คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ระดมความคิดทุกฝายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ
วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาร่วมประชุม วัตถุประสงค์ เพื่อขอทราบข้อมูลและแนวทางการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแผนงานหรือโครงการลำดับที่ 3 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำสามารถเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯได้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆต้องทำโครงการเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านเข้ามาที่คณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) หรือผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ทั้งนี้จะต้องมีความเห็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ประกอบการเสนอโครงการร่วมด้วย
แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอขอแก้ไขให้การเสนอโครงการสามารถเสนอเข้ามายังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้โดยตรงสำหรับรอบถัดไป แต่ทั้งนี้การเสนอโครงการยังคงต้องมีความเห็นของ สนทช. ประกอบการเสนอโครงการร่วมด้วยเช่นเดิม
กล่าวโดยสรุป หน่วยงานที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ สามารถเสนอโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กพร้อมกับความเห็นของ สนทช. เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้มีการซักถามและตั้งข้อสังเกตบางประการดังต่อไปนี้คือ:
1.โครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้วมีจำนวนค่อนข้างน้อย กล่าวคือ จากกรอบวงเงินที่มี 400,000 ล้าน มีโครงการเสนอขอมา ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ผ่านการอนุมัติประมาณ 120,000 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายแล้วในหลักพันล้านบาทเท่านั้น เอง
2. หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คืออบจ. เทศบาลและอบต.ยังสามารถเสนอโครงการขอใช้งบประมาณก้อนนี้ เพื่อนำไปจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กสำหรับชุมชนยังทำได้ โดยสามารถเสนอโครงการได้ในรอบถัดไป ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการปรับเงื่อนไข โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆต้องทำโครงการเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านเข้ามาที่คณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) หรือ ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ยังจะต้องมีความเห็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ประกอบการเสนอโครงการร่วมด้วยเช่นเดิม
3.ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่าโครงการที่ได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มาจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐเหล่านี้ล้วนแต่ได้รับงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว และโครงการต่างๆเหล่านี้ไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นความต้องการของประชาชนจริงหรือไม่ เพราะโครงการเหล่านี้จัดทำขึ้นโดยข้าราชการและหน่วยงานราชการเอง ดังนั้นสุดท้ายประโยชน์ของงบประมาณก้อนนี้อาจไม่ตกไปถึงประชาชนเลย
4.คณะกรรมาธิการต้องการส่งเสริมให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนได้รับการสนับสนุนให้จัดทำโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก แต่หลักเกณฑ์ที่สภาพัฒน์กำหนดให้เฉพาะโครงการโคกหนองนาโมเดล ซึ่งเป็นเพียงรูปแบบเดียวของโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก คณะกรรมาธิการจึงเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ในเรื่องของแหล่งน้ำขนาดเล็กเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้จริง
5. หากสภาพัฒน์ไม่ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่จะเปิดโอกาศให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรของรัฐบาลได้ ประชาชนอาจรู้สึกหมดหวังกับการทำงานของรัฐบาล เพราะกลไกการทำงานของรัฐบาลในเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นไปเพื่อข้าราชการมากกว่าประชาชน
เพื่อให้การทำงานของภาครัฐเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมคณะกรรมาธิการ จึงกำหนดให้มีการประชุมในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งในวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม ศกนี้ โดยจะมีหนังสือเชิญนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย นายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาฯและผู้อำนวยการสำนักงานบูรณาการแก้ปัญหาความยากจนฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในสภาพัฒนาฯ มาร่วมปรึกษาหารือ เพื่อให้ทุกฝายที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน และจะได้ช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ความคืบหน้าในเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการจะแจ้งให้สาธารณชนได้ทราบต่อไป