xs
xsm
sm
md
lg

ดรามา #แบนศรีพันวา หลังไฮโซปลาวาฬ “วรสิทธิ์ อิสสระ” ด่าม็อบเด็ก bullshit หรือไม่ ถามใจเธอดู **ก็เป็นเสียอย่างนี้ !! รวบรัดตัดความ “เปิดสวิตช์แก้ รธน.” ตามแนวทางของรัฐบาลรอบนี้ “ลุงตู่” อยู่ยาว !!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์







ข่าวปนคน คนปนข่าว

**ดราม่า #แบนศรีพันวา หลังไฮโซปลาวาฬ วรสิทธิ์ อิสสระ ด่าม็อบเด็ก bullshit หรือไม่ ถามใจเธอดู

โลกโซเชียลฯร้อนฉ่า เมื่อมีดรามา “ปลาวาฬ” วรสิทธิ์ อิสสระ ผู้บริหารรีสอร์ตหรูหรามีระดับของจังหวัดภูเก็ต โพสต์ข้อความและคลิป ถึง นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ว่า “This bullshit has got to stop... she is not thai! Who is he working for ? This one need to be in prison How dear you!” ซึ่งแปลได้ความประมาณว่า... “เXอะไรเนี่ย ต้องหยุดได้แล้ว เธอมันไม่ใช่คนไทย เธอทำงานให้ใครเหรอ ? คนพวกนี้ต้องติดคุก เธอบังอาจมากนะ” นอกจากนี้ ยังมีการอัดคลิปด่าเป็นภาษาอังกฤษ ที่แปลเป็นไทยได้ว่า “เXอะไรเนี่ย” และเขียนอีก 2 ประโยค คือ “Arrest the child” หมายถึง ให้จับพวกเด็กๆ เหล่านี้ซะ และยังมีการโพสต์รูปข้าวสาร พร้อมข้อความว่า “Do you remember??.. the rice scheme.” แปลเป็นไทยว่า จำได้หรือไม่ โครงการจำนำข้าว

ปรากฏว่า ไม่นานต่อมาก็มี “ทัวร์ลง” ในโซเชียลฯ ส่วนตัวของ “ปลาวาฬ” คนจำนวนมากเข้ามาตอบโต้ต่อ และจุดกระแสแฮชแท็ก #แบนศรีพันวา ออกมาว่อนเน็ต จนพุ่งพรวดติดเทรนด์ทวีตฮอตประจำวันไปในที่สุด

วรสิทธิ์  อิสสระ
ถามว่า “ปลาวาฬ” เป็นใคร ทำไมม็อบโซเชียลฯ ถึงมีปฏิกิริยารุนแรงต่อเขา ก็ต้องบอกว่า...ไม่ใช่คนโนเนม ชื่อเสียงของ “ปลาวาฬ” นั้นในแวดวงไฮโซรู้จักกันดี ในฐานะลูกชาย “สงกรานต์ อิสสระ” แห่ง ชาญอิสสระ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง
ขณะที่โปรไฟล์การศึกษาและการใช้ชีวิตวัยเด็กจนถึงวัยทำงานอยู่ต่างประเทศ เคยเรียนโรงเรียนประจำที่ Protregis ประเทศอังกฤษ และจบปริญญาตรี ที่ DCTInternational Hotel & Business Management
ก่อนที่จะก่อตั้งและเป็นผู้บริหาร “ศรีพันวา” รีสอร์ตสุดหรู “ปลาวาฬ” ผ่านการเป็นพนักงานล้างจาน เสิร์ฟอาหาร ในร้านอาหารไทย ไปจนถึงการเป็นบาร์เทนเดอร์ ในผับหรูของประเทศอิตาลี
เมื่อมาทำธุรกิจ ก็ถูกพูดถึงในฐานะรีสอร์ตสุดหรูแห่งแรก ที่ตั้งอยู่บนหาดส่วนตัว ปลายสุดของแหลมพันวาของเกาะภูเก็ต ชื่อเสียงของ “ปลาวาฬ” ในวงการจึงมาพร้อมกับความโด่งดังของ “ศรีพันวา”
การที่มีดรามา ขบวนการไล่ล่าปลาวาฬ #แบนศรีพันวา ที่เขาเป็นเจ้าของอยู่ ในแง่นี้จึงได้รับความสนใจจากสังคม

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
ขณะที่อีกในแง่หนี่งก็ต้องไม่ลืมว่า “ปลาวาฬ” ถือว่าเป็นคนที่ชอบเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นกัน และรับรู้ว่า เป็นติ่งที่มีใจเคลื่อนไหวอยู่กับกลุ่ม กปปส. ในอดีต หากจะบอกว่าเป็น “สลิ่ม” ที่ถูกหมายหัวไว้ก่อนหน้าก็ว่าได้
ความแรงของศึกดรามาครั้งนี้จึงเพิ่มทวีคูณ !!
แน่นอนว่า ถ้าตัดฉับมาที่บริบท ที่ว่าด้วยม็อบเด็ก ที่แกนนำ นำโดย “เพนกวิน และ รุ้ง” จากกิจกรรม 19 กันยา ทวงอำนาจราษฎร ทางหนึ่งถูกมองว่า ทั้งข้อเรียกร้องและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ก้าวร้าว และย่ำยีสถาบันฯ แต่ละเลยการเสนอแนะ และมุ่งเน้นที่จะเรียกร้องในสิ่งที่สังคมอยากจะเห็น อาทิ ความฟอนเฟะของกระบวนการยุติธรรม จากคดี “บอส กระทิงแดง” วงจรอุบาวท์ของนักการเมืองโกงกินเงินงบประมาณแผ่นดิน ความเป็นอยู่ของประชาชนไปจนถึงทิศทางอนาคตประเทศจากเยาวชน
ความก้าวร้าวที่เกินลิมิต จนเกินกว่าสังคมจะรับไหว หากจะมีสักคน หรือหลายคนลุกขึ้นมา หรือออกโรงมา “เห็นต่าง” จากพวกเขาก็เป็นเรื่องที่ไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายนัก
“ปลาวาฬ” จะเกยตื้นตามที่ทัวร์ลง หรือสำหรับแกนนำม็อบเด็ก “เพนกวิน-รุ้ง” จะ bullshit อย่างที่ไฮโซดังว่า หรือไม่ ? งานนี้ ถามใจเธอดู.



**ก็เป็นเสียอย่างนี้ !! รวบรัดตัดความเปิดสวิตช์แก้ รธน. ตามแนวทางของรัฐบาลรอบนี้ลุงตู่ อยู่ยาว !!

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นับจากนี้ก็เหลืออีกไม่กี่ชั่วโมงแล้ว ที่สภาผู้แทนฯจะเริ่มพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับการบรรจุเข้ามา 6 ร่าง โดย 2 ร่าง เป็นญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และ ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ไม่มี “พรรคก้าวไกล” ร่วมลงชื่อ เป็นการเสนอแก้ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.มายกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ ซึ่ง 2 ร่างนี้ จะต่างกันในเรื่องที่มาของ ส.ส.ร. และระยะเวลาในการยกร่าง รธน.ใหม่ของ ส.ส.ร. ซึ่งร่างของฝ่ายรัฐบาลให้เวลา 240 วัน ส่วนของฝ่ายค้านแค่ 120 วัน
ส่วนอีก 4 ร่าง ยื่นโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มี “พรรคก้าวไกล” เข้าร่วมด้วย โดยพุ่งเป้าไปที่ “ปิดสวิตช์ ส.ว.- ตัดทอนอำนาจ คสช.” คือ 1. แก้ไข มาตรา 272 และ มาตรา 159 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ และเพิ่มเติมใน มาตรา 159 ว่า นายกฯนอกจากเลือกจากบัญชีพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย ซึ่งเป็นการปิดทางเลือกนายกฯคนนอก 2. แก้ไข มาตรา 270 และ มาตรา 271 เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภาในการปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย 3. แก้ไขมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ที่ทำให้ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. อยู่เหนือ รธน. และ 4 . แก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้แบบมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
ทำให้ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เห็นแย้งว่า 4 ญัตตินี้ เป็นการลงชื่อซ้ำซ้อน จึงเสนอให้ประธานรัฐสภา ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าทำได้หรือไม่ หวังจะยื้อเวลาไม่ให้เข้ามาร่วมพิจารณาในวาระเดียวกันกับร่างของรัฐบาล หรือไม่ก็ถูกตีตกไปเลย ... แต่ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาบอกว่า... “ไม่มีญัตติไหนมีปัญหา”
ส่วนร่างของ “กลุ่มไอลอว์” หรือร่าง รธน.ฉบับประชาชน ที่ “จอน อึ้งภากรณ์” และคณะ เสนอโดยการเข้าชื่อของประชาชนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นชื่อ ซึ่งจะยื่นญัตติในวันที่ 22 ก.ย. บรรจุเข้าวาระการพิจารณาไม่ทัน เพราะต้องใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อน ... ซึ่งเนื้อหาของร่าง นี้ มุ่งตัดทิ้งมาตราที่เป็นปัญหา อาทิ ยกเลิกการให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ เลิกระบบบัญชีว่าที่นายกฯ เลิกช่องทางนายกฯคนนอกที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง เลิกการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารไม่ต้องรับผิด...
ใน 6 ร่าง หรือ 6 ญัตตินี้ จะอภิปรายแบบรวมไปในคราวเดียวกัน โดยผู้อภิปรายจะหยิบยกร่างใดขึ้นมาอภิปรายก็ได้ แต่เมื่อถึงเวลาลงมติ ตามระเบียบข้อบังคับ ต้องลงมติทีละร่าง ตามลำดับไป โดยใช้วิธีขานชื่อทีละคน... ซึ่งสมาชิกรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) มีทั้งหมด 750 คน หากเป็นไปตามนี้ การลงมติแต่ละร่าง คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มี 6 ร่าง ก็ 12 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ายาวนานมาก ... วิปทั้ง 3 ฝ่าย คือ จากฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และวุฒิสภา จึงเตรียมหารือกันว่าจะใช้วิธีขานชื่อ 1 คน แล้วลงมติว่าเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ เรียงลำดับกันไปทั้ง 6 ร่าง ในคราวเดียวกัน ก่อนที่จะขานชื่อคนต่อไป จะเป็นไปได้หรือไม่ เพื่อให้ประหยัดเวลา ...

ชวน หลีกภัย
สำหรับเวลาในการพิจารณา ที่กำหนดไว้ 23-24 ก.ย. และวันที่ 24 ก.ย. ก็เป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมสภานี้ ... จะใช้เวลาเกิน 24.00 น.ไม่ได้... ดังนั้นหากการลงมติ ยังต้องยึดตามระเบียบ ข้อบังคับเดิม เวลาในการอภิปรายก็จะถูกตัดทอนลง ซึ่งคงไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายค้านแน่ เพราะหวังว่าจะใช้โอกาสนี้ ชี้ให้จุดบกพร่องของ รธน. ที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ คสช. ขณะเดียวกันก็ถือโอกาสถล่มรัฐบาลไปในตัว
ส่วนเงื่อนไข ที่ร่างใดจะผ่านวาระ 1 หรือ วาระรับหลักการ จะต้องมีเสียง ส.ส.เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง และ “เสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง” จึงจะ “เปิดสวิตช์แก้ รธน.” ได้
ดังนั้น 4 ร่าง ของฝ่ายค้าน ที่มุ่ง “ปิดสวิตช์ ส.ว.- ตัดอำนาจ คสช.” จะผ่านด่านที่ 1 นี้ไปได้หรือไม่ คงต้องลุ้นกันหนักว่าจะมี ส.ว.ที่ยอม “เสียสละ” ถึง 84 เสียงหรือไม่ และ เสียง ส.ส.จากฝั่งรัฐบาลจะแตกแถวมาโหวตให้หรือไม่ ...เพราะอย่างน้อยก็เห็นสัญญาณจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ประกาศออกมาแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน. ...คงต้องไม่ต้องบอกว่าผู้กุมอำนาจว่าจะ “ตีธง” ส่งสัญญาณไปทางไหน...คงจะเดากันไม่ยาก !!
ส่วน ร่างแก้ไข รธน. ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ให้แก้มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.นั้น เชื่อว่า จะผ่านวาระ 1 ไปได้ เนื่องจากเป็นฉันทามติร่วมกันว่าถึงเวลาที่ต้องแก้ไข รธน.ตามเสียงเรียกร้องของประชาชนแล้ว ส่วนจะยอมให้ ร่างแก้มาตรา 256 ของฝ่ายค้านผ่านไปด้วยหรือไม่ ตรงนี้ยังต้องลุ้นกัน !!
เมื่อร่างแก้ไข รธน.ของรัฐบาลผ่านวาระรับหลักการแล้ว ก็ต้องรอไปทำประชามติ ซึ่งขณะนี้ ร่างกฎหมายออกเสียงประชามติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเข้าสภาก็ต้องรอเปิดสมัยประชุมหน้า ในวันที่ 1 พ.ย. 63 เมื่อทั้งสองสวนเสร็จสิ้น คือ ทั้งร่างแก้ไข รธน. ผ่านวาระ 3 และ กฎหมายออกเสียง

ประชามติเสร็จแล้ว จึงจะไปถึงขั้นออกเสียงประชามติ ... ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบกับการแก้ไข ก็จบ ... ถ้าเห็นชอบให้แก้ จึงจะเข้าสู่กระบวนการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ แล้วเข้าสู่กระบวนการยกร่าง รธน.ใหม่ เมื่อยกร่าง รธน.ใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ แต่ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบ ก็ให้นำไปทำประชามติอีกครั้ง
หากเดินไปตามแนวทางของรัฐบาลจนถึงจุดหมาย ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่สะดุด หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง .... นับเวลาจากเริ่มต้นจนจบต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี บวกลบ !! แต่ถ้าสะดุด ก็ยังหยุดอยู่ที่ “ลุงตู่”
เอาเป็นว่า “เปิดสวิตช์แก้ รธน.” รอบนี้ ลุงตู่อยู่ยาว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น