xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกเลิกคำสั่งปิด"วอยซ์ทีวี"-ชี้สื่อมีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ศาลอาญายกคำร้องขอปิดสื่อของดีอีเอส ระบุไม่ได้แสดงเหตุความผิดชัดเจน อีกทั้งรัฐธรรมนูญให้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ส่งผลให้ "วอยซ์ทีวี-เยาวชนปลดแอก" และสื่อที่ถูกยื่นคำร้อง ออกอากาศต่อได้ ด้าน "ศรีสุวรรณ" บุกร้องปอท. แจ้งความเอาผิด 3 เพจปลุกม็อบ

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งภายหลังการไต่สวน กรณีศาลมีคำสั่งปิดเว็บไซต์ Voice TV เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับตำรวจ ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ และระงับ 4 สำนักข่าวออนไลน์ กับเพจเยาวชนปลดแอก ของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามรธน. มาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร มาตรา 36 วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน การตีความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มาตรา 20 ก็ดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 มาตรา 9 (3) ก็ดี จึงต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรธน.ดังกล่าว

ทั้งนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และ มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นี้ ระบุว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หมายถึงข้อมูล ข้อความ ในระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมมุ่งหมายที่จะให้ศาลห้ามโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งข้อมูลที่เป็นความผิดตาม มาตรา 20 (1)-(3) โดยเฉพาะเจาะจงเป็นรายข้อความ ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (3) ห้ามการเสนอข่าวที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัวนั้น กฎหมายประสงค์ให้ห้ามเป็นการเฉพาะข่าว หรือข้อความเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการห้ามเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่มีการนำเสนอปรากฏต่อศาลในปัจจุบันแล้วว่าขัดต่อกฎหมาย กฎหมายหาได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งปิดช่องทางการสื่อสารของบุคคลหรือสื่อสารมวลชนทั้งช่องทาง ซึ่งมีผลการนำเสนอข้อความในอนาคตที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดด้วย ส่วนความขัดข้องในเรื่องการปิดกั้นการเข้าถึงทางเทคนิคนั้น เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงหลักกฎหมาย

ดังนั้น การที่ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม URLทั้ง 12 รายการ ซึ่งเป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี , สำนักพิมพ์ประชาไท , The Reporters, The STANDARD หรือของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH โดยเหตุที่ผู้ร้อง ไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอให้ปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง เข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดนำเสนอต่อศาล คำสั่งศาลดังกล่าว จึงไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาล ที่ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ ยกคำร้อง

ทั้งนี้จากคำสั่งดังกล่าว ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทางของสื่อ 5 องค์กร คือ วอยซ์ทีวี, ประชาไท, The Reporters และ The Standard รวมทั้งเยาวชนปลดแอก - Free YOUTH ยังคงเผยแพร่ ออกอากาศต่อได

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้อง และแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อเอาผิด ติดตามตัวเจ้าของเพจกลุ่มเครือข่าย คณะราษฎร 63 ประกอบด้วย เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม , เพจเยาวชนปลดแอก และ เพจประชาชนปลดแอก เนื่องจากได้ตรวจสอบ พบว่าทั้ง 3 เพจ มีเจตนาเป็นแกนหลักในการปลุกระดมให้คนออกมาร่วมชุมนุม หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุม ครอบคลุมเกี่ยวกับการยุยงส่งเสริม เผยแพร่ข่าวสารที่ส่อไปในทางที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประกอบกับฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ชัดเจน ตนจึงมาร้องต่อ บก.ปอท. โดยได้รวบรวมข้อมูลตั้งวันที่ 14 -20 ต.ค.63 มามอบให้กับเจ้าหน้าที่ และเพื่อให้เรียกเจ้าของเพจมาดำเนินการสอบสวนต่อไป

นอกจากนี้ยังมีบุคคลอื่นๆอีกจำนวนมาก ที่ออกมาร่วมชุมนุม และมีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันฯ ซึ่งจะเข้าข่ายตาม ม.112 โดยได้นำข้อมูลบางส่วนที่นำมามอบให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอาผิดด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น