xs
xsm
sm
md
lg

“วอยซ์ทีวี” เฮ! ศาลยกเลิกคำสั่งปิด ชี้ สื่อมวลชนมีสิทธิ์เสนอข่าวและคำร้องไม่ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลยกเลิกคำสั่ง เว็บไซต์ “วอยซ์ทีวี” และสื่อออนไลน์ ชี้ รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพสื่อในการนำเสนอข่าว ประกอบกับคำร้องไม่ชัดเจนว่าให้ปิดเฉพาะเนื้อหา หรือ ช่องทางการสื่อสาร

เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (21 ต.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 907 ศาลอาญาถนนรัชดาภิเษก ศาลมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำ 339-340/2563 ที่กระทรวงดิจิทัลฯยื่นคำร้องขอ ให้ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยมีบริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ผู้คัดค้านเรื่อง

คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าได้ตรวจสอบพบว่ามีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่เป็นการเสนอข่าวจำหน่าย หรือ ทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลอิเลกทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือ เจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูล 12 URL (เป็นของวอยซ์และเพจ Free YOUTH) และศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 19 ต.ค.2563 ให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวตามที่ขอ

บัดนี้ได้มีการเสนอข่าวการปิดสถานีโทรทัศน์ตามคำสั่งดังกล่าวปรากฏตามสื่อมวลชนศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้มีการไต่สวนเพิ่มเติมผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้เพิกถอนคำสั่งข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนได้ความว่าการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้รับเรื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า การออกอากาศทางโทรทัศน์ของวอยซ์ทีวี (Voice TV) และสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ Voice TV, ประชา In Prachatai.com, The Reporters, THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาแล้วเห็นว่าเนื้อหาบางส่วนของสื่อดังกล่าวมีลักษณะชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครลงวันที่ 15 ต.ค. 63 แต่เนื่องจากไม่สามารถให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดกั้นการเข้าถึงเป็นการเฉพาะข้อมูลได้จึงขอให้ปิดช่องทางการสื่อสารทั้งหมดของสื่อดังกล่าวข้างต้น

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร มาตรา 36 วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน การตีความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มาตรา 20 ก็ดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 มาตรา 9(3) ก็ดี จึงต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ทั้งนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นี้ ระบุว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หมายถึงข้อมูล ข้อความ ในระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมมุ่งหมายที่จะให้ศาล ห้ามโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งข้อมูลที่เป็นความผิดตามมาตรา 20 (1)-(3) โดยเฉพาะเจาะจงเป็นรายข้อความ ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(3) ห้ามการเสนอข่าวที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัวนั้น กฎหมายประสงค์ให้ห้ามเป็นการเฉพาะข่าวหรือข้อความเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการห้ามเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่มีการนำเสนอปรากฏต่อศาลในปัจจุบันแล้วว่าขัดต่อกฎหมาย กฎหมายหาได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งปิดช่องทางการสื่อสารของบุคคลหรือสื่อสารมวลชนทั้งช่องทาง ซึ่งมีผลการนำเสนอข้อความในอนาคตที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดด้วย ส่วนความขัดข้องในเรื่องการปิดกั้นการเข้าถึงทางเทคนิคนั้นเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงหลักกฎหมาย

ดังนั้น การที่ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม URL ทั้ง 12 รายการ ซึ่งเป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี, สำนักพิมพ์ประชาไท, The Reporters, The STANDARD หรือของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH โดยเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอให้ปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง เข้าใจว่า เป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดนำเสนอต่อศาล คำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ ยกคำร้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น