ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง น่าจะเป็นแค่เวทีที่ตั้งขึ้นมาเพื่อชะลอให้มีการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านมากกว่า และระยะเวลา 30 วัน เป็นช่วงเวลาที่ยื้อออกไปเพื่อรอให้พอดีกับจังหวะเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ ในวันที่ 1 พฤศจิกายนเท่านั้น
สุดท้ายการตัดสินใจของอยู่ที่รัฐบาล ซึ่งถึงตรงนี้น่าจะไม่ต้องรอถึง 30 วันแล้ว ตามคิวที่ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เรียกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ "วราวุธ ศิลปอาชา" รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา
โดยมีแกนนำในรัฐบาลอย่าง “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ “เนติบริกร”วิษณุ เครืองาม ปิดห้องถกกันวงเล็กๆ ก่อนจะส่งสัญญาณออกมาว่า
จะยกมือสนับสนุนให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนุญของพรรคร่วมรัฐบาล กับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
2 ฉบับ ที่มีเนื้อหาคล้ายกันคือ ให้แก้ไขมาตรา 256 เกี่ยวกับการแก้ไชรัฐธรรมนูญ และการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยมีเงื่อนไขห้ามแตะต้อง หมวด 1 และหมวด 2
แน่นอนว่า การเรียกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเข้าหารือ ย่อมต้องการสร้างความมั่นใจให้กับพรรคร่วมรัฐบาลว่า งานนี้ "บิ๊กตู่" ไม่ได้เบี้ยวคำมั่นสัญญา เพียงแต่ที่ต้องเตะถ่วงเวลาออกมา 30 วัน เพื่อมาตั้งหลัก วางยุทธศาสตร์กันใหม่
2 พรรคใหญ่อย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมสบายใจขึ้นอยู่แล้ว เพราะ “บิ๊กตู่”เรียกมาพูดคุยด้วยตัวเอง
ขณะที่การรับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ไม่มีปัญหา เพราะเนื้อหาเหมือนกัน การไปยกมือให้ก็เพื่อต้องการทำให้เห็นภาพว่า รัฐบาลไม่ได้เอาแต่ของตัวเองเป็นตัวตั้ง แต่ฟังฝ่ายค้านด้วย ทั้งที่ความจริงการจะเลือกญัตติใดญัตติหนึ่ง ก็ไม่ได้มีผลอะไร
**การเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ อย่างน้อย “บิ๊กตู่”ก็สยบคลื่นลมภายในพรรคร่วมรัฐบาลได้ หลังปฏิกิริยาหลายพรรคแสดงความอึดอัด ที่เล่นกันแบบหักดิบเมื่อวันที่ 24 กันยายน
ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น ใจคงอยากจะให้ลงมติเห็นชอบทั้ง 6 ร่าง แต่ไม่ได้มีอำนาจต่อรองขนาดนั้น การที่รัฐบาลจะช่วยลงมติให้ญัตติผ่าน นับว่าช่วยรักษาหน้าให้ด้วยซ้ำ เพราะต้องไม่ลืมว่า ลำพังเสียง ส.ว.บางส่วนบวกฝ่ายค้าน 200 กว่าคน ไม่เพียงพอจะทำให้ญัตติผ่านที่ประชุมร่วมรัฐสภาไปได้
การจะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะต้องได้เสียงจากส.ว.อย่างน้อย 84 คน รวมถึงเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วย การยึกยัก เล่นตัว มีแต่จะทำให้ญัตติตัวเองแท้ง
จากจะได้อะไรบ้าง อาจจะไม่ได้อะไรเลย เพราะเห็นแล้วว่าหากรัฐบาลไม่ยอม แม้จะมีม็อบอยู่หน้ารัฐสภาก็ยังเสนอตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาญัตติซื้อเวลาออกไปถึง 30 วัน
ดูการลงมติในวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมาได้เลย ส.ว. 250 คน ลงมติแบบแถวตรงเป๊ะ ไม่มีเสียงแตก ดังนั้นหากไม่ยอม ย่อมไม่ได้เสียงส.ว.และรัฐบาลเข้ามาช่วยแน่
สถานการณ์ของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ได้อยู่ในโซนได้เปรียบ เพราะม็อบยังไม่สามารถกดดันอะไรรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะระยะหลังๆ ที่แกนนำม็อบบางคน ชักจะออกอ่าว ออกทะเล กลายเป็นมวยวัด ไม่มีทรง จนถูกมองว่า ชักจะก้าวร้าวกันไปทุกวัน
กระแสม็อบไม่เปรี้ยงถึงขนาดลากคนออกมานอนกลางดินกินกลางทราย แบบชุมนุมยืดเยื้อได้ ข้อเสนอหลายอย่างสุดโต่งเกินไป จนบางฝ่ายไม่เห็นด้วย
ขณะที่การปรากฏภาพของ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร นายหญิงตัวจริงแห่งพรรคเพื่อไทย ยังถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณ ดึงพรรคเพื่อไทย ออกจากการร่วมม็อบที่แตะต้องสถาบันเบื้องสูง เพื่อเข้าสู่โหมดเซฟตี้โซน
เมื่อพรรคเพื่อไทยปล่อยมือออกจากม็อบ จะเหลือแค่กลุ่มเยาวชนปลดแอก และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเท่านั้น ซึ่งก็มีข่าวออกมาว่า แกนนำของทั้ง 2 กลุ่ม มีจุดขัดแย้งกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะแนวทางการต่อสู้ที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกหวังแค่ให้รัฐบาลทำตามเงื่อนไข คือ หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา
เมื่อจับพรรคเพื่อไทย และกลุ่มเยาวชนปลดแอกออกมา ก็จะเหลือแค่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่เคลื่อนไหวเลยเถิด ซึ่งฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า ไม่น่าจะเขย่าอะไรได้มากนัก
ดังนั้น วันนี้แต้มต่อจึงยังไม่ได้อยู่ที่พรรคฝ่ายค้าน แต่ยังอยู่ในมือรัฐบาล การตัดสินใจจะยกมือให้ 2 ญัตติ จึงเป็นทางที่พอจะสยบคลื่นลมทั้งจากภายในรัฐบาลและภายนอกรัฐบาลได้
เหตุนี้ จึงทำให้พรรคเพื่อไทยเองก็อาจจะต้องลงมติเห็นชอบให้กับญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยเช่นกัน ขณะที่ท่าทีของ พรรคก้าวไกล เองก็น่าสนใจ เพราะดูแนวโน้มจะหันไปสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ"ไอลอว์" มากกว่าของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ตัวเองเล่นเกมไม่ยอมลงชื่อมาตั้งแต่แรกแล้ว
ดูแล้วน่าจะมาในทรง “เอาเท่”เหมือนหลายๆ ครั้ง ที่อาจจะไม่ลงมติให้ทั้ง 2 ญัตตินี้ แต่หันไปยกมือให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่เพียงพอจะทำให้ผ่านที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ก็ตาม
พรรคก้าวไกลคงต้องการแค่จะอิงกระแสในม็อบ เรียกคะแนนฉีกหน้าพรรคเพื่อไทย เข้าอีหรอบเดิม.