"พุทธิพงษ์" ยืนยัน กระทรวงดีอีเอสไม่มีอำนาจปิดกั้นสื่อใด แต่เป็นอำนาจของศาลพิจารณา ย้ำไม่ได้เลือกปฏิบัติ หากเปิดช่องทางใหม่ ไม่ละเมิดกฎหมายสามารถทำได้
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีที่ศาลสั่งปิดแพลตฟอร์มทั้งเว็บไซต์ และเพจเฟซบุ๊กของ Voice TV ว่า กระทรวงไม่ได้มีนโยบายปิดกั้นสื่อ หรือดำเนินการเฉพาะใคร หรือมีเจตนาอื่น กรณี Voice TV เกิดจากการที่ทางตำรวจซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมสถานการณ์ และการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในขณะนี้ ซึ่งต่างจากสถานการณ์ปกติ และมีข้อที่เกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การยุยง ปลุกปั่น เนื้อหาผิดกฎหมาย หากเข้าข่ายตามกรอบความมั่นคง ทางตำรวจก็จะแจ้งมายังกระทรวงเพื่อให้รวบรวมข้อมูลเพื่อส่งศาลตามกระบวนการยุติธรรม เมื่อศาลมีคำสั่ง ทางกระทรวงก็จะแจ้งกลับไปยังตำรวจ ตำรวจจึงแถลงในรายละเอียดตามที่เห็น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยืนยันกระทรวงไม่มีนโยบายเจาะจงว่าเป็นสื่อหรือไม่ มีโพสต์อื่นๆ ที่ยื่นส่งศาลไป ทั้งที่เป็นนักข่าวและไม่ใช่ ซึ่งอะไรที่เข้าข้อกฎหมายและผิดจริงๆ เราไม่ได้อยากดำเนินคดี แต่เมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ส่วนกรณีอีก 3 สื่อยังไม่มีคำสั่ง ซึ่งกระทรวงไม่ได้มีอำนาจ เมื่อส่งไปศาล หากศาลมีคำสั่งก็แจ้งต่อ หลายอันเป็นการโพสต์ภาพต่อกันมา เมื่อมีคำสั่งก็ได้ติดต่อไปทุกหน่วย ทุกสำนักงาน แจ้งว่าหากมีอะไรที่ลบได้ ไม่ได้มีเจตนา มีความสุ่มเสี่ยง เราก็แจ้งเตือน หากไม่หยุดเราก็ต้องส่งต่อ
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ตรวจสอบทั้งหมด ได้ดำเนินการส่งศาลหมด ในเรื่องการพิจารณาหรือคำสั่งศาล กระทรวงไม่สามารถก้าวก่ายหรือก้าวล่วงได้ มีหลายชิ้นที่เรายังไม่ได้นำเสนอ แต่ก็ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายทั้งหมด ไม่ได้ดูว่าเป็นใคร แต่ส่งเท่าที่มีข้อมูลหลักฐาน และคำสั่งศาลอาจลงมาไม่พร้อมกัน โดยพยายามรวบรวมและรายงานให้ ภาพรวมตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. ที่เข้าข่ายตามกรอบกฎหมายมีมากกว่า 400,000 URLs โพสต์ที่เห็นเป็นหลักฐานทั้งหมด ให้เจ้าหน้าที่คัดกรองตรวจสอบที่เข้าข่ายความผิดและทยอยดู ไม่ได้เลือกปฏิบัติ หรือเจาะจง
ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่ส่งไปแล้วและมีคำสั่งศาลออกมา ทุกอย่างต้องเดินหน้าต่อไปตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนอันอื่นๆ พยายามอธิบายขั้นตอนตามที่เราเข้าใจ ด้วยความเป็นสื่อมวลชน แต่ละคนทราบดีว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ เพราะวงการสื่อมวลชนมักจะรู้กฎหมายอยู่แล้ว แต่หากยังละเมิด เราก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า การไลฟ์สดสามารถทำได้ แต่หากไลฟ์สดแล้วมีข้อมูลเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมปรากฏอยู่ในไลฟ์ หากเป็นไปได้ก็ไม่ควรไลฟ์สดตอนนั้น อาจจะเอาลง ปิดเสียง เพื่อไม่ให้เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหรือเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย เพราะจะถือว่ามีความผิดด้วย เมื่อพูดว่าสื่อ หลายๆ คนทำตัวเป็นสื่อออนไลน์ ตามที่มีชื่อในคำสั่งจากตำรวจ ว่าเป็นกรณีที่มีความสุ่มเสี่ยง เรามีหน้าที่เก็บรวบรวมหลักฐานและส่งไป ที่เหลือขึ้นอยู่กับทางศาลจะพิจารณา
ส่วนกรณีที่ Voice TV ต้องดูว่าคำสั่งศาลออกมาว่าอย่างไร หากต้องการเปิดบัญชีใหม่ ช่องทาง เพจใหม่โดยไม่ได้ละเมิดกฎหมายก็ถือว่าสามารถทำได้