xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ย้อนอดีต โมเดล ส.ส.ร.แก้ รธน.ใครคุมเสียงได้ ฝ่ายนั้นชนะ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563 ตอน ย้อนอดีต โมเดล ส.ส.ร.แก้ รธน.ใครคุมเสียงได้ ฝ่ายนั้นชนะ



การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงตอนนี้ ฟันธงได้ว่า เกิดขึ้นแน่นอนก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ ในปลายเดือนกันยายน เนื่องเพราะหลายองค์ประกอบ ขยับเดินหน้าไปแล้วเป็นลำดับ เช่น การที่ ชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา ย้ำไว้แล้วว่า จะบรรจุญัตติแก้ไข รธน.เข้าสู่วาระการประชุมร่วมรัฐสภา ภายใน 30 สิงหาคม

ส่วนที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะได้พิจารณาในวันใด ขึ้นอยู่กับการประสานงานของวิปสามฝ่าย ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงมีข่าวว่า วิปรัฐบาลก็จะยื่นญัตติขอแก้ไข รธน. ต่อประธานรัฐสภา ภายในสัปดาห์นี้ หลังฝ่ายค้านยื่นญัตตินำร่องไปก่อนแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ภายใต้ความชัดเจน ที่เห็นอย่างเด่นชัดอย่างหนึ่งว่า ญัตติขอแก้ไข รธน.ทั้งของรัฐบาล -ฝ่ายค้าน ตกผลึกตรงกันหมดแล้วว่า จะไม่มีการแก้ไขรธน.รายมาตรา แต่จะใช้วิธี แก้รธน.มาตรา 256 ที่อยู่ในหมวดว่าด้วยการแก้ไขรธน. เพื่อปลดล็อกประตูเหล็กการแก้ไข รธน. แล้วใช้วิธี เขียนให้มีการตั้ง

สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้นมาทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
เพียงแต่รายละเอียดเรื่อง โครงสร้างของ ส.ส.ร. ตลอดจนกลไกอื่นๆเช่น ที่มาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ -ระยะเวลาการร่าง รธน. ยังมีความแตกต่างกันอยู่ ในญัตติของฝ่ายค้านกับรัฐบาล

ที่พอสรุปคร่าวๆ คือ ร่างของฝ่ายค้านให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ ส.ส.ร.ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัด โดยให้ประชาชนแต่ละคนมีสิทธิเลือกได้เพียง 1 คน

ในร่างของฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ไม่มี ส.ส.พรรคก้าวไกลร่วมสังฆกรรมด้วย ยังเขียนให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรธน.จำนวน 29 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ประกอบด้วย ส.ส.ร.15 คน จากที่ส.ส.ร. 200 คนเลือกกันเอง

ที่เหลือเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ 5 คน -รัฐศาสตร์ 5 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินและการร่างรัฐธรรมนูญ 4 คน โดยให้ ส.ส.ร.ต้องร่างรธน.ฉบับใหม่ให้ให้เสร็จภายใน 240 วัน นับแต่ที่มีการประชุม ส.ส.ร.ครั้งแรก

ขณะที่แนวทางของรัฐบาล เรื่องจำนวน ส.ส.ร.ยังมีความเห็นไม่ลงตัวมากนักโดยเฉพาะระหว่างฝ่ายพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ ทำให้มีข่าวว่า เบื้องต้น อาจใช้วิธี เขียนญัตติให้แก้ไข รธน.มาตรา 256 ยื่นต่อประธานรัฐสภา และมีบทเฉพาะกาลบางอย่างตามที่แกนนำรัฐบาลต้องการ

แต่จะไม่เขียนรายละเอียดเรื่องของ ส.ส.ร.แบบเฉพาะเจาะจง เพราะจะให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาวิสามัญพิจารณาญัตติขอแก้ไขรธน.ที่รัฐสภาจะตั้งขึ้น ที่จะมีตัวแทนจากส.ส.และสว. เป็นกรรมาธิการไปพิจารณากันเอง

แต่ก็มีกระแสข่าวว่า แกนนำฝ่ายรัฐบาลในพรรคพลังประชารัฐ บางส่วน วางโมเดลไว้ว่า ต้องการให้มีส.ส.ร.จำนวน 200 คนเช่นกัน แต่จะให้มาจากการเลือกของประชาชน 150 คน เท่านั้น

ส่วนส.ส.ร. อีก 30 คน ให้มาจากของที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะเสนอชื่อใครและโหวตเลือกใคร และที่เหลืออีก 20 คน ให้เป็นส.ส.ร.ที่มาจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น นักศึกษา-ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นต้น แต่ต้องดูว่าฝ่ายประชาธิปัตย์จะเอาด้วยหรือไม่

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกอย่างบ่งชี้ชัดแล้วว่า ประเทศไทย อาจจะมี สภาร่างรธน.เกิดขึ้นอีกรอบ ที่หากดูตามไทม์ไลน์ ก็คาดว่า อาจจะได้เห็นภายในไม่เกินปีนี้แน่นอน ถ้าการแก้ไขรธน.ไม่สะดุดล้มกลางทางเสียก่อน

สำหรับประเทศไทย หากย้อนมองประวัติศาสตร์ รัฐธรรมนูญไทย เอาแค่ ในรอบประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ก็จะพบว่า มีส.ส.ร.แล้ว 2 ครั้ง คือ ส.ส.ร. ที่ร่วมยกร่างรธน.ฉบับ 2540 ที่ถือว่าเป็นรธน.ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย

เวลานั้น ในช่วงปี 2539 มีการแก้ไขรธน.ยุครัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่เขียนให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีที่มาจากสองกลุ่ม คือ

1.ส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทนแต่ละจังหวัด ที่มาจากการประกาศรับสมัครในแต่ละจังหวัด แล้วคัดเลือกกันเอง ให้เหลือไม่เกิน 10 คนจากนั้นนำรายชื่อทั้งหมดส่งไปให้รัฐสภาเป็นผู้ลงมติคัดเลือก ให้เหลือจังหวัดละหนึ่งคน จนได้ ส.ส.ร.จังหวัดมา 76 คน ตามจังหวัดที่มีอยู่ในเวลานั้น

และอีกส่วนหนึ่งเป็นส.ส.ร.สายผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ นิติศาตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน จำนวน 23 คน โดยมีที่มาจากการคัดเลือกกันเองของสภาสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ แล้วส่งชื่อให้รัฐสภาเลือกเลือกให้เหลือ 23 คน รวมกันแล้ว ส.ส.ร.ชุดดังกล่าวจึงมีด้วยกัน 99 ชื่อ

และต่อมาก็มีการตั้งกรรมการยกร่างรธน. 2540 ที่มี อานันทน์ ปันยารชุน เป็นประธาน จนสุดท้าย ก็ได้ร่างรธน.ส่งไปให้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ยุคบิ๊กจิ๊วเป็นนายกฯ โหวตเห็นชอบ โดยยุคนั้นไม่มีการทำประชามติแต่อย่างใด

ส่วนอีกครั้งหนึ่ง เป็นสภาร่างรธน.ปี 2550 มีแตกต่างจากส.ส.ร.ปี 2540 โดยสิ้นเชิง เพราะส.ส.ร. 2550 เกิดขึ้นจากการทำรัฐประหารของ คมช.เมื่อ 19 กันยายน 2549 แล้วฉีกรธน.ปี 2540 ทิ้ง จากนั้นก็มีการประกาศใช้ รธน.ฉบับชั่วคราวของคมช.ที่เขียนให้ มีการตั้งสภาร่างรธน. เพื่อมาร่างรธน.ฉบับถาวร

ที่มาของส.ส.ร.ปี 2550 สรุปได้ว่า มาจาก การเปิดรับสมัครและการเสนอชื่อ จนได้ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 2549 จำนวน 1,982 คน แล้วทั้งหมด ได้ร่วมกัน ลงมติคัดเลือกกันเอง เหลือ 200 คน จากนั้น ส่งชื่อไปให้ คมช. เลือกเหลือ 100 คน

ส.ส.ร.ปี 2550 ก็มีการ ตั้งกรรมการยกร่างรธน. 35 คน แยกเป็นสาย คมช. 10 คน และส.ส.ร.เลือกกันเอง 25 คน โดยมี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน มายกร่างรธน.จนสำเร็จ แล้วก็ส่งไปทำประชามติ จนประชามติผ่าน จึงมีการประกาศใช้รธน.ปี 2550 และถูกฉีกลงในปี 2557 จากการทำรัฐประหารของคสช.

ส.ส.ร. ชุดใหม่ที่คาดว่าจะเป็นชุดที่สาม เข้ามา เขียนรธน.สำเร็จ จะมีโฉมหน้าอย่างไร ต้องรอดูผลการแก้ไขรธน.ที่จะออกมา ว่าจะเขียนโมเดล ออกมาอย่างไร!

ดูแล้ว รัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงสว. ก็คงมีการประลองกำลังกันอย่างหนัก ในการเขียนที่มาของส.ส.ร.ให้ฝ่ายตัวเอง กุมความได้เปรียบทางการเมืองมากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น