"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
เมื่อประชาชนจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ รัฐบาลได้ตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาดจัดการกับผู้ชุมนุม ทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง การสลายการชุมนุม การจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม การตัดสินใจแบบนี้เกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อว่า หากตัดไปแต่ต้นลมจะสามารถระงับยับยั้ง กดทับและยุติการชุมนุมได้ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นไปดังที่รัฐบาลคาดการณ์ กลับก่อให้เกิดบรรยากาศความตึงเครียดและทำให้การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขยายตัวมากยิ่งขึ้น
เป็นไปได้ว่ากรอบความคิดและความเชื่อเกี่ยวกับการชุมนุมของรัฐบาลอยู่บนพื้นฐานของการสรุปบทเรียนจากการชุมนุมและการตอบสนองต่อการชุมนุมของรัฐบาลในอดีตที่มักทำปล่อยให้การชุมนุมดำเนินการไประยะเวลาหนึ่ง จนการชุมนุมขยายตัว แล้วจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเพื่อจัดการกับการชุมนุม รัฐบาลประยุทธ์อาจคิดว่า ความล่าช้าในการประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลในอดีตเป็นการเปิดโอกาสให้การชุมนุมขยายตัวและคิดว่าการประกาศโดยเร็วจะช่วยหยุดยั้งการชุมนุมได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลมองข้ามไปอย่างหนึ่งคือ แม้ว่ามีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและจัดการกับการชุมนุมด้วยความรุนแรงก็มิอาจหยุดยั้งการชุมนุมได้ง่าย ๆ อย่างที่คิด กลับยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายและสร้างบาดแผลแก่สังคมมากยิ่งขึ้นไปอีก
มาตรการที่มาพร้อมกับการประกาศภาวะฉุกเฉินคือ การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง การจับกุมแกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุม และความพยายามในการปิดกั้นการเสนอข่าวของสื่อมวลชน มาตรการเหล่านี้ทำเพื่อกดดันและสร้างความหวาดกลัวเพื่อไม่ให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุม แต่ทุกมาตรการที่รัฐบาลใช้ไร้ประสิทธิผลอย่างสิ้นเชิง การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลกลับขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศดุจไฟลามทุ่ง ทั้งที่แกนนำถูกจับเป็นจำนวนมาก
ในเรื่องการจับกุมแกนนำ รัฐบาลในอดีตไม่ได้ดำเนินการจับกุมแกนนำในช่วงเริ่มแรกของการชุมนุม รัฐบาลประยุทธ์อาจคิดว่าเป็นจุดอ่อนและทำให้การชุมนุมสามารถดำเนินต่อไปได้ ดังนั้นในครั้งนี้รัฐบาลจึงจับกุมแกนนำอย่างรวดเร็ว ทันทีและจับอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจจับกุมแกนนำระหว่างการชุมนุม มาจากความเชื่อว่า หากปราศจากแกนนำเสียแล้ว การชุมนุมคงจะหมดพลังและสลายไปเอง ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบเก่าและขาดความเข้าใจพลวัตรของการชุมนุมในครั้งนี้อย่างสิ้นเชิง
รูปแบบการชุมนุมในอดีตเป็นการชุมนุมแบบจักรกล (mechanistic movement) ที่มีแกนนำจำนวนหนึ่งเป็นผู้ริเริ่มและจัดการจัดชุมนุมขึ้นมา ลักษณะการชุมนุมเป็นการยึดครองพื้นที่แบบถาวรตลอดการชุมนุม มีฐานหลักหรือทัพใหญ่ของการชุมนุมในที่ใดที่หนึ่งอย่างชัดเจน และอาจมีฐานย่อยกระจายตัวออกไปในหลายพื้นที่ แต่ละฐานมีเวทีถาวรและมีการปักหลักชุมนุมอย่างยืดเยื้อจนกว่าสิ้นสุดการชุมนุม ผู้ใดที่ต้องการชุมร่วมนุมก็เดินทางเข้าไปร่วมในแต่ละฐาน มีกิจกรรมการปราศรัยของแกนนำและการแสดงความบันเทิงทุกวันตลอดการชุมนุม และในบางช่วงมีการเคลื่อนไหวเดินขบวนไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาล
การชุมนุมแบบนี้อาจยุติลงหากแกนนำถูกจับกุมตัวและรัฐบาลสลายฐานของการชุมนุม เพราะเมื่อไร้แกนนำและไร้ฐานแล้วก็จะทำให้การชุมนุมดำเนินต่อไปได้ยาก รัฐบาลประยุทธ์อาจมองว่าข้อผิดพลาดของรัฐบาลเก่าคือการไม่เร่งจับกุมแกนนำและสลายฐานการชุมนุมเสียแต่ต้นมือ ทำให้การชุมนุมดำเนินไปและสามารถสะสมพลังเพิ่มขึ้นจนยากแก่การจัดการภายหลัง แต่การใช้กรอบคิดและความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับการชุมนุมในอดีตและนำมาใช้กำหนดแนวทางในการจัดการกับการชุมนุมครั้งนี้เป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของรัฐบาล และแสดงให้เห็นว่าบรรดาที่ปรึกษารัฐบาลซึ่งประกอบด้วยอดีตแกนนำชุมนุมนุมและฝ่ายความมั่นคงตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงบริบทสังคมการเมืองและเทคโนโลยีในปัจจุบันของการชุมนุม
เมื่อนำบริบทเก่าและความรู้เก่ามาเป็นข้อมูลข่าวสารหลักในการตัดสินใจภายใต้บริบทใหม่ ความผิดพลาดและไม่บรรลุประสิทธิผลจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในปัจจุบัน เป็นการชุมนุมที่เรียกว่า การชุมนุมแบบอินทรียภาพ (organic movement) ซึ่งเปรียบเสมือนการชุมนุมที่มีชีวิตเป็นของตนเอง ไม่ใช่แบบจักรกลในอดีต เป็นการชุมนุมที่มีแกนนำหลากหลาย ไม่ใช่แกนนำจำนวนน้อย เมื่อแกนนำบางคนหายไปหรือถูกจับกุม ก็เกิดแกนนำใหม่ขึ้นมาทดแทน เพราะสิ่งที่เชื่อมโยงการชุมนุมคือแนวคิดและอุดมการณ์การทางเมืองไม่ใช่ตัวผู้นำหรือแกนนำการชุมนุม เป็นการชุมชุมนุมที่มีโครงสร้างในแนวระนาบเชิงเครือข่าย ไม่ใช่การชุมนุมแบบลำดับชั้นที่พึ่งพาแต่แกนนำ เป็นการชุมนุมที่ไม่มีฐานที่มั่นถาวรแบบเดิม หากแต่เป็นการชุมนุมที่มีฐานอยู่ทุกหนทุกแห่งที่เป็นแหล่งชุมชน ซึ่งพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เป็นการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมสามารถร่วมในการปราศรัยหากต้องการ เป็นการชุมนุมที่ใช้เทคโนโลยียุคใหม่เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร และใช้เครือข่ายการคมนาคมระบบรางในการเดินทางเป็นหลัก และเป็นการชุมนุมที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันและพร้อมจะสลายตัวได้อย่างทันที
การชุมนุมในลักษณะดังที่กล่าวมาจึงไม่สามารถจัดการด้วยวิธีคิดและวิธีการแบบเดิมได้อีกต่อไป เพราะสิ่งที่เป็นเงื่อนไขหลักของการชุมนุมคือกระแสความคิดและอุดมการณ์ทางเมืองประชาธิปไตยที่ยึดถือความเท่าเทียมทางการเมืองและสังคมของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม และปฏิเสธการมีและการใช้อภิสิทธิ์ที่มีแหล่งที่มาจากชาติกำเนิดและฐานะทางสังคม กระแสความคิดเช่นนี้ไหลเวียนในจิตใจผู้ชุมนุมดำรงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีการแสดงออกอย่างต่อเนื่องในโลกการเมืองออนไลน์ ในเวลานี้ปรากฎออกมาในท้องถนน และมีความเป็นไปได้ที่จะปรากฎในท้องถนนอย่างต่อเนื่อง ตราบที่สังคมการเมืองของไทยยังไม่มีการปฏิรูปการเมือง สังคมและเศรษฐกิจที่แท้จริงเกิดขึ้น
สิ่งที่จะกลายเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของรัฐบาลและกลุ่มจารีตนิยมที่พยายามปิดกั้นการชุมนุมและการปฏิรูปอีกอย่างคือ การระดมจัดตั้งกลุ่มมวลชนเพื่อออกมาปะทะกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่ต้องการปฏิรูปการเมือง หลายเดือนที่ผ่านมา มีความพยายามจัดตั้งมวลชนโดยนักการเมืองและแกนนำของกลุ่มจารีตนิยม แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก ครั้นเมื่อกลุ่มนักศึกษาและประชาชนได้จัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นมา ความพยายามในการรื้อฟืนและจัดตั้งกลุ่มมวลชนจารีตนิยมก็มีเพิ่มขึ้นภายใต้การสนับสนุนของชนชั้นนำและเครือข่ายจารีตนิยมซึ่งประกอบด้วย นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลบางคน อดีตนายพลบางคน สมาชิกวุฒิสภาบางคน อดีตข้าราชการ สื่อมวลชนบางคน และอดีตแกนนำ กปปส.
ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม มีการระดมจัดตั้งมวลชนออกมาประชันขันแข่งกับการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน มีการใช้อำนาจรัฐสั่งการให้นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านใส่เสื้อสีเหลืองออกมาแสดงพลังและคัดค้านการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน ยิ่งกว่านั้นในบางเหตุการณ์ มวลชนที่ใส่เสื้อสีเหลืองได้เข้าไปทำร้ายนักศึกษาและประชาชน ดังที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม และมีความเป็นไปได้ว่า ตั้งแต่ในปลายเดือนตลุลาคมเป็นต้นไป มวลชนจารีตภายใต้การอุปถัมภ์ของนักการเมืองและกลไกอำนาจรัฐจะออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองของพวกเขามากขึ้น และยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัวออกไปทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ
ในอีกด้านหนึ่งหลังจากความล้มเหลวในการหยุดยั้งการชุมนุมด้วยความรุนแรง รัฐบาลประยุทธ์ได้เริ่มใช้ยุทธศาสตร์สองหน้า หน้าหนึ่งทำท่าทีว่ายอมผ่อนปรน เช่น การออกมาแถลงของนายกรัฐมนตรีผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่าให้ถอยกันคนละก้าว โดยรัฐบาลยอมให้เปิดการประชุมวิสามัญของรัฐสภาเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับการชุมนุม และเตรียมการประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในวันที่ ๒๑ ตุลาคม และรุ่งขึ้นอีกวันรัฐบาลก็ประกาศยกเลิกตามที่แถลง แต่ในอีกหน้าหนึ่ง รัฐบาลก็ยังคงจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นและยังไม่มีท่าทีว่ายอมปล่อยแกนนำและผู้ชุมนุมที่ถูกจับไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งการพูดในเชิงนัยของนายกรัฐมนตรีที่ทำให้รัฐมนตรีและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลบางขานรับ และไปจัดตั้งมวลชนเพื่อสนับสนุนรัฐบาลขึ้นมาในหลายพื้นที่
การใช้ยุทธวิธีสองหน้าและการเตรียมการจัดตั้งมวลชนจารีตออกมาเพื่อปะทะกับผู้ชุมนุม รังแต่ขยายความแตกแยกของสังคม ไม่เป็นผลดีต่อประเทศและสถาบันทางการเมืองและสังคมใด ๆ ทั้งสิ้น และอาจทำให้ผู้ถืออาวุธบางกลุ่มอ้างเป็นเงื่อนไขทำรัฐประหารเพื่อใช้อำนาจเผด็จการและความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและประชาชน แต่การรัฐประหารจะสร้างผลกระทบทางลบที่รุนแรงและกลายเป็นมหาวิกฤติของระบอบการเมืองและสังคม และอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ผู้ทำรัฐประหารเองต้องสำนึกเสียใจอย่างรุนแรงในภายหลังก็ได้
ทางออกในการคลี่คลายความขัดแย้งระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิผลทันทีคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะการชุมนุมจะลดลงไประดับหนึ่ง โดยความถี่ในการชุมนุมรายวันแบบช่วงกลางเดือนตุลาคมจะลดลงหรือยุติลง การวิพากษ์วิจารณ์และการโจมตีรัฐบาลและเรื่องอื่น ๆ ก็ลดลงตามไปด้วย และทำให้หน้าต่างของโอกาสและทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งเปิดกว้างมากขึ้น รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่เกิดบรรยากาศของการร่วมมือแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติขึ้นมา แต่หากพลเอกประยุทธ์ยังไม่ลาออก สิ่งนี้ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้