xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : 30 วันอันตราย ยื้อแก้ รธน. รัฐบาลไม่สนตุลาอาถรรพ์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2563 ตอน 30 วันอันตราย ยื้อแก้ รธน. รัฐบาลไม่สนตุลาอาถรรพ์



การหักดิบประชุมรัฐสภาพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง6 ร่าง ชั้นรับหลักการ โดยไม่สนกระแสสังคม และม็อบกดดันหน้ารัฐสภาเมื่อวันค่ำที่ 24 ก.ย. ด้วยการยื้อเวลารับหรือไม่รับหลักการญัตติทั้งหมดที่เสนอมา หลังจากถกกันนำ้ลายท่วมสภาฯ 2 วัน2คืน

โดยฝ่ายรัฐบาลบวกฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา ใช้วิธีหักหลังฝ่ายค้าน ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกไปเป็นเวลา30 วัน สะท้อนการเดินเกมการเมือง ที่มีนัยยะสำคัญหลายประการ

นับจากนี้ รัฐธรรมนูญพ. ศ. 2560 ที่นักการเมืองอย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เคยลั่นไว้ว่า รัฐธรรมนูญของพวกเรา จะได้รับการคุ้มครองสุดชีวิตจากฝ่ายรัฐบาลและส. ว. ใครจะมาแตะต้องหรือจะแก้ไข ย่อมทำได้ได้ยาก

โดยเฉพาะท่าทีของ ส.ว. ที่แข็งกร้าวในสภาฯสำหรับการพิจารณาศึกแก้รัฐธรรมนูญ แผลงฤทธิ์ให้เห็นแล้วว่า ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ทำคลอดพวกเขามา อย่างสุดชีวิตจนผลสุดท้ายจะไม่ลงมติเห็นชอบให้กับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ซึ่งรัฐบาลก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะถ้ารับหลักการแก้ไขมาตรา 256 และให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา อำนาจการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะคุมทิศทางและเนื้อหาไม่ได้ หรืออาจจะถึงขั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา279 ที่ว่าด้วยคำสั่ง หรือการกระทำใดของคสช. ชอบด้วยและเป็นกฎหมาย แก้ให้พลิกไปเป็นไม่ชอบ ไม่ใช่ ใครต่อใครในรัฐบาล ชีวิตจะพังไปในทันที

นี่เป็นข้อหวั่นเกรง จนเป็นเหตุให้วิปรัฐบาลนำมาอ้างว่า เพื่อเป็นการรักษาญัตติทั้งหมดไว้ จึงเห็นด้วยให้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษา 30 วัน แล้วค่อยนำมาพิจารณากันใหม่หลังเปิดประชุมสภาในวันที่ 1 พ.ย.

สำหรับเรื่องนี้ แม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะปฏิเสธว่า ไม่ได้สั่งการหรือชี้นำ ส.ว. แต่ในความเป็นจริงมันเชื่อได้ยาก
แต่อย่างที่รู้กัน ส.ว.ชุดปัจจุบันล้วนเกิดมาจากการเลือกของ “บิ๊กตู่” และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้น มันย่อมแยกความเป็นพวกกันไม่ออก

ท่าที ส.ว.จึงสะท้อนท่าทีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เฉกเช่นเดียวกัน ว่ากำลังมีปฏิกิริยากับสถานการณ์บ้านเมืองอย่างไร
การซื้อเวลาออกไป 30 วันเป็นการเตะถ่วงเพื่อที่จะไม่แก้รัฐธรรมนูญ หรือต้องการจะใช้ระยะเวลา 30 วันที่นับจากนี้ จัดการอะไรบางอย่าง

รัฐบาลย่อมรู้อยู่แล้วว่า การฝ่ากระแสสังคมซื้อเวลา 30 วัน ย่อมทำให้สถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรง โดยเฉพาะในช่วงเดือน ตุลาคม ที่มีวันสัญลักษณ์ทางการเมืองจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516 หรือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

การทำแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการหยิบยื่นเงื่อนไขไปให้ม็อบเคลื่อนไหวกดดันได้มากขึ้น แต่รัฐบาลกลับทำในสิ่งที่คนภายนอกมองว่า เป็นการราดน้ำมันกองเพลิง การตัดสินใจเดินแนวทางนี้ มีกระแสข่าวว่า

เป็นเพราะฝ่ายความมั่นคง ได้ประเมินสถานการณ์ของม็อบมาสักระยะหนึ่ง รวมถึงเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ท้องสนามหลวงแล้ว คิดว่า จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะขนาดของม็อบที่หากใช้ทฤษฎี “จับปลาแยกน้ำ” จะแยกย่อยกันได้ 3 ส่วน

คือ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือประชาชนปลดแอก ในวันนี้ และกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งนี้ ปริมาณผู้ชุมนุมในท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน จะค่อนข้างเห็นได้ชัดว่า

มวลชนหลักๆ ที่เข้ามาปักหลักและค้างคืนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง
ขณะที่กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา มาแบบเช้าเย็นกลับ ไม่ได้พักแรม ยกเว้นบรรดาแกนนำ

ในขณะเดียวกัน กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กับกลุ่มเยาวชนปลดแอก ก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียด โดยกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เรียกร้องในเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ส่วนกลุ่มเยาวชนปลดแอก ต้องการแค่ให้หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา จึงไม่ใช่กลุ่มขนาดใหญ่ที่เหนียวแน่น

นอกจากนี้ การชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา ม็อบค่อนข้างแตกแยกเรื่องความคิดและจุดมุ่งหมาย ขาดการบริหารจัดการที่ดี จึงทำให้ไม่สามารถพาม็อบไปได้ไกลกว่าแฟลชม็อบ

ทางด้านบรรดา “ท่อน้ำเลี้ยง” ไม่ได้ถูกเปิดอย่างเต็มที่ ที่จะเพียงพอให้ชุมนุมยืดเยื้อได้ เพราะไม่มั่นใจว่าจะชนะศึกนี้ได้หรือไม่ หลังกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมเล่นของสูง ซึ่งคนในสังคมยังไม่เห็นด้วย

เหตุนี้จึงทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างย่ามใจจึงเลือกใช้วิธีฝ่ากระแสร้อนระดับพายุทะเลทราย รัฐบาลจะไม่ได้กังวลและให้ราคากับม็อบ ที่พยายามปลุกระดม เตรียมจะชุมนุมกดดันต่างๆ ในช่วงเดือนสัญลักษณ์นี้

ยังมีรายงานลับอีกว่า ในช่วงเวลานับจากนี้ ฝ่ายความมั่นคงอาจจะถึงคราวรุกคืบสู้ปฏิบัติการเด็ดหัวแกนนำม็อบ ด้วยการทยอยดำเนินคดี เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งมันบังเอิญไปสอดคล้องกับท่าทีของ “บิ๊กตู่” ที่ให้สัมภาษณ์ที่เริ่มขึงขังขึ้น แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ค่อนข้างจะประนีประนอม ในประเด็นนี้เช่นกัน

“เราก็รู้วัตถุประสงค์ว่าเขาทำเพื่ออะไร ซึ่งฝ่ายกฎหมายก็ลำบากใจ ผมได้คุยแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะกฎหมายก็คือกฎหมาย ไม่วันนี้ก็วันหน้า อายุความก็เยอะแยะไปหมด ดังนั้น ผมไม่ต้องการไปปลุกให้คนมาต่อสู้หรือด่าผม บางครั้งผมก็อดทน ซึ่งอดทนเต็มที่แล้ว”

จึงต้องจับตาว่า ในห้วงเดือน ต.ค.นี้จะมีการเริ่มเอาจริงเอาจังกับบรรดาแกนนำม็อบหรือไม่

ขณะที่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีแนวโน้มว่า ในช่วงเวลา 30 วันนี้ จะมีการจับเข่าพูดคุยกันว่า จะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง รัฐบาลจะยอมในประเด็นใดบ้าง เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าไปได้ ซึ่งจะมีการกำหนดกรอบชัดเจนก่อนที่จะมีการโหวต เพื่อไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่ม

เพียงแต่ว่า ฝ่ายค้านอาจจะได้ไม่ครบอย่างที่อยากได้ ขณะที่รัฐบาลก็ไม่ได้ยอมทุกประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องการ จึงอาจจะเจอกันที่ตรงกลาง แบบที่พรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านบางพรรครับได้

โดยมีกระแสข่าวว่า รัฐบาลอาจจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับตัวเอง เข้าไปเพื่อเป็นเจ้าภาพ หลังจาก ก่อนหน้านี้ปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลทำเอง และฝ่ายค้านทำเอง จนเกิดความเห็นที่ไม่ตรงกัน

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาล จะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มีกรอบชัดเจนว่า จะแก้ไขอะไร ซึ่งก็มาจากความต้องการของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และรวมถึงของพรรคฝ่ายค้านที่สามารถเจรจากันได้

เหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะต้องการให้การพิจารณาในสภาเป็นไปอย่างราบรื่น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน เห็นชอบ รวมไปถึงด่านอรหันต์อย่าง ส.ว.

รัฐบาลไม่ได้ต้องการจะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ต้องการให้มันอยู่ในกรอบความเป็นไปได้ และจำเป็น คือแก้รายมาตรา และไม่มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือสสร. เด็ดขาด เพื่อไม่ให้อำนาจหลุดไป และเซฟตัวเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น