xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

3 นิ้วกับ 3 ทางออกของ “ม็อบเด็ก” ยุบสภา - แก้รัฐธรรมนูญ - รัฐประหาร ออกหน้าไหน “หนูๆ” ก็คงไม่ปลื้ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “บิ๊กเซอร์ไพร์ส” ที่ไม่ค่อยเซอร์ไพร์สเท่าไร

กับการเคลื่อนมวลชน “ม็อบราษฎร” ครั้งใหญ่จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มาถึงที่บริเวณแยกพาณิชยการ ถนนพิษณุโลก เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หนำทำเนียบรัฐบาล เมื่อค่ำคืนวันที่ 21 ต.ค.63 ที่ผ่านมา

เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ โดยมีร่างหนังสือและเว้นช่องให้ “บิ๊กตู่” ลงนามเสร็จสรรพ

“หากภายใน 3 วัน พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ลาออก เราจะกลับมาใหม่ และจะมีข้อเรียกร้องให้ไปไกลกว่ารัฐบาล เพราะวันนี้ประชาชนทุกคน และราษฎรไม่ต้องการพล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไป” คือคำประกาศของตัวแทนผู้ชุมนุม

เวลาใกล้เคียงกันแฟนเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and Demonstration” ก็ได้โพสต์ข้อความประกาศยุติการชุมนุม

พร้อมเน้นย้ำจ้อเรียกร้องว่า “การถอยเดียวของประยุทธ์คือต้องลาออกเท่านั้น!”

เป็นปฏิบัติการ “ย้อนศร” แถลงการณ์ล่าสุดของ “นายกฯ ตู่” ที่ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในค่ำวันเดียวกัน เรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุม “ถอยคนละก้าว” โดยรัฐบาลเตรียมที่จะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม. ก่อนที่จะมีการประกาศยกเลิกเมื่อช่วงเที่ยงวันของวันที่ 22 ต.ค.63 ทันที

ขณะเดียวกันก็จะมีการนำข้อเรียกร้องต่างๆ ของผู้ชุมนุมไปหา “ทางออก” ในเวทีรัฐสภา ที่จะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ในวันที่ 26-27 ต.ค.63 เพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้

“ในเวลานี้ เราต้องถอยกันคนละก้าว เพื่อออกห่างจากทางที่จะนำไปสู่ปากเหว เส้นทางที่จะพาประเทศไทยของเราค่อยๆ ตกลงไปสู่หายนะ และสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมจะเริ่มเกิดขึ้นมากขึ้นๆ การใช้อารมณ์ความรู้สึกนำ ก็จะยิ่งสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ร้อนมากยิ่งขึ้น และการใช้ความรุนแรง จะยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงที่มากกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ได้สอนเรามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งตอนจบของทุกครั้งก็คือความเสียหายที่ทิ้งไว้กับประเทศ” คือบางช่วงบางตอนที่ “บิ๊กตู่” กล่าวไว้

อย่างไรก็ดีเชื่อว่า “เวทีรัฐสภา” ที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้อยู่ในสายตาของ “ม็อบราษฎร” เป็นแน่แท้ ด้วย “เส้นตาย” ที่ขีดไว้จะถึงก่อนการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ

อีกทั้งการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายตามมาตรา 165 นั้นก็ “เกาไม่ถูกที่คัน” ไม่ตรงกับความต้องการของ “ม็อบราษฎร” ที่ต้องการให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง “ค้างเติ่ง” มาจากก่อนปิดสมัยประชุมเมื่อช่วงปลายเดือนก่อน

จนเชื่อได้ว่าสุดสัปดาห์นี้จะมีการนัดหมาย “ชุมนุมใหญ่” กันอีกครั้ง และดูท่าจะยืดเยื้อข้ามไปถึงช่วงที่มีการประชุมรัฐสภา และอาจจะมีการชุมนุมล้อมรัฐสภา เหมือนเมื่อช่วงปลายเดือนก่อนที่มีการชุมนุมเพื่อกดดันการพิจารณาวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฏว่า “ไม่เป็นผล”

และก็เชื่อแน่ว่า หาก “บิ๊กตู่” ยังยืนกรานที่จะไม่ลาออก เหมือนที่ถามย้อนกลับว่า “ผมผิดอะไร” ก็จะยิ่งทำให้เสียงตะโกน “ประยุทธ์ออกไป” ระงมไปทั้งประเทศมากขึ้น จนกว่าจะมี “ทางออก” ในการคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร
ทั้งนี้ เข้าใจได้ว่า ถึงวันนี้ข้อเรียกร้องกดดันให้ “นายกฯ ลาออก” ที่เป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้อง “ล่าสุด” ของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนั้น ถูก “ยกระดับ” ขึ้นมาเหนือกว่าอีก 2 ข้อเรียกร้องที่ว่า “เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” และ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”

เท่ากับว่าแรงกดดันถาโถมมาที่ “นายกฯ แล้ว ตู่” โดยตรง ซึ่ง “บิ๊กตู่” ในฐานะผู้นำสูงสุดของรัฐบาล แต่เอาเข้าจริงดูเหมือนว่า “ภาษา” ของทั้งสองฝ่ายจะมิได้เป็นภาษาเดียวกัน และจากการตรวจสอบปฏิกิริยา “มวลชน” ของแต่ละฝ่ายก็ล้วนแล้วแต่ “ไม่มีใครเชื่อใคร” เพราะยึดถือ “ความจริงคนละชุด” และมองกันไปคนละทิศละทาง

ว่ากันตามตรง มองยังไงก็ไม่เห็นทางว่า “ลุงตู่” จะยอม “ลาออก” ตามที่ฝ่ายม็อบยื่นคำขาด ส่วนการใช้ “สภา” ก็จินตนาการไม่ถูกว่าจะช่วยอะไรได้ เช่นเดียวกับการแก้รัฐธรรมนูญที่ยังหวั่นๆ ว่าจะเป็นเพียงแค่ “พิธีกรรมลากถ่วง” เพราะหลายครั้งที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้น

สำหรับฝ่ายม็อบก็ยอมรับเช่นกันว่า มองไม่ออกจริงๆ ว่า หากพวกเขาได้ตามที่เรียกร้องจริงทุกข้อแล้วสถานการณ์จะดำเนินไปอย่างไร

ส่วนตัว “ลุงตู่” เองนั้น เมื่อพินิจพิเคราะห์ก็มีไพ่ให้เลือกเล่นอยู่ 3 หน้าด้วยกัน คือ

1. ทู่ซี้ “อยู่ต่อ” พร้อมกับสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย โดยการลดระดับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อประคองสถานการณ์ให้เข้าสู่ช่วงการประชุมสมัยสามัญของรัฐสภา ที่ต้องมีการนำวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คาดว่าจะต้องมีการทำประชามติและเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะทยอยตามลำดับในช่วงปีกว่าเกือบ 2 ปีข้างหน้า

ด้วยสมมติฐานว่าหากมีบรรยากาศประชาธิปไตยเกิดขึ้น พร้อมด้วย “ภารกิจสำคัญ” ในการประคับประคองการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้ตลอดรอดฝั่ง

ลากเข้าโหมด “เกมยาว” กับ “ม็อบไร้แกนนำ” ที่ประเมินว่า หากผู้ชุมนุมยืนระยะไม่อยู่ แรงกดดันจากผู้ชุมนุมก็จะสร่างซาไปเอง

เมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จวนเจียนจะครบเทอมแรกของ “รัฐบาลลุงตู่ 2” และตามธรรมเนียมต้องมีการ “ยุบสภา” เพื่อให้มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เชื่อว่าหาก “บิ๊กตู่” เลือกเดินทางนี้ “ม็อบราษฎร” ย่อมต้องกด “ไม่ถูกใจสิ่งนี้” เป็นแน่ แต่ก็ต้องแสวงหาเหตุผลที่้มีน้ำหนักมากพอในการชุมนุมกดดันรัฐบาลต่อไป


2.ตัดสินใจ “ลาออก” รับลูกข้อเรียกร้องของ “ม็อบราษฎร” เปิดทางให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ยังถือเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีในห้วง 5 ปีนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นก็ต้องเดินตาม “บทเฉพาะกาล” ที่ว่าไว้ตามรัฐธรรมนูญ “มาตรา 272 วรรคแรก”
ที่กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

โดย “ก๊อกแรก” ตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง นายกรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่แจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ก่อนปิดการสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 88 โดยมีเงื่อนไขว่าพรรคการเมืองนั้นจะต้องมีสมาชิกที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ถูกเสนอจะต้องมี ส.ส.ในพรรคการเมืองที่ตัวเองถูกเสนอไม่น้อยกว่า 25 เสียง

เท่ากับว่า “แคนดิเดต” ที่มีสิทธิ์เข้าสู่กระบวนการรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจะมีอยู่ด้วยกัน 6 รายเท่านั้น โดยแบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 3 ราย และฝ่ายค้าน 3 ราย ประกอบด้วย

3 รายจากพรรคร่วมรัฐบาล 1.“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังมีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ และยังมีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อ, 2. “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ 3. “จารย์มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้ลาออกจาก ส.ส.ไปแล้ว แต่ก็ยังมีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคประชาธิปัตย์

อีก 3 รายจากพรรคฝ่ายค้าน ที่มาจากพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น 1. “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย, 2. “เสี่ยทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่ปัจจุบันลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย บ่ายหน้าไปเตรียมตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ และ 3. ชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ขณะที่ในรายของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นั้นต้อง “ตกรอบ” ไปหลังถูกตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส.จากกรณีถือหุ้นสื่อ และถูกยุบพรรค ตลอดจนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จึงมีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ

ด้วยสมมติฐานว่า หากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยที่ยังไม่มีการ “ย้ายข้าง - สลับขั้ว” ประกอบกับยังมี ส.ว. 250 เสียงจึงเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ก็เท่ากับว่าความได้เปรียบในการเลือกนายกฯยังอยู่ในมือ “ฝ่ายรัฐบาล”

หรือถ้าตัด 250 เสียงของ ส.ว.ออกไป หรือ “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” โดยไม่มีการ “ย้ายข้าง - สลับขั้ว” ฝ่ายรัฐบาลก็ยังเป็นต่ออยู่ดี ด้วยเสียง ส.ส.ในสภาฯ 277 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านเหลือเพียง 212 เสียง จากจำนวนเต็ม 489 เสียง

หากว่า “บิ๊กตู่” ลาออกจริง ก็คงไม่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นตัวเลือกอีกครั้งเป็นแน่ เพราะไม่เพียงถูกมองว่า “ปาหี่” เท่านั้น ยังเท่ากับ “ท้าทาย” ผู้ชุมนุมที่มองว่า “บิ๊กตู่” คือต้นตอปัญหาอีกต่างหาก

จึงต้องมองไปที่ตัวเลือกต่อไป ที่คงต้องตัด “อภิสิทธิ์” ที่ประกาศจุดยืนคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. และเลือกที่จะลาออกจาก ส.ส.ไปได้เลย เช่นเดียวกับ 3 ตัวเลือกของพรรคเพื่อไทย

ชื่อของ “เสี่ยหนู-อนุทิน” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มี ส.ส. 61 คน เป็นพรรคอันดับ 2 ในรัฐบาลจึงโดดเด่นขึ้นมาในช่วงนี้ ซึ่งเจ้าตัวก็ออกปากแบบรักษาน้ำใจไว้แล้วว่า “ผมขอเป็นรองนายกฯ ที่มีนายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ดีกว่า”

เฉกเช่นเดียวกับข้อเรียกร้องให้พรรคภูมิใจไทยถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล ที่ “อนุทิน” ย้ำชัดว่า “มาด้วยกัน ก็ไปด้วยกัน”

อย่างไรก็ดีหากตัดจบปัญหากันที่ “ก๊อกแรก” จริง โอกาสของ “อนุทิน” ย่อมเปิดกว้าง ในข้อแม้ว่า ไม่มีดีลพิสดาร “ย้ายข้าง-สลับขั้ว” หรือ “รัฐบาลแห่งชาติ” ใดๆ

น่ากลัวว่า หาก “บิ๊กตู่” ลาออกจริง การแก้ปัญหา “ก๊อกแรก” อาจจะไม่สามารถเคลียร์คัทตัดจบปัญหา เพราะยี่ห้อ “เสี่ยหนู-อนุทิน” ก็ไม่เป็นที่ปลาบปลื้มของ “ม็อบราษฎร” และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเท่าใดนัก

หากเป็นเช่นนั้น สถานการณ์อาจถูกดันเข้าสู่โหมด “เดดล็อก” ได้ง่ายๆ

หากถึงขั้นนั้นก็จำเป็นต้องเปิด “ก๊อกสอง” ตามรัฐธรรมนูญ “มาตรา 272 วรรคสอง” ที่เปิดช่องให้มี “นายกฯ คนนอก” โดยบัญญัติว่า “ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้”

โดยมี 3 ขั้นตอนง่ายๆในการเปิดประตูต้อนรับ “นายกฯ คนนอก” คือ ส.ส.-ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 369 คน จากสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ ตอนนี้ 738 คน เข้าชื่อไปยังประธานรัฐสภาเพื่อขอเปิดประชุมรัฐสภางดเว้นนายกฯในบัญชีรายชื่อ

จากนั้นต้องมี ส.ส.-ส.ว. ไม่น้อยกว่า 492 เสียงเห็นชอบ เพื่อเปิดทางให้ “คนนอก” มาเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนลงมติเห็นชอบผู้ถูกเสนอชื่อนอกบัญชีให้มาเป็นนายกฯ ซึ่งต้องอาศัยเสียงสองสภา คือ ส.ส. และ ส.ว. มากกว่า 369 เสียงในการลงมติเห็นชอบ “นายกฯ คนนอก”

ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการพูดถึงประเด็น “นายกฯ คนนอก” ที่สอดรับกับข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือ “รัฐบาลปรองดอง” กันพอสมควร

ยังไม่ต้องพูดว่า “ใคร” เหมาะสมจะมาเป็น “นายกฯคนนอก” ในยามนี้ เพราะที่แน่นอนกว่านั้นก็คงเป็นข้อหา “ไม่เป็นประชาธิปไตย” เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากประชาชนมา และ “ม็อบราษฎร” รับไม่ได้อย่างแน่นอน

จนอาจพูดได้ว่า เป็น “ทางออก” ที่ไม่ใช่ “ทางออก” เพราะแม้ข้อเรียกร้อง “ประยุทธ์ลาออก” ได้รับการตอบสนอง แต่ดูแล้วก็ไม่ได้มีทางเลือกไหนที่จะถูกใจ “ม็อบ” ได้เลย

และ 3.ทางเลือกสุดท้าย คือการ “ยุบสภา” หากไม่สามารถแก้วิกฤตได้ รัฐบาลก็มีอำนาจในการเสนอให้มีการยุบสภา ซึ่งเดิมก็เป็น 1 ในข้อเรียกร้องของ “ม็อบเยาวชน” ในช่วงตั้งไข่ โดยมองว่า หากมีการเลือกตั้งใหม่ ด้วยกระแสในปัจจุบันจะทำให้การตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเปลี่ยนไป และฝ่ายรัฐบาล โดยพรรคพลังประชารัฐ จะไม่ได้จัดตั้งรัฐมนตรี หรือ “บิ๊กตู่” จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก

แต่หลังการประเมินอย่างถี่ถ้วนว่า หากมีการยุบสภา โดยที่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงบังคับใช้อยู่ ภาวการณ์คงไม่ต่างจากเดิมเท่าใดนัก ทั้งการที่ 250 เสียง ส.ว.ที่ยังคงมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ โอกาสที่นายกฯจะเป็น “คนเดิม” หรือ “คนใหม่” จากฝ่ายกุมอำนาจก็ยังมีสูง

เพราะหนทางเดียวที่จะ “พลิกกระดาน” ได้คือ พรรคฝ่ายค้านต้องชนะเลือกตั้งให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป ซึ่งก็เป็นไปได้ยากในระบบเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม”

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ “พรรคเสียงเดียว” หรือ “พรรคปัดเศษ” จะมีมากขึ้น ส่งผลให้ฝ่ายกุมอำนาจได้เปรียบมากขึ้น ในการดึง “พรรคเล็ก” มาผสมพันธุ์จัดตั้งรัฐบาล

อีกทั้ง “นักเลือกตั้ง” ทั้งรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ก็คงไม่สนุกด้วยแน่ หากมีการยุบสภาเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะการที่ “รัฐบาลลุงตู่” ยังคงเป็น “รัฐบาลรักษาการ” หรือสรรพกำลังของพรรคฝ่ายรัฐบาลตอนนี้ยังเหนือกว่าพรรคฝ่ายค้านอยู่หลายขุม

ไม่แปลกที่ข้อเรียกร้องให้ “ยุบสภา” จะเบาบางลงจนเลือนหายไป กลายมาเป็นข้อเรียกร้องให้ “ประยุทธ์ลาออก” ในที่สุด

ก็อีกเช่นกันว่าทางเลือก “ยุบสภา” ในขณะที่ยังไม่มีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กระทั่งการปฏิรูปต่างๆ นานา ที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมไม่ตอบโจทย์ของ “ม็อบราษฎร” อีกเช่นกัน

เมื่อทางเลือก “บนกระดาน” ที่ทุกทางดูเหมือนจะไม่ตอบโจทย์ “ม็อบราษฎร” และยังมี “ปัจจัยเร่ง” อยู่ในข้อ “ข้อเรียกร้อง” ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชัก “เลยเถิด” ไปไกล โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ตลอดจนเนื้อหาการปราศรับ หรือการแสดงสัญลักษณ์ที่ “มิบังควร”

จนทำให้เกิดการรวมตัวของ “คนเสื้อเหลือง” ที่แสดงออกถึงความจงรักภักดี และต้องการที่จะปกป้องสถาบันอันเป็นที่เคารพเทิดทูนของคนในชาติ

ดันสถานการณ์ให้เข้าสู่เกม “ม็อบชนม็อบ” ทำท่าว่าจะเกิดความรุนแรง และการสูญเสีย มีตัวอย่างให้เห็นบ้างแล้วทั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค.63 หรือเหตุการณ์ที่ ม.รามคำแหง เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่มีภาพการปะทะกันของคน 2 ขั้วเกิดขึ้น

อาจเป็นการสร้าง “เงื่อนไข” ให้เกิดสถานการณ์พิเศษอย่างการ “รัฐประหาร” ขึ้นอีกครั้ง ด้วย “ข้ออ้าง” เพื่อระงับยับยั้งความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับคนในชาติ

ยาวนานกว่าเดิมเป็นแน่แท้ เพราะพิสูจน์แล้วไม่ว่าจะ 1 ปีรัฐประหาร 2549 หรือ 5 ปีรัฐประหาร 2557 ก็ดูเหมือนปัญหาความแตกแยกของคนในชาติจะยังไม่ถูกคลี่คลาย หากเกิดการรัฐประหารขึ้นใน พ.ศ.นี้ ก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะ ยาวนานกว่าเดิมขนาดไหน

และที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ “รัฐประหาร” ไม่ได้ทำง่ายๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สำคัญทำแล้วผลกระทบที่จะตามมามีมหาศาล และน่าจะทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายออกไปอีก

แน่นอน เข้าใจได้ว่า การยื่นข้อเรียกร้อง พร้อมขีดเส้นตาย เป็นปกติของการทำม็อบก็จริง แต่การยื่นข้อเรียกร้อง โดยที่รับกับ “จุดหมายปลายทาง” ไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว ก็เท่ากับขับสถานการณ์ให้เข้าสู่ “ทางตัน”

ในขณะที่ข้อเสนอ “ถอยคนละก้าว” ของ “นายกฯตู่” ก็ดูจะสอดคล้องต้องกันกับข้อเรียกร้องของ “คณะประชาชนปลดแอก - Free People” ที่เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน คือ

1. หยุดดำเนินคดีแก่ประชาชนทุกกรณี

2. ปล่อยบุคคลที่ต้องข้อหาตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และเกิดขึ้นภายใต้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

และ 3. รัฐสภาต้องรับหลักการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อเป็นการหาทางออกให้แก่ประเทศ และเป็นการยุติปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด

แม้แถลงการณ์ของ “ประชาชนปลดแอก” จะไม่ได้เป็นฉันทามติของ “ม็อบราษฎร” แต่ก็ดูจะเป็นข้อเรียกร้องที่ฝ่ายรัฐบาล “พอรับได้”

เข้าใจได้ว่า “ม็อบราษฎร” ที่ว่ากันว่า “ไร้แกนนำ” นั้นติดลมบนไปแล้ว แต่ครั้นจะดื้อดึง “เอาแต่ได้ ไม่ยอมเสีย” หวังกดดันรัฐบาลให้เข้ามุมอับท่าเดียว ก็คงไม่เป็นผลดีกับสถานการณ์โดยรวม

สู้ลดดีกรีลงมาในระดับเดียวกับ “ประชาชนปลดแอก” ใช้กลไกรัฐสภา คู่ขนานไปกับการกดดันเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คงดีกว่าผลักกันให้เข้าสู่ “ทางตัน” หรือ “ลงเหว” ทั้งหมด

คงต้องถามใจ “ม็อบราษฎร” ว่า ต้องการการเปลี่ยนแปลงตามวิถีประชาธิปไตย หรือจะเอาสะใจ แล้วปูพรมเปิดทางให้ “รถถัง” ออกมาดับ “ไฟ” ที่สุดท้ายอาจไม่ได้อะไรเลยกันแน่

บอกตรงๆ ว่า ชั่วโมงนี้ ไม่อาจคาดเอาว่า สุดท้ายปลายทางแล้วจะออกหน้าไหน.



กำลังโหลดความคิดเห็น