คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ระดมความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกับสภาพัฒน์ฯ สนทช. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อปท.โดยสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคม อบต. แห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ
วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2563 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้เชิญ ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุม วัตถุประสงค์เพื่อขอทราบข้อมูลและแนวทางการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในช่องทางต่าง ๆ และตามแผนงานหรือโครงการลำดับที่ 3 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 สรุปผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
1. ของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำของบประมาณรายจ่ายขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสอดคล้องเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกันกับแผนพัฒนาภาค เมือง จังหวัด/กลุ่มจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นโครงการ/กิจกรรมที่อยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสภา แล้วแต่กรณี ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหรือเป็นภารกิจถ่ายโอนตามกฎหมายและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่งตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 4 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นหน่วยรับงบประมาณ มาตรา 29 กำหนดให้การขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำเป็นเงินอุดหนุน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยื่นคำขอตั้งงบประมาณดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อเสนอต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือ ยื่นคำของบประมาณโดยตรง แต่โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. ทุกประเภทมีจำนวน 7,852 แห่งทำให้สำนักงบประมาณต้องกำหนดหลักเกณฑ์และ วิธีการยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ 2564 โดยกำหนดให้ กทม. เมืองพัทยา อบจ. เทศบาลนคร เทศบาลเมือง รวม 295 หน่วยงาน เป็นเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขอตั้งและได้รับจัดสรรโดยตรง แต่ในกรณีเทศบาลตำบล และ อบต. รวม 7,557 หน่วยงาน เป็นเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขอตั้งและได้รับจัดสรรผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
2. ของบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 หรือของบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีจำนวน 40,325.63 ล้านบาท เป็นรายการเพิ่มเติมไว้ในงบกลางด้วย
3. ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำสามารถเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯได้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ต้องทำโครงการเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านเข้ามาที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) หรือผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ทั้งนี้จะต้องมีความเห็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ประกอบการเสนอโครงการร่วมด้วย โดยมาจากปัญหาและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมของ ประชาชนในท้องถิ่นมาแล้ว
แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเสนอขอแก้ไขให้การเสนอโครงการสามารถเสนอเข้ามายังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้โดยตรง สำหรับรอบถัดไป แต่ทั้งนี้การเสนอโครงการยังคงต้องมีความเห็นของ สนทช. ประกอบการเสนอโครงการร่วมด้วยเช่นเดิม โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้
กล่าวโดยสรุป หน่วยงานที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ สามารถเสนอโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กพร้อม กับความเห็นของ สนทช. เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดได้
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้มีการซักถามและตั้งข้อสังเกตบางประการดังต่อไปนี้คือ:
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้จ่ายจากรายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเองและรายได้ที่รัฐบาลเก็บให้และแบ่งให้ได้ และจากเงินสะสมคงเหลือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง นอกเหนือจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
2. หน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบจ. เทศบาล และอบต. ยังสามารถเสนอโครงการขอใช้งบประมาณตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ เพื่อนำไปจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กสำหรับชุมชนยังทำได้ โดยสามารถเสนอโครงการได้ในรอบถัดไป ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการปรับเงื่อนไขโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ต้องทำโครงการเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านเข้ามาที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) หรือ ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ยังจะต้องมีความเห็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ประกอบการเสนอโครงการร่วมด้วยเช่นเดิม
3.ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่าโครงการที่ได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่ ตามพระราชกำหนดเป็นโครงการที่มาจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐเหล่านี้ล้วนแต่ได้รับงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว และโครงการต่างๆเหล่านี้ไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นความต้องการของประชาชนจริงหรือไม่ เพราะโครงการเหล่านี้จัดทำขึ้นโดยข้าราชการและหน่วยงานราชการเอง ดังนั้น สุดท้ายประโยชน์ของงบประมาณก้อนนี้ตามพระราชกำหนดอาจไม่ตกไปถึงประชาชนเลย
4.คณะกรรมาธิการต้องการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนได้รับการสนับสนุนให้จัดทำโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก แต่หลักเกณฑ์ที่สภาพัฒน์ฯ กำหนดให้เฉพาะโครงการโคกหนองนาโมเดล ซึ่งเป็นเพียงรูปแบบเดียวของโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก คณะกรรมาธิการจึงเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ในเรื่องของแหล่งน้ำขนาดเล็กเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้จริง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเสนอขอแก้ไขให้การเสนอโครงการสามารถเสนอเข้ามายังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้โดยตรงสำหรับรอบถัดไป แต่ทั้งนี้การเสนอโครงการยังคงต้องมีความเห็นของ สนทช. ประกอบการเสนอโครงการร่วมด้วยเช่นเดิม โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้
5.จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจ้งว่างบเงินกู้ตามพระราชกำหนดภายใต้แผนงาน 3.2 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 573 โครงการ วงเงิน 1,288,577,907 บาท จัดจำแนกเป็น 7 ประเภท โดยประเภทที่ 5 เป็นเรื่องแหล่งน้ำ ขุดสระเก็บน้ำ/ปรับปรุงร่องน้ำมีเพียง 8 โครงการ งบประมาณ 22,892,615 บาท เท่านั้นเอง ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องแหล่งน้ำ ขุดสระเก็บน้ำ/ปรับปรุงร่องน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้มากขึ้น
6.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรนำข้อมูลของผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ในการผลักดันการจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยกระบวนการเครือข่ายให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าวจนทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ต่อไป โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าวเห็นความสำคัญของการจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กและหันกลับไปดูแลแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ของตัวเอง การจัดทำจะต้องจัดทำเป็นเครือข่ายใช้ร่วมกันว่าทำแล้วมีผลกระทบอะไรบ้าง และหาแนวทางแก้ไข ตลอดจน ต้องเรียนรู้นวัตกรรมกรรมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยโดยการขับเคลื่อนการจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กต่อไป
7.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้งพื้นที่ไหน สามารถทำโครงการของบกลางมายังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อส่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) พิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
ดังนั้น ในวันนี้เป็นการสื่อสาร หารือ บอกเล่านวัตกรรมอันใหม่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้ผล เห็นผลเร็ว คุ้มค่า และใช้งบประมาณน้อยเพื่อให้การทำงานของภาครัฐเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม คณะกรรมาธิการจึงกำหนดให้มีการสัมมนาในเรื่องนี้ในแต่ละด้านเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าว มาร่วมปรึกษาหารือ เพื่อให้ทุกฝายที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน และจะได้ช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ทางคณะกรรมาธิการจะแจ้งให้สาธารณชนได้ทราบต่อไป