รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสียดายฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็น กมธ.แก้ รธน.ก่อนรับหลักการ ขอทุกฝ่ายหันหน้าพูดคุยกันเพื่อประเทศเดินหน้า ทุกอย่างขอให้คุยใน กมธ. เคารพเสียงข้างมาก อย่าแค่เอาชนะคะคานจนประเทศเสียหาย
วันนี้ (30 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ส่งสัญญาณให้รับร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านว่า ขณะนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเข้าสู่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมรัฐสภา ซึ่งเวลา 30 วันคงจะได้อะไรชัดเจนขึ้น ตนเชื่อว่าทุกคนต้องการเห็นประเทศชาติเดินไปในทิศทางที่ตั้งกันไว้ ส่วนปัญหาต่างๆ ก็จะนำไปพูดคุยกันในคณะกรรมาธิการ
“น่าเสียดายที่หลายพรรคการเมืองไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการฯชุดนี้ด้วย เพราะแทนที่จะได้ไประดมความคิดเห็นช่วยกันแก้ไข ช่วยกันหาทางออกตามที่ประชาชนคาดหวัง ซึ่งผมก็ยังอยากเห็นตรงนั้นอยู่ เสียดายไหมล่ะที่ฝ่ายค้านไม่ได้อยู่ร่วมเป็นกรรมการฯ มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายใช่ไหม เพราะในเมื่อมีเวทีให้แล้วก็น่าจะเป็นเวทีที่จะได้ช่วยกันแก้ไข จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง แต่เชื่อว่ากรรมาธิการฯ ไม่ได้มีความคิดที่จะกีดกันหรือปิดบังอะไร ซึ่งอาจจะมีการเชิญฝ่ายค้านเข้ามาร่วมเสวนาด้วยเพื่อให้แสดงความคิดเห็น ไม่ได้ปิดกั้นใดๆ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของรัฐบาลจะไม่มีการเสนอร่างของรัฐบาลเองแล้วใช่หรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า เมื่อเราตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาแล้ว เราก็ไปพูดคุยกันในกรรมาธิการฯ เราคงไม่ไปชี้นำ แต่นายกฯ มีเจตนาและหวังดี อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปได้ เมื่อถามว่า ไม่มีฝ่ายค้านร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการฯ ด้วย หากผลการพิจารณาออกมาแล้ว ฝ่ายค้านก็ไม่ยอมรับอยู่ดี จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีกหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า สื่อคาดการณ์ไปเองหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นมันต้องมีเหตุมีผลก่อนว่าการพูดคุยจะไปสู่จุดไหน
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแก้ไขกันอย่างไร อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ถือเป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย มีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง ทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ และเสียงในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องเคารพเสียงคนหมู่มาก ถ้าปกครองด้วยเสียงคนส่วนน้อยคงไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่ปกครองอย่างนั้น นี่คือธรรมชาติของประชาธิปไตย แต่ไม่ว่าจะเสียงน้อยหรือเสียงมากก็ต้องมีการพูดคุยกันก่อน สรุปให้ลงตัวเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่จะเอาชนะคะคานกันจนลืมว่าประเทศชาติเป็นของเสียงทุกเสียง เป็นของทุกคน ไม่ใช่ว่ากลุ่มใดมีพลังหรืออำนาจมากกว่า”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่แน่ๆ ก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้และออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ นายอนุชากล่าวว่า อยากฝากถึงกลุ่มผู้ชุมนุมว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีบทบาทของการพูดคุยเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะต้องอยู่ที่ความเห็นของคนกลุ่มเดียว เพราะยังมีอีกหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ชุมนุมหรือไม่ชุมนุม หรือไม่แสดงออก ซึ่งพวกเราก็ทราบกันดีอยู่ว่ามีความเห็นต่างกันอยู่ในสังคม ดังนั้นเราจะทำอย่างไรเพื่อหาจุดร่วม เราเห็นบทเรียนที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้น หากเราช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อประคับประคองประชาธิปไตยนำพาประเทศเราไปให้ได้อย่างแท้จริง สำหรับตนและพรรคพลังประชารัฐก็พยายามช่วย เพื่อนำพาประเทศไปให้ได้อย่างแท้จริง และให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตความขัดแย้งทางความคิดให้ได้
“ตอนนี้คณะกรรมาธิการฯ กำลังเริ่มพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านยังอยู่ทั้ง 6 ญัตติ ยังไม่ได้มีของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกไป ซึ่งก็ต้องมาพูดคุยกันก่อน แล้วค่อยรับหลักการ ดังนั้นทุกฝ่ายก็ยังมีโอกาส เพราะคณะกรรมาธิการฯ ก็จะต้องศึกษาในทุกๆ ร่าง แต่บางทีก็จะต้องมีจุดยืนเพื่อให้มีความชัดเจนว่า ไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ทั้งนี้ การที่นายกฯ ส่งสัญญาณให้รับร่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น ผมคิดว่ายังไม่มีความชัดเจนขนาดนั้น ขอให้มีการพูดคุยในชั้นกรรมาธิการฯ ก่อนดีกว่า เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน หันหน้าเข้าหากัน รวมไปถึงคนที่ไม่ได้เข้าร่วมในชั้นกรรมาธิการฯด้วยก็ต้องช่วยกัน”