ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
จากความตอนที่แล้วเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ในบทความที่ชื่อว่า “ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง” [1]
ซึ่งต้องทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแบ่งแยกทรัพย์สินระหว่างทรัพย์สินของแผ่นดิน กับ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกันเป็นที่เรียบร้อย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนานแล้ว
ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลภายใต้การนำของคณะราษฎรย่อมตระหนักรู้อยู่แล้ว จึงได้ตรากฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แยกออกมาต่างหากจากทรัพย์สินของรัฐทั่วไปโดยไม่ได้มีการควบรวมทรัพย์สินให้กลายเป็นของรัฐทั้งหมด เพียงแต่ในช่วงแรกในปี พ.ศ. 2479 มีความพยามในการตรากฎหมายเพื่อ แบ่งทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน (เช่นพระราชวัง ให้สำนักพระราชวังดูแล) ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้บริหารแยกออกจากกัน
จึงย่อมเป็นที่ยุติผ่านการยอมรับในการแบ่งแยกไปโดยปริยายว่าทรัพย์สินและที่ดินแปลงใดเป็นของแผ่นดินหรือรัฐ (เช่น ที่ดินราชพัสดุ ดูแลโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง) ซึ่งได้มีการตรวจสอบอยู่แล้วทั้งงบประมาณและการบริหารทรัพย์สินโดยรัฐบาล กรรมาธิการงบประมาณ และรัฐสภา และทรัพย์สินใดเป็นของพระมหากษัตริย์ที่มีมาอยู่แต่เดิม
อย่างไรก็ตามในช่วงปี พ.ศ. 2480 ได้เกิดเงื่อนไขสำคัญดังนี้
ประการแรก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเองทั้งหมด จนเป็นสาเหตุที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชย์สมบัติ เพราะทรงเห็นว่าเป็นการนำพระราชอำนาจไปตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงกลุ่มเดียว
ประการที่สอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์แทน แต่ทรงเป็นยุวกษัตริย์ มีพระชนมายุเพียง 11 พรรษา และทรงศึกษาและประทับอยู่ต่างประเทศ จึงต้องมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการแทนพระมหากษัตริย์ทั้งหมด
ประการที่สาม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาจากความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะราษฎรครองอิทธิพลเสียงข้างมาก และรัฐบาลอยู่ภายใต้พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นทั้งรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก และคณะผู้สำเร็จราชการ จึงย่อมมีที่มาจากเครือข่ายซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของคณะราษฎรด้วยกันเองแล้ว
ประการที่สี่ มีการตราพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และตราไว้โดยคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2480 โดยมีคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และกรรมการอีกไม่น้อยกว่า 4 คน แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ (ซึ่งในเวลานั้นก็จะถูกแต่งตั้งโดยคณะผู้สำเร็จราชการซึ่งมาจากความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร)
จากเงื่อนไขทั้ง 4 ประการข้างต้น ได้เป็นผลทำให้ “เกิดเรื่อง” การกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อน ในปี พ.ศ. 2480 สรุปได้ดังนี้
ประเด็นแรก มีการอภิปรายทั่วไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เรื่อง สำนักพระราชวัง หรือ กรมพระคลังข้างที่โดยคณะผู้สำเร็จราชการ ได้ซื้อที่ดินจากพระวร วงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 โรงเรียนการเรือน (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต) ในราคา 35 บาทต่อตารางวาง ในขณะที่ราคาที่ดินข้างเคียงราคาเพียง 15 บาทต่อตารางวา
ประเด็นที่สอง มีการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ข้าราชการในกรมราชเลขานุการ สำนักพระราชวัง, คณะกรรมการกำหนดราคาที่ดิน สำนักพระราชวัง, ผู้ใกล้ชิดผู้สำเร็จราชการ และข้าราชการอื่นๆในสำนักพระราชวัง กลับซื้อที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นของตัวเองในราคาถูกๆ หรือเก็บค่าเช่ามาแล้วจ่ายผ่อนซื้อที่ดินในราคาถูกๆ บางรายยังเร่ขายที่ดินให้กับบุคคลสำคัญในรัฐบาลอีกด้วย
สำหรับในกลุ่มนี้ ไม่ใช่เฉพาะชื้อโฉนดที่ดินที่กรมพระคลังข้างที่เป็นเจ้าของเท่านั้น แต่ยังได้ซื้อโฉนดที่ดินซึ่งเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ด้วย เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้วย
ประเด็นที่สาม มีการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายถึงเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ถึงรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาล ผู้ก่อการคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลายคน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 (ซึ่งมาจากคณะราษฎร) รวมถึงข้าราชการในเครือข่าย เร่งซื้อที่ดินจากพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ไม่เว้นแม้แต่ที่ดินหน้าพระราวังจิตรลดารโหฐานด้วย
ประเด็นที่สี่ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีระบุว่า เป็นสิทธิของคณะผู้สำเร็จราชการที่จะให้ใครเปล่าๆ หรือขายให้ใคร ราคาใดก็ได้ เพราะคณะผู้สำเร็จราชการได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และระบุว่ามีผู้ที่ซื้อที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์มากกว่านี้ และเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ก่อนช่วงเวลาที่มีการกล่าวถึงในการตั้งกระทู้ถามด้วย
ประการที่ห้า แม้มีผู้ซื้อที่ดินไปขายคืนกลับสำนักพระคลังข้างที่ รวมถึงผู้ขายที่ดินซื้อคืนกลับจากสำนักพระคลังข้างที่ ด้วยเหตุผลต่างๆกันไป แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ซื้อที่ดินขายคืนกลับกี่ราย ไม่ขายคืนกลับกี่ราย หรือกลับไปซื้อที่ดินภายหลังอีกกี่ราย ซึ่งจะต้องทำการศึกษาและตรวจสอบความถูกต้องต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบางตระกูลดังเช่น “นิรันดร” ได้ปรากฏเป็นข่าวว่ามีทรัพย์สินเป็นที่ดินใจกลางกรุงเทพมหานครมากถึง 90 แปลง มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท โดยระบุว่ามีที่ดินส่วนหนึ่งเป็นมรดกจาก “ขุนนิรันดรชัย” คณะราษฎรสายทหารบก ผู้ใกล้ชิด จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ซึ่งเคยเป็นราชเลขานุการในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งระบุว่าได้ซื้อที่ดินตรงข้ามหน้าวังสวนจิตรลดารโหฐานในสมัยรัชกาลที่ 8 ด้วย [2],[3]
เพื่อประโยชน์ในการถอดบทเรียนประวัติศาสตร์ จึงขอนำการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2480 ดังนี้
“ข้อ ๑ กรมพระคลังข้างที่เดิมขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี แต่โอนไปขึ้นกระทรวงการคลัง เริ่มโอนจริงๆเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. นี้ ก่อนใกล้ๆ จะโอนไปขึ้นกระทรวงการคลังนี้ได้มีการโอนขายอสังหาริมทรัพย์ของกรมพระคลังข้างที่มากที่สุด
ในระยะเวลานี้คือตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม รวมกว่า ๒๕ ราย วันทำสัญญา ผู้ซื้อ ราคา รายนาม คือตามบัญชีในสำเนานั้นอย่างนี้
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่) เป็นเจ้าของ พระยาฤทธิ์อัคเนย์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๒๔๓ อำเภอบางรัก ราคา ๘,๐๐๐ บาท
(พันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ หรือ สละ เอมะศิริ เป็นหนึ่งในสี่ หัวหน้าคณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการการปกครอง 2475 ขณะถูกตั้งกระทู้ถามและถูกอภิปรายพาดพิง ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ : ผู้เขียน)
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่) เป็นเจ้าของ พระยาฤทธิ์อัคเนย์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๑๓๐ อำเภอบางรัก ราคา ๗๐๐ บาท
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่) เป็นเจ้าของ พระยาฤทธิ์อัคเนย์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๖๑๐ อำเภอบางรัก ราคา ๑,๓๐๐ บาท
วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๘๐ พระปกเกล้าฯเป็นเจ้าของ นายนเรศธิรักษ์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๔๑๐๔ อำเภอบางซื่อ ราคา ๔,๐๐๐ บาท
(นายนเรศร์ธิรักษ์ หรือ นายแสวง ชาตรูปะวณิช ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม เป็นปลัดกรม แผนกสารบรรณ สำนักพระราชวัง : ผู้เขียน)
วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายวิลาศ โอสถานนท์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๘๔๕ อำเภอบางรัก ราคา ๖,๐๐๐ บาท
(นายวิลาศ โอสถานนท์เป็นผู้ก่อการของคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 : ผู้เขียน)
วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๘๐ พระมงกุฎเกล้าฯเป็นเจ้าของพระพิจิตรราชสาสน์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๔๒๔๓ อำเภอบางซื่อ ราคา ๕,๙๔๕ บาท
(พระพิจิตรราชสาสน์ หรือ สอน วินิจฉัยกุล ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม เป็นข้าราชการในกรมเลขานุการในพระองค์ :ผู้เขียน
ต่อมาลูกหลานได้มีหนังสือชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการซื้อที่ดิน แต่เป็นการเช่าเดือนละ ๔ บาท และอยู่ระหว่างหาหลักฐานเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงนี้ต่อไป))
วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงนิเทศกลกิจ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๕๘๖ อำเภอพระนคร ราคา ๗,๐๐๐ บาท
(หลวงนิเทศกลกิจ หรือ กลาง โรจนเสนา เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายทหารเรือ ขณะถูกตั้งกระทู้ถามพาดพิง ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 : ผู้เขียน)
วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายเอก ศุภโปดก เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๑๓๓๖ อำเภอบางกอกใหญ่ ราคา ๒,๔๘๘ บาท
(นายเอก ศุภโปดก เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน :ผู้เขียน)
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงชำนาญนิติเกษตร์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๘๔๙ อำเภอบางรัก ราคา ๙,๒๓๑ บาท
(หลวงชำนาญนิติเกษตร์หรือ นายอุทัย แสงมณี เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกตั้งกระทู้ถามพาดพิง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 และเป็น หัวหน้าสำนักโฆษณาการ : ผู้เขียน)
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายแสวง มหากายี เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๕๒๒ อำเภอบางรัก ราคา ๔,๐๗๐ บาท
(นายแสวง มหากายี เป็นบุตรชายคนโตของ มหาอำมาตย์ตรีพระยานครพระราม (สวัสดิ์) เลขานุการประจำพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 : ผู้เขียน)
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายสอน บุญจูง สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๓๘๓, ๒๓๙๕, ๒๔๐๐ อยู่ที่สำเพ็ง ราคา ๕,๕๘๔ บาท
(นายสอน บุญจูง เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกอภิปราย ทำงานอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี :ผู้เขียน)
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายนรราชจำนง(สิงห์ไรวา) เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๑๑๐ อำเภอบางรัก ราคา ๖,๖๑๔ บาท
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงอรรถสารประสิทธิ์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๔๗๓ อำเภอบางรัก ราคา ๑๐,๗๒๔ บาท
(หลวงอรรถสารประสิทธิ์หรือ ทองเย็น หลีละเมียร เป็นผู้ก่อการของคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี : ผู้เขียน)
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ พระมงกุฎเกล้าฯ เป็นเจ้าของนายประจวบ บุรานนท์สำนักพระราชวัง เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๖๙๔๓ อำเภอบางซื่อ ราคา ๑๑,๗๙๐ บาท
(นายประจวบ บุรานนท์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดิน พระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง : ผู้เขียน )
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายจำนงค์ราชกิจ(อยู่กับพระองค์เจ้าอาทิตย์) เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๔๓๓ อำเภอพระนคร ราคา ๖,๑๓๔ บาท
(นายจำนงราชกิจหรือ นายจรัญ บุณยรัตพันธุ์ เป็นข้าราชการในกรมราชเลขานุการในพระองค์ อยู่กับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 : ผู้เขียน )
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ ร.อ.กระวี สวัสดิบุตร เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๘๐, ๔๘๙, ๕๓๐ อำเภอดุสิต ราคา ๕,๔๘๐ บาท
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ ร.อ.กุหลาบ กาญจนสกุล ร.น. เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๕๖๐, ๒๕๖๙ อยู่ที่สำเพ็ง ราคา ๖,๗๓๔ บาท
(ร.อ.กุหลาบ กาญจนสกุล ร.น. หรือ กำลาภ กาญจนสกุลเป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายทหารเรือ: ผู้เขียน)
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๖๑๒๘ อำเภอบางซื่อ ราคา ๑๐,๓๐๓ บาท
(หลวงยุทธศาสตร์โกศลหรือ ประยูร ศาสตระรุจิ ทหารเรือ ต่อมาในปี 2490 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ : ผู้เขียน)
วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ พระดุลย์ธารณปรีชาไวท์ ทำหน้าที่ผู้สั่งราชการสำนักพระราชวัง เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๔๘๘๖ สำเพ็ง ราคา ๑๔,๐๐๐ บาท
(พระดุลย์ธารณปรีชาไวท์ หรือยม สุทนุศาสน์ ขณะถูกพาดพิงจากการตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้สั่งราชการสำนักพระราชวัง : ผู้เขียน)
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายราย แต่หาหลักฐานยังไม่ได้ ถามข้อ ๑ นี้ มีความจริงเพียงไร” [4]
การตั้งกระทู้ถามข้างต้น ยิ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ก่อนที่จะมีใครคิดปฏิรูปนำทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปฝากเอาไว้กับนักการเมือง หนึ่งภารกิจที่คณะราษฎรทำแล้วเสร็จหรือยัง คือ ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปนักการเมืองให้มีความซื่อสัตย์ สุจริตเพียงพอหรือยัง และกลไกการตรวจสอบทั้งรัฐสภาและองค์กรอิสระตรวจสอบ ขัดขวาง และปราบปรามการทุจริตได้จริงหรือไม่ และมีประสิทธิภาพเพียงใด
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
อ้างอิง
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, MGRonline, 6 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3566001633459780/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000112634
[2] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, เปิดกรุที่ดิน หมื่นล. ตระกูล นิรันดร + ประกาศหาผู้ร่วมทุน ยันไม่ขาย/เตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์ พัฒนาที, 2 กุมภาพันธ์ 2551
https://www.thaiproperty.in.th/board/คลังกระทู้/เปิดกรุที่ดิน-หมื่นล-ตระกูล-นิรันดร-ประกาศหาผู้ร่วมทุน-ยันไม่ขายเตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์-พัฒนาที-23492
[3] Isranews, พลิกปูม‘ขุนนิรันดรชัย’คนสนิทจอมพล ป. เจ้าของที่ดินหมื่นล.ก่อนลูกหลานฟ้องแย่งมรดก, 12 พฤศจิกายน 2561
https://www.isranews.org/isranews-scoop/71075-isranews11-71075.html
[4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480