ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้จะเปลี่ยนสถานที่จาก “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” มารชุมนุมใหญ่ที่หน้า “ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน” แต่นัยแห่งการชุมนุมของ “คณะราษฎร 2563” ก็มิได้เปลี่ยนไปจากเดิมด้วยเป้าหมายก็คือ “สถาบันพระมหากษัตริย์”
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ปมประเด็นเรื่อง “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” นั้น ถูกหยิบยกมาโจมตีอย่างต่อเนื่อง และมีการบิดเบือนข้อมูลให้ห่างไกลออกไปจากความเป็นจริงหนักขึ้นเรื่อยๆ
และหนึ่งใน 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของผู้ชุมนุม คือการยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561 ให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้ชัดเจน
หรือให้ย้อนกลับไปเหมือนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ขณะที่มีคำอธิบายถึง “ข้อดี” ของการจัดการในรูปแบบใหม่ว่า ทำให้สามารถพระราชทานที่ดินจำนวนมากให้กับหน่วยงานราชการใช้ประโยชน์ ดังที่ปรากฏให้เห็นนับตั้งแต่รัชกาลที่ 10 เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ที่สำคัญคือ เป็นทรัพย์สินที่ต้องเสีย “ภาษี” ตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการปกครองในระบอบที่มีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีวิวัฒนาการเคียงคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ไทยก็นำเงินส่วนนี้มาใช้ประโยชน์เพื่อราชอาณาจักรมาทุกยุคทุกสมัย ยกตัวอย่างเช่น “เงินถุงแดง” ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นเงินของแผ่นดิน และถูกนำมาใช้ในวิกฤตเหตุการณ์ ร.ศ.112 กับเหตุการณ์ที่ไทยเกือบเสียเอกราชมากที่สุด เพื่อใช้เป็นค่าไถ่ 3 ล้านฟรังก์จากฝรั่งเศส
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นยุคแห่งการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูประบบการคลังใหม่ และมีการจัดทำ “งบประมาณแผ่นดิน” เป็นครั้งแรก ซึ่งการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ได้มีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดินอย่างเด็ดขาด
โดยได้มีการแบ่งแยกที่ดินที่รวมกันอยู่ภายใต้การดูแลของพระมหากษัตริย์ออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก คือ ทรัพย์สินของแผ่นดิน (Nation property) เช่น ที่ดินราชพัสดุ และที่ดินของรัฐทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์
ส่วนที่สอง คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ (Royal property) ที่มีไว้เพื่อใช้ในการส่วนพระองค์โดยทรัพย์สินส่วนของพระองค์ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเป็น “กรมพระคลังข้างที่” ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
นั่นแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ กับทรัพย์สินของแผ่นดินได้ถูกแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว
มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลัง“คณะราษฎร”ได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทรัพย์สินส่วนของพระคลังข้างที่ ถูกผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลคณะราษฎรนำไปขายให้กับผู้ก่อการคณะราษฎรในราคาถูก ๆ และสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองรวมถึงพวกพ้องเป็นจำนวนมาก(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน ภารกิจคณะราษฎรที่ยังไม่เสร็จ หน้า 48)
นอกจากนั้น เป็นที่รับรู้กันดีว่า ตลอดระยะเวลาหลายที่ผ่านมา ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวนทั้งสิ้น 41,000 ไร่ นั้นได้จัดให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเช่าใช้ใน “ราคาต่ำ” เพื่อประโยชน์ของราชการและประชาชนโดยตรงถึง 93% มีพื้นที่เชิงพาณิชย์เพียง 7% เท่านั้น แต่ก็ไม่วายถูกเบียดบังจากเหลือบไรที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์
ดังนั้นใน ปี 2560 และ 2561 รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายปรับปรุงระเบียบการบริหารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ใหม่ คือโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทั้งหมดไปสังกัดสำนักพระราชวัง ถวายคืนพระราชอำนาจในการจัดการตามพระราชอัธยาศัย ดังที่เคยเป็นมาก่อนที่จะถูกคณะราษฎรยึดครอง
ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือ เมื่อกฎหมายใหม่ใช้บังคับแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระบรมราชโองการ ว่านับแต่นี้ไปต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ทั้งทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ คือทรัพย์สินของสถาบัน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีอากรมาตั้งแต่ถูกคณะราษฎร์ยึดไป ทั้งทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เสียภาษีอากร ตามกฎหมายมาอยู่แต่เดิมแล้ว
ดังนั้น การบิดเบือนของคณะราษฎร 25963 จึงเป็นการลวงโลกอย่างร้ายกาจ
ที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้กับหน่วยราชการและสถานศึกษาต่างๆ เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2563
ยกตัวอย่างเช่นในปี 2560 พระราชทานโฉนดที่ดิน เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 79 ไร่ 2 งาน 60.9 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารโครงการพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าของแผ่นดิน และ โฉนดที่ดิน วังปารุสก์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 1.5 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
พระราชทานโฉนดที่ดิน วังปารุสก์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 9 ไร่ 26.5 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, พระราชทานโฉนดที่ดิน วังปารุสก์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 19 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล, พระราชทานโฉนดที่ดิน พระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 21 ไร่ 1 งาน 48.5 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 และพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ของชาติ และศิลปะจังหวัดเพชรบุรี
พระราชทานโฉนดที่ดิน ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 584 ไร่ 2 งาน 99.5 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, พระราชทานโฉนดที่ดิน ค่ายพระรามหก (พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 1,244 ไร่ 24.2 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และพิพิธภัณฑ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานโฉนดที่ดิน พระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 148 ไร่ 2 งาน 88.8 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกระทรวงมหาดไทย และพิพิธภัณฑ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระราชทานโฉนดที่ดิน คลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 300 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ และสถานที่ทำงานขององค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานโฉนดที่ดิน ตำบลปทุมวัน อำเภอสามเพ็ง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 67 ไร่ 67 ตารางวา เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
สำหรับในปี 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานที่ดินให้แก่ส่วนราชการต่างๆ เป็นจำนวนมากเช่นกัน ประกอบด้วย พระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 72.70 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 92.30 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
พระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 65.70 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชวินิต และโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชวินิต มัธยม
พระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 1,059 ไร่ 1 งาน 36.70 ตารางวา ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี และเนื้อที่ 493 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี เพื่อประโยชน์ในทางราชการของกองทัพบก
พระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 185 ไร่ 1 งาน 85.20 ตารางวา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวร จังหวัดเพชรบุรี
พระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 275 ไร่ 3 งาน 57.20 ตารางวา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายพระราม 6 (พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน) จังหวัดเพชรบุรี เพิ่มเติมจากที่ได้พระราชทานเมื่อปี 2560
พระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 173 ไร่ 40.80 ตารางวา อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เพื่อประโยชน์ในทางราชการของมณฑลทหารบก ที่ 15 พระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) จังหวัดเพชรบุรี เพิ่มเติมจากที่ได้พระราชทานเมื่อปี 2560
พระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 25 ไร่ 84 ตารางวา บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประโยชน์ในทางราชการของจังหวัดเพชรบุรี
พระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 60 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
พระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
นี่คือน้ำพระราชหฤทัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีต่อพสกนิกรชาวไทยใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร.