เมืองไทย 360 องศา
ได้เห็นการประกาศเสียงดังของ นายอานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำ “ม็อบปลดแอก” ว่า การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ยังยืนยันที่จะพูดถึงเรื่อง “เจ้า” จะสู้เรื่องเจ้าในทำนองว่าจะพูดให้มากกว่าเดิม พร้อมกับมั่นใจว่า การพูดเรื่องแบบนี้จะทำให้มีคนเข้าร่วมมากกว่าเดิม พิสูจน์ได้จากการชุมนุม 4-5 ครั้งที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ยังยืนยันอีกว่า หากมีการกีดกันหรือมีการลดโทนในเรื่องดังกล่าวลง เขาก็จะไม่ขึ้นพูดบนเวทีอีกด้วย
แน่นอนว่า หากพิจารณาจากแบ็กกราวนด์ของ นายอานนท์ นำภา ที่มีอาชีพทนายความ รวมไปถึง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” และ นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” เป็นต้น และเป็นแกนนำที่เคลื่อนไหวชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง แต่แนวทางการเคลื่อนไหวได้รับการจับตามองมาตั้งแต่การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่มีเนื้อหามุ่งเน้นไปการวิพากษ์วิจารณ์ และโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง และเป็นที่มาของข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่เน้นในเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ
ขณะเดียวกัน การชุมนุมในวันนั้นก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของนักเคลื่อนไหวที่ถูกดำเนินคดีตาม มาตรา 112 ที่เวลานี้ยังหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ เช่น นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายปวิณ ชัชวาลพงศ์พันธุ์ เป็นต้น รวมทั้งยังมีการมองว่า พวกเขายังเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองในชื่อ “ก้าวหน้า” ที่นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ดันหลังให้เด็กๆ และคนพวกนี้ออกหน้าแทน
อย่างไรก็ดี ผลจากแนวทางการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็เกิดปฏิกิริยาในเชิงลบกลับมา เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเสียงต่อต้านจากสังคมรอบข้างมากขึ้นเช่นเดียวกัน และที่สำคัญ ทำให้มวลชน “ถอยห่าง” ออกไป ทำให้กระแสที่กำลังพุ่งตรงไปที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลของเขา รวมไปถึงแรงกดดันในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พยายามสร้างกระแสในเรื่อง การ “สืบทอดอำนาจเผด็จการ” ต้องลดความร้อนแรงลงไป
แม้ว่าจะมีการชุมนุมถัดมาในวันที่ 16 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามมาอีก แต่สำหรับวงในแล้วถือว่า “คนละกลุ่มกัน” และแนวทางก็ต่างกัน โดยในวันนั้นเป็นการเน้นในเรื่อง 3 ข้อเรียกร้อง เช่น หยุดคุกคาม แก้รัฐธรรมนูญ ให้ยุบสภาหรือลาออก แต่ที่น่าสนใจก็คือ ทั้ง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ก็ถูกห้ามไม่ให้ขึ้นเวที ความหมายก็คือ “ถูกกันออกนอกวง” นั่นแหละ
จนกระทั่งมีการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ในนามกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่นำโดย อานนท์ พริษฐ์ ปนัสยา และ ภานุพงศ์ ที่พวกเขามั่นใจว่า เป็น “ม็อบเบิ้มๆ” และยืนยันว่า จะมีการพูดถึงสถาบันฯให้หนักกว่าเดิม ถึงกับกล่าวคำโตว่าจะพูดในแบบที่ไม่มีใครกล้าพูดมาก่อน แต่พอเอาเข้าจริงบรรดามวลชนที่มาก็อย่างที่รับรู้กัน ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดล้วน “หน้าคุ้นๆ” ทั้งสิ้น เพราะเป็นมวลชน “คนเสื้อแดง” ที่เหมือนกับการ “หยิบยืม” กันมา และแน่นอนว่า คราวนี้ทุกสายตาก็เพ่งมองไปที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะนายทุนใหญ่ และออกตัวแรงมาตั้งแต่ต้น
จากนั้นก็ตามมาด้วยการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา วันที่ 24 กันยายน และที่นี่เองได้นำไปสู่ “หายนะ” อย่างชัดเจน ที่เป็นบทสรุปจากการใช้พฤติกรรมที่ “หยาบคาย” เข้าขั้นที่เรียกว่า “ถ่อยสถุน” จากข้อความ “หยาบคาย” ไปถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และพฤติกรรมต่อเนื่องที่หน้ากองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ที่บรรดาแกนนำม็อบพวกนี้ไปละเลงสี ปาไข่เข้าไปจนเลอะเทอะ โดยอ้างว่าเป็นกิจกรรม “ตามหานาย” อ้างว่ามีทหารล็อกคอผู้ชุมนุมเมื่อวันก่อน
ภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าวล้วนสะท้อนออกมาในทางลบ และถูกมองว่า “ไร้แก่นสาร” ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าแกนนำขาดวุฒิภาวะ ไม่เหมาะสำหรับการชุมนุมสาธารณะในระดับชาติ
ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามคือ ฝ่ายอำนาจรัฐกลับนิ่งเงียบ ไม่ตอบโต้ มันก็ยิ่งทำให้ไม่เกิดเงื่อนไข กลายเป็นฝ่ายผู้ชุมนุมเด็กๆ พวกนี้ “ดิ้นพล่าน” อยู่ฝ่ายเดียว และยังทำให้มองไปถึงการชุมนุม และกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม ต่อเนื่องไปจนถึงการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม ที่ประกาศว่าจะเป็นการชุมนุมที่มีคนมาร่วมแบบ “มืดฟ้ามัวดิน” นั้น นาทีนี้มองจากแนวโน้มแล้วยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นอย่างนั้นได้เลย
และที่น่าสนใจก็คือ หลังจากการเห็นภาพของ “คนเสื้อแดง” และมี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยไปปรากฏตัวในที่ชุมนุม มีการตั้งโต๊ะคอยสังเกตการณ์ ซึ่งไม่ต่างจากการมา “นับหัว” เพื่อตรวจเช็กอะไรสักอย่าง และในที่สุดนำมาซึ่งการ “กราบ” ของ ครอบครัวของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่นำโดยคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพ็ชร และมีการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทยอย่างกะทันหัน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกรงว่าจะถูกร้อง “ยุบพรรค” หรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้เหมือนกัน
แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อพิจารณาจากกิจกรรมและความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาแบบต่อเนื่องแล้ว นอกจากไม่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเครือข่ายอ่อนแอลงไปแล้ว ในทางตรงกันข้ามกลับยิ่งเข้มแข็งกว่าเดิม เพราะอย่างน้อยเมื่อได้เห็นการเคลื่อนไหวของแกนนำม็อบทั้งหลายแล้ว มันทำให้ “แนวร่วม” ถอยห่างไปเกือบหมด และยิ่งมีการประกาศกร้าวแบบเดิมของแกนนำบางคน ว่า การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม จะยิ่งพุ่งเป้าไปที่สถาบันฯ มากกว่าเดิม มันก็ยิ่งฟันธงได้ตั้งแต่นาทีนี้ว่า “จบเห่” แล้ว !!