xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 4) มรดก “ขุนนิรันดรชัย” กับ ความลับของ “จอมพล ป.” ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในบรรดาประเด็นในเรื่องการแห่กันเข้าซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์ระหว่างปี พ.ศ. 2479-2480 นั้น ประเด็นหนึ่งที่ยังคงน่าติดตามเพื่อหาความจริงกันต่อไปนั้น ก็คือ ความร่ำรวยของขุนนิรันดรชัยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อการในคณะราษฎรสายทหารบกเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น มีความเกี่ยวพันกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์จริงมากน้อยเพียงใด 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมาว่า มีการฟ้องร้องเป็นคดีความเพื่อแบ่งแยกมรดกของตระกูล “นิรันดร” โดยมีมรดกตกทอดส่วนหนึ่งมาจาก “ขุนนิรันดรชัย” อดีตสมาชิกผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สายทหารบก ของคณะราษฎร และมีการลงทุนต่อๆกันมาจนเป็นที่ดินใจกลางกรุงเทพมหานคร อย่าง ถนนสาทร ถนนเจริญกรุง ถนนชิดลม ถนนเพลินจิต ถนนวิทยุ รวมถึงที่ดินย่านบางลำภู ย่านหัวลำโพง ย่านมหานาค ฯลฯ รวมกันมากถึง 90 แปลง โดยมีการประเมินมูลค่าว่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท [1]-[3] 

แม้ว่าในความเป็นจริงทั้งการตั้งกระทู้ถามของ นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี และการอภิปรายทั่วไปที่นำโดย นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 จะไม่ได้กล่าวพาดพิงถึง “ขุนนิรันดรชัย” เลย [4]-[8] แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่ารายชื่อผู้ที่ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่มีใครอีกบ้างหรือไม่? 

เพราะเหตุการณ์ในการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นั้น “จำกัดเวลา” อยู่เพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ถึง 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เท่านั้น และเป็นการอภิปรายพาดพิง “จำกัดตัวบุคคลบางราย”เท่านั้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบกระทู้และการตอบอภิปรายทั่วไปในวันดังกล่าวของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยอมรับว่า “มีการโอนที่ดินก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2480” [7],[8]ด้วย 




สำหรับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 ซึ่งยังทรงพระเยาว์และประทับอยู่ต่างประเทศโดยการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้นต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 (ซึ่งมาจากคณะราษฎรเพียงกลุ่มเดียว)ด้วย

โดยก่อนที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาจะได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรให้มาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นพบว่าในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมนั้นได้รับคำชมจากพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24มิถุนายนพ.ศ. 2475ด้วย

โดย ประวัติของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ได้อธิบายความตอนหนึ่งว่า :

“ด้วยพระองค์ท่านทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7ได้เคยทรงพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้วหากแต่คณะราษฎรได้ดำเนินการขอพระราชทานเสียก่อนเท่านั้นเมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์ท่านก็พร้อมที่จะสนับสนุนกิจการของคณะราษฎรให้ดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญสืบไปเมื่อได้ทำความเข้าใจกัน (กับคณะราษฎร:ผู้เขียน)แล้วพระองค์ท่านก็เสด็จกลับไปรับราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมตามเดิม

เมื่อเสด็จกลับมาถึงจังหวัดนครปฐมแล้วอาศัยก็ได้เคยทรงศึกษาเล่าเรียนในวิชาการปกครองมาแล้วฉะนั้นจึงได้ทรงเรียบเรียงหัวข้อสำหรับจะได้ทรงอบรมชี้แจงแก่ราชการในจังหวัดนครปฐมให้เข้าใจซึมทราบถึงการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญและได้ทรงอบรมประทานพระโอวาทแก่ข้าราชการให้หายความตระหนกตกใจและมีความเข้าใจในการปกครองในระบอบนี้เป็นอย่างดี

ความทราบถึงพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งได้ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้มีหนังสือมาชมเชยถึงการที่ได้ประทานพระโอวาทไปนี้และกระทรวงมหาดไทยได้สั่งให้จังหวัดต่างๆชี้แจงอบรมข้าราชการให้เข้าใจถึงการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญตามแนวที่ได้ประทานพระโอวาทแก่ข้าราชการในจังหวัดนครปฐมนั้น[9]

สำหรับความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์ของพันเอก พิบูลสงครามกับขุนนิรันดรชัยนั้นก็น่าจะลองพิจารณาการซื้อขาย“ราคาที่ดินพระคลังข้างที่”ซึ่งเป็น“พื้นที่หน้าพระราชวังจิตรลดารโหฐาน”ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
โดยพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายหลังจากที่รัฐบาลถูกอภิปรายเรื่องการแห่กันซื้อที่ดินพระคลังข้างที่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว พันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้ยื่นหนังสือลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามการลาออกของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรี

โดยพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้ยอมรับในการเขียนจดหมายชี้แจงหนังสือพิมพ์เพื่อประกอบเหตุผลการลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 28กรกฎาคมพ.ศ. 2480ว่าเมื่อปีพ.ศ. 2479ได้มีผู้แนะนำให้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่หน้าพระราชวังจิตรลดารโหฐานเพื่อ“ปลูกบ้านส่วนตัว”แม้จะซื้อที่ดินจากพระคลังข้างที่จริงแต่ก็ได้ขายคืนที่ดินกลับไปเพราะไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยากในการขับไล่ราษฎรและการรื้อถอนของสิ่งปลูกสร้าง [7]โดยสำหรับประเด็นที่น่าวิเคราะห์จากการแถลงครั้งนั้นในเรื่อง“ราคาที่ดิน”ปรากฏความตอนหนึ่งว่า:

“ได้ตกลงซื้อไว้ 2ไร่ราคาไร่ละ 4,000บาทเป็นเงิน 8,000บาททางพระคลังข้างที่ก็จัดการโอนที่ดินนั้นให้ข้าพเจ้าประมาณเดือนมกราคมพ.ศ. 2480”[7]

ในขณะที่นายธรรมนูญ นิรันดร หนึ่งในทายาท“ขุนนิรันดรชัย”ได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ,ผ่านเว็บไซต์Thaipropertyเมื่อวันที่ 2กุมภาพันธ์พ.ศ. 2551ความตอนหนึ่งว่า:

“ยอมรับว่ามีที่ดินสะสมค่อนข้างเยอะโดยปัจจุบันนี้มีที่ดินอยู่ในกลางเมืองร่วม 90แปลงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอดจากขุนนิรันดรชัยซึ่งในอดีตเป็นราชเลขานุการในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดลหรือรัชกาลที่ 8

โดยที่ดินแปลงสำคัญๆคือที่ดินที่อยู่ตรงข้ามด้านหน้าวังสวนจิตรลดาซึ่งเดิมรัชกาลที่ 8พระราชทานพื้นที่ให้ประมาณ 1ไร่ต่อมาได้มีการซื้อเพิ่มเติมร่วม 6-7แปลงประมาณ 10กว่าไร่โดยซื้อมาในราคาตารางวาละ 4บาทส่วนบริเวณหน้าวังนั้นซื้อมาในราคาตารางวา 2.50บาทซึ่งในอดีตนั้นเป็นสวนผักปัจจุบันนี้ราคาซื้อขายที่ดินอยู่ที่ 250,000บาทต่อตารางวาเพราะสามารถก่อสร้างตึกสูงได้เพียง 4ชั้นเท่านั้น”
[10] ซึ่งหากเป็นความจริงก็มีข้อน่าสังเกตุดังนี้

ประการแรก“ขุนนิรันดรชัย” ได้ซื้อที่ดินหน้าพระราชวังจิตรลดาในราคาตารางวาละ 2.50 บาทต่อตารางวา จึงเท่ากับ 1,000 บาทต่อไร่ ซึ่ง “ต่ำกว่า 75 เปอร์เซนต์” เมื่อเทียบกับราคาหน้าพระราชวังเดียวกันที่“พันเอก หลวงพิบูลสงคราม”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เคยซื้อเอาไว้เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2480 ในราคา 4,000 บาทต่อไร่

ประการที่สอง ขุนนิรันดรชัยซื้อที่ดินบริเวณ“หน้าวัง” ในราคาถูกกว่าที่ซื้อพื้นที่เพิ่มเติม 62.5 เปอร์เซนต์ โดยจากราคาหน้าวังตารางวาละ 2.50 บาท (1,000 บาทต่อไร่) มาเป็นซื้อพื้นที่เพิ่มเติมตารางวาละ 4 บาท (1,600 บาทต่อไร่)

ประการที่สาม ตามที่นายธรรมนูญ นิรันดร อ้างว่าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 พระราชทานพื้นที่ 1 ไร่ให้“ขุนนิรันดรชัย”นั้น เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าขุนนิรันดรชัยได้ลาออกจากราชเลขาธิการในพระบาทก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงบรรลุนิติภาวะ และก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยด้วย

ดังนั้นขุนนิรันดรชัยจึงได้เป็นข้าราชการในสำนักราชเลขานุการของ“คณะผู้สำเร็จราชการเท่านั้น” ดังนั้นจึงน่าสงสัยว่าการได้ที่ดินมาในครั้งนั้นได้มาจากใครระหว่าง ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 หรือได้จากคณะผู้สำเร็จราชการกันแน่

โดยสำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง “ขุนนิรันดรชัย” กับ“พันเอก พิบูลสงคราม”นั้นสามารถสังเกตุได้จากการเขียนข้อความของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม,เพื่อเคารพและไว้อาลัยแด่พันตรี สเหวก นิรันดร ในหนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีสเหวกนิรันดรณเมรุวัดพระศรีมหาธาตุ เมือวันที่ 22พฤษภาคม 2499 ได้ระบุการที่มีการให้ความช่วยเหลือทางราชการและ“ทางส่วนตัว”ด้วยความตอนหนึ่งว่า :

“ครอบครัวของข้าพเจ้าและครอบครัวของท่านผู้ล่วงลับ มีความสนินสนมกันอย่างใกล้ชิดเหมือนเครือญาติสนิทได้ให้ความช่วยเหลือกันทั้งในราชการและทางส่วนตัวมาด้วยสม่ำเสมอ” [11]

ทั้งนี้พันตรีสเหวก นิรันดรหรือ“ขุนนิรันดรชัย”เป็นบุตรของนายปลั่งและนางวอนเกิดเมื่อวันที่ 26พฤศจิกายนพ.ศ. 2443สกุลเดิมคือ“นีลัญชัย”ต่อมาได้ขอรับพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า“นิรันดร” เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบกรุ่นน้องจอมพล ป.[12]

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ร้อยโทขุนนิรันดรชัย อายุ 31 ปี 7 เดือน เข้าประจำแผนกโรงเรียนทหารปืนใหญ่ แล้วต่อมาได้เลื่อนยศทหารเป็นนายร้อยเอกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 [12]

ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัยเข้าอยู่ในประเภทนายทหารนอกกองกองทัพบกประเภททหารกองหนุนไม่มีเบี้ยหวัดเพื่อไปเป็น“เลขานุการของนายกรัฐมนตรี”ตามมติคณะรัฐมนตรี [12]

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเพราะอำนาจการปกครองผูกขาดการตั้งสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 อยู่กับคนก่อการคณะราษฎรเพียงกลุ่มเดียวไม่กี่คนและมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท

วันเดียวกันนั้นคณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 [13] ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไปตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 [14]

แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงมีพระชันษาเพียง 9 ปี รัฐบาลโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งมีสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งมีครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร) ว่ายังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎมณเฑียรบาล [14] จึงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478 [14],[15]

และนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของวิถีชีวิตของร้อยเอกขุนนิรันดรชัยนายทหารบกรุ่นน้องในคณะราษฎรสายทหารบกผู้ใกล้ชิดกับพันเอกหลวง พิบูลสงครามซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในยุคนั้นจากฝ่ายรัฐบาลก็ได้ถูกวางตัวให้ก้าวข้ามฟากเข้าสู่อำนาจในการประสานงานกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัยเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์[12]

1 มีนาคม พ.ศ. 2480 พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479ซึ่งเตรียมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2479ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2480

14 มิถุนายน พ.ศ. 2480พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479ซึ่งเตรียมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2479“ตราไว้เสร็จแล้ว”แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

โดยกฎหมายดังกล่าวเตรียมโอนย้ายทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ สำนักพระคลังข้างที่ โอนมาที่สำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยให้กระทรวงการคลังดูแล (พระยาไชยยศสมบัติ หรือ เสริม กฤษณามระ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง)
โดยมาตรา 5พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479กำหนดให้มีกรรมการที่ปรึกษาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานและกรรมการอีก 4คนโดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)

แต่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำหนดเอาไว้ในมาตรา 7 พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ว่าการโอนย้ายและจำหน่ายได้โดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 เป็นร่างที่จัดเตรียมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2479 จึงมีหลายคนรู้ว่าะมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในปี 2480 จึงเริ่มเข้าซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2480

จนเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีการตราเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2480 ด้วยแล้ว จึงมีการ “เร่งซื้อ”ที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ “ชิงตัดหน้า” ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480

14 มิถุนายน ถึง 19 กรกฎาคมพ.ศ. 2480
ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้มีการตัดแบ่งขายที่ดินพระคลังข้างที่จำนวนมากให้กับรัฐมนตรี,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2,ข้าราชการในพระองค์,ข้าราชการในคณะผู้สำเร็จราชการ,ข้าราชการในสำนักพระราชวัง,คณะกรรมการกำหนดราคารที่ดินพระคลังข้างที่,และเครือข่ายของผู้ก่อการในคณะราษฎรซึ่งแห่งเข้าไปซื้อที่ดินแบบผ่อนในราคาถูกๆจำนวนมาก

19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หลังจากขายที่ดินพระคลังข้างที่ไปแล้วเป็นจำนวนมาก

27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480เกิดการตั้งกระทู้ถามประวัติศาสตร์ของนายเลียง ไชยกาลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีและการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมตินำโดยนายไต๋ ปาณิกบุตรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตพระนครเรื่องการโอนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้กลายเป็นสมบัติส่วนตัวจำนวนมากให้กับพรรคพวกรัฐบาลและข้าราชบริพารระหว่างวันที่ 1ถึง 20กรกฎาคม พ.ศ. 2480[4]-[8]

หลังเหตุการณ์อื้อฉาวผ่านไป 7 เดือน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย
ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ราชเลขานุการในพระองค์” และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกสเหวก นิรันดร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร เป็น นายพันตรี [12]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481พันตรีขุนนิรันดรชัยเป็นกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [12] จึงมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายมากขึ้นกว่าเดิม

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 11กันยายนพ.ศ. 2481และยุติบทบาททางการเมือง

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทนนาวาอากาศเอกเจ้าพระยายมราชซึ่งได้ถึงแก่อาสัญกรรม [16]และเป็นผลทำให้นายปรีดี พนมยงค์พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองที่กำลังขัดแย้งกับการยืนข้างญี่ปุ่นของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2486พันตรีขุนนิรันดรชัยคณะราษฎรให้ความไว้วางใจ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2

ปลายเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2487จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังแพ้โหวตคะแนนในสภาผู้แทนราษฎร 48ต่อ 36เสียงในการขอความเห็นชอบพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์พ.ศ. 2487เมื่อวันที่ 20กรกฎาคมพ.ศ. 2487และแพ้โหวตคะแนนในสภาผู้แทนราษฎร 43ต่อ 41เสียงในการขอความเห็นชอบพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลพ.ศ. 2487เมื่อวันที่ 22กรกฎาคมพ.ศ. 2487

วันที่ 31 กรกฎาคม 2487 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ [17], [18]เพราะไม่ต้องการรับรองนายควง อภัยวงศ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป.ที่อาจเกิดการสู้รบนองเลือดกันระหว่างจอมพลป.กับนายควงและอาจทำให้ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงจนเสียหายต่อชาติได้

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487นายปรีดี พนมยงค์โดยความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงคนเดียว [17]นายควง อภัยวงศ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพลป.พิบูลสงคราม โดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ลงนามในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงคนเดียว

วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2487พันตรีขุนนิรันดรชัยขอลาออกจากตำแหน่งเลขานุการในพระองค์ [12]ภายหลังจากจอมพลป.และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

รวมระยะเวลาที่ จอมพล ป. อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 เป็นวลาถึง 5 ปี 228 วัน โดยในเวลานั้นขุนนิรันดรชัยอยู่ในฐานะเป็น“ราชเลขานุการในพระองค์”และกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

คำถามมีอยู่ว่าในสถานการณ์ดังกล่าวสายสัมพันธ์เป็นอย่างไร ระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี,ขุนนิรันดรชัยราชเลขานุการในพระองค์และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ว่ามีความไว้วางใจ เอื้อผลประโยชน์หรืออำนาจกันมากน้อยเพียงใดหรือไม่?

คำตอบนี้สามารถหาได้จากเหตุการณ์คำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ต่อศาลอาชญากรสงคราม ในคดีที่จอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะเป็นจำเลย หลังจากประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนหนึ่งว่า

“ตอนที่จอมพล ป.ฯนำให้มีการลาออกหรือให้พ้นจากบรรดาศักดิ์กันนั้นขุนนิรันดรชัยได้มาทาบทามข้าพเจ้าว่า จะได้มีการตั้งบรรดาศักดิ์กันใหม่ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชายบ้าง สมเด็จเจ้าพระยาหญิงบ้าง และขุนนิรันดรชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ

โดยผู้ที่มีสายสพายนพรัตน์จะได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชาย ซึ่งมี จอมพล ป.ฯ คนเดียวที่ได้สายสพายนั้น เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพระยาชายแล้ว เมียของผู้นั้นก็ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาหญิงตามไปด้วย

และในปีนั้นก็ได้มีการขอพระราชทานสายสพายกันมากมาย ส่วนพวกเมียของข้าราชการก็ได้ตรากันด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยมีการให้สายสพายผู้ชาย และให้ตราผู้หญิงกันมากมายถึงเช่นนี้ จนถึงกับข้าพเจ้าผู้คล้องสายสพายให้นั้นเป็นลมหน้ามืดไป

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจอมพล ป. นั้นกระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง และภรรยาจอมพล ป. ก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน เช่น เอารูปไปฉายในโรงหนัง ให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ

ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียมพระชนม์พรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่กางปีกประดับธงทิว ทำนองเดียวกันตราครุฑ หรือตราพระบรมนามภิธัยย่อ และได้สร้างโทรนขึ้นทำนองเดียวกับเก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนครุฑเท่านั้น

นอกจากนี้ยังได้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่าขุนนิรันดรชัยนำเอาให้ใช้ ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอม ที่ขอเปลี่ยนเพราะขุนนิรันดรชัยฯไม่เป็นผู้ที่ไว้วางใจ...

เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการขอพระราชทานเงินกันหลายคราว ที่ขอเพื่อเป็นทุนเล่าเรียนของลูกก็ดี ขอให้เป็นทุนของคณะผู้ก่อการไปใช้จ่ายก็มี และขอเป็นส่วนตัวก็มี ในการที่ข้าพเจ้าสั่งพระราชทานนี้ ไม่ได้สั่งไปโดยเต็มใจ หากเป็นด้วยขุนนิรันดรฯ มาพูดเป็นทำนองข่มขู่บังคับกลายๆ”
[19]

หลังจาก“ขุนนิรันดรชัย”ได้ลาออกจากตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์แล้ว ก็ได้กลายเป็นนักธุรกิจเต็มตัว มีเงินลงทุนในกิจการที่ร่วมกับรัฐและเอกชนอีกมากมาย จนกลายเป็นมรดกอันมากมายมหาศาลของตระกูล“นิรันดร”ที่กำลังมีคดีความฟ้องร้องกันในวันนี้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


อ้างอิง
[1] Isranews, พลิกปูม‘ขุนนิรันดรชัย’คนสนิทจอมพล ป. เจ้าของที่ดินหมื่นล.ก่อนลูกหลานฟ้องแย่งมรดก, 12 พฤศจิกายน 2561
https://www.isranews.org/isranews-scoop/71075-isranews11-71075.html

[2] Isranews,ตั้งปี 60 ทุน 100ล.! เปิดตัว บ.31สาธร คดีลูกชาย ‘คณะราษฎร์’ ฟ้องแบ่งมรดกที่ดิน 4 หมื่นล., 10 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09:00 น.
https://www.isranews.org/isranews-news/71014-news03_71014.html

[3]แนวหน้า, 4หมื่นล้าน! ลูกชาย‘คณะราษฎร์’ฟ้องพี่ชายต่างแม่ ขอแบ่งมรดกที่ดินกลางกรุง, สำนักข่าวอิศรา,วันศุกร์ ที่ 09 พฤศจิกายน 2561 เวลา 17:17 น.
https://www.isranews.org/isranews-other-news/71009-naew-71009.html

[4] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 3)ลีลาเจ้าคุณพหลฯ ตอบกระทู้กรณีทีมคณะราษฎรแห่ซื้อที่ดินของพระมหากษัตริย์ราคาถูกๆแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และMGRonline, เผยแพร่: 20 พ.ย. 2563 17:46 น.
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3624175410975735/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000119805

[5] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 2) กระทู้ประวัติศาสตร์ “ที่ดินของพระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ของใคร?,แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และMGRonline, เผยแพร่: 13 พ.ย. 2563 17:10 น.
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3604434002949876&id=123613731031938&__tn__=%2As%2As-R
https://mgronline.com/daily/detail/9630000117339

[6] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480

[7] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, MGRonline, 6 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3566001633459780/https://mgronline.com/daily/detail/9630000112634

[8] บันทึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 9 ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, 27 กรกฎาคม 2480https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-09.pdf

[9] สำนักพระราชวัง,นะซีน, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ณ วัดเมรุวัดเทพศิรินทราวาส หน้า 14-15

[10] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, ผ่านเว็บไซต์Thaiproperty, เปิดกรุที่ดิน หมื่น ล.ตระกูล นิรันดร + ประกาศหาผู้ร่วมทุน ยันไม่ขาย/เตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์ พัฒนาที่ดิน, 2 กุมภาพันธ์ 2551
https://www.thaiproperty.in.th/board/คลังกระทู้/เปิดกรุที่ดิน-หมื่นล-ตระกูล-นิรันดร-ประกาศหาผู้ร่วมทุน-ยันไม่ขายเตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์-พัฒนาที-23492

[11] จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม, เขียนเคารพไว้อาลัยแด่ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 แผ่นที่ 4

[12] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)

[13] ราชกิจจานุเบกษากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2467/A/195.PDF

[14] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติและลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1330
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1330.PDF

[15] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1332
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1332.PDF

[16] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1332
https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร

[17] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม), เล่ม 58, ตอน 0ก, 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484, หน้า 1821
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/1821.PDF

[18] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ , เล่ม 61, ตอน 45ก, 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487, หน้า 730
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/045/730.PDF

[19] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124


กำลังโหลดความคิดเห็น