หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ผมคิดว่าหลายฝ่ายกำลังหาทางออกว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยครั้งนี้อย่างไร เพราะลักษณะการขัดแย้งครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน เพราะคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาล ประสบความสำเร็จในการทำให้คนรุ่นใหม่นักเรียนนักศึกษาออกมาประท้วงรัฐบาลจำนวนมาก
ความเป็นเด็กและเป็นคนหนุ่มสาวที่เป็นลูกหลานของเรานี่เองที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นความอ่อนไหวละเอียดอ่อนที่จะใช้วิธีการแบบเดิมๆไม่ได้
และเมื่อรัฐบาลทำอะไรลงไปก็จะมีแรงสะท้อนกลับมายังรัฐบาลอย่างรุนแรง เราเห็นได้จากการที่รัฐบาลเข้าสลายการชุมนุม ใครที่เฝ้าดูการถ่ายทอดสดก็เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำตามขั้นตอนการสลายการชุมนุม และขั้นสูงสุดคือการฉีดน้ำไม่ต่างกับที่เราเห็นในการสลายการชุมนุมในต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอารยะทั้งหลาย สำคัญเรายังไม่เห็นตำรวจใช้กระบองไล่ทุบตีผู้ชุมนุมอย่างที่เราเห็นในฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีคนจำนวนมากออกมาประณามรัฐบาล
แต่คนที่ออกมาประณามรัฐบาลนั้น ไม่ได้ออกมาเมื่อครั้งที่มีการสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้ารัฐสภา ที่ตำรวจไม่ได้ทำตามขั้นตอนการสลายการชุมนุม แต่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมในวิถีตรงจนมีคนบาดเจ็บล้มตายแขนขาขาดจำนวนมาก
คล้ายกับว่า การแสดงออกของผู้ที่ออกมาประณามรัฐบาลทั้งนักวิชาการ ปัญญาชน และองค์กรต่างๆ จะกระทำต่อเมื่อมีจุดยืนร่วมกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเท่านั้นเอง เพราะอีกด้านฝ่ายที่สนับสนุนพันธมิตรฯ เมื่อมีการสลายการชุมนุม นปช.ก็ไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีคัดค้านเช่นเดียวกัน
ดังนั้นบ้านเมืองของเราจึงเป็นแบบนี้ ไม่มีนักวิชาการ ปัญญาชน และองค์กรบริสุทธิ์ ที่ออกมาแสดงความเห็นเพราะเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องด้วยสายตาที่เป็นกลาง แต่เป็นเพียงการแสดงฝักฝ่ายทางการเมืองพวกใครพวกมันเท่านั้นเอง
เช่นเดียวกันวันนี้มีเสียงเรียกร้องว่า การที่มีผู้ออกมาชุมนุมเช่นนี้ รัฐบาลจะต้องลาออก เพราะไม่สามารถบริหารบ้านเมืองอยู่ได้แล้ว แต่ถ้าเราย้อนไปตอนที่พันธมิตรฯ ชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นร้อยวัน ก็ไม่มีเสียงเรียกร้องจากคนที่เรียกร้องอยู่ตอนนี้ให้รัฐบาลลาออกเลย ตอนที่ นปช.ชุมนุม ฝ่ายที่สนับสนุนการชุมนุมก็เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก และอีกฝ่ายก็ไม่ได้เรียกร้องให้ลาออก ทั้งนี้ เพราะกลายเป็นเรื่องของพวกใครพวกมันอยู่ที่จุดยืนทางการเมืองของแต่ละฝ่ายเช่นเดียวกัน
ผมจึงไม่ตื่นเต้นมากที่ม็อบออกมาชุมนุมปิดถนนต่างๆตามแต่แกนนำจะสั่งการผ่านทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เทเลแกรม ในแต่ละวัน เพราะการชุมนุมที่ผ่านมาในอดีตก็ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อรัฐบาลมากนัก
ที่มีคนถามว่า การชุมนุมไม่ได้ใช้ความรุนแรงทำไมรัฐต้องเข้าสลายการชุมนุม ถ้าพูดถึงความรุนแรงในเชิงกายภาพนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเราเห็นจิตสำนึกที่ดีของผู้ชุมนุมที่พยายามห้ามปราบผู้ชุมนุมด้วยกันที่บันดาลโทสะ แต่ถ้าเราฟังเนื้อหาของการชุมนุมเราจะพบว่าได้ว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้มุ่งที่รัฐบาลอย่างเดียว แต่มุ่งโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งวาจา ทั้งการเขียนข้อความต่างๆ และเนื้อหาที่พูดอยู่บนถนนนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะล้มล้างสถาบันมากกว่าการปฏิรูปสถาบันซึ่งเป็นหัวข้อเรียกร้อง
นั่นหมายถึงการล้มล้างระบอบการปกครองซึ่งไม่ว่ารัฐไหนในโลกนี้ก็ต้องถือว่าเป็นความรุนแรงทั้งนั้น
พูดกันตรงๆ ตอนนี้มี2ความคิดหลักเหมือนโลกคู่ขนานกัน
ฝั่งหนึ่งเชียร์ม็อบ และเห็นว่า รัฐไม่ควรใช้ความรุนแรงในการสลายม็อบ ฝั่งหนึ่งไม่เอาม็อบและเห็นว่ารัฐใช้การสลายการชุมนุมตามหลักสากล แต่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงเพราะขั้นสูงสุดคือการฉีดน้ำ
ฝั่งหนึ่งมองว่า รัฐไม่ควรสลายการชุมนุม เพราะสี่ทุ่มม็อบก็กลับบ้านแล้ว ยิ่งสลายก็ยิ่งจะทำให้ม็อบไม่ยอมแพ้และบานปลายกว่าเดิม แต่ฝั่งหนึ่งมองว่า ถ้าไม่สลายม็อบก็จะลุกลามไม่หยุดหย่อน ถ้ารัฐอ่อนแอม็อบก็จะยิ่งฮึกเหิมขยายตัวมากขึ้น
ฝั่งหนึ่งมองว่า ม็อบต้องการแค่ Constitutional Monarchy ไม่ต้องการล้มเจ้า แต่ฝั่งหนึ่งเชื่อว่า การแสดงออกของม็อบคือการไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการระบอบสาธารณรัฐ สื่อฝรั่งบางค่ายเรียกม็อบชัดเจนว่า พวก Anti-Monarchy พวก Republican
ฝั่งหนึ่งบอกว่า ม็อบเป็นคนหนุ่มสาว เขาต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของเขา สถาบันกษัตริย์จะอยู่ได้ไม่ได้อยู่ที่ศรัทธาของประชาชน ฝั่งหนึ่งบอกว่า ฉันมองเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมากกว่านักการเมือง
ฝั่งหนึ่งบอกว่า ม็อบเป็นคนหนุ่มสาวเป็นลูกหลานของเราเป็นอนาคตของประเทศ เราต้องรับฟังพวกเขา ควรพูดคุยกัน ฝั่งหนึ่งบอกว่า แม้ม็อบจะเป็นคนหนุ่มสาว แต่เขาก้าวล่วงศรัทธาของคนส่วนใหญ่ ก้าวล่วงต่อสถาบันก็ยอมรับไม่ได้ และม็อบประกาศเองว่า ไม่ต้องการคุยกับประยุทธ์
ฝั่งหนึ่งบอกว่า อนาคตของประเทศอยู่ที่ความต้องการของประชาชน ฝั่งหนึ่งบอกว่า ฉันก็คือประชาชน
ฝั่งหนึ่งบอกว่า ในอนาคตสุดท้ายคนหนุ่มสาวก็ต้องเป็นฝ่ายชนะ เพราะคนอีกรุ่นจะตายก่อน ฝั่งหนึ่งบอกว่า ตราบที่ฉันยังอยู่ฉันก็ต้องปกป้องศรัทธาของฉัน
ฝั่งหนึ่งบอกว่า ในอนาคตข้างหน้าสุดท้ายระบอบเก่าก็ต้องถูกโค่นล้ม เพราะวิกฤตศรัทธา ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ไม่มีใครงอมืองอเท้าให้อีกฝ่ายกระทำเพียงฝ่ายเดียว
แน่นอนว่าความคิดและทัศนคติของแต่ละฝ่ายนั้นมาจากการเลือกข้างนั่นเอง
แต่ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่ม พล.อ.สายหยุด เกิดผล(เห็นว่าท่านถูกอ้างชื่อ)ที่บอกให้ประยุทธ์ลาออก แล้วเลือกนายกฯ ใหม่ตามมาตรา272 เพราะแม้ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คือปัญหาก็จริง แต่เลือกใหม่ตามวิธีนี้ก็ได้คนที่ม็อบไม่ยอมรับ เพราะรัฐธรรมนูญยังอยู่ ใครมาคนนั้นก็กลายเป็นตัวปัญหาที่ม็อบจะขับไล่อยู่ดี
ผมเห็นด้วยที่ให้เร่งเปิดสภา แก้รัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจส.ว. ยุบสภาแล้วเลือกตั้งกันใหม่มากกว่า ให้ประชาชนตัดสิน ถ้าประยุทธ์กลับมาได้ก็ต้องยอมรับ และถ้าอีกฝั่งชนะได้นายกฯฝั่งนี้ก็ต้องยอมรับ เพื่อให้ออกจากความขัดแย้งจริงๆ
ผมไม่กลัวว่าถ้าฝั่งโน้นชนะเลือกตั้ง แล้วคนฝั่งนี้กลับมาประท้วงอีก แล้วจะเป็นวัฏจักรไม่รู้จบ เพราะผมคิดว่า การประท้วงต้องมีเหตุผลที่สุกงอมพอ ถ้ามีเหตุผลม็อบก็มีความชอบธรรมถ้าไม่มีเหตุผลอยู่ๆมาไล่เขาก็ไม่มีความชอบธรรมอยู่ดี
ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรนิ่งนอนใจหรือเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ผมคิดว่ารัฐบาลจะต้องกระตือรือร้นที่จะแก้ไขข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เพื่อเปิดประตูไปสู่การเลือกตั้งกันใหม่ในกติกาที่เป็นธรรม หากทำเช่นนั้นแล้วถ้าพรรครัฐบาลชนะเลือกตั้งกลับมาได้ ข้ออ้างในการใช้กติกาที่เอาเปรียบอีกฝั่งก็จะหมดไป แต่ถ้าฝั่งรัฐบาลแพ้ก็ต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชน
ต้องยอมรับว่าความผิดพลาดของรัฐบาลประยุทธ์คือการเชื่อมั่นในอำนาจ และปิดประตูรับร่างแก้รัฐธรรมนูญ วาระ1ก่อนปิดสภา เหมือนไม่ใยดีกับเสียงเรียกร้องและพลังมวลชนนอกสภา ถ้าวันนั้นรับร่างเสียสถานการณ์ข้อเรียกร้องคงจะเบากว่านี้ และความชอบธรรมของผู้ชุมนุมก็จะน้อยลง เพราะปัญหาถูกโยนเข้าไปในสภาแล้ว
ผมคิดว่า ตอนนี้ไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะส่งสัญญาณในการเปิดสภาวิสามัญเพื่อเร่งให้เร็วขึ้น เพื่อแสดงถึงความจริงใจที่พร้อมจะรับฟังเสียงของประชาชนทุกฝ่าย และเอาการเมืองออกจากท้องถนน
เพราะรัฐบาลคงจะสัมผัสได้ว่า การแก้ไขด้วยกฎหมายและใช้มาตรการเข้มข้นทางกฎหมาย และใช้อำนาจอย่างเต็มรูปแบบนั้นไม่ใช่ทางออก แม้รัฐบาลจะสลายการชุมนุมตามขั้นตอนอย่างไรก็ยังถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรง และเกินความจำเป็นอยู่ดี ที่สำคัญยิ่งสร้างความคับแค้นให้กับฝ่ายตรงข้ามมากยิ่งขึ้น
ต้องยอมรับนะครับว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่เขาไม่เอารัฐบาล ไม่เอาสถาบัน วันนี้คนเหล่านี้ไม่ใช่คนส่วนใหญ่เมื่อรวมกับคนทั้งประเทศก็ตาม แต่เป็นคนส่วนใหญ่ในช่วงวัยของเขา ในอนาคตเขาก็คือคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ดี ดังนั้นทางออกก็คือ จะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้มีความคิดไม่เหมือนกัน
ผมคิดว่า การที่รัฐบาลเชื่อมั่นในอำนาจเกินไป มันแค่ดับไฟกองเล็กได้เท่านั้น แต่จะยิ่งลามขึ้นทั่วประเทศไม่หยุดหย่อนจนยากจะจัดการได้ในที่สุด หรือแม้วันนี้จะจัดการได้ก็จะเป็นการสุมปัญหาไปให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต
และแม้ผู้ชุมนุมจะอ้างว่ามีข้อเรียกร้องเพียงต้องการการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของแกนนำที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง และการแสดงออกในที่ชุมนุม แต่ถ้าการเมืองถูกทำให้มีการเลือกตั้งด้วยกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับแล้ว ข้ออ้างเพื่อมาชุมนุมบนท้องถนนด้วยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เรื่องเดียวก็ทำได้ยากขึ้น แม้วันนี้เราจะเห็นเด็กรุ่นใหม่ใช้ถ้อยคำที่พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แบบหยาบคายก็ตาม แกนนำกลุ่มทุนหรือผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังก็จะมีความหาญกล้าน้อยลง
แต่ถามว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวไปตามสภาวะของสังคมหรือไม่ก็ต้องตอบว่าจำเป็น
สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ รัฐบาลต้องขจัดเงื่อนไขทางการเมืองที่เป็นสาเหตุให้คนรุ่นใหม่มีความโกรธแค้น โดยเฉพาะการยุบพรรคการเมืองที่พวกเขาคิดว่าเป็นพรรคของคนรุ่นเขาอย่างพรรคอนาคตใหม่ โดยการบังคับใช้กฎหมายนั้นจะต้องมีการอธิบายอย่างชัดเจนให้เข้าใจถึงความตรงไปตรงมาของการใช้กฎหมาย ต้องอธิบายให้ได้ว่า ทำไมพรรคการเมืองอื่นที่กระทำแบบเดียวกันถึงไม่มีความผิดเหมือนกัน เช่น อธิบายว่า การกู้ยืมคือ ประโยชน์อื่นใดสามารถทำได้ในวงเงินเท่าไร และแตกต่างกับพรรคอนาคตใหม่อย่างไร
หรือการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการถือหุ้นสื่อ ก็ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า แต่ละคนนั้นเหมือนหรือแตกต่างกับธนาธรอย่างไร แบบไหนถึงผิดแบบไหนไม่ผิด ด้วยภาษาที่ปุถุชนทั่วไปเข้าใจได้ ไม่ใช่เพียงแถลงด้วยภาษากฎหมายแล้วให้คนทั่วไปตีความต่างๆนานาและเอามาวิพากษ์วิจารณ์กันในเชิงลบ โดยที่หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ยี่หระต่อการขยายความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นในสังคมแบบทุกวันนี้ ไม่ว่าทั้งทางกกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม
กระทั่งอธิบายให้ได้ว่าการจับกุมแกนนำในปัจจุบันเพื่อดำเนินคดีนั้น แตกต่างหรือเหมือนกับการปฏิบัติต่อแกนนำการชุมนุมก่อนหน้านั้นอย่างไร
ต้องยอมรับว่า ปัญหาสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองในทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากอีกฝ่ายเชื่อว่า กระบวนการยุติธรรมของบ้านเรานั้นมีสองมาตรฐาน ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่จำเป็นต้องอาศัยการอธิบายในสิ้นข้อสงสัยในทุกกรณีด้วยชุดภาษาของคนธรรมดา
และสิ่งที่ควรทำในวันนี้คือความจริงใจในการเร่งแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม แก้รัฐธรรมนูญให้เร็ว แล้วยุบสภา เพื่อกลับไปสู้กันใหม่ในการเลือกตั้ง แล้วพิสูจน์กันว่า ประชาชนจะตัดสินอนาคตอย่างไร
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan