xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 3) ลีลาเจ้าคุณพหลฯ ตอบกระทู้กรณีทีมคณะราษฎร แห่ซื้อที่ดินของพระมหากษัตริย์ราคาถูกๆ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


จากกรณีที่นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถาม พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ต่อกรณีที่มีบุคคลในรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ข้าราชในสำนักราชเลขาธิการ ข้าราชการในรัฐบาล ข้าราชการภายใต้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร) คณะกรรมการกำหนดราคาพระคลังข้างที่ ได้แห่เข้าซื้อที่ดินจากการตัดแบ่งข่ายที่ดินพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง แล้วผ่อนในราคาถูกจริงหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์ ทรงศึกษาและประทับอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่คณะผู้สำเร็จราชการพระองค์ก็มาจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรที่มีเสียงของสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการคัดเลือกจากคณะราษฎรกันเอง ปรากฏตามบทความตอนที่แล้วที่ชื่อว่า ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 2) กระทู้ประวัติศาสตร์ “ที่ดินของพระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ของใคร? [1]

เหตุการณ์ดังกล่าว มีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอความจริงในประวัติศาสตร์ให้ปรากฏ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโลภ โกรธ หลง ของมนุษย์ที่อยู่ในกลุ่มการเมืองของคณะราษฎร ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจแล้วเข้ามาบริหารหรือเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้กลายมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เป็นลักษณะ “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” ของนักการเมือง นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองโดยปราศจากพระมหากษัตริย์ซึ่งประทับอยู่ต่างประเทศ

โดยการถามและการตอบกระทู้ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 นั้น ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ มี 3 กระทู้ โดยกระทู้แรก นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้คำถามเอาไว้ 8 ข้อก่อน เมื่อตั้งคำถามครบทั้ง 8 ข้อแล้ว หลังจากนั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นตอบคำถามทั้ง 8 ข้อรวดเดียวเช่นกัน และเพื่อความสะดวกในการพิจารณาในการเปรียบคำถามและคำตอบกระทู้ดังกล่าวนี้ จึงขอนำกระทู้และคำถามและคำตอบมาอยู่รวมกันทีละข้อดังนี้


ข้อ 1 สำหรับประเด็นที่นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถามบุคคล แปลงที่ดิน ราคาที่ซื้อจากทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ระหว่างวันที่ 1 ถึง 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ว่าเป็นความจริงหรือไม่

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามนี้ว่า :

“ข้าพเจ้าขอตอบในข้อ 1 ว่า โอนในระยะนี้ก็มี โอนมาก่อนๆ ก็มี” [2]

(คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่ามีรายชื่อและการโอนที่ดินมาก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2479 เสียอีก ซึ่งไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และเป็นใครบ้าง : ผู้เขียน)

ข้อ 2 นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีถามต่อว่า “ราคาที่ขายให้นั้น โดยมากขายผ่อนชำระเป็นรายเดือนใช่หรือไม่” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 2 นี้ว่า :


“ข้อ 2 ขอตอบว่า ขายผ่อนชำระตามสมควรเป็นรายๆไป” [2]

(คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่ซื้อที่ดินซึ่งมีแต่พวกพ้องของรัฐบาลนั้น เป็นการผ่อนซื้อ ไม่ใช่การจ่ายเงินสดเพื่อซื้ออันเป็นการเอื้อผลประโยชน์ในเรื่องกระแสเงินสด ซึ่งเป็นความจริงตามมีการตั้งกระทู้ถาม : ผู้เขียน)

ข้อ 3 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามกึ่งอภิปรายว่า:

“ราคาที่ขายนั้น ถูกมากใช่หรือไม่ ถ้าท่านตอบไม่ใช่ ท่านคงตอบว่าคิดราคาพอดี ข้าพเจ้าขอถามว่า เหตุไรจึงไม่ประกาศขายให้มหาชนรู้ เพื่อที่จะซื้อ เพราะเรื่องนี้ปรากฏว่าขายให้พวกกันเองแทบทั้งนั้น ทำไมจึงไม่ขายให้คนอื่นๆ ที่เขาจะซื้อได้ดียิ่งกว่านี้

ถ้าท่านตอบว่า เพราะไม่ทราบว่าจะมีผู้ซื้อ ข้าพเจ้าก็ขอถามต่อไปว่าท่านคิดหรือไม่ว่า เจ้าพนักงานก็อยู่ในกรุงเทพฯ หลายๆปี และทำการรักษาประโยชน์โดยเฉพาะ น่าจะมีความรู้ดีกว่าเด็กๆเช่นข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังประมาณราคาได้ว่าที่ขายกันนั้น ถูกอย่างน่าสงสัยนัก

และเรื่องนี้ท่านจะทำดังต่อไปนี้ได้หรือไม่ คือประกาศมหาชน ซื้อที่รายนี้โดยเงินสด ถ้าได้มากกว่านี้แล้วให้ไล่เจ้าหน้าที่ออกจากราชการและฟ้องลงโทษ ถ้าไม่ได้ราคาที่ดีกว่าที่ขายอยู่นั้น ข้าพเจ้าขอลาออกจากผู้แทนราษฎรโดยไม่สมัครอีกตลอดชีวิต เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกัน” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 3 นี้ว่า :

“ข้อ 3 ขอตอบว่าจะนับว่าถูกก็ได้ และบางรายจะว่าไม่ถูกก็ได้ ที่ไม่ได้ประกาศขาย เพราะไม่ตั้งใจจะขาย ที่ขายไป ก็โดยทรงพระกรุณาเป็น รายๆไป เจ้าหน้าที่พระคลังข้างที่จะบอกขายอย่างนั้นไม่ได้” [2]

คำตอบดังกล่าวนี้เป็นการยอมรับว่ามีการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ อันเป็นทรัพย์สินส่วนของพระมหากษัตริย์ในราคาถูกมีอยู่จริง แต่อ้างเรื่อง “ทรงพระกรุณา” โดยแท้ที่จริงมาจาก ความกรุณาของคณะผู้สำเร็จราชการที่ถูกแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งภายใต้อิทธิพลของผู้ก่อการของคณะราษฎรที่เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เองทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม นายเลียง ไชยกาล ยังไม่รู้สึกเพียงพอต่อคำตอบดังกล่าวของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีและเป็นผลทำให้ตั้งคำถามต่ออีกเป็นกระทู้ที่ 2 ต่อมา หลังจากได้รับคำตอบอื่นจนครบ 8 คำถามแล้ว ซึ่งจะกล่าวถึงกระทู้ที่ 2 ในลำดับต่อไป

ข้อ 4 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า: “ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายธรรมดาผู้ซื้อออก แต่การซื้อขายคราวนี้ พระคลังข้างที่ออกเองใช่หรือไม่” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 4 นี้สั้นๆ ว่า :

“ข้อ 4 ขอตอบว่าไม่ทราบ” [2]

ข้อ 5 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า “การสำรวจเพื่อแบ่งแยกที่ดิน ตามธรรมดาใช้เวลาเพียง 2 เดือน แต่การซื้อขายแบ่งแยกที่ดินรายนี้ ในคราว 2 วันเสร็จ เหตุไรจึงเป็นเช่นนี้”

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 5 นี้สั้นๆ ว่า :

“ข้อ 5 ขอตอบว่า ไม่ทราบข้อเท็จจริง แล้วแต่เจ้าพนักงานที่ดินจะแบ่งแยกที่ดิน”

ข้อ 6 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า “เหตุผลของการขายที่ดินคราวนี้มีอย่างไรขอให้อธิบาย และข้าพเจ้าขอทราบว่า เหตุไรจึงเผอิญมีแต่คนในวันปารุสฯบ้าง พระคลังข้างที่บ้าง เกษตร์ฯบ้าง รัฐมนตรีบ้าง และเหตุไรรัฐมนตรีอื่นๆ จึงไม่ได้ซื้อเผอิญไปถูกรัฐมนตรีผุ้ไปรักษาการในพระคลังข้างที่ นอกนี้ก็เป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี และราชเลขาธิการในพระองค์ เป็นผู้ซื้อขอให้อธิบายให้ข้าพเจ้าหายข้องใจ”

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 6 นี้ว่า :

“ข้อ 6 ขอตอบว่า ข้าพเจ้าได้ตอบแล้วว่าการขายนั้น ขายแก่ผู้ที่ขอพระมหากรุณาเป็นรายๆไป และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้พิจารณาเห็นสมควรได้รับพระมหากรุณาแล้ว” [2]

(ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าคำตอบดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่ได้ตอบให้ตรงคำถามถึงเหตุผลที่แท้จริงของการขายที่ดิน และเหตุใดจึงมีเฉพาะกลุ่มในเครือข่ายพวกเดียวกันเองในการซื้อที่ดินในราคาถูกๆ อ้างเหตุผลปัดไปแต่เพียงว่าเป็นเรื่องพระมหากรุณาฯ: ผู้เขียน)

ข้อ 7 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า “ตามเรื่องที่ปรากฏนี้ ท่านไม่สงสัยอะไรบ้างหรือ และเวลานี้เสียงโจษจรรย์ว่าในกรมพระคลังข้างที่เกิดทุจริตกันมาก ท่านจะตั้งกรรมการคนภายนอกจริงๆ ไม่เกี่ยวแก่ส่วนได้เสียชำระสะสางถึงเรื่องทุจริตเกี่ยวแก่ที่ดินได้หรือไม่” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 7 นี้ว่า :

“ข้อ 7 ขอตอบว่า ข้าพเจ้าไม่สงสัยว่าเรื่องนี้จะได้มีการทุจริตในสำนักงานพระคลังข้างที่ เพราะปรากฏว่าได้กระทำไปโดยเปิดเผยแล้ว” [2]

ข้อ 8 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า

“ท่านทราบหรือไม่ว่า ที่ดินแทบทุกแห่งที่ขายคราวนี้ มีลักษณะที่น่าสนใจอยู่ข้อหนึ่งคือ รายได้จากที่ดินไล่เรี่ยกันกับเงินค่าซื้อผ่อนส่ง หมายความว่าผู้ซื้อไม่ต้องลงทุนก็ได้ เช่น ที่ดินรายที่ขายให้พระดุลย์ธารณ์ปรีชาไวท์ ได้ค่าเช่าเดือนละ 150 บาท ผ่อนส่งเดือนละ 100 บาทเป็นต้น ถ้าท่านไม่ทราบ ขอเรียนข้อเท็จจริงให้ทราบดั่งกล่าวมานี้ และขอถามว่าท่านจะลงโทษผู้ทุจริตยิ่งกว่าไล่ออกเฉยๆ ได้ไหม เพราะไล่ออกเฉยๆ เขาไม่ทุกข์ร้อน เพราะเขาได้ทรัพย์คุ้มพอ” [2]

(พระดุลย์ธารณปรีชาไวท์ หรือ ยม สุทนุศาสน์ ขณะถูกพาดพิงจากการตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้สั่งราชการสำนักพระราชวัง : ผู้เขียน)

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 8 นี้ว่า :

“ข้อ 8 ขอตอบว่า ข้อเท็จจริงนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ ที่ดินรายที่อ้างมานั้น ไม่เป็นความจริง” [2]

หลังจากได้รับคำตอบจากกระทู้ถามแรก ทั้ง 8 ข้อแล้ว นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามชุดที่ 2 ต่อเนื่องทันที ความว่า

“...รัฐบาลตอบอย่างนี้คลุมไป และตอบเลอะ เมื่อตอบเลอะไปแล้วก็ไม่เกิดผลในการถาม ข้าพเจ้าขอซักว่าอย่างนี้ การทีท่านตอบว่าการขายนี้เป็นการขายในราคาธรรมดาจะว่าถูกก็ได้แพงก็ได้ แต่เป็นการขายให้ผู้ขอพระมหากรุณาเป็นรายๆไป

การที่ท่านตอบเช่นนี้ ข้าพเจ้าขอทราบว่า ท่านทราบหรือไม่ว่าขณะนี้พระมหากษัตริย์ยังทรงพระเยาว์ การขอพระมหากรุณานั้นไม่เป็นการพระมหากรุณาจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งเวลานี้มีความรู้สึกในทางพระกรุณาหรือไม่ และเหตุใดจึงมีพระมหากรุณาแก่บุคคลซื้อที่ดินเหล่านี้เท่านั้น…”[2]

หลังจากตอบกันหาความชัดเจนสักพักทั้งผู้ตั้งกระทู้ถามและผู้ตอบ นายเลียง ไชยกาล ได้ยกตัวอย่างให้มีความชัดเจน ความว่า :

“ ตัวอย่างขายให้ขุนลิขิตสุรการเป็นต้น ทำคุณอะไร ที่นี้เก็บค่าเช่าได้เดือนละ 150 บาท ผ่อนส่งเพียงเดือนละ 60บาท คงได้กำไรเปล่าๆ 90 บาท อย่างนี้ถามพระดุลย์ธารณ์ฯดูเดี๋ยวนี้ได้ โอนเงินเข้ากระเป๋าโอนในนามของพระดุลย์ธารณ์ หรือบิดาพระดุลย์ธารณ์ฯ นั้น พระดุลย์ธารณ์ทำคุณความดีให้แก่ประเทศดีไปกว่า หลวงประดิษฐ์ฯ หลวงธำรงฯ หลวงสินธุฯหรือ” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามนี้ต่อว่า

“ข้าพเจ้าจะไปรู้เรื่องในกระเป๋าของเขาอย่างไร ไม่รู้จริงๆ ในเรื่องกระเป๋าของเขาว่าจะมีอย่างไร ข้าพเจ้าตอบไม่ได้ในเรื่องนี้” [2]

นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามต่อเพราะ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้โยนทุกสิ่งทุกอย่างไปที่การตัดสินใจของคณะผู้สำเร็จราชการทั้งสิ้น จึงได้ตั้งกระทู้ถามต่อว่า

“ท่านไม่รู้ ท่านไม่ทราบหรือเปล่าว่า เวลานี้ท่านเป็นผู้คุ้มครองทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าได้มีหนังสือไปทูลผู้สำเร็จราชการ พระองค์ก็ซัดมาว่าให้ไปถามเจ้าคุณพหลฯดูเถิด” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามนี้ต่อว่า

“ในระบอบรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สนอง ท่านจึงว่าอย่างนั้น ที่จริงท่านไม่ซัดข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านพูดถูกแล้ว” [2]

นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามจี้ต่อ เพราะไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในข้อ 8 ความว่า

“ข้าพเจ้าขอให้ท่านประธานให้รัฐบาลชี้แจงให้ละเอียด คำถามที่ข้าพเจ้ายกมาถามนี้ บางรายท่านก็ว่าไม่ทราบ คือ รายหนึ่งในข้อ 8 ของกระทู้ของข้าพเจ้า ผู้ซื้อคือ พระดุลย์ธารณ์ฯ หรือ บิดาของพระดุลย์ธารณ์ฯ ซื้อหมื่นสี่พันได้ค่าเช่าเดือนละ 150 บาท แต่ผ่อนส่งเดือนละ 100 บาท จริงไหม

ถ้าหากท่านว่าไม่ทราบ ถามพระดุลย์ธารณ์ฯ ที่นั่งอยู่นั่นเดี๋ยวนี้ เป็นความจริงอย่างข้าพเจ้าถาม ท่านจะจัดการในเรื่องมลทินเหล่านี้อย่างไร เพื่อเกียรติยศของรัฐบาลและเกียรติยศของคณะท่าน” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 8นี้ ปิดท้ายกระทู้ที่ 3 ว่า

“ข้าพเจ้าไม่เห็นมีมลทินอย่างไร เราอยากจะได้พระมหากรุณา เราก็ขอพระมหากรุณา ท่านจะพระราชทานให้หรือไม่ พระราชทานให้แล้วแต่ท่านผู้เป็นประมุขที่ผู้สำเร็จราชการจะทรงเห็นชอบด้วย เขาไม่ได้ตั้งผู้สำเร็จราชการมาสำหรับเป็นเจว็ตนี่ เขาตั้งมาให้สำหรับคิดตรองและสำหรับแทนพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงบอกว่า ท่านต้องตรึกตรองแล้วเห็นว่าสมควรให้หรือไม่สมควรให้” [2]

เนื่องจากการตั้งกระทู้ถามได้สิ้นสุดเพียงแค่ 3 กระทู้เท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการยื่นอภิปรายทั่วไปในเรื่องเดียวกันนี้โดย นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร และการอภิปรายจึงดำเนินต่อไปตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในบทความ ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? [3],[4]

ในการอภิปรายเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในครั้งนั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันในที่ประชุมว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกคณะผู้สำเร็จราชการเองจึงย่อมสามารถทำได้และทำอะไรก็ได้ แม้จะให้ที่ดินเปล่าๆกับใครก็ได้ไม่เป็นความผิด ดังคำอภิปรายของของพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีความว่า :

“ข้าพเจ้าถือว่าท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งสภาฯ นี้ได้เลือกไปแล้ว ได้ตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการมีอำนาจพอที่จะวินิจฉัยว่า ควรจะทรงพระมหากรุณาหรือไม่อันนี้เมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหน้าที่ที่จะวินิจฉัยและจะให้เปล่าๆก็ได้ แต่ว่าจะให้เปล่าๆ หรือเอาแต่น้อยหรืออย่างไรนั้นอาจทำได้ ไม่ผิด” [3],[4]

หลังจากปิดประชุมในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เพื่ออภิปรายต่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว ปรากฏว่า พันเอกพระยาพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ชิงลาออกไป หลังจากนั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้งในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480 [3]

แม้ว่าจะเกิดกรณีการตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของนักการเมืองภายใต้อิทธิพลของคณะราษฎรซึ่งอื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่การอภิปรายในครั้งนั้นย่อมเป็นการยืนยันว่าแม้แต่รัฐบาลซึ่งมาจากคณะราษฎรซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก็ยังยอมรับการแบ่งแยกทรัพย์สินของรัฐและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกันตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเรื่องของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาล หรือทรัพย์สินของคณะราษฎรแต่อย่างใด

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง:
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 2) กระทู้ประวัติศาสตร์ “ที่ดินของพระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ของใคร?,แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และMGRonline, เผยแพร่: 13 พ.ย. 2563 17:10 น.
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3604434002949876&id=123613731031938&__tn__=%2As%2As-R
https://mgronline.com/daily/detail/9630000117339

[2] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480

[3] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, MGRonline, 6 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3566001633459780/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000112634

[4] บันทึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 9 ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, 27 กรกฎาคม 2480
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-09.pdf


กำลังโหลดความคิดเห็น