เมืองไทย 360 องศา
เรียกว่าฮือฮาเล็กๆ สำหรับเกมการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคใหญ่ในสภา โดย “นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรค ที่นำแถลงเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลาออก เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองในเวลานี้
ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยได้เตรียมเสนอชื่อ “นายชัยเกษม นิติสิริ” ซึ่งเป็นแคนดิเดต หรือบัญชีรายชื่อเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคมาก่อนหน้านี้
หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังกล่าวอีกว่า ตามครรลองยังมีรายชื่อที่เป็นแคนดิเดตจากพรรคการเมืองอื่น เช่น จากพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกันนี้ ยังได้เรียกร้องให้ พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ซึ่งความหมายนัยนี้ก็คือ ให้มาร่วมกับพรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อ บริหารประเทศแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง
ขณะเดียวกัน ยังมีท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา แต่ใช้วิธีเรียกร้องกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกวิธีลาออกแทน
แต่ที่น่าแปลกใจไปกว่านั้น ก็คือ รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย ที่เหลืออีกสองคน คือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กลับไม่มีการพูดถึงแต่อย่างใด ทั้งที่อยู่ในรายชื่อในอันดับหนึ่ง สอง ตามลำดับ เสียอีก
สำหรับกรณีของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อาจจะพอเข้าใจได้ว่า ได้เลิกทำกิจกรรมกับพรรคเพื่อไทยแบบเป็นทางการมาสักพักใหญ่แล้ว เนื่องจากต้องการใช้รูปแบบเป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แบบอิสระ ที่กำลังจะมาถึง และมีการเคลื่อนไหวเดินสายหาเสียงไปพักใหญ่แล้ว
หากพิจารณาเพียงแค่ประเด็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย หากเกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถอดใจลาออกไปจริงๆ มันก็น่าจะเกิดปัญหาตามมาอีก โดยเฉพาะปัญหาภายในพรรคเพื่อไทย นั่นแหละ เพราะนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคย้ำว่า พรรคจะเสนอรายชื่อที่เป็นแคนดิเดต ที่ดีที่สุดคือ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
ซึ่งตามสูตรนี้ (ตามความฝัน) ก็จะมีพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล ร่วมรัฐบาลใหม่ โดยมีนายชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ถูกลดบทบาทลงมา หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ก็กลายเป็นคนที่ไม่ถูกพูดถึงทั้งที่เป็นผู้มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตอันดับหนึ่งของพรรค
แน่นอนว่าว่า เมื่อมีปากก็ย่อมพูดกันไปเรื่อย แต่เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้แล้ว แทบจะเป็นศูนย์ และที่สำคัญ มันก็จะเกิด “ม็อบใหญ่” เกิดขึ้นมาทันที และคราวนี้เชื่อว่าจะหนักยิ่งกว่า “ม็อบปลดแอก” อะไรนั่น ที่กำลังฮึกเหิมห้าวจัดอยู่ในเวลานี้หลายเท่า และมีความเสี่ยงที่จะเอาไม่อยู่เสียด้วย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณากันตามความเป็นจริงในกรณีดังกล่าว ซึ่งในที่สุดแล้วก็อาจเป็นไปได้ หรือเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามความฝันของ บรรดาเด็กๆ ในม็อบที่กำลังฝัน หรือ “ฝันตาม” กันไป เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนไปแบบไหน เราก็จะยังมีนักการเมืองประเภทนี้หมุนเวียนกันเข้ามา เพราะเหมือนกับเป็นการต่อสู้ให้พวกนักการเมืองมีอำนาจนั่นเอง
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากันถึงหนทางความเป็นไปได้ หากการเมืองถึงทางตัน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปต่อไม่ได้ ก็ยังเชื่อว่าเขาน่าจะเลือกหนทาง “ยุบสภา” โดยคืนอำนาจให้กับประชาชน ก็อาจเป็นไปได้อีกเหมือนกัน แม้ว่าอีกด้านหนึ่งก็จะมีความเสี่ยงที่ฝ่ายคนที่ “ชักใยม็อบ” จะไม่เอาด้วย เพราะตัวเองไม่ได้ประโยชน์โดยตรง อาจป่วนจนถึงที่สุดก็ได้
อย่างไรก็ดี นาทีนี้เชื่อว่า วิธีการที่จะกระแสร้อนแรงลงได้ดีที่สุด เป็นการกลบทุกเงื่อนไขก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. น่าจะวินวินกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะเกมนี้ พรรคเพื่อไทยจะแฮปปี้มากที่สุด รวมไปถึงพรรคการเมืองอื่นก็น่าจะโอเค
ขณะที่การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญที่กำลังจเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า ก็เป็นเพียงเปิดช่องให้พวก ส.ส.ได้พ่นน้ำลายกันเท่านั้น และ “ลุงตู่” ก็จะตกเป็นเป้ารุมกระหน่ำ แต่อย่างน้อย เป็นการแสดงท่าทีทางการเมือง ในเชิงการรับฟังปัญหา แต่ในภาพรวมๆ เชื่อว่า ไม่ได้ประโยชน์อะไรนัก เพราะเป้าหมายหลักอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกพรรคต้องการมากกว่าการยุบสภาในเวลาอันใกล้นี้แน่นอน