xs
xsm
sm
md
lg

สมาชิกวุฒิสภากับวิกฤติของระบอบรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

การอภิปรายไม่เห็นด้วยและการแสดงท่าทีไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นำไปสู่การเลื่อนการลงมติรับหรือไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปอีกเดือนเศษ และการแสดงออกและจุดยืนที่บ่งบอกว่าจะไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว. อาจจะนำไปสู่การสร้างวิกฤติความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดให้แก่ระบอบการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้ได้

หลังจบการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นในวันที่ ๒๓ และ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๓ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาหลักการของร่างฯ โดยใช้เวลาอีก ๑ เดือน ก่อนที่จะนำกลับมาลงมติว่าจะรับหรือไม่รับหลักการ แม้ญัตตินี้ถูกคัดค้านจากพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในที่สุดพรรค พปชร. ก็ประสบชัยชนะ ด้วยการสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รัฐสภาจึงจัดตั้งคณะกรรมาธิการฯขึ้นมา ทว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ส่งส.ส.เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ เพราะเห็นว่าคณะกรรมมาธิการฯ ชุดนี้เป็นเพียงกลอุบายการซื้อเวลาของรัฐบาลและไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ตามที่พรรค พปชร. อ้างได้

พรรค พปชร.อ้างว่าเหตุผลที่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการฯ คือ ส.ว. มีแนวโน้มจะลงมติคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ หากลงมติในวันที่ ๒๔ กันยายน จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปทันที ส่วนเหตุผลที่ส.ว.คัดค้านในมุมมองของพรรค พปชร.คือ ส.ว.ยังไม่มีเวลาศึกษาหลักการของร่างแก้ไขฯ และยังไม่เข้าใจหลักการอย่างถ่องแท้ จึงทำให้ไม่เห็นด้วยกับหลักการ พรรคพปชร. จึงคิดว่าหากมีการตั้งคณะกรรมาธิการฯเพื่อศึกษาหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกันระหว่างสมาชิกรัฐสภา จะสร้างความเข้าใจแก่ ส.ว.มากขึ้น และทำให้ ส.ว. เปลี่ยนความคิดจากการคัดค้านไปเป็นสนับสนุนแทน และจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถผ่านวาระรับหลักการไปได้

การประเมินว่า ส.ว.คัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะยังไม่ได้ศึกษาและไม่เข้าใจ เป็นการประเมินที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก เพราะหลักการของร่างแก้ไขมีเนื้อหาไม่ซับซ้อนแต่อย่างใด คนที่มีสติปัญญาทั่วไปใช้เวลาอ่านเพียงครึ่งวันก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก ดังนั้นการประเมินว่า ส.ว. ไม่เข้าใจจึงเป็นการดูเบาสติปัญญาของส.ว.มากจนเกินไป แต่เนื่องจากว่า แกนนำพรรคพปชร.มีความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับส.ว.มากกว่าประชาชนทั่วไป เพราะเป็นสมาชิกรัฐสภาด้วยกัน ทำให้มีโอกาสทำงานและปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการประเมินของพรรค พปชร.อาจจะถูกต้องก็ได้ แต่หากเป็นเช่นนั้นจริงก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับสังคมไทย เพราะส.ว.ซึ่งทางนิตินัยถือว่าเป็นตัวแทนประชาชน มีสติปัญญาที่น่ากังขา แต่มีความเป็นไปได้ว่า ส.ว.จำนวนไม่น้อยอาจมีลักษณะเช่นนั้น เพราะว่าบุคคลที่แต่งตั้งส.ว. มิได้ใช้ความรู้และสติปัญญาเป็นเกณฑ์หลักในการแต่งตั้งแต่อย่างใด หากแต่ใช้เรื่องการเป็นพวกพ้อง การเป็นคนว่าง่าย และการยอมปฏิบัติตามคำสั่งเป็นเกณฑ์หลักมากกว่า

คณะกรรมาธิการฯสามารถทำให้ส.ว.เปลี่ยนใจปรับจุดยืนหรือไม่ ผมคิดว่าหากส.ว.มีคุณลักษณะจิตใจที่เปิดกว้าง เปี่ยมด้วยปัญญา ยอมรับฟังข้อมูลข่าวสาร มีความสามารถในการประเมินผลกระทบของทางเลือกการตัดสินใจอย่างรอบด้าน มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลและยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลักในระยะยาว พวกเขาก็อาจเปลี่ยนแปลงจุดยืนได้ แต่เท่าที่สังเกตการกระทำและพฤติกรรมที่ผ่านมาของส.ว.ส่วนใหญ่ของชุดนี้ หากมีผู้ใดคิดว่าส.ว.มีคุณลักษณะดังที่เขียนข้างต้น ดูจะเป็นการมองโลกในแง่ดีและหลอกตัวเองเสียมากกว่า ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ยากที่การประชุมในคณะกรรมาธิการฯจะสร้างการเปลี่ยนแปลงความคิดและจุดยืนของ ส.ว.ที่มีต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

แต่ไม่ได้หมายความว่า ส.ว.ชุดนี้ทุกคนจะยึดติดกับความคิดและจุดยืนของตนเองจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสียทั้งหมด พวกเขาบางคนสามารถเปลี่ยนแปลงจุดยืนได้ แต่คิดว่ามิได้เกิดจากการอภิปรายด้วยข้อมูลและเหตุผลแต่อย่างใด ปัจจัยที่สามารถทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงจุดยืนได้มี ๒ ปัจจัยหลักคือ อำนาจการสั่งการของผู้ที่แต่งตั้งหรือมีอิทธิพลเหนือพวกเขา และการกดดันของประชาชนนอกสภา

กระนั้นก็ตามมีความเป็นไปได้ว่า พวกเขาบางคนอาจขัดขืนและไม่ยอมปฏิบัติการคำสั่งหรือแรงกดดัน เพราะว่าการยอมรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย่อมนำไปสู่การจัดตั้ง ส.ส.ร. เข้ามาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกระทบต่อสถานภาพและอำนาจของส.ว.โดยตรง และส่งผลให้ ส.ว.ชุดนี้ต้องหมดอำนาจและสิ้นสภาพลงไปในทันทีที่รัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ ดังนั้นยิ่งเกิดรัฐธรรมนูญใหม่เร็วเท่าไร สถานภาพและอำนาจของส.ว. ย่อมสิ้นสุดลงเร็วเท่านั้น

บุคคลสองคนที่ทรงพลังอำนาจและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดและจุดยืนของส.ว.คือพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรีและพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทั้งคู่เป็นอดีตแกนนำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

สำหรับพลเอกประยุทธ์ ในเวลานี้อิทธิพลของเขาต่อส.ว.ดูเหมือนไม่ทรงพลังดังอดีต ด้านหนึ่งเป็นเพราะอำนาจของพลเอกประยุทธ์ในฐานะผู้นำรัฐบาลเริ่มมีความไม่แน่นอนและคะแนนนิยมตกต่ำลงมาก อีกด้านหนึ่งในฐานะบุคคล พลเอกประยุทธ์ก็ไม่มีอำนาจในฐานะหัวหน้าคสช. แล้ว และไม่มีเครือข่ายทางการเมืองที่แข็งแกร่งแต่อย่างใด ดังนั้นในวันที่ ๓๐ กันยายน เมื่อมีข่าวว่าพลเอกประยุทธ์กำชับให้ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันเดียวกันก็มีส.ว.บางคนให้สัมภาษณ์ในทำนองที่ว่า จะฟังเสียงพลเอกประยุทธ์คนเดียวไม่ได้ ต้องฟังเสียงคนอื่น ๆ ด้วย คำสัมภาษณ์นี้บ่งบอกถึงอำนาจบารมีของพลเอกประยุทธ์ที่มีต่อส.ว.ลดลงอย่างชัดเจน

สำหรับพลเอกประวิตรซึ่งเคยป็นประธานการสรรหาส.ว. และในปัจจุบันยังคงทรงอิทธิพลทางการเมืองอย่างสูงในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรค พปชร.และมีเครือข่ายอำนาจที่แข็งแกร่งในหลายวงการทั้งภาคการเมือง ภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้อำนาจและบารมีของพลเอกประวิตรที่มีต่อส.ว.มากกว่าพลเอกประยุทธ์ ดังนั้นหากพลเอกประวิตรส่งสัญญาณให้ส.ว.ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ส.ว. ส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามมากกว่าสัญญาณที่ส่งมาจากพลเอกประยุทธ์

แรงกดดันจากนักศึกษาประชาชนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ประสบการณ์ที่ได้รับเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายนหน้าอาคารรัฐสภาและในโลกการเมืองออนไลน์นั้นคงทำให้ ส.ว.จำนวนไม่น้อยตระหนักถึงแรงกดดันของสังคมได้ไม่มากก็น้อย หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมรัฐสภา บรรดานักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาร่วมกันส่งเสียงก่นด่าและประนามส.ว.อย่างกึกก้องพร้อมเพรียงกัน

ทันทีที่รถยนต์ของ ส.ว. แล่นผ่านถนนหน้าอาคารรัฐสภา พวกเขาคงได้ยินเสียงประนามก้องสองหู แม้ปิดกระจกรถยนต์แล้วก็มิอาจขวางกั้นเสียงแห่งความโกรธเคืองที่เล็ดลอดเข้าไปได้ และเสียงเหล่านั้นได้ถูกบันทึกด้วยสื่อนานาชนิดและกระจายออกเป็นวงกว้างทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และคงอยู่คู่กับประวัติศาสตร์การเมืองให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันไปอีกหลายทศวรรษ ส.ว.หลายคนอาจไม่เคยถูกประนามด้วยน้ำเสียงและถ้อยคำเช่นนั้นมาก่อนในชีวิต การถูกก่นด่าและประนามจึงอาจเป็นครั้งแรกของหลายคน แต่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายหากพฤติกรรมของพวกเขายังไม่เปลี่ยนแปลง

ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะต้องลงมติรับหรือไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หาก ส.ว. ไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนและลงมติไม่รับหลักการ ประวัติศาสตร์การเมืองก็จะบันทึกว่า เป็นครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่เสียงข้างมากแพ้เสียงข้างน้อย ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายหลักการระบบเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย (the majority rule) นั่นเอง

กล่าวคือสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดประมาณ ๗๕๐ คน มีความเป็นไปได้สูงว่า จะมีเสียงสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจาก ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเกือบทุกคนและส.ว.บางคน ประกอบกันเป็นเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งมีประมาณเกือบ ๕๐๐ คน ขณะที่เสียงคัดค้านเกือบทั้งหมดมาจาก ส.ว. ซึ่งอาจมีประมาณ ๒๐๐ คน ผลลัพธ์ก็คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตกไป เพราะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ไม่ถึง ๑ ใน ๓

ดังนั้นจะเกิดปรากฎการณ์พิสดารในระบอบประชาธิปไตย โดยเสียงข้างน้อยของ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช.สามารถกดทับและเอาชนะเสียงข้างมากที่มาจากผู้แทนของประชาชนได้ และคาดว่านักศึกษาและประชาชนจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยอย่างเข้มข้น และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดความโกลาหลอย่างรุนแรงตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และทำให้นักศึกษาและประชาชนเกิดความรู้สึกสิ้นหวังในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือ คือสังคมจะเกิดวิกฤติของระบอบการเมือง อันนี้มิใช่เป็นการเขียนที่เกินเลย หากแต่มีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นและแพร่กระจายจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน ดังในค่ำคืนของวันที่ ๒๔ กันยายน มีสัญญาณที่บ่งบอกถึงความสิ้นหวังต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาปรากฏขึ้นในโลกการเมืองออนไลน์อย่างแพร่หลาย

ในเดือนพฤศจิกายนนี้ การลงมติรับหรือไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ว. จะกลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หาก ส.ว. ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความหวังและความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในฐานะที่เป็นกลไกรองรับและดูดซับความขัดแย้งทางสังคมการเมืองก็ยังคงดำรงต่อไป

แต่หาก ส.ว. ลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความเชื่อถือในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจะหมดสิ้นลงไป นั่นเป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า นักศึกษาและประชาชนจะชุมนุมเรียกร้อง รณรงค์และขับเคลื่อนระบอบการเมืองแบบอื่นมาทดแทนระบอบรัฐสภา ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งทางสังคมพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน และอาจเป็นเงื่อนไขของความรุนแรงจนทำให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ก็เป็นได้


ในอนาคต หากมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองและมีความรุนแรงเกิดขึ้น นอกจากส.ว.ชุดนี้ในฐานะบุคคลจะใช้ชีวิตในสังคมไทยได้อย่างยากลำบากแล้ว ในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภาก็ยังอาจได้รับการจารึกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า เป็นกลุ่มที่ตัดสินใจโดยคำนึงถึงเพียงผลประโยชน์ สถานภาพ และอำนาจของตนเอง จนเป็นเหตุให้ระบอบการเมืองแบบรัฐสภาต้องประสบกับวิกฤติ วิบัติ และล่มสลาย นั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น