xs
xsm
sm
md
lg

การชุมนุมและสถานการณ์ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


การชุมนุมของคณะราษฎร ๒๕๖๓ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ จบลงในย่ำรุ่งวันที่ ๑๕ ตุลาคมเมื่อรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครช่วง ๔.๐๐ นาฬิกา และตามมาด้วยการใช้กำลังตำรวจสลายการชุมนุมและการจับกุมแกนนำ ก่อนถูกสลายและจับกุม แกนนำของผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล และนัดการชุมนุมใหม่ในช่วงเย็นวันที่ ๑๕ ตุลาคม การประกาศภาวะฉุกเฉินและการจับกุมแกนนำทำให้ความขัดแย้งและความเป็นปรปักษ์ระหว่างประชาชนและรัฐบาลทวีความเข้มข้นมากขึ้น

ก่อนการชุมนุมวันที่ ๑๔ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองจำนวนไม่น้อยประเมินว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมคงมีประมาณ ๒-๓ หมื่นคน ซึ่งน้อยกว่าการชุมนุมในวันที่ ๑๙ กันยายน กลุ่มที่ถูกมองว่าจะหายไปจากการชุมนุมคือมวลชนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะพรรคการเมืองบางพรรคที่ถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนมวลชนเสื้อแดงกลุ่มนี้ได้มีการปรับโครงสร้าง บทบาท และจุดยืน เพื่อสร้างระยะห่างระหว่างพรรคและการชุมนุมมากขึ้น ขณะที่หน่วยงานด้านข่าวกรองของรัฐประเมินว่าจะมีคนเข้าร่วมไม่เกินหนึ่งหมื่นคน แต่เมื่อถึงวันชุมนุมจริงปรากฎว่าจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมมีประมาณร่วมแสนคน มากกว่าการประเมินหลายเท่า

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมีมากกว่าการประเมินคือ การจับกุมแกนนำนักศึกษาในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ในวันดังกล่าวมีกลุ่มนักศึกษาประมาณ ๒๐๐ คนจากต่างจังหวัดเดินทางล่วงหน้าสู่บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีจัดเวทีปราศรัยเล็ก ๆ ขึ้นมา แต่ในเวลาไม่นานนักก็ถูกตำรวจหน่วยปรายปรามจลาจลจับกุมตัวด้วยท่วงทำนองค่อนข้างรุนแรง ซึ่งทำให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลรู้สึกไม่พอใจมากขึ้นและคนจำนวนมากซึ่งตอนแรกอาจไม่คิดเข้าร่วมชุมนุมก็เปลี่ยนใจเข้าร่วมชุมนุม

อีกปัจจัยหนึ่งคือกรอบคิดในการประเมินของหน่วยงานฝ่ายข่าวกรองเป็นกรอบคิดแบบเก่า ที่อาศัยการข่าวในพื้นที่ต่าง ๆ ในต่างจังหวัด โดยพิจารณาจว่า แต่ละพื้นที่มีการเตรียมขนมวลชนจากต่างจังหวัดเข้ามาร่วมชุมนุมมากน้อยเพียงใด และเมื่อการข่าวรายงานว่ามีค่อนข้างน้อย จึงสรุปออกมาเป็นตัวเลขว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมน้อย กรอบคิดนี้ละเลยการประเมินกลุ่มคนที่เข้าร่วมชุมนุมแบบสมัครใจและเป็นไปเองของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ถึงแม้ว่าต้องการทำก็คงประเมินยาก เพราะไม่มีเกณฑ์ใดที่สามารถนำมาใช้ประเมินได้อย่างใกล้เคียงกับความเป็นจริงว่ากลุ่มเหล่านั้จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมการชุมนุมนั่นเอง

นอกจากเรื่องจำนวนผู้เข้าร่วมแล้ว อีกเรื่องที่มีการพูดกันมากคือความรุนแรง ก่อนหน้าการชุมนุมมีหลายฝ่ายวิตกว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะมีการจัดตั้งมวลชนฝ่ายจารีตนิยมขึ้นมาชุมนุมคู่ขนานกับการชุมนุมของคณะราษฎร ๒๕๖๓ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ภาพที่ปรากฎคือมีการขนประชาชนที่ใส่เสื้อสีเหลืองมาในบริเวณการชุมนุมของคณะราษฎร มีการวางจุดชุมนุบางส่วนปะปนและเผชิญหน้ากัน ซึ่งทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันและทำร้ายร่างกายระหว่างผู้ชุมนุมบางคน แต่ก็เป็นส่วนน้อยและยุติลงได้อย่างรวดเร็ว และการที่แกนนำของทั้งสองฝ่ายต่างพยายามบอกมวลชนให้ชุมนุมอย่างสันติและหลีกเลี่ยงการปะทะกัน สิ่งนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ไม่เกิดการปะทะที่รุนแรงระหว่างของมวลชนทั้งสองฝ่าย

แต่มีปรากฏการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ในช่วงเย็นขณะที่ขบวนผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาลทางถนนนครสวรรค์ ขณะที่หัวขบวนไปไกลมากแล้ว แต่ท้ายขบวนยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนหลงเหลืออยู่ที่ถนนราชดำเนิน ขณะเดียวกันก็มีขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีผ่านมาทางถนนราชดำเนิน ด้วยการทำงานไร้ประสิทธิภาพของตำรวจที่ไม่สามารถไม่กันผู้ชุมนุมให้พ้นจากพื้นที่ที่ขบวนเสด็จผ่าน ผู้ชุมนุมบางส่วนได้แสดงวาจาและกิริยาบางอย่างที่ไม่เหมาะสมและกระทบจิตใจของกลุ่มจารีตนิยม จนกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลเกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการชุมนุมและใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศภาวะฉุกเฉินในเวลาต่อมา

ช่วงค่ำผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจนไปถึงทำเนียบรัฐบาล แม้บางช่วงมีตำรวจปิดกั้น แต่ในที่สุดก็เปิดทางให้ผ่านไปโดยไม่มีความรุนแรงใด ๆ ช่วงแรกผู้ชุมนุมประกาศว่าจะชุมนุมยืดเยื้อ ๓ วัน แต่ต่อมาก็ได้ปรับแนวทางการชุมนุมเหลือคืนเดียวและนัดชุมนุมใหม่ในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ที่บริเวณราชประสงค์ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ประกาศให้ยุติการชุมนุมเป็นระยะ ๆ ล่วงมาถึงตี ๔ รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน และเตรียมกำลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมในตอนย่ำรุ่งของวันที่ ๑๕ ตุลาคม เมื่อผู้ชุมนุมทราบแน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลเตรียมสลาย ก็ประกาศยุติการชุมนุม อย่างไรก็ตามระหว่างการเคลื่อนกำลังเข้าสลายก็ได้มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังของรัฐกับผู้ชุมนุมประปราย แต่ก็ไม่รุนแรงมากนัก ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เดินทางออกจากบริเวณการชุมนุมอย่างปลอดภัย แต่ว่าแกนนำและผู้ชุมนุมบางคนถูกจับกุม การชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลยุติลงในตอนเช้าของวันที่ ๑๕ ตุลาคม

สิ่งที่น่าสังเกตคือ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเร็วมากเมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อน ๆ ในการรับมือกับการชุมนุม การประกาศภาวะฉุกเฉินมีนัยว่ารัฐบาลพร้อมจะใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้เข้าร่วมชุมนุม การใช้มาตรการแบบนี้รัฐบาลคาดหวังให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและไม่กล้าเข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่อีกนัยหนึ่งก็สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการคลี่คลายการชุมนุมด้วยวิธีการที่ใช้อำนาจตามปกติ

ในอดีตเมื่อรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่มิได้จับกุมแกนนำระหว่างที่ยังมีการชุมนุม ทั้งนี้เป็นเพราะหากมีการจับกุมผู้นำการชุมนุม ก็อาจทำให้เหตุการณ์บานปลายและนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น แต่รัฐบาลประยุทธ์กลับจับกุมตัวแกนนำการชุมนุมเกือบทั้งหมดทันทีหลังการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งอาจเกิดจากวิธีคิดว่า หากการชุมนุมไม่มีแกนนำแล้วก็คงดำเนินการต่อไปได้ยาก และทะส้อนว่ารัฐบาลไม่กังวลใด ๆ ว่าจะมีเหตุการณ์บานปลายหรือผู้ต่อต้านรัฐบาลจะใช้วิธีการรุนแรงในการตอบโต้รัฐบาล หรือเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้นั่นเอง

สำหรับผลสืบเนื่องของการประกาศภาวะฉุกเฉินในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน ประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลมิได้มีความหวาดกลัวแต่อย่างใด หากแต่ยังชุมนุมต่อไป และเมื่อยังมีการชุมนุม รัฐบาลก็มักใช้ความรุนแรงในการปราบปรามและสลายการชุมนุม มีทั้งการใช้ตำรวจปราบปรามจราจลและกำลังทหาร มีการใช้เครื่องมือปราบจราจลทั้งตามมาตรสากลและมาตรฐานประเทศไทยปะปนกัน รวมทั้งมีการใช้อาวุธสงครามเป็นเครื่องมือในการสลายด้วย

แนวทางที่รัฐบาลมักใช้ในการแก้ปัญหาหลังการประกาศภาวะฉุกเฉินและการชุมนุมยังดำรงอยู่คือ การยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งใช้ได้ผลในบางรัฐบาล แต่ในหลายกรณีแม้รัฐบาลยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งแล้ว การชุมนุมก็ยังคงดำเนินต่อไป และจบลงด้วยการรัฐประหาร ส่วนการแก้ไขปัญหาโดยการที่นายกรัฐมนตรีลาออกนั้นไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา

คาดว่า ความฝันของรัฐบาลประยุทธ์ในเวลานี้คือ การจับกุมและกักขังแกนนำทั้งหมด และจัดการจนผู้ชุมนุมจนเกิดความหวาดกลัวและไม่กล้าชุมนุมอีก ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถบริหารประเทศต่อไปจนครบวาระ แต่นั่นดูไม่สอดคล้องกับความจริงที่เกิดขึ้น และยิ่งทำให้ความขัดแย้งและบาดแผลของสังคมขยายตัวยิ่งขึ้น

แนวทางการลดความขัดแย้งที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศน้อยที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบันคือ การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ และรัฐสภามีมติรับหลักการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อดูดซับความขัดแย้งในท้องถนนให้เคลื่อนตัวเข้าไปแสดงในเวทีการประชุมที่เป็นทางการ เมื่อพลเอกประยุทธ์ ลาออก รัฐสภาก็เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไปเป็นการชั่วคราวและทำหน้าที่ระหว่างมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

สำหรับแนวทางอื่นเช่น ยุบสภาทันที เป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาต่ำและความขัดแย้งยังดำรงอยู่ต่อไป ส่วนแนวทางรัฐประหารนั้นจะสร้างปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลจะเลือกแนวทางใดก็ลองไปไตร่ตรองดูกันเองครับ




กำลังโหลดความคิดเห็น