xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียน เปิดบันทึกการอภิปรายอย่างมีวุฒิภาวะ ต่อกรณีบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2492 / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเกิดความสับสนในเรื่องบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้เห็นว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” นั้น สามารถมีการอภิปรายได้ จากผู้ที่มี “วุฒิภาวะ” ในที่ประชุมรัฐสภา  

จึงขอนำเสนอผ่านผลงานการรวบรวมของ “คุณสันติสุข โสภณสิริ” ในหนังสือชื่อ สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย ในทัศนะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จัดพิมพ์โดยมูลนิธิเด็ก เมื่อปี พ.ศ. 2552 
 
ในหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ ได้มีการนำเสนอเอกสาร “รายงานการประชุมรัฐสภา” ครั้งที่ 13 วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นรายงานการประชุมรับรอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 ซึ่งมีการอภิปรายเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญเอาไว้อย่างน่าสนใจ

ในการอภิปรายในหมวดพระมหากษัตริย์ เจ้าพระยาธรรมาธิเบศ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ตั้งญัตติอภิปรายอย่างตรงประเด็นว่า

“วันนี้พิจารณาถึงข้อ ๒ จะยืนยันหรือไม่ว่าจะมีระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”[1],[11]

หลังจากนั้นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้อภิปรายประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างผู้อภิปรายเด่นๆ ได้แก่

นายสุวิชช พันธเศรษฐ (สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ชุดแรก) ได้ยืนยันหลักการการเป็นตัวแทนของคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2475 และหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทั้งประเทศว่า
“ตั้งแต่มีการปฏิวัติ คือ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในครั้งนั้นเองฝ่ายปฏิวัติก็ได้แสดงออกซึ่งเจนารมณ์แล้วว่าไม่ปรารถนาที่จะล้มล้างราชบัลลังก์ ที่จะเป็นการยืนยันแทนประชาชนทั้งชาติ...

สำหรับองค์พระมหากษัตริย์นั้น ถ้าหากว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นประการใด จะให้มีหรือไม่ให้มีนั้น ไม่ใช่ของสภาหนึ่งสภาใด เป็นเพียงหน้าที่ของประชาชนเจ้าของประเทศ คือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ถ้าหากว่าประชาชนทั้งประเทศเขามีความเห็นเป็นประการใด ย่อมเป็นไปตามนั้น...” [1],[12]

ขุนประเสริฐศุภมาตรา คัดค้านการอภิปรายในญัตตินี้ เพราะเท่ากับเป็นการพิจารณาเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ ซึ่งสภาร่างฯไม่มีอำนาจพิจารณา ความว่า

“สำหรับระเบียบวาระนี้มีปัญหาว่า เรามีอำนาจพิจารณาหรือไม่ ก็ในเรื่องหลักของประเทศนั้น ถ้าประมุขมีพระมหากษัตริย์หรือไม่มีกษัตริย์นั้น มันเท่ากับการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญ”[2],[13]

นายโชติ คุ้มพันธ์ (อดีตสมาชิกพรรประชาธิปัตย์ชุดแรก) กล่าวว่า จำเป็นต้องอภิปรายในญัตตินี้ เพื่อจะได้รู้กันอย่างชัดเจนว่า ระบอบพระมหากษัตริย์กับระบอบมหาชนรัฐมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ความว่า

“เราควรพิจารณาระบอบพระมหากษัตริย์เพราะเหตุไร และไม่ดีเพราะเหตุไร อย่างนี้จะทำความกระจ่างให้ประชาชน ซึ่งคอยฟัง... ต้องพูดกันในสภา ระบอบพระมหากษัตริย์มีอะไร อย่างไร ระบอบสาธารณรัฐดีไม่ดีอย่างไรบ้าง... จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เขาได้ถกเถียงกันแล้ว ...”[2],[14]
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ผู้เป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์นิยมหัวก้าวหน้า (Radical Conservatist) แสดงความเห็นอย่างเผ็ดร้อนว่า ต้องอภิปรายระเบียบวาระพระมหากษัตริย์ อย่าทำให้เรื่องนี้เหมือนเป็น “ผีหลอก” ที่กลัวกันหรือเกลียดกันจนไม่กล้าพูดถึง ความว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึกข้องใจมานานแล้วเกี่ยวกับเรื่องสถาบันนี้... คือปัญหาเรื่องสถาบันนี้ ข้าพเจ้าคิดๆไปเห็นว่า เป็นเครื่องมือล้มราชบัลลังก์ หรือล้มรัฐธรรมนูญ ขึ้นต้นท่านบอกว่า รัฐธรรมนูญมีบางสิ่งบางอย่างที่เปลี่ยนไม่ได้ ข้าพเจ้าเห็นตรงกันข้ามว่า รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด คือ รัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนได้ เพราะว่าลักษณะมนุษย์ถ้าไปห้ามอะไรเข้ามันยิ่งทำ... ก็ควรจะให้เปลี่ยนกันได้โดยความสงบ ทำไมจะต้องไปเปลี่ยนโดยปฏิวัติ มันเรื่องอะไร รัฐธรรมนูญเปลี่ยนก็ด้วยวิถีอันสงบ....

... การที่ท่านว่าผีหลอกนั้นความจริงมันไม่หลอก แต่เพราะเราเกลียดผีต่างหาก เราไม่กลัว เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่เราควรจะพูดให้แตกหักลงไปเสียแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่านั้นเป็นสิ่งดีกว่า ที่เราจะว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี... เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดอภิปรายในที่นี่”[3][15] 

เมื่อประธานสภาร่างฯให้ลงมติว่าจะอภิปรายเรื่องพระมหากษัตริย์ต่อไปได้หรือไม่ ผลปรากฏว่ามีสมาชิกเห็นว่าควรอภิปรายได้ 24 ต่อ 5 เสียง ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการอภิปรายต่อไปในประเด็นว่า “จะยืนยันหรือไม่ว่าจะมีระบอบการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” 
 
นายโชติ คุ้มพันธ์ ดุษฎีบัณฑิตเยอรมัน อีกนักโทษกบฏบวรเดช ถูกจำคุกที่เกาะตรุเตา ต่อมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ที่มีควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค) และพรรคกิจสังคม (ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค) และเคยเป็น ส.ส.จังหวัดพระนครหลายสมัย ได้อภิปรายยืนยันญัตตินี้ด้วยความรู้สึกง่ายๆ ว่า

“ข้าพเจ้าเห็นว่า ตราบใดการที่มนุษย์ต้องการกราบไหว้ศาลพระภูมิ ก็ยังทิ้งพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 8 เสด็จประพาสท้องที่สำเพ็ง ประชาชนตื่นเต้น และอีกประการหนึ่งรัชกาลที่ 8 ทรงสวรรคต ประชาชนเศร้าสลดและไว้ทุกข์เกินกว่าปี และเปลี่ยนแปลงมหาชนรัฐเป็นความคิดเป็นส่วนน้อย” [4], [16]

นายทองม้วน อัตถากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด มหาสารคาม พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายยืนยันว่า

“...ประเทศไทยจะปกครองรูปอื่นไม่ได้ รูปคอมมิวนิสต์ไม่ได้ มหาชนรัฐ รูปเผด็จการก็ไม่ได้ ตลอดจนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชก็ไม่ได้ เพราะการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย คือ พระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คือ ระบอบประชาธิปไตย เพราะเหตุว่าการที่เราจะปกครองระบอบอื่น ก็หมายความว่า ทำให้ประเทศไทยของเราสลายไปทันที

พระมหากษัตริย์เท่านั้น เป็นพระองค์เดียวที่จะรวมจิตต์ใจของประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ย่อมจะเป็นประโยชน์ นี่แหละถ้าเราปกครองรูปอื่น แน่เหลือเกินว่าจะต้องเกิดนองเลือด เพราะฉะนั้น การที่พวกเราจะสนับสนุนโดยวีธีการปกครองระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ย่อมเป็นทางที่ดี ที่จะรักษาความสมานไมตรีระหว่างพวกไทยด้วยกัน ให้มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ต่อพระมหากษัตริย์ ถ้าหากปราศจากพระมหากษัตริย์ ศาสนาตั้งอยู่ไม่ได้ ความสงบไม่มีเลย ในที่สุดประเทศชาติจะเป็นอย่างไร” [5] [17]

อย่างไรก็ตาม บุคคลสำคัญที่สุดทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมในสภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นพ้องต้องกันเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่ต้องมีการอภิปรายในประเด็นนี้ต่อไปให้ยืดเยื้อ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ความว่า

“ขอรวมคำคำหนึ่งว่า พระมหากษัตริย์มีคุณค่าแก่เมืองไทย คือว่าโดยเหตุที่การปกครองได้เปลี่ยนมา 15 ปี ยังไม่ถึงจิตต์ใจของประชาชน บางทีคำว่าประเทศบางคนยังไม่รู้ ไม่รู้เอาเป็นรูปเจ้าคุณพหลฯ บางคนรู้สึกว่าพระปกเกล้าฯ เป็นประเทศ อะไรเหล่านี้อยู่ในจิตต์ใจของประชาชน 

อย่างน้อยมีพระเจ้าแผ่นดินก็ยังดึงจิตต์ใจประชาชน ยังไม่ปล่อยไปไกลหรือตกเหวเลย การที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าเหมาะสมแก่กาลสมัย เวลานี้เป็นประโยชน์มาก...คือ คนธรรมดา... ไม่รู้สึกว่าชาติคืออะไร ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน จับไม่ติด ถ้าบอกว่าในหลวง ใกล้เข้าไปหน่อย...มีพระมหากษัตริย์ก็จะรวมจิตต์ใจของประชาชน ให้โน้มน้าวให้ประชาชนรักชาติบ้านเมืองต่อไป นี่อันหนึ่ง...


อีกอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยท่านจะเห็นว่า ความจริงอันหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลออกๆเข้าๆวันยังค่ำ แต่เราต้องการทุกสิ่งทุกอย่างที่แน่นอนมั่นคง สิ่งนี้คือกษัตริย์เป็นประมุข ท่านทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างนี้ดีในทางจิตต์ใจ คือ อย่างน้อยยังมีกษัตริย์ที่เป็นประมุขของชาติ เป็นที่มั่นคง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรออกไปอีก

อย่างแบบมหาชนรัฐ ๔ ปี... เปลี่ยนกันที่ก็เกิดพวก... ก็เกิดแตกแยกกัน ส่วนระบอบประชาธิปไตยภายใต้มีกษัตริย์ ไม่มี (ปัญหาแตกแยกกัน-ผู้อ้าง)... เราต้องการสิ่งอะไรที่เป็นอุดมคติแน่นอนบางอย่าง เพื่อจะได้สบายใจ เมื่อสบายใจความวุ่นวายก็ไม่มี นี่แหละกษัตริย์ก็มีเหนือกว่าประธานาธิบดีสาธารณรัฐ เพื่อความมั่นคงและสบายใจ” [6] [18]

จากนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ก็อภิปรายวกมาโจมตีระบอบการเมืองภายใต้คณะราษฎรที่ผ่านมา 15 ปี ทำให้บ้านเมืองแตกแยก เพราะคนไม่ชอบนักการเมืองแต่รักพระมหากษัตริย์ ม.ร.ว.เสนีย์กล่าวชัดเจนว่า ไม่ต้องการกลับไปหาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ต้องการระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ความว่า

“ข้าพเจ้าไม่ต้องการสมบูรณาญาสิทธิราช เพราะว่าประเทศไทยได้เจริญมาเพียงนี้แล้ว เราไมใช่เด็กโตพอที่จะปกครองเองได้ แต่การที่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ขัดกับพระมหากษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นประเทศอังกฤษซึ่งมีประชาธิปไตยโดยก็มีกษัตริย์ ไม่มีขอบเขตอันจำกัดที่ไม่มีข้อกำหนดกาลเวลาย่อมขยายไปทั่วถึงหมด นั่นแหละเป็นเหตุให้ชาติเขาตั้งอยู่ท่ามกลางความสุขของเขา นี่แหละข้าพเจ้าเห็นสมควรที่จะรักษาระบอบการปกครองนี้ไว้ชั่วกาลนาน” [7] [19]

หลังจาก ม.ร.ว.เสนีย์ จบการอภิปราย ที่ประชุมปรบมือชื่นชมโดยพร้อมเพรียงกัน และยุติการอภิปรายประเด็นนี้ เพื่อเข้าสู่การลงมติยืนยันระบอบการปกครองอันเป็นประวัติศาสตร์ขงอการร่างรัฐธรรมนูญไทย การยืนยันดังกล่าวไม่ได้ใช้วิธีการชูมือตามระเบียบข้อบังคับปกติของที่ประชุมสภาฯ แต่ให้ใช้วิธีการยืนขึ้นแล้วถวายคำนับต่อพระบรมรูปที่อยู่ภายในห้องประชุมพระที่นั่งอภิเศกดุสิต ในการใช้วิธีการลงมติเช่นนี้จึงต้องมีการขอแปรญัตติเป็นกรณีพิเศษ เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านแล้ว ประธานจึงเปิดให้มีการลงมติด้วยการ “ยืน” เพื่อ “ยืนยัน”ว่า

“ผู้ใดเห็นควรจะยืนยันว่า จะมีระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โปรดยืนขึ้น”

ปรากฏว่าสมาชิกทุกคนยืนขึ้นถวายความคำนับต่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพร้อมเพรียง จากนั้นที่ประชุมปรบมือ

พิธีการยืนยันในสภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็คือ การยืนยันตามมาตรา 2 ของร่างรัฐธรรมนูญว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” นั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับคำอภิปรายของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ว่า “การที่ประชาธิปไตยก็ไม่ขัดกับพระมหากษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” เหมือนกับ “ประเทศอังกฤษซึ่งมีประชาธิปไตยก็มีกษัตริย์” ดังกล่าวแล้ว [8] 

แม้จะดูเหมือนว่าการอภิปรายในประเด็นพระมหากษัตริย์เป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยรวม หากแต่เมื่อลงรายละเอียดแล้ว ก็กลับพบว่ามีประเด็นการเพิ่มพระราชอำนาจ กับการคัดค้านการเพิ่มพระราชอำนาจในหลายประเด็น เป็นไปอย่างเข้มข้น แต่ก็ยังเป็นไปอย่างมีวุฒิภาวะโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น

นายโชติ คุ้มพันธ์ มีข้อเสนอว่า ควรให้พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมายมากขึ้น เพื่อควบคุมรัฐสภาและรับบาลไม่ให้เป็นเผด็จการ ความว่า


“ถ้าหากว่าพระมหากษัตริย์วีโต้มา ถ้าเป็นไปรเวทบิลส์ (Private Bill: กฎหมายสำหรับเอกชน-ผู้อ้าง) คือ สมาชิกสภาเป็นผู้เสนอ พระมหากษัตริย์ทรงวีโต้ ข้าพเจ้าขอเสนอให้ยุบสภา ถ้ารัฐบาลเสนอ พระมหากษัตริย์ทรงวีโต้ ข้าพเจ้าเสนอให้รัฐสภาบังคับให้รัฐบาลนั้นลาออก เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลออกกฎหมายโดยไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน ไม่ใช่ออกโดยอารมณ์ หรือโดยซื้อเสียกันในสภาตามที่เคยมีปรากฏมาแล้ว...

เป็นเช่นนี้ข้าพเจ้าถึงอยากให้อำนาจพระมหากษัตริย์มากขึ้น... แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องระมัดระวังจะออกบทบัญญัติใดขึ้นมา ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระนามแล้ว ก็จะต้องลาออก เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นการป้องกันการที่ประเทศไทยจะเป็นเผด็จการได้ด้วย” [9] [20]

ส่วนเหตุผลของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องการเพิ่มพระราชอำนาจ กลับเป็น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยเห็นว่าการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่การถวายพระราชอำนาจเพิ่ม การเพิ่มพระเดชในพระมหากษัตริย์อาจทำให้ฝ่ายที่สูญเสียประโยชน์ไม่พอใจ และเป็นศัตรูกับสถาบันได้ พระมหากษัตริย์ควรใช้แต่พระคุณปกเกล้าฯ ไม่ใช่พระเดชปกครอง ความว่า

“การรักษาไม่ใช่ให้อำนาจ เพราะอำนาจก็ต้องใช้ เมื่อใช้แล้วก็ต้องมีการเถียง เพระเหตุฉะนี้ เราต้องใคร่ครวญให้หนัก ข้าพเจ้าเห็นว่าพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญจะยั่งยืน เป็นที่เคารพสักการะก็ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่พระคุณ ไม่ใช่พระเดช ปกเกล้าฯ ไม่ใช่ปกครอง ถ้าเมื่อไร พระมหากษัตริย์ทรงปกครอง เมื่อนั้นความไม่พอใจย่อมจะเกิดขึ้น...ถ้าเมื่อไรพระมหากษัตริย์ทรงวีโต้ให้ยุบสภาแล้ว เป็นเรื่องแน่ นี่แหละเป็นการยุ่งกันใหญ่” [10] [21]

นอกจากนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนักการเมืองอนุรักษ์นิยมส่วนน้อยที่มีความคิดกษัตริย์นิยมแบบสายกลาง (Moderate Monarchists) จึงคัดค้านการถวายคืนพระราชอำนาจคืนมากเกินไปในสภารัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2492 เช่น คัดค้านการตั้งอภิรัฐมนตรีในลักษณะที่เป็นรัฐบาลเหนือรัฐบาล, คัดค้านองคมนตรีหรือองค์กรอื่นใดมาคั่นกลางระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งกับประชาชนด้วย รวมถึงคัดค้านมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 ที่บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งวุฒิสภา ฯลฯ

ในสังคมไทยแม้อาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอันด้วยเพราะผ่านการเลือกตั้งมา การที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจเพิ่มขึ้น หรือน้อยลงก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลของผู้แทนปวงชนชาวไทยในเวลานั้นว่ามีความคิดเห็นอย่างไร แต่ก็ต้องมีการอภิปรายได้อย่างมีวุฒิภาวะ และยุติด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

เพราะแม้แต่การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ก็ต้องอยู่ภายใต้การบัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเช่นกัน
เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ก็ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วทั้งสิ้น แม้ในเรื่องงบประมาณรายจ่ายอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากเสียงข้างมากในกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไม่ได้ก่อกำเนิดด้วยองค์พะรมหากษัตริย์เองได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นส่วนที่มีการเชื่อมโยงจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งมาแล้วทั้งสิ้น

ดังนั้น การอภิปรายปราศรัยโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์นอกรัฐสภาด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น เหยียดหยาม ต่อพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะ นอกจากจะไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ใดๆ ได้แล้ว รังแต่จะให้มีประชาชนที่มีศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการย่ำยีสถาบันพระมหากษัตริย์ต่างต่อต้านการชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่จำเป็นต้องเชื่อโพล ไม่จำเป็นต้องเชื่อว่ามีคนเสื้อเหลืองที่มาแสดงพลังมากขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ให้ถามว่าจำนวนผู้ชุมนุมที่โจมตีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น หรือ ลดลง

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] สันติสุข โสภณสิริ, สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย, กรุงเทพ มูลนิธิเด็ก 2555, ISBN 978-616-307-009-8, หน้า 189
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 190
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 190-191
[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 192
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 192-193
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 193
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 194
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 195
[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 199
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 200-201
[11] สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, “รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 5/2492 ในวันพุธที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2491 ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต, ในรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1-10, 12 กรกฎาคม 2491 ถึง 2 สิงหาคม 2491 หน้า 208
[12] เรื่องเดียวกัน หน้า 211-212
[13] เรื่องเดียวกันหน้า 220
[14] เรื่องเดียวกัน หน้า 219-220
[15] เรื่องเดียวกัน หน้า 222
[16] เรื่องเดียวกัน หน้า 227
[17] เรื่องเดียวกัน หน้า 228
[18] เรื่องเดียวกัน หน้า 229-230
[19] เรื่องเดียวกัน หน้า 230-231
[20] เรื่องเดียวกัน หน้า 234
[21] เรื่องเดียวกัน หน้า 236


กำลังโหลดความคิดเห็น