“พุทธิพงษ์” ลั่นเร่งเช็กบิลกรณีหมิ่นสถาบันบนทุกแพลตฟอร์ม ย้ำต้องปิดเพจภายใน 15 วัน หลังคำสั่งศาล เผยเดือนเดียวปิดกั้นเนื้อหาไปแล้ว 1.2 พัน URLs ด้าน “ไพศาล” แนะรัฐบาลตั้งทีมเฉพาะกิจ แจงข้อเท็จจริงในโลกโซเชียล ติง! ความก้าวร้าว หยาบคาย คือจุดอ่อนของ “ม็อบคณะราษฎร” ขณะที่ “ปานเทพ” ชี้เกิดปรากฏการณ์แนวร่วมมุมกลับ คนรักสถาบันฯ เริ่มหันมาหนุน “บิ๊กตู่”
เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งสำหรับท่าทีของ “กลุ่มคณะราษฎร 2563” ซึ่งแม้หนึ่งในข้อเรียกร้องคือเรื่องการปฏิรูปสถาบันจะฟังดูดีมีหลักการ แต่ท่าทีที่แสดงออกมานั้นส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะดูหมิ่น จาบจ้วง เสียดสี ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยบนเวที ป้ายข้อความต่างๆ ที่ปรากฏระหว่างการชุมนุม ตลอดจนการแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่สำคัญพบว่ามีการป้อนข้อมูลอันเป็นเท็จและให้ร้ายสถาบันไปยังกลุ่มเด็กๆ นักศึกษา และประชาชน โดยผ่านระบบโซเชียลมานานแล้ว ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามตามมาว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มัวทำอะไรอยู่? ได้มีการสกัดกั้นข้อมูลที่บิดเบือน และนำข้อเท็จจริงไปชี้แจงให้นักศึกษาประชาชนได้เข้าใจหรือไม่?
แน่นอนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อโซเชียลมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้น “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” หรือดีอีเอส ซึ่งถูกคาดหวังว่าน่าจะมีการปฏิบัติการในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ชี้แจงว่า ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบกรณีที่มีผู้โพสต์ภาพและข้อความจาบจ้วง บิดเบือน ให้ร้ายสถาบันฯ มาตลอด รวมถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่าพบเห็นการกระทำในลักษณะดังกล่าวผ่านสื่อโซเชียล ทั้ง Facebook, YouTube และ Twitter โดยตามขั้นตอนนั้นเมื่อตรวจพบหรือได้รับการร้องเรียนทางกระทรวงจะตรวจสอบและทำการรวบรวมข้อมูลหลักฐานให้เสร็จภายใน 48 ชั่วโมง ถ้าพบว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็จะส่งฟ้องศาล หากศาลพิจารณาว่ามีความผิดตามกฎหมายก็จะสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลโดยให้นำภาพหรือข้อความนั้นๆ ออกจากโซเชียลฯ
จากนั้นกระทรวงดิจิทัลฯ จะนำคำสั่งศาลแจ้งไปยังแพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการสื่อออนไลน์นั้นๆ เช่น Facebook ทวิตเตอร์ เพื่อให้ดำเนินการตามคำสั่งศาล ส่วนกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือช่องยูทูปนั้นๆ โพสต์หมิ่นซ้ำๆ ทางกระทรวงดิจิทัลฯ จะยื่นเรื่องต่อศาลขอให้มีคำสั่งปิดเพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือช่องยูทูปนั้น และนำคำสั่งศาลแจ้งให้แพลตฟอร์มดังกล่าวดำเนินการ โดยทั้ง 2 กรณีต้องดำเนินการภายใน 15 วัน แต่หากไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน กระทรวงดิจิทัลฯ จะดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดแพลตฟอร์มดังกล่าว
นอกจากนั้น ยังมีการยื่นฟ้องผู้โพสต์ หรือเจ้าของเพจที่โพสต์หมิ่นสถาบัน ซึ่งหากศาลมีคำสั่งว่ากระทำผิดจริง กระทรวงก็จะเข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ส่วนการติดตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งจะดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่หากผู้ต้องหาอยู่ในต่างประเทศคดีก็จะค้างไว้ก่อน
“หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมการลบข้อมูลหรือปิดเพจที่โพสต์จาบจ้วงและหมิ่นสถาบันจึงไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีที่ได้รับเรื่อง ทั้งนี้ เพราะในทางเทคนิคมันทำไม่ได้ เนื่องจากเราต้องทำทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย และที่สำคัญแพลตฟอร์มนั้นๆ ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ในการดำเนินการเราจะทำเป็นเรื่องๆ เช่น เพจนั้นโพสต์ 3 ครั้ง มีลักษณะหมิ่น 2 ครั้ง เราก็รวบรวมหลักฐาน 2 ครั้งนั้นฟ้องศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งลบทั้ง 2 โพสต์ แต่ถ้ามีการกระทำผิดซ้ำๆ เราก็ฟ้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งปิดเพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือช่องยูทูปนั้นๆ” รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลฯ ระบุว่า ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.2563 ตรวจพบแพลตฟอร์มที่มีการโพสต์ในลักษณะละเมิดสถาบันรวม 3,822 URLs และถูกปิดกั้นเนื้อหาไปแล้ว 1,238 URLs โดยแพลตฟอร์มที่มีการละเมิดสถาบันมากที่สุดคือ facebook จำนวน 2,409 URLs ซึ่งถูกปิดกั้นเนื้อหาไปแล้ว 875 URLs ยังเหลืออีก 1,534 URLs ตามด้วย YouTube มีการละเมิด 607 URLs ถูกปิดกั้นเนื้อหาแล้ว 331 URLs ยังเหลืออีก 276 URLs เว็บไซต์อื่นๆ 496 URLs ถูกปิดกั้นเนื้อหาแล้ว 20 URLs ยังเหลืออีก 466 URLs และทวิตเตอร์ 330 URLs ถูกปิดกั้นไป 12 URLs ยังเหลืออีก 318 URLs
ขณะที่ข้อมูลจาก “ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม” กระทรวงดิจิทัลฯ ระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์ช่วงระหว่างวันที่ 13-18 ต.ค.2563 พบการกระทำที่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงต่อความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งหมด 324,990 เรื่อง แบ่งเป็น ทวิตเตอร์ 75,076 เรื่อง Facebook 245,678 เรื่อง และเว็บบอร์ด 4,236 เรื่อง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขผู้กระทำผิดรวม ทั้งที่ผู้โพสต์คนแรก และคนแชร์ รีทวีตข้อความที่ผิดกฎหมาย ซึ่งลำดับแรกเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและเอาผิดเฉพาะผู้โพสต์คนแรกๆ ที่นำเข้าข้อความสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก่อน โดยพบว่ามีทั้งที่เป็นแกนนำกลุ่มมวลชน นักการเมือง และผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย คนหลักๆ
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันซึ่งถูกบิดเบือนให้ร้ายในโซเชียลนั้น นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ทำหน้าที่ในการสกัดกั้นไม่ให้มีการหมิ่นสถาบันฯ เป็นหลัก แต่ไม่ได้มีบทบาทในการชี้แจงข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ละประเด็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และชัดเจน ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ทราบว่าหน่วยงานไหนเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้
ด้าน นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ชี้ว่า ปัญหาการบิดเบือนให้ร้ายสถาบันที่แผ่ขยายในวงกว้างอยู่ในปัจจุบันนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลละเลยที่จะปกป้องสถาบันฯ ทราบว่ามีทีมงานจากกระทรวงต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายให้สกัดการให้ร้ายสถาบันในโซเชียลอยู่เหมือนกัน แต่แทนที่จะนำข้อเท็จจริงไปชี้แจงกลับเป็นการด่าว่าตอบโต้กันไปมา ซึ่งยิ่งสร้างความขัดแย้งหนักขึ้นไปอีก ขณะที่จุดอ่อนของกลุ่มคณะราษฎรที่ทำให้ผู้คนเริ่มถอยห่างและถูกโดดเดี่ยวจากสังคมก็คือการก้าวล่วงสถาบัน และการสื่อสารด้วยท่าทีที่ดูแคลน ก้าวร้าว หยาบคาย อีกทั้งมักจะบูลลี่คนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางของตนเองว่าเป็นคนโง่ เป็นไอโอ เป็นสลิ่ม ซึ่งท่าทีเช่นนี้จะนำไปสู่ความเกลียดชังระหว่างกัน
“รัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยตั้งทีมขึ้นมาชี้แจงในทุกประเด็นที่สถาบันฯ ถูกบิดเบือนให้ร้าย ที่สำคัญทีมนี้ต้องไม่พูดเรื่องรัฐบาลเลย พูดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันเท่านั้น เพื่อลดอคติของผู้ที่รับสาร และชี้แจงด้วยความอดทน หลีกเลี่ยงการตอบโต้ด้วยอารมณ์ โดยตั้งปณิธานว่านี่เป็นการทำเพื่อสถาบันฯ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” นายไพศาล กล่าว
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะนักวารสารศาสตร์ ซึ่งได้แสดงทัศนะในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่องแนวร่วมมุมกลับที่เกิดจากการไม่เห็นด้วยต่อกรณีจาบจ้วงสถาบันฯ ไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้ความจริงทุกคนจะมีสิทธิที่จะมีทัศนคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่างกัน แต่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในโซเชียลมีเดีย ย่อมทำให้มนุษย์มีโอกาสเต็มไปด้วยการยืนยันความเชื่ออคติ หรือ Confirmation Bias ได้มากขึ้น เพราะเราจะเห็นแต่การสื่อสารและการแจ้งเตือนเฉพาะในสิ่งที่เราเชื่อและอยากจะเชื่ออย่างเดียว จนมองไม่เห็นคนที่คิดต่าง จึงคิดว่าความเชื่อของตัวเองคือความคิดของเสียงข้างมาก
และด้วยพฤติกรรมและคำพูดที่โกรธเกลียด หยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรงของผู้ชุมนุมเอง รวมถึงเฟกนิวส์ที่ปั่นกระแสต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ลุกลามบานปลายไปจนถึงการกล่าวคำหยาบคายและให้ร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่ไว้วางใจและไม่สบายใจต่อเป้าหมายที่แท้จริงของผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว ยิ่งเมื่อปรากฏภาพการสนับสนุนฮ่องกงโมเดลซึ่งมีมหาอำนาจอยู่เบื้องหลังด้วยแล้ว ยิ่งไม่น่าไว้วางใจมากขึ้น
แต่เมื่อผู้ชุมนุมแทนที่จะเตือนกันเอง หรือแม้แต่การขอโทษต่อสังคม ก็กลับเลือกอวยกันเอง สนับสนุนและยืนยันความเชื่ออคติ Confirmation Bias ในสังคมโซเชียลมีเดียที่อยู่แต่ในวงของพรรคพวกของตัวเองต่อไป จึงย่อมไม่สามารถจะเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ได้ผู้ชุมนุมจึงกลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ”เพิ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลไปโดยปริยาย
เขาเรียกว่า ผู้ชุมนุมเกิดกระแสมาได้ก็เพราะการยืนยันความเชื่ออคติ Confirmation Bias แต่ก็ฆ่าตัวตายได้เพราะการยืนยันความเชื่ออคติ Confirmation Bias เช่นกัน วิวัฒนาการมาถึงจุดนี้ “กระแสเริ่มตีกลับแล้ว” และถ้ายังคงเป็นแบบนี้ต่อไป สุดท้ายอาจทำให้ไม่ได้มีการปฏิรูปอะไรเลยแม้แต่ข้อเดียว