xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ!? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"


ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งยังมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้มีการแบ่งแยกที่ดินที่รวมกันอยู่ภายใต้การดูแลของพระมหากษัตริย์ออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกคือทรัพย์สินของแผ่นดิน (Nation property)เช่นที่ดินราชพัสดุและที่ดินของรัฐทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์

ส่วนที่สอง คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ (Royal property) ที่มีไว้เพื่อใช้ในการส่วนพระองค์โดยทรัพย์สินส่วนของพระองค์ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเป็น“กรมพระคลังข้างที่” และในเวลาต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็ได้มีการแยกออกมาเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

นั่นแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ กับทรัพย์สินของแผ่นดินได้ถูกแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว


ในเวลาต่อมาภายหลังจากการที่“คณะราษฎร”ได้ทำการปฏิวัติสยามประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2475แล้วประเทศไทยก็ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2476

การเลือกตั้งครั้งแรกนี้เป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขต โดยมีวิธีการเลือกตั้งแบบทางอ้อม กล่าวคือ ประชาชนในพื้นที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกในระดับตำบล จึงจะเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง ได้ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 จำนวน 78 คน ส่วนผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งมีจำนวนเท่ากัน กลับกลายเป็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเอง

6 มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ ก็เพราะอำนาจการปกครองกับผูกขาดอยู่กับคนก่อการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎรโดยทรงให้เหตุผลความตอนหนึ่งว่า :

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร์”

หลังจากนั้นคณะราษฎรจึงกราบบังคมทูลอัญเชิญ“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8” ขึ้นครองราชย์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันนทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระเยาว์และยังทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศ จึงใช้มติสภาซึ่งคณะราษฎรกุมอำนาจเสียงข้างมาก ให้ความเห็นชอบคณะผู้สำเร็จราชการดำเนินการแทนพระองค์ในทุกเรื่อง

ต่อมาเกิดการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเมื่อวันที่ 27 และ 28 กรกฎาคม 2480 จึงทำให้เกิดบันทึกในสภาว่ามีการอภิปรายทั่วไปเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลแบบไม่ลงมติเรื่อง“การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”

โดยนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีผู้ตั้งกระทู้ถาม และนายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครเป็นผู้ขอเปิดอภิปรายทั่วไป พร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกหลายคนได้อภิปรายเรื่องนี้กล่าวสรุปความได้ว่า :

ในขณะระหว่างการจัดการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในความรับผิดชอบของผู้สำเร็จราชการจากคณะราษฎรเกิดข้อสงสัยในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินพระคลังข้างที่และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่มีมาก่อน
โดยส่วนของพระคลังข้างที่ ได้มีการให้กรมพระคลังข้างที่ซื้อที่ดินของผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลคณะราษฎรในราคาแพงๆ และมีการขายและเช่าที่ดินพระคลังข้างที่ในทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้กับหลายคนแก่ผู้ก่อการคณะราษฎรในราคาถูกๆ เพื่อไปขายต่อหรือเช่าต่อในราคาแพงต่างกันหลายเท่า

โดยในการอภิรายในครั้งนั้นได้มีการกล่าวถึงการตราพระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปขึ้นอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความพยายามเร่งเพื่อแก้ไขปัญหาบางประการ แต่กลับปรากฏว่ามีการยื้อหน่วงประกาศใช้ไปถึง 3 เดือน 20 วัน และในช่วงเวลานั้นก็เกิดการ“เร่งโอนขายที่ดินพระคลังช้างที่” อีกจำนวนมาก

โดยหนึ่งในการอภิปรายของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้การระบุชื่อนั้นยังรวมถึงคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดิน อันได้แก่ขุนลิขิตสุรการ และนายประจวบ บุรานนท์ ก็ได้มีที่ดินในมือหมดแล้วเช่นกัน ปรากฏเป็นคำอภิปรายความตอนหนึ่งว่า:

“จะกล่าวถึงความคิดเห็นในเรื่องการตั้งคณะกรรมการราคา กรรมการที่ตั้งขึ้นในเวลานี้สำหรับราคาคือ“ขุนลิขิตสุรการ” และ“นายประจวบ บุรานนท์” คนทั้ง ๒ คนนี้ได้ซื้อที่ดินไว้ในมือแล้วทั้งหมด” [1]

ซึ่งจะเป็นความจริงหรือเท็จเพียงใดหรือไม่ สังคมไทยก็ควรจะแสวงหาความจริงทางประวัติศาสตร์นี้ให้ปรากฏต่อไปเช่นกัน



ในการอภิปรายเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในครั้งนั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกคณะผู้สำเร็จราชการเองจึงย่อมสามารถทำได้และทำอะไรก็ได้ แม้จะให้ที่ดินเปล่าๆกับใครก็ได้ไม่เป็นความผิด ดังคำอภิปรายของของพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีความว่า :

“ข้าพเจ้าถือว่าท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งสภาฯ นี้ได้เลือกไปแล้ว ได้ตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการมีอำนาจพอที่จะวินิจฉัยว่า ควรจะทรงพระมหากรุณาหรือไม่อันนี้เมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหน้าที่ที่จะวินิจฉัยและจะให้เปล่าๆก็ได้ แต่ว่าจะให้เปล่าๆ หรือเอาแต่น้อยหรืออย่างไรนั้นอาจทำได้ ไม่ผิด”[1]

แม้ในการอภิปรายในครั้งนั้นอาจจะมี“บัญชีหลายชื่อ”ของคณะราษฎร ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้มีการเปิดเผยว่ามีใครในคณะราษฎรได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาใดบ้าง และที่ดินแปลงใดบ้าง แต่จากการอภิปรายในครั้งนั้นพระยาพหลพลพยุหาเสนานายกรัฐมนตรีแจ้งในที่ประชุมว่าตัวเองไม่ได้ซื้อที่ดินเอาไว้

ส่วนที่ถูกระบุในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนั้นว่าได้“ถูกเสนอขาย”ให้ซื้อที่ดินจากทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ประมาณครึ่งปีก่อนหน้าวันอภิปรายนั้น ก็คือนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) แต่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แม้จะยอมรับว่ามีคนเสนอมาขายที่ดิน แต่ก็แจ้งว่าไม่ได้ซื้อที่ดินนั้น และไม่สมัครใจจะแจ้งว่าใครเป็นคนนำมาเสนอขาย และถูกเสนอขายในราคาเท่าไหร่ ดังคำชี้แจงในการอภิปรายนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้ามีอยู่บ้าง เป็นเวลาประมาณตั้งปีครึ่งมาแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และในการที่เขาจะขายนั้นก็เป็นเรื่องทั่วๆไป ซึ่งราคาเท่าไหร่ ข้าพเจ้าไม่สมัครใจจะกล่าว แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ซื้อ ไม่ใช่ว่าจะมีเรื่องอะไรเกี่ยวพาดพิงถึงในเรื่องนี้ไม่ ข้าพเจ้าขอชี้แจงเพียงเท่านี้” [1]

อีกคนหนึ่งที่นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร ได้มีการการอภิปรายในครั้งนั้นก็คือพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โดยนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้อภิปรายโดยได้ทราบข่าวว่า พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ซื้อที่ดินดังกล่าวเช่นกันประมาณ 5 แปลง 

แต่หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โอนคืนกลับก่อนการอภิปรายในวันนั้นจะเกิดขึ้นประมาณ 2-3 เดือน

โดยการอภิปรายของนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ความบางตอนที่น่าสนใจระบุว่า

“..ข้าพเจ้าเห็นว่าได้มีระเบียบแน่นอนแล้วว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รัฐบาลนี้มีนโยบายการเมือง โดยมีสำนักพระราชวังเป็นผู้จัดการควบคุม โดยขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและมีรัฐมนตรีนายหนึ่งควบคุมสั่งการในสำนักนี้

ข้าพเจ้าอยากจะแยกกิจการนี้ออกเด็ดขาดจากรัฐบาลนี้ในส่วนอื่น และแยกกิจการนี้ออกจากอิทธิพลของคณะรัฐมนตรี ข้าพเจ้าเป็นห่วงเหตุว่าเราอยู่ในบทเฉพาะกาล และจะต้องอาศัยคณะนี้ดำเนินการปกครองต่อไปอีก 6-5 ปี

ข้าพเจ้าได้ทราบจากผู้ก่อการบางคนว่า บางคนเขาได้ซื้อไปโดยสุจริต ไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย พอซื้อแล้วได้ยินเสียงโจษจันก็รีบเอามาคืนก็มี บางคนที่ซื้อไปแล้วเห็นว่าอาจจะมีมลทินด้วย บางท่านก็เลยเอามาคืน...

...ในการที่จะจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น จะจัดให้คงอยู่และเจริญขึ้น ไม่ใช่ทำให้เสื่อมลงหรือหมดไป...

..พระคลังข้างที่จะต้องโอนทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์นี้มาให้แก่พระคลังมหาสมบัติดำเนินการต่อไป เพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือคราน์ ปรอบเปอร์ตี้ เรียกว่าเป็นของแผ่นดิน ก่อนที่จะโอนกิจการนี้มายังพระคลังมหาสมบัติ...

...เพราะฉะนั้นก่อนที่จะโอนมาท่านจะเห็นข้อเท็จจริงเป็นที่สังเกตุได้ว่ามีการรีบขายที่ดินอยู่เป็นอันมาก และข้าพเจ้าได้ทราบว่ามีผู้ดูเหมือนไปเที่ยวได้เร่ขายให้แก่ผู้ที่ได้กล่าวนามมาแล้วให้ไปขอที่ดินนี้ และดูเหมือนได้มีผู้ก่อการบางคนเข้าไปซื้อที่ดินนี้..

...อันหนึ่งที่ท่านได้กระทำภายหลังเมื่อขายกันแล้วก็ซู่ซ่าอยู่ในท้อง ตลาดที่ลือกันแซ่สำหรับรัฐมนตรีว่าการกลาโหม ดูเหมือนห้าแปลง แล้วท่านได้โอนกลับไปเสียเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา
และมีท่านรัฐมนตรีบางคนได้ถูกเชิญให้ซื้อ ข้าพเจ้าขอเอ่ยนาม คือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่ท่านไม่ยอมเกี่ยวข้องด้วย”
[1]

ในขณะที่นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ได้อภิปรายความบางตอนที่น่าสนใจว่า:
“เป็นการสมควรหรือไม่ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มีราคาหลายล้านบาท แล้วมาใช้วิธีปกครองแบบนี้ควรหรือยัง นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพูดกัน...

...ตั้งเจ้าหน้าที่ชนิดไหน จริงอยู่เมื่อครั้ง“พระยามานวราชเสวี” เมื่อเป็นประธานกรรมการ พระยามานฯตั้งหลักวางไว้เป็นระเบียบเก่าว่าถ้าเกี่ยวกับราคาเกินกว่า 1,000 บาท ต้องผ่านคณะกรรมการ... แต่ในกรณีนี้พิจารณา 3 วันแล้วไปเลหลัง คล้ายเป็นว่าขายที่โดยไม่ผ่านกรรมการ เอาไปขายเดี๋ยวนี้ถ้าไม่ได้ 2 เท่า ข้าพเจ้าให้ตัดหัว แล้วน่าดูไหม ในฐานะที่เราควบคุมงานของแผ่นดิน ควบคุมทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์

นโยบายของพระคลังข้างที่ได้ทำนั้น คือ มีคนคนหนึ่งคือขุนลิขิตฯ เป็นผู้ถือบัญชีอยู่ในมืออยู่แล้วไปเร่ขายให้คนสำคัญๆซื้อไว้แล้วตัวจึงซื้อบ้างคือที่ดิน “บางลำภู” ราคาหลายหมื่นหลายพันบาท เก็บค่าเช่าผ่อนส่ง แล้วในเดือนหนึ่งยังเข้ากระเป๋าร้อยกว่าบาท

นี่หมายความว่ากระไรนี่ นี่หรือเรารักษาทรัพย์พระมหากษัตริย์ แล้วเกียรติยศอันนี้อยู่ที่ไหน ใครรับผิดชอบ งามไหม ใครจะไว้วางใจ สมมติว่าเราเป็นพระกษัตริย์ เราโตขึ้นมาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อเขาเล่นกันอย่างนี้ใช่ไหม นี่คือนโยบาย นโยบายอย่างนี้ไม่ควรเป็นอันขาด...

...ถ้าพูดตามท่านจะเห็นว่าผู้ที่มีอำนาจนั้นให้พระคลังข้างที่ ซื้อที่ของตนเก้าหมื่นบาทคิดเฉลี่ยตารางวา ๓๕ บาท ขณะเดียวกัน ที่ข้างเคียงตารางวาละ ๑๕ บาท หมายความว่าอย่างไร นี่หรือเป็นวิธีรักษาพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ขายที่ดินราคาเก้าหมื่นบาท ราคาตารางวาละ ๓๕ บาท คือโรงเรียนการเรือน เราไว้วางใจได้หรืออย่างนี้...”
[1]

นอกจากนั้นนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้อภิปรายในประเด็นที่น่าสนใจ ความบางตอนว่า:

“...และเมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นตัวแทนในการมอบอำนาจทั่วไป ไว้ในการจัดการขายอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่ให้อสังหาริมทรัพย์ไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่าไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นการกระทำที่กระทำมาแล้วจึงเป็นโมฆะทั้งนั้น...

...แทนที่รัฐบาลจะประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปขึ้นอยู่ในความควบคุมของกระทรวงการคลังโดยรีบด่วนก็หาไม่ กลับได้หน่วงเหนี่ยวเอาไว้จนประกาศเมื่อวันที่ ๒๐ เดือนนี้ ซึ่งเป็นเวลาที่สภาลงมติไปแล้ว ๓ เดือนกับ ๒๐ วัน...


...ก่อนที่กฎหมายนั้นจะประกาศ ก็ได้มีการโอนที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้แก่บุคคลหลายคน การโอนนั้นเป็นการโอนโดยกะทันหัน และเป็นการโอนที่เรียกว่าไม่งาม

เป็นต้นว่าการโอนทรัพย์สิน เราน่าจะได้พิจารณาถึงการังวัดและการอะไรต่างๆ เช่นเราควรจะมีการโฆษณาและอื่นๆ เป็นเวลานานแต่ความจิงการโอนนี้ได้กระทำกันเพียงเวลาวันสองวัน...

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นมีอยู่ ๓ ท่าน ใน ๓ ท่านนั้น ก็ได้รับประโยชน์บ้าง และท่านไม่ได้รับประโยชน์ดังที่สมาชิกได้กล่าวมา
...ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นเองพระคลังข้างที่กลับโอนที่ของตนเองอย่างกะเรี่ยกะราดไปให้แก่บุคคลหลายคนดังที่ปรากฏตามที่ได้โอนมาแล้วดังรายนามที่สมาชิกได้อ่าน”
[1]

ผลการอภิปรายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2480 ได้ส่งผลทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 แต่ต่อมาเนื่องจากอำนาจยังอยู่ในคณะราษฎรเป็นหลักพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงกลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเหมือนเดิมในวันที่ 9 สิงหาคม 2480

โดยสิ่งที่ควรบันทึกอีกประการหนึ่งคือ ภายหลังจากการที่พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพียง 3 วันก็ได้ปรากฏว่า ช่วงบ่ายของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของวันที่ 12 สิงหาคม 2480 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นพวกพ้องของคณะราษฎร 3 คน รวมทั้งคนที่มีชื่อว่าเป็นผู้ซื้อที่ดินของพระคลังข้างที่ด้วยได้กรูกันเข้าไปที่สโมสรรัฐสภา ยกเก้าอี้และตัวของนายเลียง ไชยกาล นำออกจากสโมสรรัฐสภา และนำนายเลียง ไชยกาล และเก้าอื้โยนลงน้ำ หน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน จนตัวเปียกและเปื้อนโคลน [2]

อย่างไรก็ตาม ก็มีคำถามหนึ่งที่หลายคนสงสัยในเรื่องที่ว่าเหตุใดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2480พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเวลานั้น ไม่ได้มีการตอบการพาดพิงในสภาผู้แทนราษฎรเลยพันเอก หลวงพิบูลสงครามซึ่งเป็นหนึ่งในคนสำคัญของคณะราษฎร ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่เพื่อเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวจริงหรือไม่ และเหตุใดถึงยอมคืนที่ดินพระคลังข้างที่

ซึ่งไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร แต่พันเอกหลวง พิบูลสงคราม ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อพร้อมกับการลาออกในวันที่ 28 กรกฎาคม2480 ความว่า:

“เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ข้าพเจ้ามีความคิดว่า เมื่อออกจากราชการแล้วก็ใคร่จะไปปลูกบ้านพักอาศัยตามควรแก่ฐานะจึงได้ให้ผู้ชอบพอไปหาซื้อที่ ขณะนั้นมีผู้แนะนำให้ซื้อที่ของพระคลังข้างที่บริเวณหน้าวังจิตรลดารโหฐานเพราะกำลังตัดขายอยู่

ข้าพเจ้าเห็นว่าพอสมควรแก่กำลังจะซื้อได้ จึงได้ตกลงซื้อไว้ ๒ ไร่ ราคาไร่ละ ๔,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๘,๐๐๐ บาท ทางพระคลังข้างที่ก็จัดการโอนที่ดินนั้นให้ข้าพเจ้า ประมาณเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐

ครั้นต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้ไปดูที่นั่นก็ปรากฏว่ามีบ้านเรือนราษฎรปลูกอยู่กันแน่นหนา จึงมาคิดว่าแม้ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของที่ดินรายนี้ ก็ต้องขับไล่ราษฎรให้รื้อถอนไปเป็นการลำบาก จึงได้ขอคืนที่ทั้งหมดกลับไปพระคลังตามเดิมในเดือนนั้นเอง โดยเหตุนี้จึงได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์นี้ว่าข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องด้วย

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้คิดเอาว่าการที่ข้าพเจ้ากระทำไปอาจเป็นการผิดศีลธรรมอยู่ จึงได้มีผู้ยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าววิจารณ์กันขึ้นนั้น เพื่อเป็นการล้างมลทินของข้าพเจ้าๆ จึงได้ไปเสนอคณะรัฐมนตรี ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งแต่เช้าวันนี้

ทั้งนี้หวังว่าทหารทั้งหลาย คงให้อภัยแก่ข้าพเจ้าที่บังเอิญมาตกอยู่ในฐานะเช่นนี้ และข้าพเจ้าขอร้องเพื่อนทหารทั้งหลายเป็นครั้งสุดท้าย ให้ช่วยกันรักษาความสงบไว้ให้จงดีสืบไป”
[3]

นั่นก็แสดงว่าในขณะที่พันเอก หลวงพิบูลสงครามได้คืนที่ดินพระคลังข้างที่นั้น อยู่บนเหตุผลของเรื่อง“ความยุ่งยากในการขับไล่ราษฎรและการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน”และไม่ได้เป็นไปด้วยความรู้สึกว่าเป็นความผิดหรือเป็นการกระทำไม่สมควร

และการ“ลาออก” จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 นั้นก็เป็นการ“ลาออกเพียงชั่วคราว” เพราะในความเป็นจริง แล้วพันเอก หลวงพิบูลสงครามก็กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกเหมือนเดิมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2480 ภายหลังจากการที่พระยาพหลพลพยุหเสนากลับมาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงวันเดียว ด้วยอำนาจทั้งหลายยังอยู่ภายใต้การกำหนดโดยคณะราษฎร

คำถามมีอยู่ว่า บุคคลที่พันเอก หลวงพิบูลสงครามกล่าวถึงที่ว่าได้ให้“ผู้ชอบพอ”ไปหาซื้อที่ ขณะนั้นมี“ผู้แนะนำ”ให้ซื้อที่ของพระคลังข้างที่บริเวณหน้าวังจิตรลดารโหฐานนั้นเป็นใคร และใครเป็นผู้กำหนดนโยบายในคณะผู้สำเร็จราชการตัดขายที่ดินพระคลังข้างที่เช่นนั้น

และข้อสำคัญขนาดที่ดินหน้าวังยังเอามาตัดแบ่งขายกันได้ จึงย่อมเกิดคำถามว่ามีใครในคณะราษฎรได้ประโยชน์ในการนำสมบัติของสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประโยชน์และทรัพย์สินส่วนตัวบ้างหรือไม่

ส่วนจะมีคณะราษฎรคนใดจะถึงขั้นเปลี่ยนชื่อรับโอนเป็นคนอื่นเป็นหุ่นเชิดเพื่อปกปิดตัวเองหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตามและต้องค้นหาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตัวละครอีกคนหนึ่ง ที่น่าจับตาในบรรดาผู้ก่อการของคณะราษฎรซึ่งมีความใกล้ชิดกับพันเอกหลวงพิบูลสงคราม คือ พันตรีขุนนิรันดรชัย (สเหวก นีลัญชัย หรือ เสหวก นิรันดร)เป็นคณะราษฎรสายทหารบก กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ที่คอยช่วยเหลือสายทหารในการก่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 จนกระทั่งประสบความสำเร็จ

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า“ตระกูลนิรันดร”ซึ่งเป็นทายาทของ“ขุนนิรันดรชัย”กลายเป็นมหาเศรษฐีที่ดิน 90แปลงใจกลางกรุงเทพมหานคร เช่น สาทร วิทยุ ฯลฯ มูลค่าหลายหมื่นล้านบาทโดยมีส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจาก“ขุนนิรันดรชัย”

ซึ่งประชาชนทั่วไปคงไม่วันจะทราบว่าจะมีหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรจะเป็นอภิมหาเศรษฐีที่ดินในกรุงเทพมหานคร ถ้าไม่เกิดกรณีพิพาทเพราะลูกหลานทายาท กำลังมีการฟ้องร้องมรดกของขุนนิรันดรชัยกันอยู่จนปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

“ที่ดินดังกล่าวยังรวมถึงที่ดินตรงข้ามด้านหน้าวังสวนจิตรลดาโดยระบุว่าเดิมรัชกาลที่ 8พระราชทานพื้นที่ให้ประมาณ 1ไร่ต่อมามีการซื้อเพิ่มเติมรวม 6-7แปลงประมาณ 10ไร่เศษโดยซื้อมาตารางวาละ 4บาท (ขณะนั้น)ส่วนบริเวณหน้าวังซื้อมาในตารางวาละ 250บาท (ขณะนั้น)อดีตเป็นสวนผักแต่ปัจจุบันราคาซื้อขายที่ดิน (ช่วงปี 2551)ตกอยู่ที่ 2.5แสนบาท/ตารางวาเพราะสามารถก่อสร้างตึกสูงได้เพียง 4ชั้นเท่านั้น”[4] [5]

ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินของ“ขุนนิรันดรชัย”ที่กล่าวมาข้างต้นถูกระบุเอาไว้ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศราเมื่อวันที่ 12พฤศจิกายน 2561ซึ่งได้จัดทำรายงานความสัมพันธ์ของขุนนิรันดรชัยในคณะราษฎรและเป็นผู้ประสานระหว่างรัฐบาลและคณะผู้สำเร็จราชการความตอนหนึ่งว่า

ขุนนิรันดรชัยอยู่ทำงานในสายรับใช้‘ผู้ใหญ่’มาโดยตลอดจนจอมพล ป.ไว้ใจเป็นอย่างมากกระทั่งถูกแต่งตั้งเป็นคนประสานระหว่างรัฐบาล (ช่วงจอมพลป.เป็นนายกรัฐมนตรี)กับคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (สมัยรัชกาลที่ 8ทรงครองราชย์)โดยมีนายปรีดี พนมยงค์เป็นแกนนำในกลุ่มคณะทำงานชุดนี้และมีขุนนิรันดรชัยเป็นเลขานุการคณะทำงานผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันททมหิดล รัชกาลที่ 8

โดยภายหลังมีการตั้งคณะทำงานผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไม่นานนัก คณะราษฎรบางสาย ได้ชวนกันจับจองกว้านซื้อที่ดินใจกลางเมือง ทำเลเลิศหรู ไม่ว่าจะเป็นที่ดินแถวถนนสาทร ถนนวิทยุ เป็นต้น...

ขุนนิรันดรชัย ฝากตัวรับใช้จอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่หลายปี รวมถึงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งสงครามสิ้นสุดลง ฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระเห็จระเหินหนีขอลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ บทบาทของขุนนิรันดรชัยจึงหมดลงไปด้วยเช่นกัน”
[3],[5]

บทเรียนข้างต้น มีสิ่งที่ต้องตั้งถามหาความจริงกันต่อไปว่า ยังมีใครในคณะราษฎรได้ที่ดินพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปบ้างหรือไม่ และจำนวนเท่าไหร่ และสามารถที่จะนำกลับคืนมาได้หรือไม่อย่างไร

นอกจากนั้น บทเรียนข้างต้น อาจจะทำให้ช่วยเตือนสติเป็นกรณีตัวอย่างคำอธิบายอีกมุมหนึ่งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 มาตรา 17 ที่ได้ลงประชามติไปแล้วว่าในกรณีที่ต้องมีผู้สำเร็จราชการต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น แต่ต่อมาภายหลังต้องมีการแก้ไขว่าการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการหรือคณะผู้สำเร็จราชการไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น มีประโยชน์และโทษอย่างไร จากกรณีศึกษาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

แต่สิ่งที่ผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่ว่า ภารกิจอันสำคัญของคณะราษฎร น่าจะยังไม่เสร็จสิ้น และมีสิ่งที่ประชาชนจะต้องดำเนินการต่อไป ก็คือ...

“การปฏิรูปนักการเมือง” ที่ทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงตลอดมา ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหารก็ตาม
ข้อมูลข้างต้นเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์มีหลายมุม การศึกษารอบด้านในทัศนะที่แตกกันควรจะได้รับการแลกเปลี่ยนกันตั้งแต่สถาบันการศึกษาในห้องเรียนหรือไม่อย่างปลอดภัย แทนที่จะปล่อยให้มีการถูกนำเสนอและคุยกันเองผ่านโซเชียลมีเดียที่มีแต่ข้อมูลด้านเดียวจากคนกลุ่มเดิมๆ

ด้วยความปรารถนาดี


ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง :
[1] บันทึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 9 ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, 27 กรกฎาคม 2480
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-09.pdf

[2] นรนิติ เศรษฐบุตร, เลียง ไชยกาล, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เลียง_ไชยกาล

[3] เว็บบอร์ดวิชาการ, หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ.อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.75

[4] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, เปิดกรุที่ดิน หมื่น ล.ตระกูล นิรันดร + ประกาศหาผู้ร่วมทุน ยันไม่ขาย/เตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์ พัฒนาที, 2 กุมภาพันธ์ 2551
https://www.thaiproperty.in.th/board/คลังกระทู้/เปิดกรุที่ดิน-หมื่นล-ตระกูล-นิรันดร-ประกาศหาผู้ร่วมทุน-ยันไม่ขายเตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์-พัฒนาที-23492

[5] Isranews, พลิกปูม‘ขุนนิรันดรชัย’คนสนิทจอมพล ป. เจ้าของที่ดินหมื่นล.ก่อนลูกหลานฟ้องแย่งมรดก, 12 พฤศจิกายน 2561
https://www.isranews.org/isranews-scoop/71075-isranews11-71075.html


กำลังโหลดความคิดเห็น