xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โหมโรง 14 ตุลาคมจืดชืด สัญญาณ “หญิงอ้อ” แรงจริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถ้ามองกันในแง่เชิงสัญลักษณ์การต่อสู้ของนิสิต นักศึกษา ต้องบอกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถือเป็นวันสัญลักษณ์ทางการเมือง มากกว่า 19 กันยายน 2549 ที่มีการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

แต่ขณะนี้เหลืออีกแค่สัปดาห์เดียว การโหมโรงดูจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับการโปรโมตการชุมนุม 19 กันยายน ที่ท้องสนามหลวงที่ผ่านมา

ทั้งที่ความจริง งานครบรอบ 14 ตุลาคม 2516 น่าจะเป็นจุดร่วมของบรรดานิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศให้ออกมาต่อแสดงออก โดยเฉพาะในชั่วโมงนี้

มีการมองไปถึงว่า การที่งาน 14 ตุลาคม ซึ่งกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดหมายเอาไว้ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ได้รับความสนใจมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน

โดยเฉพาะการปรากฏตัวของ “หญิงอ้อ” คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เมื่อวันที่ 24 กันยายน จนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วประเทศ

การปรากฏตัวครั้งนั้น ถูกตีความกันไปสารพัด และเป็นสาเหตุให้มีการพูดถึงเรื่องรัฐบาลแห่งชาติกันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

การจัดโครงสร้างพรรคเพื่อไทยใหม่ในเวลาไล่เลี่ยกัน นอกจากรวบรวมระดมสมัครพรรคพวกที่กระจัดกระจายจากภารกิจแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยแล้ว ยังตอกย้ำให้เห็นว่าข่าวคราวการคัมแบ็กของ “หญิงอ้อ” เป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะการสั่ง “คุณแจ๋ว” จุฑารัตน์ เมนะเศวต เพื่อนสนิทของตัวเอง ซึ่งคนในพรรคเพื่อไทยรับรู้กันดีว่าเป็นสายตรงนายหญิงมานั่งคุม “โปลิตบูโร”

ความสนใจของสังคม หันจากการเคลื่อนไหวของม็อบ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งสำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่มีผลต่อทิศทางการต่อสู้นับจากนี้ของพรรค หลังจากมีข่าวลือเรื่องทฤษฎี “จับปลาแยกน้ำ”

ท่าทีของคนในพรรคเพื่อไทย มุ่งไปที่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และโจมตีการทำงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามหน้าสื่อเป็นหลัก ต่างจากก่อนหน้านี้ ที่จะไปป้วนเปี้ยนกันอยู่แถวม็อบ

เช่นเดียวกับ ท่าทีของ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่ถูกลดบทบาทเหลือเพียงแม่ทัพเมืองกรุง ที่หันไปจับเรื่องการแข่งขันสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มากกว่าจะไปเกาะกระแสม็อบเด็ก

หากสังเกตจะพบว่าท่าทีของพรรคเพื่อไทยเบาบางลงไปมาก และมันถูกโยงกับท่าทีของ อานนท์ นำภา แกนนำม็อบที่จู่ๆ โพสต์ดรามาว่า การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ หากไม่มีศิลปินขึ้นมาทำการแสดง เวทีอาจจะไม่ใหญ่มากนัก

โพสต์ของอานนท์ถูกตีความเป็น 2 มิติ มิติแรกคือ สร้างดรามาเรียกคะแนนสงสารเพื่อให้มีคนมาร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวให้มากที่สุด กับอีกมิติคือรู้ตัวว่าม็อบกำลังจะถูกพรรคเพื่อไทย “เท” หลังปรากฏท่าทีที่เปลี่ยนไปของพรรคเพื่อไทย ในวันที่ “หญิงอ้อ” ปรากฏตัว


การชุมนุมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แม้จะมีความพยายามบอกว่า เป็นคนที่เดินทางมาร่วมเป็นพลังของนิสิต นักศึกษา แต่ในความเป็นจริงนั้น สัดส่วนผู้ชุมนุมส่วนใหญ่คือกลุ่มคนเสื้อแดง

แม้แต่ในการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน คนที่เดินทางมาปักหลักค้างแรมกลุ่มใหญ่ หรือร้านรวงต่างๆ ร้านขายของทิ้งระลึก ต่างก็เป็นพ่อค้าแม่ค้าหน้าเก่าที่เคยเห็นกันในการชุมนุมคนเสื้อแดงในอดีต เพียงแต่บนเวทีเท่านั้นที่เป็นนิสิต นักศึกษา

เช้าวันรุ่งขึ้นที่ตอนแรกมีการนัดหมายว่าจะบุกไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นสำนักงานองคมนตรี เหตุผลสำคัญไม่ใช่เพราะสับขาหลอกเจ้าหน้าที่ หากแต่เพราะปริมาณผู้ชุมนุมเหลือเพียงร่อยหรอ และคนที่เหลือส่วนใหญ่ก็เป็นคนเสื้อแดงที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อร่วมชุมนุม


ดังนั้น หาก “หญิงอ้อ” ส่งสัญญาณให้พรรคเพื่อไทยภายใต้กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ กลับจากถนนเพื่อเข้าสู่เวทีรัฐสภา มันย่อมส่งผลกระทบต่อพลังในการชุมนุมซึ่งมีขนาดใหญ่โตหลายครั้งได้เพราะปริมาณคนเสื้อแดง

คนเสื้อแดงอาจไม่ชอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และไม่เห็นด้วยกับท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแบบนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส.ส. และนักการเมืองในพรรคยังสามารถคอนโทรลการเคลื่อนไหวได้

ส.ส.และนักการเมืองเหล่านี้ คือคนที่ควักกระเป๋าและดูแลค่าใช้จ่ายในการอำนวยความสะดวกนำคนเสื้อแดงเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

และเมื่อสัญญาณคลุมเครือแบบนี้ ม็อบในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จึงไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร

ประกอบกับอีกปัจจัยคือ ระยะหลังมานี้การเคลื่อนไหวของบรรดาแกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความก้าวร้าว การต่อสู้ที่ไร้กระบวนท่า และยุทธศาสตร์

การไม่มีภาวะผู้นำ ทำให้หลายคนไม่เลือกที่จะออกมาชุมนุมเพื่อเดินตาม

ขณะที่การประกาศของอานนท์ว่าจะจัดแบบเบิ้มๆ ยิ่งกว่าเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม เพื่อหวังเรียกแขก ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ก็เหมือนจะกลายเป็นมุกแป้กที่เริ่มใช้ไม่ได้ผล หลังจากหลายคนต้องกลับบ้านด้วยความผิดหวังจากการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 กันยายน

การประกาศชุมนุมยืดเยื้อ 7 วัน 7 คืน เพื่อหวังโค่นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ยิ่งเป็นเรื่องที่หลายคนไม่เชื่อมือ เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่คนปากกัดตีนถีบ เพื่อเลี้ยงชีพ คงไม่มีใครยอมเอาชีวิตมาเสี่ยงกับหนทางที่ไม่รู้ว่า จะชนะหรือไม่

สุดท้ายการชุมนุมอาจจะเป็นได้เพียงแฟลชม็อบอีกเช่นเดิม เพราะสถานการณ์มันไมได้สุกงอมขณะนั้น

ยกเว้นพรรคเพื่อไทยจะยังคอยช่วย ด้วยการสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้กลุ่มคนเสื้อแดงมาร่วม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็แสดงว่า การปรากฏต้วของ “หญิงอ้อ” ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ทุกคนตีความว่า จะประนีประนอม แต่ตั้งใจจะโค่นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้ได้เหมือนเดิม

เพียงแต่ไปแตะต้อง ไม่เข้าไปเฉียดเรื่องที่เด็กพวกนี้เล่นของสูง



กำลังโหลดความคิดเห็น