“ข่าวลึก ปมลับ”ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 22 กันยายน 2563 ตอน แก้ รธน.ขั้วอำนาจไปทางไหน? ส.ว.รอตาม 3 บิ๊กมือประสาน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระร้อนทางการเมืองก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ เริ่มเปิดศึกตั้งแต่วันพุธที่ 23 ก.ย.ต่อเนื่องถึงวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.ย. สองวันติดต่อกันที่จะพลาดติดตามไม่ได้ เพราะเป็นกุญแจดอกแรกที่จะเปลี่ยนรูปโฉมการเมืองในอนาคตกาลต่อไป
การประชุมรัฐสภาครั้งนี้ จะเป็นการประชุมร่วม ส.ส.และสว.ทั้งหมด เพื่อร่วมอภิปรายและลงมติในญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคพลังประชารัฐ และพรรคฝ่ายค้านนำโดย พรรคเพื่อไทย ยื่นญัตติขอแก้ไข รธน.รวมกันทั้งสิ้น 6 ร่าง ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ
คือกลุ่มที่ 1. ร่างแก้ไขรธน.มาตรา 256 ในรธน.ฉบับปัจจุบัน เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ซึ่งเสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ด้วยที่เห็นตรงกันในหลักการให้มีสสร. เพียงแต่รายละเอียด แตกต่างกันบ้าง เช่นเรื่องที่มาของสสร.หรือระยะเวลาในการยกร่างรธน.ฉบับใหม่ เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 เป็นญัตติขอแก้ไขรธน.ที่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส. ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ที่จะคาบเกี่ยวกันสองมาตราในรธน.คือมาตรา 159 กับ 272 โดยฝ่ายค้านเสนอให้ยกเลิกทั้งสองมาตราดังกล่าวออกทั้งหมด เพื่อปิดสวิตซ์อำนาจพิเศษดังกล่าวของสว.ชุดปัจจุบัน
และกลุ่มที่ 3 เป็นร่างแก้ไขรธน.เพื่อยกเลิกการคุ้มครองประกาศ-คำสั่งของหัวหน้าคสช.หรือที่เรียกกันว่า นิรโทษกรรมคสช. ที่อยู่ในมาตราสุดท้ายของรธน.ฉบับปัจจุบันคือม. 279
และอีกญัตติเป็นเรื่องการขอแก้ไขรธน.ยกเลิกระบบการเลือกตั้งส.ส.ระบบสัดส่วนแบบที่ใช้กันมาตอนเลือกตั้ง24 มีนาคม2562 โดยฝ่ายค้านเสนอให้แก้ไข รธน.โดยให้กลับไปใช้ระบบบัญชีรายชื่อ แบบรธน.ปี 2540
พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอญัตติขอแก้ไขรธน.รวมทั้งสิ้น 5 ร่าง แต่เป้าหมายที่ต้องการให้สัมฤทธิ์ผล จริงๆ ก็คือการแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสสร. นั่นเอง และเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงส.ส.ร่วม ๆ270 เสียง เสนอร่างแก้ไขรธน.ประกบโดยให้ตั้งสสร.เช่นกัน เท่ากับว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็ยอมให้มีการตั้งสสร.แล้ว
ในทางการเมือง จึงถือว่า โอกาสเกิด สภาร่างรธน.มายกร่างรธน.ฉบับใหม่ ถือว่า ใกล้ถึงเส้นชัยแล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน หากสุดท้าย ถ้าผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระแรกไปได้ ก็ถือว่า สำเร็จเกินกว่าครึ่งทางไปแล้ว
ตอนนี้ก็เหลือลุ้นแค่ให้ สมาชิกวุฒิสภา โหวตเห็นชอบด้วยให้ครบตามเกณฑ์รธน. เท่านั้นเอง
ส่วนร่างแก้ไขรธน.รายมาตราอื่นๆ หากสุดท้าย ไม่ผ่านจริงๆ ก็เชื่อว่า ฝ่ายค้านโดยเฉพาะ เพื่อไทย คงไม่ติดใจมากเท่าไหร่ จะมีก็แค่ พรรคก้าวไกล หรืออนาคตใหม่เดิม ที่คงไม่พอใจ
เพราะพรรคก้าวไกล ภายใต้การกุมบังเหียนอยู่ข้างหลังของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ลึกๆ ก็หวังให้แก้ไขรายมาตราอย่างการปิดสวิตซ์อำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ สำเร็จด้วยในรอบนี้
สำหรับกระบวนการพิจารณาและลงมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาตลอดสองวันดังกล่าว จะต้องดำเนินไปตามรธน.มาตรา 256 ของรธน.ฉบับปัจจุบัน ที่สาระสำคัญก็คือ ร่างแก้ไขรธน.จะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่
โดยในเสียงเกินกึ่งหนึ่งนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดว่า
ต้องมีส. ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ก็คือ ไม่น้อยกว่า 84 เสียง
ด้วยไฟต์บังคับ เขียนล็อกไว้แบบนี้ หาก ส.ว. ลงมติเห็นชอบไม่ถึง 84 คน ทุกอย่างก็จบไม่เป็นท่าตั้งแต่วาระแรก ต่อให้ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน โหวตเห็นชอบกันถล่มทลายก็ตาม
ถึงยามนี้ อีกไม่กี่ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มมีการประชุมแก้รธน. จับกระแสสุ้มเสียงของ ส.ว.พบว่า ยังไม่ตกผลึกกันเท่าใดนัก ว่าจะโหวตกันแบบไหน มี ส.ว.หลายคน พยายามสงวนท่าที ไม่แสดงออก เว้นแต่พวกตัดสินใจแล้ว ก็จะประกาศตัวออกมา ที่ก็มีไม่มากนัก นับแล้วมีอยู่แค่ประมาณ 20-30 คนเท่านั้น จาก 250 คน
เหตุผลที่ ส.ว.หลายคน ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแก้ไขรธน. โดยเฉพาะการตั้งสสร. คือ เหตุผลประการแรก รธน.2560 เพิ่งประกาศใช้ได้แค่ 3 ปี จะมายกเลิก แล้วร่างใหม่ทั้งฉบับถือว่าเร็วเกินไป อีกทั้ง เป็นรธน.ที่ผ่านการทำประชามติโดยมีเสียงเห็นชอบ 16 กว่าล้านเสียง จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องมาร่างใหม่ ทำเหมือน 16 กว่าล้านเสียงไม่มีความหมาย
เหตุผลประการที่สอง คือ เป็นห่วงว่า การตั้งสสร.เป็นการตีเช็คเปล่า เพราะไม่รู้ว่า สสร.จะไปร่างรธน.ออกมาอย่างไร โดยเฉพาะหากไปยกเลิกเรื่องดีๆ ในรธน.ฉบับปัจจุบันทิ้ง และบางบทที่นักการเมืองไม่ชอบ เช่น คนทำผิดคดีทุจริตหากหนีคดี ไม่นับอายุความ หรือการตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิตสำหรับคนที่ถูกศาลตัดสินว่า ทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งจุดแข็งเหล่านี้ ในรธน. 2560 อาจหายไป ถ้ามีการร่างรธน.ฉบับใหม่
ประการที่สาม ส.ว.อ้างว่า เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณหลายพันล้านบาท ในขั้นตอนทำประชามติ และค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมแล้ว กว่าจะได้รธน.และกฎหมายลูกออกมาทุกฉบับ ต้องใช้เงินแตะระดับหมื่นล้านบาท ในสภาพที่ประเทศกำลังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ จึงไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญ
ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลมด ก็ไม่สามารถว่า การที่ ส.ว. กลุ่มหนึ่งขัดขวางการแก้ไข รธน. เพราะ ส.ว.ทั้ง 250 คนที่เหลือวาระถึงปี 2567 อาจกลัวว่ารธน.ฉบับใหม่ จะเซ็ตซีโร่ ส.ว.ชุดปัจจุบันที่มาจากคสช. จนต้องหลุดจากตำแหน่งยกแผงก่อนกำหนด เลยขวางการร่างรธน.ฉบับใหม่
ในความเคลื่อนไหวในคืนหมาหอน ช่วงวันสุดท้าย ก่อนถึงวันประชุมรัฐสภา ข่าวว่า ส.ว.หลายคน แยกย้ายกันจับกลุ่มถกกันเครียด ว่าจะลงมติแบบไหนดี ให้ออกมาแล้วเซฟกับตัวเองมากที่สุด
และในความอึมครึมของสถานการณ์นี้ ทำให้ ส.ว.บางส่วน อยากรู้ท่าทีของแกนนำขั้วรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยว่า มีการวางหมากเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เพลี่ยงพล้ำต่อฝ่ายค้าน และไม่เป็นการยอมม็อบสนามหลวงมากเกินไป
ข่าวลือจากวงการ ส.ว.อ้างว่า ส.ว.บางสาย ก็กำลังรอดูท่าทีของสว.ซึ่งที่ผ่านมามีบทบาทไม่น้อยในสภาสูง ในบทบาทของมือประสานที่มีหลายคน อาทิ บิ๊กฉัตร พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรองนายกฯ สายตรง นายกรัฐมนตรี
หรือ บิ๊กกี่ พลเอกนพดล อินทรปัญญา และ บิ๊กอ้น พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา สองแกนนำ ส.ว. คนสนิทพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้จัดการรัฐบาล ซึ่งถึงเวลานี้ ส.ว.มือประสานบิ๊กๆเหล่านี้ยังไม่แสดงท่าทีใดๆออกมา
แต่เป็นที่เชื่อว่า พอเริ่มประชุมกันวันพุธนี้ สัญญาณต่างๆ ที่จะส่งมายัง ส.ว. คงชัดมากขึ้น แต่การตัดสินใจในขั้นสุดท้ายของ ส. ว.ทั้งหลายจะเอาอย่างไร จะสนับสนุน หรือจะทำให้ การแก้ไข รธน.สะดุด จนไปต่อไม่ได้ ต้องรอดูกัน !!