xs
xsm
sm
md
lg

“เบิกเนตร” พระบารมีในหลวง ร.9 หยุดสงครามกลางเมืองด้วยพระราชดำรัส /ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


ในยุคของสังคมโซเชียลมีเดียที่ง่ายต่อการยืนยันความเชื่ออคติ หรือ Confirmation Bias เพราะได้เห็นเฉพาะสิ่งที่เชื่อหรืออยากเชื่อในฝ่ายตัวเองสิ่งเดียวที่จะทำให้หาทางออกได้ก่อนที่ประเทศชาติจะเสียหายคือการเปิดรับฟัง “ข้อเท็จจริง”และ “ความเห็นที่แตกต่างกัน”ได้ด้วยเหตุผลและพยายามใช้อารมณ์ให้น้อยลงทั้งสองฝ่าย

ถึงเวลานี้อย่าคิดว่าการบังคับกันจะทำให้เปลี่ยนความคิดได้ เพราะยิ่งบังคับขู่เข็ญกดดันไม่ว่าด้วยวาจาหรือการใช้กำลังด้วยความรุนแรง ก็จะยิ่งเกิดการต่อต้านขยายตัวไปทั่ว เพราะในคนในสังคมต่างเชื่อชุดข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน ด้วยประสบความการณ์ ความเชื่อ ความผูกพัน การวิเคราะห์ที่ต่างกัน

แต่เนื่องจากทุกฝ่ายมีโซเชียลมีเดียที่ง่ายต่อการยืนยันความเชื่ออคติ หรือ Confirmation Bias มันมีโอกาสมากขึ้นที่ คนที่เชื่อในสิ่งเดียวกันจะพากันไปในทางเดียวกันที่ฮาร์ดคอร์มากขึ้น รุนแรงมากขึ้นเพื่อตอบสนองความโกรธ ความเกลียดของแฟนคลับตัวเอง ยิ่งรุนแรง ยิ่งก้าวร้าว ยิ่งได้รับความสนใจและได้รับการมองเห็นมากขึ้น โดยเร่ิมจากภาษาหยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรงมากขึ้น

ความรุนแรงทางภาษาก็สามารถยั่วยุทำให้เกิดความรุนแรงด้วยการใช้กำลังเช่นกัน โดยเฉพาะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีประชาชนศรัทธาอยู่มาก เช่น ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะหากเป็นการแสดงออกที่มีลักษณะเหยียบย่ำ เหยียดหยามในเรื่องความเชื่อและศรัทธาของคนในสังคม เช่น ชาติ​ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ในหลายประเทศได้เกิดความรุนแรงจนถึงทำให้เกิดการทำร้ายร่างกาย หรือเข่นฆ่ากันได้เลย

โดยเฉพาะการดูหมิ่น อาฆาดมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วยแล้ว ทำให้คนที่อยู่นิ่งเฉยและอดทนมานาน ไม่สามารถปล่อยผ่านได้อีกต่อไป และเริ่มกลายเป็นกระแสตีกลับบ้างแล้ว

เมื่อมีการชุมนุมเผชิญหน้าเพื่อยั่วยุกันไปมา ย่อมเป็นเหตุทำให้เกิดความเสี่ยงในการปะทะกันมากขึ้น แต่ถ้าเรายับยั้งกันไม่ได้ ย่อมจะเกิดความรุนแรงมากขึ้น สุดท้ายแล้วชาติก็จะเสียหาย ซึ่งไม่ว่าใครแพ้หรือชนะ ก็จะต้องมีผู้เดือดร้อนและเสียหายทั้งสิ้น

และหากความเสียหายเกิดขึ้นในรอบนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องเสียหายมากและนานเท่าไหร่ เพราะในอดีตประเทศชาติรอดพ้นไม่เกิดสงครามกลางเมืองได้ก็เพราะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขแห่งรัฐซึ่งมีสถานภาพเป็นคนกลางที่ยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้ แต่เมื่อมีผู้ที่ต้องการนำสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นประเด็นของความขัดแย้ง ก็เท่ากับจะไม่มีใครสามารถเป็นสถาบันคนกลางได้อีกต่อไป

และคนที่จะได้ประโยชน์ในสถานการณ์ความรุนแรงหากจะเกิดขึ้น ก็คือชนชาติอื่นที่ต้องการจะเข้ามาแทรกแซงให้ทวีความรุนแรงกลายเป็นสงครามกลางเมือง เพื่อทำให้ชาติมหาอำนาจเหล่านั้นสร้างอำนาจต่อรองแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศไทย ซึ่งหลายประเทศก็ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้หลายครั้งหลายหน


ในปัจจุบันมีความรวดเร็วในการสื่อสารที่มีการยืนยันด้วยอคติได้ง่าย ดังนั้นคนที่ยังมี“สติ”และ “วุฒิภาวะ”เท่านั้นที่จะประคองสถานการณ์เพื่อบรรเทาความเสียหายหรือเกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด

จึงขออัญเชิญ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9ที่ได้พระราชทานแก่ พลเอกสุจินดา คราประยูรนายกรัฐมนตรีและ พลตรีจำลอง ศรีเมืองแกนนำผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 20พฤษภาคมพ.ศ. 2535อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ทหารเข่นฆ่าผู้ชมนุมหรือการต่อต้านของผู้ชุมนุมยุติลงสร้างปาฏิหารย์ไปทั่วโลกความว่า

“คงเป็นที่แปลกใจทำไมถึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้เพราะว่าทุกคนก็ทราบว่าเหตุการณ์มีความยุ่งเหยิงอย่างไรและทำให้ประเทศชาติล่มจมได้แต่ที่จะแปลกใจก็อาจมีว่าทำไมเชิญพลเอกสุจินดาคราประยูรและพลตรีจำลองศรีเมืองเพราะว่าอาจมีผู้ที่แสดงเป็นตัวละครมากกว่านี้แต่ว่าที่เชิญมาเพราะว่าตั้งแต่แรกที่มีเหตุการณ์สองท่านเป็นผู้ที่เผชิญหน้ากันแล้วก็ในที่สุดเป็นการต่อสู้หรือการเผชิญหน้ากว้างขวางขึ้นถึงได้เชิญ 2ท่านมา

การเผชิญหน้าตอนแรกก็จะเห็นจุดประสงค์ของทั้ง2ฝ่ายได้ชัดเจนพอสมควรแต่ต่อมาภายหลัง 10กว่าวันก็เห็นแล้วว่าการเผชิญหน้านั้นเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากจนกระทั่งออกมาอย่างไรก็ตามเสียทั้งนั้นเพราะว่าทำให้มีความเสียหายในทางชีวิตเลือดเนื้อของคนจำนวนมากพอสมควรแล้วก็ความเสียหายทางวัตถุซึ่งเป็นของส่วนราชการและส่วนบุคคลเป็นมูลค่ามากมายนอกจากนี้ก็มีความเสียหายในทางจิตใจและในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างที่จะนับพรรณนาไม่ได้

ฉะนั้นการที่จะเป็นไปอย่างนี้ต่อไปจะเป็นเหตุผลหรือต้นตออย่างไรก็ช่างเพราะเดี๋ยวนี้เหตุผลเปลี่ยนไปถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไปเมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไปแล้วก็จะทำให้ประเทศไทยที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดีเป็นเวลานานจะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมายหรือมีความหมายในทางลบเป็นอย่างมากซึ่งก็เริ่มปรากฏผลแล้วฉะนั้นจะต้องแก้ไขโดยดูว่ามีข้อขัดแย้งอย่างไรแล้วก็พยายามที่จะแก้ไขตามลำดับเพราะว่าปัญหาที่มีอยู่ทุกวันนี้สองสามวันนี้มันเปลี่ยนไปปัญหาไม่ใช่เรื่องของเรียกว่าการเมืองหรือเรียกว่าของการดำรงตำแหน่งเป็นปัญหาของการสึกหรอของประเทศชาติฉะนั้นจะต้องช่วยกันแก้ไข


มีผู้ที่ส่งข้อแนะนำในการแก้ไขสถานการณ์มาหลายฉบับหลายคนจำนวนเป็นร้อยแล้วก็ทั้งในเมืองไทยทั้งต่างประเทศที่ส่งมาที่เขาส่งมาการแก้ไขหรือข้อแนะนำว่าเราควรจะทำอะไรก็มีก็มีต่างๆนานาตั้งแต่ตอนแรกบอกว่าแก้ไขวิธียุบสภาซึ่งก็ได้หารือกับทางทุกฝ่ายที่เป็นสภา

หมายความว่าพรรคการเมืองทั้งหมด 11พรรคนี้คำตอบมีว่าไม่ควรยุบสภามี 1รายที่บอกว่าควรยุบสภาฉะนั้นการที่จะแก้ไขแบบที่เขาเสนอมานั้นก็เป็นอันว่าตกไปนอกจากนั้นก็มีเป็นฎีกาและแนะนำวิธีต่างๆกันซึ่งได้พยายามเสนอไปตามปกติคือเวลามีฎีกาขึ้นมาก็ส่งไปให้ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือสำนักนายกรัฐมนตรีแต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขตามแบบนั้นตกลงมีแบบยุบสภาและมีอีกแบบหนึ่งก็เป็นแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้ตามประสงค์ที่ต้องการหมายความว่าประสงค์เดิมที่เกิดเผชิญหน้ากัน

ความจริงวิธีนี้ถ้าจำได้เมื่อวันที่ 4ธันวาคม 2534ก็ได้พูดต่อสมาคมที่มาพบจำนวนหลายพันคนแล้วก็ดูเหมือนว่าพอฟังกันฟังกันโดยดีเพราะเหตุผลที่มีอยู่ในนั้นดูจะแก้ปัญหาได้พอควรตอนนี้ก็พอย้ำว่าทำไมพูดอย่างนั้นว่าถ้าจะแก้ก่อนออกก็ได้หรือออกก่อนแก้ก็ได้อันนั้นทุกคนก็ทราบดีว่าเรื่องอะไรก็เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ

ซึ่งครั้งนั้นการแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ทำมาตลอดมากกว่าฉบับเดิมที่ตั้งเอาไว้ได้แก้ไขแล้วก็ก่อนที่ไปพูดที่ศาลาดุสิดาลัยก็ได้พบพลเอกสุจินดาก็ขออนุญาตเล่าให้ฟังว่าพลเอกสุจินดาแล้วพลเอกสุจินดาก็เห็นด้วยว่าควรจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้และแก้ไขต่อไปได้อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำได้และตอนหลังนี้พลเอกสุจินดาก็ได้ยืนยันว่าแก้ไขได้ก็ค่อยๆแก้เข้าระเบียบให้เป็นที่เรียกว่าประชาธิปไตยอันนี้ก็ได้พูดมาตั้งหลายเดือนแล้วในวิธีการที่จะแก้ไข

แล้วข้อสำคัญที่ทำไมอยากให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแม้จะถือว่ารัฐธรรมนูญนั้นยังไม่ครบถ้วนก็เพราะเหตุว่ารัฐธรรมนูญนั้นมีคุณภาพพอใช้ได้ดีกว่าธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่ใช้มาเกือบปีเพราะเหตุว่ามีบางข้อบางมาตราซึ่งเป็นอันตรายแล้วก็ไม่ครบถ้วนในการที่จะปกครองประเทศฉะนั้นก็นึกว่าถ้าหากว่าสามารถที่จะปฏิบัติตามที่ได้พูดในวันที่ 4ธันวาคมนั้นก็นึกว่าเป็นการกลับไปดูปัญหาเดิมไม่ใช่ปัญหาของวันนี้

ปัญหาของวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกวันนี้คือความปลอดภัยขวัญดีของประชาชนซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งทุกหนมีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตรายมีความหวาดระแวงว่าประเทศชาติจะล่มจมโดยที่จะแก้ไขลำบากตามข่าวที่ได้ทราบมาจากต่างประเทศเพราะเหตุว่าในขณะนี้ทั้งลูกชายทั้งลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศทั้งสองก็ทราบดีแล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งให้กับคนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นว่าประเทศไทยนี้ยังแก้ไขสถานการณ์ได้แต่รู้สึกว่าจะเป็นความคิดที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย

ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์อย่าง 3วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดไปได้ฉะนั้นก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่านคือพลเอกสุจินดาและพลตรีจำลองช่วยกันคิดคือหันหน้าเข้าหากันไม่ใช่เผชิญหน้ากันเพราะว่าเป็นประเทศของเราไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคนเป็นประเทศของทุกคนเข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหาเพราะปัญหามีอยู่

ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่าบ้าเลือดเวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัวลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไรแล้วก็จะแก้ปัญหาอะไรเพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะแล้วก็ใครจะชนะไม่มีทางอันตรายทั้งนั้นมีแต่แพ้คือต่างคนต่างแพ้ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานครถ้าสมมติว่าเฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไปประเทศก็เสียหายไปทั้งหมดแล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะเวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง

ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามาคือไม่เผชิญหน้ากันแต่หันเข้าหากันและสองท่านเท่ากับเป็นผู้แทนฝ่ายต่างๆคือไม่ใช่สองฝ่ายฝ่ายต่างๆที่เผชิญหน้ากันให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้วจะมาพูดกันปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรสำหรับให้ประเทศไทยได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้กลับคืนมาได้ด้วยดีอันนี้ก็เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมาและก็เชื่อว่าทั้งสองท่านก็เข้าใจว่าจะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากซากปรักหักพังแล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมากว่าได้ทำดีแก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่ที่จะปรึกษากันก็มีข้อสังเกตดังนี้

ท่านประธานองคมนตรีท่านองคมนตรีเปรมก็เป็นผู้ใหญ่ผู้พร้อมที่จะให้คำปรึกษาหารือกันด้วยความเป็นกลางด้วยความรักชาติเพื่อสร้างสรรค์ประเทศให้เข้าสู่ความปลอดภัยในเร็ววันขอฝากให้ช่วยกันสร้างชาติ”

ถ้าไม่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันนั้น ก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องมีคนบาดเจ็บล้มตายกันอีกกี่คน และเกิดความเสียหายเป็นสงครามกลางเมืองกันอีกนานถึงเมื่อไหร่?

และถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลายเป็นเพียงสัญญลักษณ์ตั้งแต่วันนั้นตามหนึ่งในข้อเสนอ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่ไม่สามารถมีพระราชดำรัสด้วยพระองค์เอง ชาติบ้านเมืองที่ขัดแย้งในวันนั้นจะยุติอย่างไร?

ในโลกของการยืนยันความเชื่ออคติของผู้ชุมนุมที่มองแต่ว่ารัฐบาลทหารกับสถาบันพระมหากษัตริย์คือเรื่องเดียวกันซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจจะตรงกันข้ามเลยก็ได้

เหตุใด ผู้ชุมนุมกลับไม่คิดว่าการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐคนใด ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น สะท้อนให้เห็นว่า “มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์”เกิดขึ้นที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐนำสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองไปดำเนินคดีทำร้ายผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองกับรัฐบาลอีก

ผู้เขียนเองอยู่ในกลุ่ม “คนเสื้อเหลือง” เองแท้ๆ ยังเคยต่อสู้จนชนะคดีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มายัดข้อหาชุมนุม 150 เมตรรัศมีจากพระราชวัง เพียงเพราะไปยื่นหนังสือคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมที่รัฐสภา หลังจากนั้นจึงมีพระบรมราโชบายให้ย้ายรัฐสภาภายในปีนั้น และคดีของผู้เขียนนี้จึงเป็นคดีสุดท้ายในเรื่องรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง และไม่มีใครได้ถูกดำเนินคดีความในข้อหานี้อีก รวมถึงคดีการชุมนุมที่หอศิลป์กรุงเทพที่อัยการไม่ดำเนินคดีความในข้อหา 150 เมตรจากวังสระปทุม อย่างนี้จะไม่เรียกว่ามีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อย่างไร?

มีใครรับทราบและตระหนักข้อมูลข้างต้นบ้าง?

เหตุใดจึงไม่ตั้งคำถามว่า การผูกให้รัฐบาลเป็นเนื้อเดียวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น แท้ที่จริงผู้ชุมนุมกำลัง “ติดกับดักตัวเอง” เป็นการช่วยรักษาอำนาจรัฐบาลให้อยู่นานขึ้นในมุมกลับบ้าง หรือไม่?

เช่นเดียวกับการให้กองทัพบางส่วนที่โอนย้ายมาอยู่ภายใต้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เหตุใดจึงไม่คิดอีกด้านหนึ่งว่า นี่คือหลักประกันป้องกันภัยอันตรายที่อาจมีต่อพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกจับเป็นองค์ประกันเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยในกรณีการมีรัฐประหารจากคณะทหารกลุ่มใดอีกต่อไป หรือไม่?


นี่คือคำถามตัวอย่างข้างต้นเพียงบางประเด็นเท่านั้นเพราะในความจริงมีประเด็นอีกมากที่ถูกนำเสนอเพียงแค่มุมเดียว...และด้วยข้อจำกัดทางราชสำนักจึงย่อมไม่สามารถจะมีใครอธิบายในทางสาธารณะได้

แต่ตัวอย่างคำถามข้างต้นนี้ จะไม่ถูกนำเสนอให้ชวนคิดอีกด้านหนึ่งเลย เพราะในโลกของสังคมโซเชียลมีเดียที่ง่ายต่อการยืนยันความเชื่ออคติ หรือ Confirmation Bias นั้น ยังคงดำเนินต่อไป

ถ้ามีเจตนาดีต่อชาติบ้านเมืองจริง ในขบวนการผู้นำหรือแอบนำคณะราษฎร 2563 ควรส่งสัญญาณลดความรุนแรงทางภาษาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อลดความเสี่ยงทำให้ไม่ไปสู่ความรุนแรงด้วยการใช้กำลังและอาวุธในการประหัตประหารกันได้
หากไม่ส่งสัญญาณเช่นนี้หรือเอาแต่อวยกันเอง ปกป้องกันเองในมิติเดียวอย่างที่เป็นอยู่ที่ผ่านมา ขบวนการผู้นำหรือแอบนำซึ่งควรจะมีวุฒิภาวะที่สูงกว่าย่อมเล็งเห็นอยู่แล้วว่า จะมีความเสี่ยงนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นและมากขึ้น จริงหรือไม่?

ความรุนแรงทางภาษาและพฤติกรรมที่ทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ลุกลามไปจนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั้น ถึงวันนี้ทำให้ไม่มีใครไว้วางใจคำว่าปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ เพราะในการชุมนุมมีแต่คำด่าหยาบคายด้วยถ้อยคำรุนแรง อาฆาดมาดร้าย โดยในกลุ่มพวกเดียวกันไม่มีใครส่งสัญญาณยับยั้งทั้งสิ้น

หรือว่าในความเป็นจริงแล้ว ขบวนการผู้นำหรือแอบนำคณะราษฎร 2563 ต้องการอะไรที่มากกว่าคำว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์”กันแน่นี่คือคำถามใหญ่ที่สุดของฝ่ายที่ยังมีความศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งยังมีอยู่ในประเทศนี้อีกจำนวนมาก

ด้วยเหตุผลที่ไม่มีแกนนำคนใดของคณะราษฎร 2563 ส่งสัญญาณหยุดยั้งการดูหมิ่นเหยียดหยามสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อเสนอที่ดูเหมือนมีเหตุผลว่าจำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ของนายปิยะบุตร แสงกนกกุลจึงย่อมไม่สามารถไว้วางใจได้เช่นกัน

เมื่อประชาชนจำนวนมากไม่ไว้ใจการเรียกร้องของคณะราษฎร 2563 ในเรื่อง “การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” จึงพลอยไม่ไว้ใจการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพลอยไม่ไว้วางใจข้อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ลาออกไปด้วยว่าจะนำไปสู่อะไรกันแน่

ผลก็คือพฤติกรรมของผู้ชุมนุมก้าวร้าว หยาบคาย ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เอง ได้กลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ”ต้องยอมจำนนหรือเต็มใจสนับสนุนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชามากขึ้น เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่ยิ่งใหญ่กว่า

แม้ว่าหลายคนอาจไม่ชอบรัฐบาล(ซึ่งมีจำนวนมาก) แต่ก็อาจจะถึงขั้นยอมให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปเพื่อป้องกันภัยอันตรายต่อชาติมากกว่า ถ้าสถานการณ์ดำเนินเช่นนี้ต่อไป สุดท้ายจึงมีแนวโน้มทำให้ไม่ได้มีการปฏิรูปอะไรเลย แม้แต่ข้อเดียว

และถ้าผู้ชุมนุมเชื่อมาก่อนหน้านี้ว่ามีการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้ชุมนุมอย่างไม่เป็นธรรม ก็ต้องตั้งคำถามว่าแกนนำผู้ชุมนุมเองไม่ใช่หรือที่ปล่อยให้ผู้ชุมนุมจาบจ้วง ด่าทอ อย่างหยาบคาย ลุกลามปานปลายไปจนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จนทำให้ประเทศชาติอาจจะไม่ได้รับการปฏิรูปอะไรเลย ใช่หรือไม่?

ใครไม่ใช่พวกผู้ชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ก็อย่าไปคิดจะไปห้ามอะไรในผู้ชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ในวันนี้ เพราะขนาดขบวนแกนนำของผุ้ชุมนุมยังไม่คิดจะเตือนอะไร ดังนั้นผู้ชุมนุมจะต้องเรียนรู้กันไปเองว่าการชุมนุมแบบใดให้ผลเป็นอย่างไร ถ้าเชื่อในความถ่อย ความหยาบคาย ก้าวร้าวต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าจะทำให้ได้รับชัยชนะ ก็ขอให้ดำเนินการต่อไป แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น แกนนำของคนเหล่านี้ก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เช่นกัน

ใครที่ไม่ใช่พวกผู้ชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ก็อย่าไปใช้ความรุนแรงกับคนที่เห็นต่าง ไม่จำเป็นต้องไปชุมนุมเผชิญหน้า ขอช่วยกันอดทนและอดกลั้น เพื่อช่วยกันมิให้เกิดการแทรกแซงจากต่างชาติเข้าเกมของใคร และขอให้ชุมนุมยื่นหนังสือชุมนุมตามกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะตามขั้นตอน ใช้สันติวิธีเพื่อแสดงออกและเตือนสติให้รู้ว่ายังมีคนอีกจำนวนมากในประเทศนี้ไม่เห็นด้วยกับการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงในช่วงเวลาที่ผ่านมา

แล้วเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมเมื่อไหร่วันหนึ่ง “การลงประชามติ”เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ให้ประชาชนตัดสินอาจจะเกิดขึ้นและจะเป็นตัวพิสูจน์เองว่าด้วยพฤติกรรมของผู้ชุมนุมที่ผ่านมา “คนส่วนใหญ่”คิดเห็นอย่างไร?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3543837802342830/


กำลังโหลดความคิดเห็น