ประชุม กมธ.พิจารณาร่างแก้ รธน. เคาะมติเอกฉันท์“วิรัช” นั่ง ปธ. เตรียมถก 6 ญัตติ ส่วนร่างของ ปชช.ยังไม่ได้บรรจุวาระอาจส่อผิดข้อบังคับ ยังไม่เคาะปมต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ยันนายกฯไม่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของรัฐสภา
วันนี้ (30 ก.ย.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ก่อนรับหลักการ นัดแรก โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เป็นประธานกรรมาธิการ และมีรองประธานกรรมาธิการ 6 คน ได้แก่ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์, นายไพบูลย์ นิติตะวัน, นายศุภชัย ใจสมุทร, นายชินวรณ์ บุญเกียรติ, นายวิเชียร ชวลิต และ นายนิกร จำนง และมีที่ปรึกษากรรมาธิการ 4 คน ได้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก, นายอิสระ สมชัย, นายสมชาย แสวงการ และ นายเสรี สุวรรณนภานนท์ ด้านโฆษกกรรมาธิการ 2 คน ได้แก่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ และ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ และมี นายณัชนนท์ ศรีก่อเกื้อ เป็นเลขานุการกรรมาธิการ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ เผยว่า เบื้องต้นกรรมาธิการได้มีการหารือร่วมกันว่า ควรให้ผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด มาชี้แจงข้อมูล เพื่อให้กรรมาธิการได้พิจารณา และเห็นว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการพิจารณา ควรเร่งพิจารณาก่อน พร้อมระบุว่า ระยะเวลาเพียงพอต่อการพิจารณา ทั้งนี้ เตรียมเชิญ นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาให้ข้อมูลผลการศึกษาของคณะกรรมมาธิการด้วย
อย่างไรก็ตาม การประชุมจะพิจารณาญัตติรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ พร้อมกัน ไม่ได้เน้นญัตติใดเป็นพิเศษ ส่วนที่มองว่ากรรมาธิการไม่มีฝ่ายค้านร่วมด้วยนั้น ที่ประชุมเห็นไม่ไม่เป็นปัญหา เพราะยังต้องเชิญผู้เสนอร่างเข้ามาให้ข้อมูลอยู่แล้วซึ่งร่าง 5 ฉบับก็มาจากฝ่ายค้าน ในส่วนของร่างกลุ่มไอลอว์นั้น ทางกรรมาธิการยังไม่ได้นำมารวมด้วย เพราะจะต้องพิจารณา 6 ญัตติที่เข้าสภามาก่อน โดยญัตติที่เหมือนก็จะพิจารณาไปพร้อมกันส่วนญัตติในรายมาตราก็จะพิจารณาเป็นลำดับต่อไป ส่วนความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ได้มีการพูดคุยกัน
ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ในภาพรวมเตรียมจะเชิญผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ มาให้ความเห็นและชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่มีประเด็นว่าจำเป็นจะต้องเชิญตัวแทนภาคประชาชนที่เตรียมจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการชุดนี้หรือไม่ ซี่งเป็นประเด็น กมธ.ในที่ประชุมได้ทักท้วงว่าไม่สามารถทำเช่นนั้น เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนยังไม่ได้รับการบรรจุระเบียบวาระของรัฐสภา หากไปทำเช่นนั้นอาจจะไปขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 121
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน มีประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่สำคัญ คือ การทำประชามติก่อนสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เป็นประเด็นที่ได้มีการเสนอกันว่า เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีบรรทัดฐานว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะต้องมีการทำประชามติเพื่อฟังเสียงจากประชาชนก่อน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ แต่อาจจะมีการตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะเป็นปัญหาของข้อกฎหมาย
เมื่อถามว่า มีข่าวออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ส่งสัญญาณให้พรรคร่วมรัฐบาลรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีผลต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการชุดนี้หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับพล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของของรัฐสภา อีกทั้งคณะรัฐมนตรีไม่ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา แต่เท่าที่ดูจากคณะกรรมาธิการทุกคนก็มีแนวโน้มและทิศทางที่ดีที่จะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป