาเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจ ก็ยิ่งทำให้เราเชื่อทุกเรื่องที่ได้รับว่าเป็นเรื่องจริง ต่างกับการมีข้อมูลที่ครบถ้วนทุกด้านซึ่งส่งผลต่อโอกาสในการตัดสินที่ถูกต้องมากกว่าว่าเรื่องไหนจริงหรือเท็จ

เรื่องจริงหรือเท็จจากเรื่องเล่าของปวินและสมศักดิ์ จึงส่งผลลัพธ์เดียวต่อคนรุ่นใหม่ว่า สิ่งที่พวกเขารับมานั้นเป็นความจริงทั้งหมด เมื่อบวกกับช่วงวัยของความคิดที่ตั้งคำถามและเป็นกบฏที่ท้าทายต่อกฎเกณฑ์ของสังคม ความคิดที่ต้องการออกจากเครื่องพันธนาการที่ร้อยรัดนั้นยิ่งทำให้เชื่อว่า พวกเขายืนอยู่ในฝั่งฝ่ายที่ถูกต้อง เมื่อเกิดการรวมหมู่ก็ยิ่งพร้อมจะลุกขึ้นสู้ด้วยแรงสูบฉีดของเลือดในตัวคนหนุ่มสาว

หลายครอบครัวพ่อแม่หลายคนมีความขัดแย้งกับลูกตัวเอง แม้จะห้ามปรามอย่างไรลูกก็ไม่เชื่อ และเลือกที่จะไม่ฟังคำเตือนของพ่อแม่ แต่ก็มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่เคยใส่เสื้อเหลืองและร่วมกับม็อบเสื้อเหลืองมาก่อน วันนี้เปลี่ยนไปตามลูกเพราะความรักของตัวเองที่มีต่อลูกและไปนั่งฟังม็อบที่ก้าวล่วงสถาบัน

และเมื่อรวมตัวกันมากๆ ธรรมชาติของวัยรุ่นนั้นจะทำอะไรก็จะทำตามๆ กัน มีอารมณ์รุนแรงเป็นธรรมชาติ ตั้งแต่รุนแรงเพียงเล็กน้อย เช่น หงุดหงิด ตำหนิคนอื่น คิดเร็วทำเร็ว จนถึงอารมณ์รุนแรงมากๆ ยิ่งเมื่อเชื่อว่าตัวเองทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็ยากที่จะมีอะไรยับยั้งได้ และเรียกร้องให้สังคมต้องยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเชื่อและต้องการให้เป็นไป เราจึงเห็นคนมีชื่อเสียงดารา เซเลบถูกเรียกร้องให้แสดงออกไปตามความเชื่อของพวกเขา ใครไม่แสดงออกก็จะถูกรุมตำหนิด่าทอ

ดังนั้นการนัดแนะกันไปชุมนุมในที่ต่างๆ ที่ถูกแกนนำที่นั่งอยู่หน้าคีย์บอร์ดชักนำนั้น จึงเป็นเรื่องสนุกสนานที่ทุกคนต้องออกมาเพื่อท้าทายต่อกฎเกณฑ์ของสังคมที่พวกเขามองว่าผู้ใหญ่สร้างกฎเกณฑ์ผิดๆ ขึ้นมาควบคุมพวกเขาซึ่งจะต้องถูกล้มล้างและทำลายไปให้สิ้นซาก และแน่นอนคนที่กุมเกมอยู่เบื้องหลังมองเห็นว่าความเป็นเด็กนี่เองที่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ยากที่ฝ่ายอำนาจรัฐจะลงไม้ลงมือทำอะไรลงไป

กระทั่งแค่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเข้าสลายตามขั้นตอนด้วยเครื่องฉีดน้ำเบากว่าการที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นมาก ก็ยังถูกประณามว่าใช้ความรุนแรงต่อเด็ก จนเกิดเสียงต่อต้านจากคนจำนวนมากว่าตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชน ทั้งที่แม้ม็อบจะยังไม่ใช่ความรุนแรงในทางกายภาพ แต่เนื้อหาและการแสดงออกในที่ชุมนุมนั้นคือ การท้าทายต่อระบอบการปกครองของรัฐหรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เราจึงเห็นแกนนำม็อบด่าทอพระมหากษัตริย์อยู่บนถนน เราเห็นเด็กเขียนข้อความหยาบคายๆ ต่อพระมหากษัตริย์ที่คนรุ่นเก่าไม่สามารถรับได้ หรือเราเห็นเด็กไปฉีกพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพ่นข้อความหยาบคายบนพระบรมฉายาลักษณ์บนท้องถนน เหมือนแข่งกันเพื่อแสดงออกให้เห็นว่า ใครที่สามารถแสดงออกมาได้รุนแรงที่สุดคนนั้นคือวีรชน

แม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ เคยมีพระราชดำรัสว่า “แต่ไม่เคยมีใครมาบอกเห็นชอบว่า พระเจ้าอยู่หัวพูดดี พูดถูก แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัว ถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์ เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์ แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร...”

แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ก้าวล้ำความหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ไปมาก

กลายเป็นปัญหาที่ฝ่ายรัฐไม่สามารถนิ่งนอนใจอยู่ได้ก็เพราะว่า ม็อบมีท่าทีที่คุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ว่าข้อเรียกร้องในทางเปิดคือ “การปฏิรูปสถาบัน” ก็ตาม แต่เนื้อหา การแสดงออกและคำพูดนั้นเชื่อว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะล้มล้างเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมากกว่า พร้อมกับเสียงข่มขู่ให้เราได้ยินว่าจะ “ปฏิรูป” หรือ “ล่มสลาย”

อย่างไรก็ตาม การที่ม็อบหยิบประเด็นเรื่องสถาบันมาเคลื่อนไหวนั้น ด้านหนึ่งทำให้คนจำนวนมากแม้จะไม่ชอบรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็ไม่อาจยอมรับในการแสดงออกต่อสถาบันที่หยาบๆ คายๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนไม่น้อย แม้จะเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อเหลือง วันนี้ออกไปร่วมชุมนุมกับเด็กๆ เพราะไม่ชอบรัฐบาลประยุทธ์และพวกพ้อง

แน่นอนว่า วันนี้เด็กๆ คนหนุ่มสาวจำนวนมากนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของการช่วงชิงอำนาจรัฐ และจุดมุ่งหมายครั้งนี้ก็ไม่ได้แค่ต้องการอำนาจรัฐเท่านั้น แต่มีความมุ่งหวังสูงส่งที่จะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบสาธารณรัฐอยู่ด้วย วันนี้พวกเขาอาจจะยังไม่ใช่คนส่วนมากของประเทศ แต่ด้วยอายุขัยและช่วงวัยในอนาคตข้างหน้าเขาก็คือคนส่วนมากของประเทศอยู่ดี

ดูเหมือนว่า รัฐบาลกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เชื่อคนรอบข้างที่เป็นพวกสุดโต่ง เดินไม่ทันความคิดของเด็ก และพ่ายแพ้ในกระบวนการสื่อสารด้วยสื่อสมัยใหม่ และแม้รู้ว่าบางเรื่องข้อมูลความคิดที่เด็กๆ ถูกป้อนให้เชื่อนั้น จะมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องเท็จ แต่ด้วยข้อจำกัดก็ผูกมัดตัวเองทำให้ยากที่จะตอบโต้และชี้แจงด้วยข้อเท็จจริงกลับไป

แต่ไม่ว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไรก็อยู่กับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ในสังคม วันนี้มีคนจำนวนหนึ่งตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนและมีคนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้านคัดค้าน แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ใส่ใจว่าบ้านเมืองจะเป็นไปอย่างไร

วันนี้ประเทศไทยไม่มีวันจะเหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่ว่าวันนี้ใครจะมีจุดยืนอย่างไรหรือนิ่งเฉย ผลลัพธ์สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อทุกคนอยู่ดี

ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น